กฎเหล็กไอเอ็มเอฟ สัญญาแปรรูปที่ต้องเร่งทำ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

มีการระบุว่ารัฐบาลไทยได้เขียนหนังสือแจ้งความจำนง ขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงิน จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเป็นข้อผูกมัดที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามฉบับที่ 1 ลงวันที่ 15 กันยายน 2540

ข้อ 7. ระบุว่าเป้าหมายในระยะปานกลางด้านอื่น ได้แก่

- การปฏิรูประบบราชการ
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในโครงการที่เกี่ยวกับการขนส่งและพลังงานในลักษณะ BOT (Build-Operate-Transfer Arrangements)
- โครงการร่วมทุนและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงาน การขนส่ง และโทรคมนาคม

นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2541 ประเทศไทยมีแผนจะดำเนินการแปรรูปสายการบินแห่งชาติ และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในสาขาไฟฟ้า โทรคมนาคมและก๊าซ โดยจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงกฎหมายร่วมทุน (corporatization law) การดำเนินการในส่วนนี้จะต้องมีการแยกบัญชี และไม่นำไปรวมกับการบริหารงบประมาณปกติ และการดำเนินการในส่วนนี้จะดำเนินการภายใต้การปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ IMF อย่างใกล้ชิด

ข้อ 18 ทางการยังคงยืนยันที่จะดำเนินนโยบาย ในการปรับปรุงฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกัน กับเป้าหมายเกินดุลภาครัฐบาลร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์ในประเทศในปีงบประมาณ 2541 และรักษาระดับการเกินดุลดังกล่าวให้คงอยู่ในระยะปานกลาง โดยจะมีการควบคุมการใช้จ่ายเงินทุนและมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ตลอดจนเน้นการลงทุนในโครงการพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งโครงการอื่นๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย สำหรับโครงการรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญอาจพึ่งพาแหล่งทุนจากต่างประเทศได้ แต่ฐานะรวมทั้งหมดของภาครัฐวิสาหกิจจะต้องสมดุล โดยการตัดลดการลงทุนที่มีความสำคัญน้อย เน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางอย่าง ซึ่งรวมถึงโครงการทางด่วน โครงการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้การพิจารณาทบทวนโครงการการลงทุนของภาครัฐ จะมีการร่วมหารือกับธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้ฐานะรวมของรัฐวิสาหกิจสมดุล จะต้องมีการปรับค่าบริการของรัฐวิสาหกิจและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ให้สะท้อนถึงต้นทุนของการให้บริการอย่างที่จริง รวมถึงต้นทุนที่ลงทุนใหม่และลงทุนทดแทน ในขณะที่ราคาน้ำมันและต้นทุนด้านพลังงานได้มีการปรับไปแล้ว เพื่อชดเชยผลกระทบจากการปรับค่าเงินบาท อย่างไรก็ตามอัตราค่าบริการของรถประจำทางที่ไม่ปรับอากาศและค่าโดยสารรถไฟธรรมดา ยังอาจจะอยู่ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนเป็นการชั่วคราว โดยได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล


ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540

ข้อ 17 ระบุว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเป้าหมายหลัก เป้าหมายหนึ่งในระยะปานกลางของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทางการได้ดำเนินการร่างแผนงานเบื้องต้นในการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในสาขาพลังงาน สาธารณูปโภค การสื่อสารและการขนส่ง คาดว่าจะมีการประกาศแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในสาขาเหล่านี้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2541 รัฐวิสาหกิจที่ได้ดำเนินการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัดแล้ว แต่รัฐบาลยังถือหุ้นใหญ่อยู่ จะถูกแปรรูปก่อนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางการจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในสายการบินแห่งชาติ (ปัจจุบันร้อยละ 90) และบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (ปัจจุบันร้อยละ 80) ให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในกลางปี 2541 ถ้าภาวะตลาดเอื้ออำนวย ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเสนอให้รัฐสภา พิจารณากฎหมายที่จำเป็นในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีการแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด ภายในเดือนมิถุนายน 2541


ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541

ข้อที่ 10 ระบุว่า สำหรับกองทุนฟื้นฟูฯ ทางการตระหนักดีว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้อยู่ในรูปพันธบัตรระยะปานกลางและระยะยาว ที่รัฐบาลค้ำประกันและอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจะต้องรวมภาระดอกเบี้ยจากการปฏิรูปสถาบันการเงิน (รวมทั้งเงินให้กู้ยืมและการถือหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้รับภาระ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งธนาคารรัตนสิน และ บบส.) ไว้ในงบประมาณของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยจะเริ่มรวมภาระดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ ไว้ในงบประมาณปี 2541/42 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถชำระค่าดอกเบี้ยทั้งหมด (สุทธิจากการชำระคืน) โดยใช้เงินจากงบประมาณได้ภายในปี 2543 ส่วนการชำระคืนต้นเงินกู้นั้น คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.