ทางด่วนข้อมูล ถนนสายนี้ใครจอง!


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

"เคเบิลใยแก้วนำแสง" เส้นทางลำเลียงข้อมูลภาพและเสียงในยุคดิจิตอล เส้นทางสายนี้กำลังเป็นแหล่งกำเนิดสินค้าและบริการต่างๆ ในโลกอนาคต การผนึกกำลังระหว่างค่ายซีพีกับไมโครซอฟท์ และยูคอมกับโลตัสดีเวลอปเม้นท์ย่อมไม่ธรรมดา เพราะนี่เป็นการชิงชัยของการเป็น "จ้าวอิเล็กทรอนิกส์ซูเปอร์ไฮเวย์" กำลังเริ่มขึ้นแล้ว และใครจะเป็นผู้ครอบครองทางด่วนข้อมูลสายนี้ ?

เส้นเคเบิลใยแก้วเส้นเล็กขนาดเท่าเส้นผม ที่ร้อยเกี่ยวกระหวัด มัดรวมเป็นหนึ่งเดียว ถูกวางใต้ผิวถนนไปตามเส้นทางเดินของสายโทรศัพท์ที่ถูกลากผ่านไปตามชุมชน และบางเส้นทางของเส้นใยแก้วยังถูกโยงใยคู่ขนานไปกับเส้นทางโทรศัพท์มือถือ ไปสู่จังหวัดต่างๆ ของเมืองไทย

เส้นทางนี้ไม่ใช่ถนนธรรมดา แต่เป็นเส้นทางสายพิเศษที่จะลำเลียงข้อมูลภาพและเสียง ส่งในรูปแบบต่างๆ ที่เรียกว่า บริการมัลติมีเดีย หรือสื่อผสม จากผู้ให้บริการไปถึงมือผู้รับบริการปลายทาง

ด้วยประสิทธิภาพของเคเบิลใยแก้วนำแสงเล็กๆ เส้นนี้ ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงให้เป็นคลื่นแสง ทำให้บริการที่ถูกส่งออกไปไม่ถูกรบกวนจากสัญญาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นแม่เหล็ก และที่สำคัญเคเบิลใยแก้วนี้เป็นระบบดิจิตอล จึงทำให้สามารถส่งข้อมูลภาพและเสียงไปพร้อมๆ กัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการได้หลายรูปแบบ เช่น การเรียนการสอนทางไกล บริการเทเลเมดดิซีน, บริการประชุมทางไกล, การซื้อสินค้าทางไกล

และนี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุนสื่อสารของเมืองไทย ต่างทุ่มเม็ดเงินลงทุนในการสร้างเส้นทางด่วนข้อมูล ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของกลุ่มทีเอและยูคอม เป็นสองทุนสื่อสารที่ออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุดในห้วงเวลานี้

อันที่จริงแล้วหลายหน่วยงานของเมืองไทย ก็มีการนำเคเบิลใยแก้วนำแสงมาใช้เมื่อหลายปีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยและธนาคาร รวมทั้งหน่วยงานรัฐหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะใช้ภายในองค์กร

ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะเป็นการให้บริการโดยหน่วยงานรัฐก็คือ โครงการเคเบิลใยแก้วตามรางรถไฟ, เคเบิลใยแก้วใต้น้ำขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็มีการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกแล้วเช่นกัน ซึ่งรูปแบบการให้บริการของหน่วยงานเหล่านี้ จะเป็นการให้บริการคู่สายเช่าความเร็วสูงแก่ลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้สื่อสารข้อมูลภายใน หรือให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมนำไปใช้ให้บริการกับลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง

แม้จุดเริ่มต้นของการลงทุนสร้างทางด่วนข้อมูลและรูปแบบการให้บริการ เริ่มแรกของซีพีและยูคอมจะแตกต่างกันพอควร แต่จุดหมายปลายทางของทั้งสองนั้นไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก

ทีเอ เริ่มต้นสร้างทางด่วนข้อมูลจากโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งทีเอยอมควักเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อนำเคเบิลใยแก้วนำแสงมาใช้ในการวางโครงข่ายแทนที่จะเป็นเพียงแค่สายทองแดง เพราะทีเอรู้ดีว่า ด้วยศักยภาพของเคเบิลใยแก้วนำแสงอันเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในเวลานั้น จะเป็นจุดที่ก่อกำเนิดบริการมัลติมีเดียรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ต่อมาทีเอจึงได้จัดตั้งบริษัทเอเซียมัลติมีเดีย (เอเอ็ม) ขึ้น เพื่อต้องการแยกบทบาทการทำธุรกิจบนโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ออกมาจากโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายของทีเอไม่ใช่แค่โทรศัพท์พื้นฐาน แต่เป็นบริการมัลติมีเดียที่จะวิ่งบนทางด่วนข้อมูลเส้นนี้

ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมมานานอย่างยูคอมย่อมรู้ดีว่า เคเบิลใยแก้วนำแสงนั้นใช้ประโยชน์ได้เพียงใด กลุ่มยูคอมนั้นเริ่มต้นธุรกิจทางด่วนข้อมูล อันเป็นผลพวงมาจากการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (แทค) ขอลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ แทนการขอเช่าวงจรเช่าความเร็วสูงจาก กสท.

ดังนั้นเมื่อต้องลงทุนในส่วนนี้เองและต้องส่งมอบโครงข่ายให้กับ กสท. แล้ว ยูคอมจึงเสนอขอร่วมลงทุนกับ กสท. ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น ยูคอม 75% กสท. 25% จัดตั้งเป็นบริษัทยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ ยูไอเอช เพื่อนำโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไปให้บริการแก่ลูกค้า ในลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม (NETWORK OPERATOR) ซึ่งรวมถึงการให้บริการวงจรเช่าสื่อสัญญาณความเร็วสูงที่ไม่ใช่โทรศัพท์ มีชื่อว่า "ทางด่วนข้อมูลเชอรี่"

ในขณะที่ทีเอนั้นประเดิมเปิดให้บริการบนทางด่วนข้อมูล ด้วยบริการเคเบิลทีวีในนามยูทีวี และบริการเสริมต่างๆ เช่น บริการเสริมบนคู่สายโทรศัพท์ หรือ SPC บริการเทเลการ์ด คู่ขนานไปกับโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย

ด้านยูคอมให้บริการในรูปแบบของการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงในหลายลักษณะ เช่น บริการรับ-ส่งข้อมูลภาพ และภาพวิดีโอจากต้นทางจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง หรือบริการแบบเฟรมย์รีเลย์ คือ บริการรับ-ส่งข้อมูล ภาพ และภาพวิดีโอระหว่างหน่วยงานที่ต้องการสื่อสารข้อมูลถึงกันในแต่ละองค์กร ซึ่งลูกค้าที่จะใช้บริการนั้นจะต้องเป็นหน่วยงานราชการ หรือนิติบุคคลที่ได้รับสิทธิ หรือได้รับอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการโทรคมนาคมจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจ หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้บริการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี) หรือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการให้บริการในเบื้องต้นของทีเอและยูคอมนั้น จะแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพราะบริการบนทางด่วนข้อมูลของทีเอนั้น สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านได้โดยตรง ในขณะที่ยูคอมนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าองค์กรหน่วยงานราชการเป็นหลัก ทว่ายูคอมก็มีข้อดีในเรื่องของพื้นที่ในการให้บริการนั้นครอบคลุมได้ทั่วประเทศ ในขณะที่ทีเอจะให้บริการได้เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น

แม้ประสิทธิภาพของเคเบิลใยแก้วนำแสงจะมีอยู่มากมาย แต่ทั้งทีเอและยูคอมยังไม่สามารถสร้างรายได้บนทางด่วนข้อมูลเส้นนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ บริการบนทางด่วนข้อมูลของทีเอก็มีเพียงแค่เคเบิลทีวีเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลจนต้องไปควบกิจการกับไอบีซี เช่นเดียวกับยูคอมที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้เต็มที่ แม้ว่ายูคอมจะสามารถใช้ประโยชน์จากทางด่วนข้อมูลเส้นนี้กับกิจการในเครือ ไม่ว่าจะเป็นบริการอินเตอร์เน็ต, ร้านเอเอ็ม/พีเอ็ม, หรือแม้แต่ธนาคารแหลมทอง ที่ใช้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลภายใน แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของยูคอม

"การลงทุนนั้นมหาศาล แม้ว่าจะมีโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกอยู่แล้ว แต่ยังต้องลงทุนสายกระจายและอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูล รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งเราคิดอยู่ว่าจะสร้างธุรกิจบนโครงข่ายนี้ได้อย่างไร" ประเสริฐ อัศวสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

