กอไผ่-พลิ้วไหว มองดนตรี มองสังคม

โดย ธีรัส บุญ-หลง
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อหลายเดือนก่อนแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักโหมโรง หนังฟอร์มเล็กแต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ที่สร้างกระแสอินเทอร์เน็ตและดนตรีไทยให้คึกคัก เสียง ดนตรีอันไพเราะในโหมโรงนั้นส่วนมากได้คณะดนตรีกอไผ่ช่วยบรรเลง บัดนี้คณะกอไผ่ได้มาเยือน Edinburgh เพื่อมาเผยแพร่ดนตรีไทย พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางดนตรีแขนงต่างๆ ในเทศกาล International Music Festival

ด้วยความสนใจในดนตรีไทยเป็นทุนเดิมบวกกับเหนื่อยและเบื่อจากวิทยานิพนธ์ ผมจึงได้ตอบรับ คำชวนจากรุ่นพี่นักเรียนดนตรีหนึ่งในทีมผู้จัดเทศกาล ไปร่วมกิจกรรมดนตรีไทย หรือ Thai Music Discovery Day 'Workshop Concert and Film' ก่อนที่ผมจะตอบรับคำชวนผมต้องคิดแล้วคิดอีกว่าควรจะไปร่วมดีหรือเปล่า เนื่องจากคราวก่อนรุ่นพี่ผู้หลงใหลดนตรีแนวทดลองคนนี้ชวนไปคอนเสิร์ตที่จัดขึ้น ซึ่งเล่นเอาผู้เขียนถึงกับงงงวยและปวดหัว ครั้งนั้นเป็นการเล่นดนตรีร่วมสมัยร่วมกับดนตรี Classic มีแสงสะท้อนจากแผ่น Aluminium เข้าตาคนดูเพื่อสะท้อนความรู้สึกของ global warming และดูผลตอบรับทางจิตวิทยาจากคนดู เป็นดนตรีที่ใช้ในการควบคุมจิตใจของคน

Thai Music Discovery Day เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากที่กล่าวมาเบื้องต้น ดนตรีที่ได้เห็นได้ฟังได้สัมผัส รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ เป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมและได้เรียนรู้ การดำเนินงานอาจจะขัดข้องไปบ้างด้วยเหตุผลต่างๆ แต่โดยรวม แล้วความหมายและความรู้สึกได้ถ่ายทอดไปยังผู้ฟังอย่างเต็มเปี่ยม

ในช่วงเช้าของวันเป็นการเล่นและอธิบายดนตรีไทยให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรมดนตรี นอกจากนั้นยังได้ดูได้เห็นการเต้นแบบล้านนาที่หาดูได้ยาก ในช่วงบ่ายได้มีการอธิบายกับการเล่นละครหุ่นจากครูใหม่ (คุณวิลาวัลย์ เศวตเศรณี) ในช่วงนี้ค่อนข้างแน่ชัดว่าหุ่นนั้นไม่ใช่หุ่นแบบไทยดั้งเดิม วิธีการเชิดก็แตกต่าง แต่ไม่ว่าจะแตกต่างขนาดไหนก็ยังให้ความรู้สึกว่าได้ดูหุ่นเชิดของไทยอยู่ อะไรเป็นตัวสร้างตัวตนของความเป็นไทย? คำตอบในความรู้สึกของผมคือเสื้อผ้า ของหุ่น หน้าตาของหุ่น (ดูเหมือนคนไทยตามที่เห็นใน วรรณคดี) และเรื่องที่นำเสนอ (วรรณคดีไทย) หรือว่า รูปแบบของหุ่นภายนอกและวิธีการเชิดนั้นอาจจะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ โดยคงความเป็นไทยตราบที่เอกลักษณ์สำคัญที่เป็นองค์ประกอบยังคงอยู่?

แล้วกับดนตรีไทยล่ะ? คำตอบก็ได้ออกมาในช่วงบ่าย หลังจากนั้นวงกอไผ่ได้ร่วม improvise ดนตรี ไทยร่วมกับดนตรีจีน (กู่เจิ้ง, พิณ) และดนตรี classic ฝรั่ง พร้อมด้วยเสียงจิ้งหรีดจากธรรมชาติ ผมพอเข้าใจ จุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ดนตรีเรียนรู้กันและกันและรวมเป็นหนึ่ง แต่ผลลัพธ์หาได้ไพเราะหรือสอดคล้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่กลับข่มและกลบกันจนยากที่จะรู้สึกถึงความสามัคคีของดนตรี ผิดกับดนตรีไทยที่วงกอไผ่บรรเลงในช่วงเช้าที่ช่างพลิ้วไหวอ่อนช้อยได้อารมณ์เสียเหลือเกิน สิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้ผมรู้สึกว่าในการที่จะทำดนตรีแขนงใหม่โดยรวมหลายแขนงเป็นหนึ่งแบบ globalization นั้นต้องทำด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งต้องใช้เวลาในการที่จะทำให้เหล่านักดนตรีทุกฝ่ายเข้าใจวัฒนธรรมดนตรี ความรู้สึกของกันและกัน อุปมาดนตรีด้นสดครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนกับสังคมแบบ globalization ที่พยายามรวมวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน วัฒนธรรมที่มีความหลาก หลายแต่ขาดสมดุล มีแต่ความพยายามจะกลบกันและ กัน ผู้คนในสังคมจึงเกิดความสับสนเนื่องจากขาดการสื่อสารที่พอดี มีบางครั้งที่มีการรับวัฒนธรรมเข้ามาแบบไม่กลั่นกรองจนทำให้เกิดปัญหา

