The New York Times บนเส้นทางแห่งความอัปยศ

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

The New York Times เป็นหนังสือระดับชาติ (National Newspaper) ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ในอดีตกาล หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นผู้นำในการรายงานข่าว และเสนอบทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือระดับสูงในวงการสื่อสารมวลชน

แต่แล้วเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 คณะบรรณาธิการ The New York Times ออกแถลงการณ์กึ่งขอโทษประชาชนชาวอเมริกัน สารภาพผิดที่มิได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนด้วยความซื่อตรงต่อหน้าที่ ด้วยการเผยแพร่สารสนเทศกึ่งจริงกึ่งเท็จ ในประการที่สำคัญ The New York Times มีส่วนส่งเสริมให้รัฐบาลบุชทำสงคราม รุกรานอิรักและหล่อหลอมทัศนคติของปวงชนชาวอเมริกัน ให้เห็นดีเห็นงามกับการทำสงครามนั้น ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารที่ว่า ซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธที่มีผลทำลายล้างมวลมนุษย์ที่เรียกว่า Weapon of Mass Destruction ซึ่งจนบัดนี้ยังมิอาจหาประจักษ์พยานข้อเท็จจริงในการยืนยันข้อกล่าวหานี้ได้

แถลงการณ์เรื่อง "The Times and Iraq" ซึ่งตีพิมพ์ใน The New York Times ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนชั้นนำ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์มิจำเพาะแต่ในสหรัฐอเมริกา ล้วนรายงานข่าวเรื่องนี้

- BBC News ซึ่งค่อนข้างเป็นกลาง พาดหัวข่าว ว่า "New York Times Admits Iraq Faults" (May 26, 2004)

- Aljazeera.net กระบอกเสียงของโลกมุสลิม พาดหัวข่าวว่า "US Paper Apologises for WMD Report (May 26, 2004)

- Editor and Publisher สื่อมวลชนที่เฝ้าจับตา อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ รายงานข่าว "The New York Times Admits Fault in Iraq WMD Coverage" (May 27, 2004)

ความไม่พอใจการรายงานข่าวของ The New York Times ปรากฏอย่างรุนแรงในขบวนการประชาชนที่ต่อต้านสงครามและเรียกร้องสันติภาพ รวมตลอดจนปัญญาชนเสรีนิยม เพราะ The New York Times นำเสนอข่าวและบทวิเคราะห์ให้ท้ายรัฐบาลบุชในการทำสงครามรุกรานอิรักอยู่ตลอดเวลา The New York Times ยอมเป็นเบี้ยหมากรุกของรัฐบาลบุช และกลายเป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนการทำสงครามรุกรานอิรักของรัฐบาลบุช หลายต่อหลายครั้งที่ The New York Times เป็นกลไกของกระทรวงกลาโหมอเมริกันในการปล่อยข่าวเท็จ โดยหวังผลทางการเมืองระหว่างประเทศ

ในเมื่อ The New York Times กลายเป็นจักรกล ในการขับเคลื่อนการทำสงคราม สื่อมวลชนฝ่ายซ้ายและ ฝ่ายเสรีนิยมจึงจับตามองประพฤติกรรมของ The New York Times ชนิดเกาะติดบทวิเคราะห์ และวิพากษ์การรายงานข่าวของ The New York Times ปรากฏอย่างต่อ เนื่องใน www.counterpunch.com และ z.net (www. zmag.org) โดยที่มีการโหมวิพากษ์ในช่วงหลังนี้เมื่อเกิด กรณีอัปยศ Jayson Blair ใน The New York Times

ผู้คนบางภาคส่วนอาจเห็นว่า The New York Times เพิ่งเปลี่ยนไป แต่สำหรับผู้ติดตาม The New York Times ชนิดเกาะติดอาจมีความเห็นแตกต่างไปว่า การรายงานข่าวชนิดปราศจากจรรยาบรรณอันงดงามของสื่อมวลชน มิใช่ประพฤติกรรมใหม่ของ The New York Times หากแต่เป็นประพฤติกรรมที่มีมาช้านานแล้ว Fair and Accuracy in Reporting อันเป็นองค์กรที่ตรวจสอบจรรยาบรรณสื่อมวลชน (www.fair.org) มีความเห็นแนวทางนี้ เพราะมีกรณีที่ยกเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นจำนวนมาก

ในแถลงการณ์ขอโทษผู้อ่าน คณะบรรณาธิการ The New York Times มิได้เอ่ยชื่อผู้สื่อข่าวและนักหนังสือพิมพ์ ที่สร้างกระแสกระหายสงครามในสังคมอเมริกันโดยเฉพาะเจาะจง แต่ถือเป็นความผิดของกองบรรณาธิการโดยรวม ในแวดวงสื่อมวลชนอเมริกัน มีการวิพากษ์บทบาทของจูดิธ มิลเลอร์ (Judith Miller) นักหนังสือพิมพ์อาวุโสของ NY Times อย่างเฉพาะเจาะจง และน่าสังเกตว่าเป็นการวิพากษ์ต่อเนื่องนานนับเดือน

