|
ร้านขนมเปี๊ยะริมทาง "ตั้งเซ่งจั้ว"
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เบื้องหลังงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นกลางท้องทุ่งแห่งอำเภอบางคล้านั้น คือความภาคภูมิใจของสถาปนิกที่มีส่วนร่วมในการสร้างความฝัน และคือความสุขของคนเขียนที่มีโอกาสได้ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวขายขนมเปี๊ยะเล็กๆ ร้านนี้
ความประทับใจในชวลิต "เตี่ย" ช่วงชัย "อาเจ็ก" และลูกหลานวัยรุ่นทั้ง 3 คน "จรัส" "อรวรรณ" "ปิยะพร" ของครอบครัว ร้านขนมเปี๊ยะ "ตั้งเซ่งจั้ว" ยังคงอบอวลอยู่ในบรรยากาศรอบตัวทั้งๆ ที่ "ผู้จัดการ" ได้ล่ำลาพวกเขามาพักใหญ่ และกำลังเร่งเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเวลาบ่ายจัด
ไม่บ่อยนักหรอกที่จะได้สัมภาษณ์คนทำธุรกิจ ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องราวของตัวเลขกำไรขาดทุนอยู่ในความคิดตลอดเวลา
"คนที่เขาเก่งคำนวณ พวกนักเศรษฐศาสตร์ และเพื่อนฝูงทุกคนที่มาเห็น ร้านนี้เขาก็ส่ายหน้ากันทั้งนั้น ลื้อต้องขาย หนมเปี๊ยะ กี่กล่องละเนี่ย ถึงจะได้ทุนคืน 18 ล้านบาท"
ช่วงชัย ตันคงคารัตน์ หรืออาเจ็กของหลานๆ เริ่มต้นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มโดยมีชวลิตพี่ชายคนโต และปิยะพรหลานชายคนเล็กคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นบางช่วง
ปิยะพรเล่าว่าเดิมทีเดียว เตี่ย แม่ มีความเห็นว่า ไม่จำเป็นเลยที่ต้องดีไซน์ร้านสวยๆ หรือทำแพ็กเกจจิ้งเก๋ๆ เพราะตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา ขนมของร้านนี้ได้รับการยอมรับ และทำรายได้ให้กับครอบครัว จนสามารถส่งลูกหลานหลายคนไปเรียนต่อในต่างประเทศ ส่วนเตี่ยที่อายุ 60 กว่าแล้วก็ได้เดินทางท่องเที่ยวไปแล้วเกือบทั่วโลก และทุกวันนี้ยังมีโรงงานที่ทันสมัยมีร้านสาขาในบางคล้าอีก 2 แห่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นกำไรของชีวิตที่เพียงพอแล้ว
การลงทุนสร้างร้านใหม่ราคาถึง 18 ล้าน บาทนั้น เตี่ยจึงคัดค้านอย่างหนัก ตั้งแต่เริ่มคิด ในขณะที่คนอื่นๆ ในครอบครัว ต่างมีความฝัน ร่วมกัน แต่ละคืนทุกคนจะนั่งคุยถึงแนวคอนเซ็ปต์ของร้านว่าควรมีบรรยากาศ และรูปลักษณ์แบบไหน จะสื่อถึงบรรพบุรุษให้คนที่เข้ามาได้รู้เรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ยิ่งคุย ยิ่งสนุก ความคิดยิ่งขยายออกไป จะวงแตกหรือเบี่ยงเบนไปคุยเรื่องอื่นบ้างก็เมื่อเตี่ยเดินเข้ามา พร้อมพูดว่า "พวกลื้อช่างฝันกันจริงๆ"
"เขาอยากเก็บเงินไว้เที่ยวมากกว่า ดูซิ รถไฟสายที่ยาวที่สุดจากมอสโคว์ถึงปักกิ่ง ก็ไป นั่งมาแล้ว ไปกันสองคนผัวเมีย ภาษาอังกฤษพูดไม่ได้สักคำ" อาเจ็กหันไปแซวชวลิตด้วยสีหน้ายิ้มๆ
