คิดถึงแบรนด์ใหม่ "Plus Minus Zero" คิดถึงความสนุกสนานจากเครื่องใช้ไฟฟ้า


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

Plus Minus Zero เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ใหม่ซิงๆ ที่ทำให้วงการสั่นสะเทือน หลังจากเพิ่งเปิดตัวและเปิดห้างจำหน่ายของตนเองขึ้นที่ Nihonbashi ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนเมษายน 2004 จับจุดเด่นของตัวผลิตภัณฑ์ที่ผงาดขึ้นมาแทรกช่องว่างในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างสง่างาม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เบื่อหน่ายงานออกแบบเดิมๆ

ทันทีที่ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Plus Minus Zero ผู้บริโภคจะได้สัมผัสถึงความสนุกสนานรวมทั้งความแปลกใหม่ ที่ทำให้หลุดพ้นจากความจำเจเดิมๆ โดยสิ้นเชิง เพราะผลงานที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์อย่างน่าทึ่งนี้เป็นของ Keita Satoh และ Naoto Fukasawa สองหุ้นส่วนหัวเห็ดของบริษัท Takara ผู้ผลิตเครื่องเล่นของญี่ปุ่นที่ทำให้โลกตาค้างมาแล้วครั้งหนึ่ง จากการวางตลาด Bowlingual อุปกรณ์ที่สามารถแปลงเสียงเห่าของสุนัขเป็นภาษาญี่ปุ่น

Fukasawa เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในญี่ปุ่นว่า เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับกระบี่มือหนึ่งของวงการคนหนึ่งเหมือนกัน ผลงานของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นที่แสดงถึงความมีรสนิยมและพลังดึงดูดในตัวเอง ขณะที่ Satoh มีอารมณ์ขันอยู่เป็นนิตย์ นอกจากกิจการบริษัท Takara แล้ว ทั้งคู่ยังซื้อบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามาครอบครอง เพราะต้องการขยายฐานตลาดเครื่องเล่นไปสู่ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างความบันเทิงและอยู่ในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้นนั่นเอง

จากการวางแนวคิดที่กลายเป็นนโยบายหลักว่า เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีความเรียบง่าย สนุกสนาน และใหม่ซิงๆ เพื่อจับตลาดผู้บริโภคที่เบื่อหน่ายความจำเจ ผสมผสาน กับความบังเอิญที่ Satoh ได้ไอเดียจากแค็ตตาล็อก Without Thought ที่ Fukasawa จัดพิมพ์เพื่อใช้ในงานเวิร์คชอปประจำปีสำหรับนักออกแบบหน้าใหม่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะเครื่องเล่นซีดีติดผนังที่ Fukasawa ออกแบบให้ Muji นั้นจัดอยู่ในประเภท instant classic ที่ทำให้ Satoh บอกกับตัวเองว่า เขาได้พบนักออกแบบในฝันแล้ว จึงวางมือให้ Fukasawa กุมบังเหียนกิจการด้วยความสบายใจ

Fukasawa ยอมรับว่ามันเป็นโครงการในฝัน และสะท้อนแนวคิดของตัวเองว่า "ผมไม่พยายามทำให้งานที่ออกแบบมาแลดูเป็น 'งานออกแบบ' ผมมีแนวคิดเบื้องหลังโครงการ Without Thought ว่า เพื่อสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยที่คุณไม่ต้องนึกถึงเรื่องของการออกแบบอะไรให้ยุ่งยาก เอาแค่เพียงว่าในระหว่างการใช้งาน คุณสามารถสื่อสารกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ก็พอ"

จึงช่วยไม่ได้ที่แบรนด์ Plus Minus Zero ซึ่งออกแบบและผลิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่อยู่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ของระบบบริษัท แถมไม่ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านการตลาดใดๆ จะเด่นเตะตาและต้องใจผู้บริโภคเป็นพิเศษ เพราะนอกจากความเรียบง่ายปราศจากเครื่องเครารกรุงรังแล้ว ยังมีสีสันสะดุดตาเอามากๆ "สำหรับงานออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว เมื่อพิจารณาในแง่ของการใช้งาน มี features หลายอย่างที่ถือว่าไม่จำเป็นเอาเสียเลย เช่น ทำไมทีวีถึงต้องมีตู้มีโครงหนาเทอะทะ? เหตุผลก็คือเมื่อตั้งโชว์อยู่ในร้าน มันแลดูดีกว่า และสง่ากว่า แต่ในแง่ของการใช้งานแล้ว มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย" Fukasawa แสดงจุดยืนของตัวเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.