จูดิธ มิลเลอร์ รับข่าวปล่อยจากเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอเมริกันมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The New York Times มิลเลอร์ต้องการรักษาสัมพันธภาพอันดีกับแหล่งข่าวของเธอในกระทรวงกลาโหมอเมริกัน เพียงเพื่อให้ได้ Exclusive Information ชนิดที่หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นไม่มี ในหลายต่อหลายกรณี 'แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้' ของเธอในกระทรวงกลาโหมอเมริกันปล่อยข่าวเท็จให้เธอนำไปเผยแพร่

มิลเลอร์ถลำเข้าไปใช้บริการจากชาวอิรักอพยพ และบรรดาผู้ใกล้ชิดที่ตีตนออกห่างจากซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งยืนยันว่าซัดดัมสะสมอาวุธนิวเคลียร์และ WMD อื่นๆ ในยามที่เธอได้ข่าวสารประเภทนี้ รายงานข่าวของเธอจะพาดหัวปรากฏในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ แต่ครั้นตรวจสอบได้ว่า รายงานข่าวดังกล่าวไม่มีมูลแห่งความเป็นจริง มักจะไม่มีการแก้ข่าวหรือขอโทษผู้อ่าน หากมีการแก้ข่าว รายงานข่าวนั้นมักจะปรากฏเป็นคอลัมน์เล็กๆ ซุกอยู่ในหน้าหนึ่งหน้าใดของหนังสือพิมพ์

มิลเลอร์ถลำไปอาศัยอาห์เหม็ด ชลาบี (Ahmed Chalabi) ชาวอิรักอพยพเป็นแหล่งข่าว ชลาบีกินเงินค่าจ้างจาก CIA บางครั้ง CIA ปล่อยข่าวผ่านชลาบีสู่มิลเลอร์ เพื่อนำไปรายงานใน The New York Times ชลาบีมิใช่บุคคลที่วงการรัฐการอเมริกันไว้วางใจ และบัดนี้รัฐบาลอเมริกันประกาศประณามชลาบีอย่างเป็นทางการ ไม่น่าเชื่อว่า The New York Times นำข่าวสารจากชลาบีไปตีพิมพ์โดยปราศจากการตรวจสอบเท่าที่ควร

ความเสื่อมทรามของ The New York Times มิได้เพิ่งปรากฏในกรณีการสร้างกระแสการทำสงครามอิรักนี้ หากแต่ก่อตัวมาก่อนหน้านี้นานแล้ว กรณีอื้อฉาว เจย์สัน แบลร์ (Jayson Blair) แสดงอาการความเสื่อมทรามของ The New York Times อย่างชัดเจน

เจย์สัน แบลร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ระดับดาวรุ่ง พุ่งแรงของ The New York Times แต่ต่อมาค้นพบว่า แบลร์นั่งเทียนเขียนข่าว ข้อค้นพบนี้มาจากข้อค้น พบก่อนหน้านี้ว่า แบลร์ลอกข่าวจากหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่น โดยในขั้นต้นวงการสื่อสารมวลชนจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน หลายต่อหลายข่าวแบลร์กุบทสัมภาษณ์ขึ้นเอง โดยที่การสัมภาษณ์มิได้เกิดขึ้น เจย์สัน แบลร์ ถูกกดดันให้ลาออกในเดือนพฤษภาคม 2546

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น The New York Times ต้องเผชิญมรสุมอีกระลอกหนึ่ง คราวนี้เป็นกรณี ริก แบรก (Rick Bragg) นักหนังสือพิมพ์ระดับรางวัล Pulitzer Prize

ริก แบรก รายงานข่าวชาวประมงหอยนางรม ในมลรัฐฟลอริดา The New York Times ตีพิมพ์รายงานข่าวโดยมีชื่อ ริก แบรก เป็นผู้เขียน ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า แบรกว่าจ้างให้นักข่าวอิสระหาข่าว รายงานข่าวกว่าครึ่งของแบรกมาจากข้อเขียนของนักข่าวรับจ้าง

ความเสื่อมทรามด้านจรรยาบรรณทำให้ฮาวเวลล์ เรนส์ (Howell Raines) บรรณาธิการบริหาร และเจอรัลด์ บอยด์ (Gerald Boyd) บรรณาธิการอาวุโสลาออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2546 และต่อมามีการแต่งตั้งบิลล์ เคลเลอร์ (Bill Keller) นักหนังสือพิมพ์ระดับรางวัลพูลิตเซอร์เป็นบรรณาธิการ บริหารสืบต่อมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546

การออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชนเกี่ยวกับ การรายงานข่าวว่าด้วยการสะสมอาวุธร้ายแรงของอิรัก เกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของบิลล์ เคลเลอร์

คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า The New York Times จะเบี่ยงเบนออกจากเส้นทางแห่งความอัปยศได้อย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.