ที่แล้วมาการทำตลาดของยูไอเอช เป็นแบบแนวรับไม่ใช่แนวรุก คือจะมุ่งเน้นไปยังลูกค้าเดิมที่มีความต้องการใช้งานอยู่แล้วเป็นหลัก เช่น ธนาคารและหน่วยงานราชการเป็นหลัก เพราะสิ่งสำคัญของการจะทำตลาดแบบแนวรุกนั้นจะต้องหาบริการต่างๆ มาวิ่งบนทางด่วนข้อมูล เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วยูไอเอชก็ยังขาดในจุดนั้น

ประเสริฐเล่าว่า หน้าที่หลักของยูไอเอชคือ ต้องการเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) เท่านั้น ดังนั้นการหาบริการที่จะมาวิ่งบนทางด่วนข้อมูล จึงไปตกอยู่กับบริษัทในเครือยูคอมอื่นๆ เช่น บริษัทยูคอม เน็ทเวิร์ค ที่จะไปหาบริการมาวิ่งบนทางด่วนเส้นนี้

แม้จะมีทางด่วนข้อมูลแต่ไม่มีบริการ ก็เหมือนกับการมีถนนแต่ไม่มีรถวิ่ง เมื่อไม่มีรถวิ่งย่อมไม่มีผู้ใช้บริการ และรายได้เป็นโจทย์ที่ทั้งทีเอและยูคอมต้องเจอ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะต่อจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ได้ก่อนกัน

ที่สำคัญทีเอและยูคอม ใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ไปกับการสร้างทางด่วนข้อมูลเส้นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้กลับมาได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็นบริการเคเบิลทีวีที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องต้นทุน ด้วยการไปรวมกิจการกับไอบีซี หรือบริการเสริมบนคู่สายโทรศัพท์ก็ไม่ได้เก็บค่าบริการจากลูกค้า ในขณะที่ยูไอเอชเองก็ยังไม่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากกลุ่มลูกค้าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

เพราะปัญหาของทางด่วนข้อมูล ไม่ได้อยู่ที่พื้นที่หรือขอบเขตในการให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าจะหาบริการต่างๆ มาให้บริการบนทางด่วนข้อมูลนี้อย่างไร เพราะหากไม่มีบริการเหล่านี้ เส้นทางด่วนข้อมูลนี้ก็จะเหมือนกับถนนที่ไม่มีรถวิ่ง

ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ การลงทุนจำนวนมากในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูก็ได้กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งให้กับผู้ลงทุนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโทรคมนาคมที่มีลักษณะของใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ต้องใช้เวลาคืนทุนยาว เมื่อมาเจอกับปัญหาค่าเงินบาท ทำให้เงินที่กู้มาใช้ลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งทั้งทีเอและยูคอมก็เจอพิษสงไปเต็มๆ

ขณะเดียวกันการตกต่ำของเศรษฐกิจในไทย และการลดต่ำของค่าเงินบาท ก็เป็นโอกาสและแรงจูงใจที่ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และนี่ก็เป็นแรงบีบรัดที่ทำให้ทั้งทีเอและยูคอมต้องหันมาเร่งหาบริการที่จะมาวิ่งบนทางด่วนข้อมูลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องหาพันธมิตรมาเข้าร่วมเพื่อร่วมแชร์ค่าใช้จ่าย, ไอเดีย, และประสบการณ์

ข้อต่อสำคัญของทางด่วนข้อมูล กำลังเริ่มขึ้นตรงนี้ !

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ธนินท์ เจียรวนนท์ บินไปพบกับบิลเกตต์ พ่อมดซอฟต์แวร์แห่งไมโครซอฟท์ถึงประเทศมาเลเซีย

การพบกันระหว่าง เจ้าพ่อค้าไก่ของเมืองไทย กับเจ้าพ่อซอฟต์แวร์ ย่อมไม่ธรรมดา เพราะคนหนึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ที่จ่อถึงประตูบ้านคนไทย ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ที่ใช้กันอยู่แพร่หลายทั่วโลก จนติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในโลกมาแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงการร่วมมือเบื้องต้นระหว่างซีพีและไมโครซอฟท์ ภายหลังการพบปะกันครั้งแรกตามที่ ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยในวันแถลงข่าวก็คือ การร่วมมือกันพัฒนาอุปกรณ์ SET TOP BOX เป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตอลให้เป็นสัญญาณข้อมูล ภาพ และเสียง ซึ่งแนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันก็คือ การนำซอฟต์แวร์ภาษาไทยของไมโครซอฟท์มาเพิ่มประสิทธิภาพ SET TOP BOX เคเบิลทีวีของกลุ่มซีพีให้สามารถทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ พร้อมคำสั่งการใช้งานเป็นภาษาไทย