อาเจ็กเองก็ชอบท่องเที่ยว แต่ละปีนอกจากหาเวลาไปเยี่ยมลูกชายที่กำลังศึกษาทางด้านกราฟิกดีไซน์อยู่ที่ RMIT University ประเทศออสเตรเลีย และลูกสาวที่กำลังศึกษาด้านภาษาที่นิวซีแลนด์แล้ว ก็จะหาโปรแกรมทัวร์ดีๆ ไปเที่ยวอยู่บ่อยๆ เช่นกัน การไปเห็นวิธีคิดของร้านสวยๆ ตามจุดพักริมทางในต่างประเทศ เกิดเป็นแรงบันดาลใจ และมีความเห็นที่สอดประสานกลมกลืนไปกับลูกหลานคนรุ่นใหม่อย่างไม่มีช่องว่างระหว่างวัย
โจทย์ที่เริ่มแตกออกไปทำให้วันหนึ่ง ปิยะพร พี่สาวคนโต "อัญชุลี" พร้อมด้วยอาเจ็ก เดินทางมายังสำนักงานสถาปนิกต้นศิลป์ที่กรุงเทพฯ ความฝันของเขาและครอบครัวถูกเล่าให้ชาตรี ลดาลลิตสกุล ฟัง
ปิยะพรประทับใจงานของต้นศิลป์มาตั้งแต่สมัยเขายังศึกษาอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบภายใน สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนชาตรีประทับใจในความคิดของเด็กรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่ต่างวัยจากอำเภอบางคล้ากลุ่มนี้อย่างมาก จนต้องแวะไปดูร้านและโรงงานขนมเปี๊ยะอีกหลายครั้ง
ในที่สุดโมเดลร้านขายขนมเปี๊ยะที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งก็เกิดขึ้น ในราคาค่าก่อสร้างประมาณ 18 ล้านบาท ซึ่งสร้างความลังเลให้กับทุกคนในครอบครัวอีกครั้ง อาเจ็กเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงอ่อยๆ ว่า
"ก็เรากะไว้แค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น แต่พอเราอยากได้โน่นได้นี่มากขึ้น อย่างเวลาแวะไปที่ดิสนีย์แลนด์ลงจากรถไปเสียงเพลงมันเร้าใจอยากเร่งให้เข้าไปข้างใน เร็วๆ พอจะออกมาเพลงก็ยังดึงดูดอารมณ์จนแทบไม่อยากกลับ ที่ร้านก็เลยอยากให้มีระบบเสียงดีๆ มีเพลงจีนบรรเลงเบาๆ สร้างบรรยากาศทั่วร้านบ้าง แม้แต่ในห้องน้ำก็ต้องมีเสียงเพลง ระบบไฟก็ต้องเนี้ยบมาเดินสายระโยงระยางไม่ได้ ซึ่งมันคือ ต้นทุนทั้งนั้น"
แล้วร้านนี้ก็เริ่มลงมือก่อสร้างท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้เป็นเตี่ย
ความไม่สบายใจของชวลิตคือสิ่งที่ชาตรีสังเกตเห็นและรับรู้ วันหนึ่งขณะที่งานก่อสร้างเริ่มไปกว่าครึ่ง เขาได้แฟกซ์จดหมายฉบับหนึ่งให้ชวลิตเป็นความผูกพัน ของสถาปนิกคนหนึ่งที่มีต่อลูกค้าอย่างจริงใจ เพราะ ณ เวลานั้น งานออกแบบของเขาเสร็จสิ้นลงแล้ว "ผู้จัดการ" ได้ขออนุญาตทั้งสองฝ่ายนำจดหมายมาตีพิมพ์เป็นบางส่วน
"จากการได้พูดคุยกับคุณชวลิตหลายครั้ง ในระยะหลังผมพบว่าคุณยังไม่ค่อย เห็นด้วยกับการที่อุ้ยคิดทำร้านขนม ซึ่งประเด็นหลักก็คือ ความไม่คุ้มทุน ตามวิธีคิดในการทำการค้า จากประสบการณ์ของคุณชวลิต
