"วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป" ผู้ผลิตและส่งออกรองเท้ากีฬา "รีบอค"
หนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องฝืด เฉกเช่นผู้ส่งออกรายอื่น
ดิ้นหนีภาระดอกเบี้ยสูงในประเทศ ด้วยการขายตั๋วลูกหนี้การส่งออกล่วงหน้าผ่านธุรกรรม
"ซีเคียวริไทเซชั่น" ในวงเงิน 100 ล้านเหรียญฯ อายุ 5 ปี โดยมี
ไดวา ซีเคียวริตี้ส์ฯ เป็นเอเยนต์ประสานระหว่างนักลงทุนกับบริษัทฯ
จากการที่รัฐบาลประกาศปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินบาทตกต่ำและมีความผันผวนเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมต่างๆ
ในประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น แม้กระทั่งอุตสาหกรรมการส่งออกที่น่าจะเป็นภาคธุรกิจเดียว
ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง แต่กลับได้รับผลกระทบในทางตรงกันข้าม
เนื่องจากค่าเงินบาทมีความผันผวนเร็วเกินไปนั่นเอง
บริษัท วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้
ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปี'40 บริษัทฯ ประสบผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 756 ล้านบาท
นอกจากนั้น จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินและปัญหาสภาพคล่องในประเทศ ที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขในปัจจุบัน
ทำให้บริษัทฯ ได้รับวงเงินสินเชื่อลดลง ประกอบกับมีภาระหนี้จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก
ทางบริษัทฯ จึงพยายามหาหนทางในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ด้วยการปรับโครงสร้างเงินกู้
จากเงินกู้ระยะสั้นมาเป็นเงินกู้ระยะยาวที่ต่ำกว่า
"แม้ว่าตัวเลขในไตรมาสแรกของปีนี้จะดีขึ้นมาก จากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกลายเป็นกำไร
แต่เราก็ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มกับตัวเลขเหล่านี้ ทางตรงกันข้ามเราค่อนข้างกังวลกับสภาพคล่องในประเทศ
ที่กำลังจะแห้งผากลงทุกที อัตราดอกเบี้ยก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย ทำให้วงศ์ไพฑูรย์ฯ
จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เราจึงมีการติดต่อไปยังไดวา ซีเคียวริตี้ส์ฯ
ที่ นิวยอร์ก เพื่อทำโปรแกรมซีเคียว ริไทเซชั่น ซึ่งดีลนี้เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า
ดอกเบี้ยต่ำกว่าบ้านเรามาก ทั้งยังจะได้เม็ดเงินมาอัดฉีดสภาพคล่อง ให้กับบริษัทอีกด้วย"
วิจักษ์ สิริสิงห์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
เผยถึงสาเหตุการระดมทุนจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยตราสาร "ซีเคียวริไทเซชั่น"
ซึ่งถือเป็นดีลแรกในเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันการเงินในประเทศ
"ซีเคียวริไทเซชั่น" เป็นตราสารที่นักลงทุนในอเมริกานิยมลงทุนกันมาก
จึงทำให้ผู้ประกอบการนิยมระดมทุนด้วยวิธีดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก
เนื่องจากตราสารดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมาก สามารถจัดทำรูปแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจของผู้กู้
และเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องวางแผนล่วงหน้าในระยะยาว อีกทั้งไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน
เนื่องจากนักลงทุนจะพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ เป็นสำคัญ โดยผู้ให้กู้จะพิจารณาถึงเรตติ้งความน่าเชื่อถือผ่านบริษัทตัวแทน
ผู้พิจารณาเรตติ้งในระดับสากล (ซึ่งในกรณีของวงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ปนั้น ใช้เรตติ้งเทียบเท่าเครดิตประเทศไทย) ยิ่งไปกว่านั้น
เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน กระบวนการทั้งหมดจะมีบริษัททรัสตี ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการโอนชำระเงินกู้ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ด้วย
"ในแถบเอเชียมีการทำธุรกรรมซีเคียว ริไทเซชั่นแบบการซื้อขายล่วงหน้า
(FUTURE FLOW) น้อยมาก โดยรายแรกที่ไดวาฯ ทำให้ก็คือ บริษัท PLUP AND PAPER
ในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคมปี'40 และล่าสุดก็คือบริษัท วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป
ในประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จในการกู้เงินของวงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ปในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่า
ธุรกรรมซีเคียวริไทเซชั่นนั้นเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศไทย
เนื่องจากจะเป็นแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ให้แก่ผู้ส่งออกของไทยได้เป็นอย่างดีที่สุดในเวลานี้
และทางไดวาฯ พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในไทยต่อไป" จอห์น โมลิน
รองประธานกรรมการอาวุโส ไดวา ซีเคียวริตี้ส์ อเมริกา อิงค์ กล่าว
สำหรับกระบวนการทำซีเคียว ริไทเซชั่นของวงศ์ไพฑูรย์นั้น วิจักษ์ได้อธิบายว่าเป็นการนำเอาตั๋วลูกหนี้การส่งออกล่วงหน้า
(EXPORT RECEIVABLES) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่รีบอคมีอยู่ไปวางค้ำประกันกับนักลงทุนทั้งหมด
โดยมีไดวาฯ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนนายหน้า (AGENT) จำหน่ายตั๋วดังกล่าวแก่นักลงทุน
รวมทั้งต่อรองในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยให้แก่วงศ์ไพฑูรย์ฯ ด้วย
ซึ่งไดวาฯ จะได้รับค่าธรรมเนียมโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จากวงเงินที่ขายได้ทั้งหมด
สำหรับดีลนี้กำหนดวงเงินไว้ที่ 100 ล้านเหรียญฯ และแบ่งอัตราดอกเบี้ยออกเป็น
2 ส่วนคือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ คำนวณจาก SPREAD + อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอายุ
3 ปี ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.78% และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว คำนวณจาก SPREAD
+ อัตราดอกเบี้ย LIBOR 1 เดือน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.69%
"เราพยายามขายให้ได้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ขายได้แล้วทั้งสิ้นประมาณ
50 ล้านเหรียญฯ และเราจะหยุดไว้เพียงแค่นี้ก่อน ส่วนที่เหลืออีก 50 ล้านเหรียญฯ
จะรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังก่อน" ผู้บริหารหนุ่มกล่าวเสริม
และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากขึ้น รวมทั้งตัดปัญหาเรื่องภาษีที่จะเกิดขึ้น
หากทำ TRANSACTION เหล่านี้ในเมืองไทย ทางวงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ปจึงทำกระบวนการทุกอย่างให้เป็นระบบชัดเจน
โปร่งใส ด้วยการจัดตั้งบริษัทวงศ์ไพฑูรย์ อิน เตอร์เนชั่นแนลขึ้น ที่เกาะเคย์แมน
เพื่อดำเนินการขายตั๋วลูกหนี้ส่งออกล่วงหน้าของรีบอคในตลาดต่างประเทศให้แก่ไดวาฯ
"บริษัทใหม่ที่จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมนจะทำหน้าที่เหมือนนายหน้าในการขายของนั่นเอง
คือจากเดิมที่เราเคยขายสินค้าทั้งหมด ที่ทางเราผลิตได้ให้กับบริษัทแม่โดยตรงนั้น
ก็จะทำไม่ได้แล้ว เราจะต้องส่งสินค้าผ่านบริษัท วงศ์ไพฑูรย์ อินเตอร์ฯ ที่เคย์แมน
และวงศ์ไพฑูรย์ อินเตอร์ฯ จะหักส่วนต่าง เพื่อจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่นักลงทุนที่อเมริกา
โดยมีแบงก์เกอร์ทรัสต์ทำหน้าที่เป็นทรัสตี และส่งเงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด
แล้วกลับไปยังวงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป"
วิจักษ์อธิบาย
ดีลนี้ถือเป็นดีลแรกของเมืองไทย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่การทำธุรกรรมใหม่นี้จะสำเร็จ
และดีลนี้ไม่มีทีมงานวาณิชธนกิจที่เป็นคนไทยเลย มีเพียงทีมงานของบริษัทประมาณ
4-5 คน ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการนี้โดยเฉพาะ ดีลใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ
6 เดือน นับตั้งแต่การติดต่อกับทางไดวาฯ การศึกษาข้อกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ
การลงบัญชี เป็นต้น
"เท่าที่ทราบตอนนี้มีคนเข้าแถวรอทำธุรกรรมแบบนี้อยู่ แต่เราเร็วกว่า
เลยกลายเป็นกรณีตัวอย่างรายแรกไป ผมบอกตรงๆ ว่าไม่ง่ายเลย ใช้เวลาทั้งสิ้น
6 เดือน ผมว่านานมาก เอกสารก็เยอะ ทำดีลนี้เสร็จ ผมจบกฎหมายอีกวิชา ซึ่งกฎหมายเป็นเรื่องที่จุกจิกมาก
ผมต้องรู้ทุกเรื่อง และดีลนี้ผมออกไปทำ ROAD SHOW เอง ไม่จำเป็นต้องจ้าง
IB บ้าน เราทำเลย" วิจักษ์กล่าวอย่างภูมิใจ