ด้วยคุณสมบัติของ SET TOP BOX ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ จะทำให้ผู้ใช้บริการเคเบิลทีวีของยูบีซี (ชื่อบริการใหม่ที่เกิดจากการรวมกิจการระหว่างไอบีซีและยูทีวี) ไม่เพียงแต่จะสามารถรับชมรายการจากยูบีซีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเชื่อมต่อเข้าอินเตอร์เน็ต หรือการชอปปิ้งผ่านคู่สายโทรศัพท์ ในลักษณะของอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ โดยมีโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเป็นเส้นทางด่วนข้อมูล ที่จะนำพาเอาบริการเหล่านี้วิ่งผ่านจากผู้ให้บริการไปถึงลูกค้า

นอกจากนี้ ซีพีและไมโครซอฟท์ ยังมีข้อตกลงที่จะใช้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นของซีพี เป็นจุดให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่ไม่มีเครื่องพีซี สามารถมาใช้พีซีได้ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งซีพีจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกนี้ มาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นบริการรับส่งอีเมล์หรือบริการด้านข้อมูลอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จะเห็นได้ว่าการร่วมมือระหว่างซีพีและไมโครซอฟท์จะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมาวิ่งบนเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง

เพราะอย่างที่รู้ว่า การทำธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์นั้น ความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ตัวฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่อยู่ที่ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและสร้างบริการรูปแบบใหม่ๆ การเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซี ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% รวมทั้งวิสัยทัศน์ของบิลเกตต์ ที่ไม่หยุดนิ่งแค่โปรแกรมวินโดว์ ออฟฟิศ หรือ อินเตอร์เน็ต เอ็กซพลอเรอร์ ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ระดับหนึ่ง

ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริหารของซีพี ภายใต้การนำของธนินท์ เจียรวนนท์ ที่จะเดินทางไปเจรจากับบิลเกตต์ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจะบรรลุข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวเพียงใด

หลังการจับมือระหว่างสองยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์กับทีเอเกิดขึ้นได้ไม่นาน การร่วมมือระหว่างกลุ่มยูคอมและบริษัทโลตัส ดีเวลอปเม้นท์ บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านเครือข่ายของโลกก็ตามมา เมื่อเจฟฟ์ พาพาวส์ ประธานและซีอีโอของโลตัสบินตรงมาเมืองไทย สาเหตุส่วนหนึ่งของการบินมาเมืองไทย ก็เพื่อลงนามเซ็นสัญญาการร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มยูคอม

หนึ่งในข้อตกลงของการร่วมมือระหว่างเจ้าของเครือข่ายทางด่วนข้อมูลของไทย กับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของโลกรายนี้ ก็คือ การทำโครงการ NET SERVICE PROVIDER ซึ่งเป็นการนำเอาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของยูคอม มาใช้ประโยชน์ร่วมกับความรู้ความสามารถของโลตัส ในลักษณะของการให้บริการเอาต์ซอสซิ่งทางด้านไอที โดยมุ่งไปที่ลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการใช้บริการโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว และใช้เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของโลตัสเป็นเครื่องมือในการจัดการ

"การที่โลตัสตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกับยูคอม เพราะเรามีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกัน ที่ลึกไปกว่านั้นคือ ยูคอมเป็นเจ้าของโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่ให้บริการอยู่แล้ว และโลตัสเองก็มีซอฟต์แวร์เครือข่าย ซึ่งจะทำให้เราสามารถร่วมมือในการทำธุรกิจบนเครือข่ายนี้ได้" เจฟฟ์ พาพาวส์ กล่าวถึงสาเหตุที่โลตัสมาจับมือทำธุรกิจร่วมกับยูคอม

อันที่จริงแล้ว การทำธุรกิจร่วมกับเจ้าของเครือข่ายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลตัส เพราะก่อนหน้านี้โลตัสเองได้เคยร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคม 20 รายทั่วโลก เช่น บริติชเทเลคอม, สิงคโปร์เทเลคอม, ไนเน็กซ์, เบลล์ แอตแลนติก, ยูเอส เวสต์ และเทเลคอมมาเลเซีย ในโครงการลักษณะนี้มาแล้ว

