|
บ้านใหม่ตาดู บ้านใหม่ศิลปิน
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
พลันที่หอศิลป์ตาดู ย่านอาร์ซีเอปิดตัวลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 โดยปล่อยให้บ้านเก่ากลายเป็นแหล่งบันเทิงแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ได้สร้างคำถามให้สังคมไม่น้อย
ความตั้งใจของ วิทิต ลีนุตพงษ์ ผู้บริหารกลุ่มยนตรกิจ จำกัด เมื่อ 8 ปีที่แล้วคือ หวังจะเห็นหอศิลป์ตาดูบนอาคาร พาวิลเลียนวาย ย่านอาร์ซีเอ เป็นเวทีสาธารณะสำหรับศิลปินร่วมสมัยทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความคิดและผลงานศิลปะของตนเอง มีส่วนกระตุ้นให้คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนให้รักและสร้างสรรค์งานศิลปะมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งเป็นแหล่งนัดพบและเสวนาของบรรดาผู้รักงานศิลป์ทั้งหลาย
วิถีการเสพงานศิลปะของนักธุรกิจผู้นี้มีความน่าสนใจ และทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ช่วยสร้างให้ศิลปะได้งอกงามในวงกว้าง และหยั่งรากลึกได้ระดับหนึ่ง
งานนิทรรศการ "เปิดบ้านใหม่" ของหอศิลป์ตาดู เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคือสิ่งที่ตอกย้ำว่า ผู้บริหาร กลุ่มยนตรกิจยังคงมีการจรรโลงงานศิลป์ของไทยต่อไปแน่นอน
หอศิลป์แห่งใหม่ของตาดู อยู่บนชั้น 7 ของอาคารบาเซโลนา มอเตอร์ บนถนนเทียนร่วมมิตร โดยมีอภิศักดิ์ สนจด เป็นผู้อำนวยการหอศิลป์คนใหม่ เขามาพร้อมกับวิธีคิดใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม
"อย่างแรกเลยเราคงต้องทำให้หอศิลป์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สถานศึกษารอบๆ บริเวณนี้ คือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องพยายามสื่อเข้าไปให้ถึง ปฎิทินงานศิลป์แต่ละงานครูศิลปะต้องรับรู้ เพื่อที่จะได้พานักเรียนเข้ามาร่วมกิจกรรมกับศิลปินโดยตรง หรือเมื่อเลิกเรียนแล้วเขาสามารถแวะเวียนเข้ามาดูงานได้เลย"
ในขณะเดียวกันอภิศักดิ์ต้องทำความเข้าใจเรื่องการบริหาร งานวัฒนธรรม และต้องพูดคุยรูปแบบการจัดงานกับศิลปินให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ติดตั้งภาพ เชิญผู้ใหญ่มาเปิดงาน หลังจากนั้นใครจะซื้อภาพไปหอศิลป์ก็หักเปอร์เซ็นต์อย่างที่ตกลงไว้
งาน "Women short stories" ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะภาพพิมพ์และหนังสือศิลปะร่วมสมัยของวิทมน นิวัติชัย และยุวนา ปุณวัฒนวิทย์ ที่ผ่านไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยมีการจัดเวิร์กชอปร่วมกับคนดู อีกด้วย โดยแบ่งออกเป็นสองรอบ คือรอบของผู้ใหญ่ และรอบของเด็ก
งานเวิร์คชอปครั้งนั้นได้มีการกางโต๊ะกันกลางห้องศิลป โดยศิลปินได้จัดกิจกรรมต่างๆ มาร่วมให้ความรู้กับคนดูอย่างสนุกสนาน
งานละคร งานภาพยนตร์เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดูคนใหม่หมายมั่นว่า จะต้องจัดให้มีเพื่อดึงกลุ่มคนดูที่หลากหลายให้เข้ามาเพิ่มขึ้นและวันนี้ ละครเกี่ยวกับฆาตกรรมของนิกร แซ่ตั้ง กำลังรอจังหวะจัดแสดงที่นี่ พร้อมๆกับการเร่งหาสปอนเซอร์
การคิดค้นรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายของวัฒนธรรม ให้ผสมผสานไปกับกลยุทธ์ทางด้านการตลาด เห็นจะเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้บ้านใหม่ของตาดู แข็งแรงมั่นคงเป็นที่พึ่งของศิลปินไปได้อีกนาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|