ตัวอย่างในที่นี้ก็คือ การเข้ามาของทุนนิยม หลายประเทศในเอเชียนั้นมีรากฐานต้นตอจากระบบเครือญาติเพื่อนฝูงที่ทำอะไรก็ทำกันเป็นทีม มีการหยวนและระบบสังคมของความสัมพันธ์แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอันซับซ้อน การเข้ามาของทุนนิยมนั้นเข้ามาในรูปของประชาธิปไตยก่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอย่างไรไม่ทราบได้ ระบอบประชาธิปไตยได้กัดกร่อนระบบเจ้าขุนมูลนายไปไม่ใช่น้อย ผู้คนมีอิสระขึ้น ทุกคนมีความรู้สึกว่ามีสิทธิมีเสียง มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ด้วยเพราะเหตุที่ว่าทุกคนมีโอกาสและไม่ชินกับระบบ ระยะแรกๆ ของประชา ธิปไตยจึงมีการเปลี่ยนผู้นำโดยการปฏิวัติบ่อย (ทุกๆ คนมีโอกาส) โดยในขณะเดียวกันระบบช่วยเหลือก็ยังคงอยู่ (เพื่อนฝูงญาติโยมจึงครองอำนาจด้วย) เมื่อประชาธิปไตยแบบเอเชียของเราพัฒนาขึ้น พร้อมๆ กับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมบริโภคและเงินตราจากฝั่งตะวันตก ความรู้สึกของประชาชนก็เริ่มเปลี่ยนไป

Capitalism ทำให้คนเป็นปัจเจกชนมากขึ้น มองถึงความสำเร็จส่วนตัวและเฉพาะกลุ่มเป็นสำคัญ การนับถือเจ้าขุนมูลนายและฟ้าดินเริ่มเปลี่ยนเป็นนับถือคนดังและเงินตรา เช่น ดาราและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง เหตุผลในการทำอะไรเริ่มเป็นในแง่ของตัวเลขมากกว่าจริยธรรม สังคมเอเชียในยุคปัจจุบันหลายประเทศถึงโดนปกครองโดยกลุ่มนักการเมืองนายทุน ที่สำคัญคือระบบเครือญาติยังคงอยู่การขึ้นจึงขึ้นทั้งแผง การแข่งขันก็มีเหมือนเดิมจึงมีการปะทะกันของกลุ่มนายทุนอยู่เสมอ การเปลี่ยนรัฐบาลและขั้วอำนาจจึงเป็นการเปลี่ยนนโยบายทำให้ขาดการต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการที่รัฐบาลอยู่ยาวนาน ก็อาจทำให้ประเทศตกไปอยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยถาวร อย่างกรณีที่เกี่ยวกับอินโดนีเซียสมัยซูฮาร์โตครองอำนาจ ระบบเจ้าขุนมูลนายสมัยก่อนนั้น อาจจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมคงเสถียรภาพและพัฒนาโดยต่อเนื่อง โดยปราศจากปัญหาภายในเปรียบเสมือนดนตรีไทยแบบเล่น โดยไม่ผสมผสานกับดนตรีฝรั่งหรือดนตรีจีน

อย่างไรก็ตาม คงเป็นไปไม่ได้ในยุคนี้ที่จะหยุดยั้งกระแส Globalization สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผสมผสานกันอย่างลงตัวโดยไม่เสียเอกลักษณ์ของตนเองไป ผมขอยืมประโยคของครูศร ศิลปบรรเลง (เล่นโดยคุณอดุลย์ ดุลยรัตน์) ในโหมโรง ที่พูดกับนายทหารหนุ่ม (เล่นโดยคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ทำนองว่า จะพัฒนาก็พัฒนาได้แต่จะไปไม่ได้ดีถ้าขาดความเข้าใจในรากเหง้าของตนเอง นอกจากนั้น ผู้เขียนขอเสริมด้วยว่าเราต้องพยายามที่จะเข้าใจวัฒนธรรม รากเหง้าของชาติอื่นด้วย ก่อนที่จะมาผสมทุกอย่างกันให้ลงตัว แล้ว 'ตัวตน' ของเราก็จะคงอยู่ พร้อมกับปัญหาที่น้อยลงเพราะเราเข้าใจในเขาและเรา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.