สำหรับยูคอมแล้ว การร่วมมือกับโลตัสนั้นกินลึกไปกว่านั้น เพราะยูคอมต้องการนำเอาเทคโนโลยีของโลตัสมาใช้ รวมกับศักยภาพของธุรกิจและบริการที่ยูคอมมีอยู่ เพื่อนำเอาสิ่งที่มีอยู่เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นบริการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง

"ยูคอมมีไฟเบอร์ออพติกที่โยงใยอยู่ทั่วประเทศ ยูคอมเป็นผู้ให้บริการ อินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) มีร้านค้าปลีก เอเอ็ม/พีเอ็ม อยู่ทั่วประเทศ มีร้านเวิลด์มีเดีย มีธนาคาร มีกำลังคน สิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาประสานกันก็จะเกิดเป็นบริการใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราจะได้รับจากโลตัสก็คือ เทคโนโลยี" ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าว

สมภพ สมประสงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทยูคอมเน็ทเวิร์ค กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้ยูคอมและโลตัสกำลังจัดทำแผนธุรกิจร่วมกัน เพื่อกำหนดรูปแบบของการร่วมมือทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในเบื้องต้นก็คงจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยโลตัสจะเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีและความรู้, การอบรมและพัฒนาบุคลากร

"เรายังบอกไม่ได้ว่ารูปแบบบริการจะเป็นอะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ การนำเอาบริการที่ยูคอมมีอยู่มาใช้ประโยชน์ โดยอาศัยประสิทธิภาพของโลตัสมาช่วยในการพัฒนา ในอนาคตเราก็อาจจะมีบริการข้อมูลข่าวสารให้กับเกษตรกร เช่น ราคาพืชผล เมื่อเรามีร้านเอเอ็ม/พีเอ็มอยู่ตามปั๊มน้ำมันของ ปตท. ทั่วประเทศ มีเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมโยงฐานข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว" สมภพชี้แจง

นั่นคือ ส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ยูคอมและโลตัสมองไกลไปกว่านั้นก็คือ การต้องการมีโครงการเป้าหมายของยูคอมและโลตัสก็คือ โครงการ GINET (GOVERNMENT INFORMATION NETWORK) ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดทั่วประเทศ ที่มีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้จำเป็นต้องใช้เครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อเชื่อมโยงศูนย์คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ เนคเทคจึงไม่ต้องการลงทุนสร้างเครือข่ายนี้เอง แต่ต้องการเช่าใช้จากเอกชน หรือหน่วยงานราชการที่ให้บริการอยู่แล้ว มาให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐบาลอีกต่อหนึ่งแทน ซึ่งเนคเทคเองก็อยู่ระหว่างตัดสินใจว่า จะใช้เครือข่ายของใครระหว่างเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกของยูคอม หรือองค์การโทรศัพท์ หรือการสื่อสารฯ

แน่นอนว่ายูคอมนั้นต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้ เช่นเดียวกับโลตัสที่นำร่องเข้าไปในโครงการนี้แล้ว โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบเครือข่ายเชื่อมโยงไปตามหน่วยงานต่างๆ

GINET นั้นจัดว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้โครงการอื่นๆ เพราะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมดทั่วประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งหากยูคอมและโลตัสสามารถร่วมมือกันในการนำเอาโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกไปให้บริการได้ ยูคอมเองจะสามารถนำเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และโลตัสเองก็จะได้ประโยชน์จากการจำหน่ายซอฟต์แวร์เครือข่ายและพัฒนาซอฟต์แวร์ เท่ากับว่าในอนาคต ยูคอมจะมีลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ในมือที่จะพัฒนาบริการรูปแบบต่างๆ ให้ลูกค้าเหล่านี้ทันที

การร่วมมือของยูคอมกับโลตัส ดีเวลอปเม้นท์ และซีพีกับไมโครซอฟท์ แม้จะแตกต่างกันในรูปแบบหรือวิธีการ, โอกาสในการเข้าถึงลูกค้า และการสร้างบริการบนเครือข่ายทางด่วนข้อมูล แต่เป้าหมายของทั้งสองนั้นไม่แตกต่างกันเลย

ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ชิงความเป็นจ้าวของอิเล็กทรอนิกส์ซูเปอร์ไฮเวย์ได้ก่อนกันเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.