...ผมอยากสนับสนุนความคิดแบบอุ้ยกับอ้อ แม้ว่าเขาอาจอ่อนหัดในเรื่องธุรกิจ (ซึ่งก็ไม่แน่) เพราะสิ่งที่เขาคิดทำ เป็นสิ่งที่เตี่ย แม่ ที่ประสบความสำเร็จเป็นล้าน อยากให้ลูกหลานทำ แต่น้อยคนที่จะสมหวัง คนจีนรุ่นเตี่ย รุ่นก๋ง ส่วนใหญ่ผ่านชีวิต ที่ยากลำบาก อดออม กว่าจะสร้างฐานะขึ้นมาได้ ลูกหลานบางคนมักดูถูกสิ่งที่ครอบครัวต่อสู้มาว่าล้าสมัย และไม่มีคุณค่าพอ แต่เด็กพวกนี้แตกต่างจากเด็กทั่วไปที่ผมเคยเห็น เพราะพวกเขา "ภาคภูมิใจ" ผมนึกชมครอบครัวคุณชวลิตเสมอว่า สอนลูกหลานอย่างไร เขาถึงรู้จักเคารพและไม่ลืมอดีตของเตี่ย แม่ คุณเชื่อหรือไม่ว่า เศรษฐีหมื่นล้าน แสนล้านที่ผมรู้จัก ล้วนอยากได้ทำในสิ่งที่ครอบครัว "ตั้งเซ่งจั้ว" ได้ทำทั้งนั้น
...ในบางคล้า ครอบครัว "ตั้งเซ่งจั้ว" ไม่ใช่ครอบครัวที่รวยที่สุด แต่มีครอบครัวไหนบ้างที่ได้มีโอกาสแสดงความภาคภูมิใจแบบนี้ หรือพูดอีกแบบคือมีลูกหลานครอบครัวไหนบ้างที่รู้จักคิด บันทึกความภาคภูมิใจของครอบครัว และทำได้แบบลูกหลานเรา"
จดหมายฉบับนี้ถูกส่งให้น้องชายและลูกหลานอ่านก่อนที่จะเก็บไว้เป็นอย่างดี ชวลิตยอมรับความเห็นอีกมุมหนึ่งของชาตรี ทำให้เขามั่นใจและสบายใจขึ้นมากทีเดียว
เมื่อราวๆ ปี พ.ศ.2475 อากงของครอบครัวนี้อพยพมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน ด้วยเรือสำเภาที่แออัดยัดเยียด หลายคนอยู่ในสภาพเสื่อผืนหมอนใบ ผ่านความยากลำบากจากการเดินทางที่ยาวนาน ผ่านการอดทนอย่างหนักกับการเริ่มชีวิตใหม่ในแผ่นดินที่ห่างไกลบ้านเกิด โดยมีไม้บดแป้งทำขนมเปี๊ยะไส้ฟักเชื่อมผสมถั่ว ที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษติดตัวมาสร้างอาชีพ จนกระทั่งวันหนึ่งผัวเมียคู่นี้ก็สามารถเดินทางกลับเมืองจีนด้วยเรือควีนอาลิซาเบท ที่หรูหรา สะดวกสบาย ต่างกับการเดินทางเข้ามาอย่างฟ้ากับดิน
วิธีคิดของคนในครอบครัวนี้แตกต่างจากนักธุรกิจรายอื่นๆอย่างน่าแปลกใจ กำไรของเขาไม่จำเป็นต้องเป็นเม็ดเงินหรือผลประโยชน์สูงสุดเพียงอย่างเดียว
"มีห้างในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ติดต่อเราให้ไปขาย แต่เราไม่มั่นใจ เพราะในห้างมีขนมต่างๆ มากมายให้เลือก ซื้อขนมเปี๊ยะเราอยู่ได้ถึง 2-3 เดือนก็จริงแต่ความอร่อย มันจะสู้ช่วง 10 วันแรกไม่ได้ ถ้าขนมเราค้างอยู่หลายวัน คนเอาไปทานก็บอกว่าไม่อร่อยจริง เราก็เสียชื่อ อยากให้คนได้ทานขนมใหม่ๆ มากกว่า และที่สำคัญ ตั้งเซ่งจั้วเป็นร้านขนมเปี๊ยะร้านแรกๆ ในบางคล้าที่ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน เราอยากให้มันเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่มากกว่าไปหาซื้อที่ไหน ก็ได้"
อาเจ็กอธิบายพร้อมกับบอกว่าตอนนี้เลยส่งขายเพียงที่เดียวคือที่โกลเด้น เพลส และร้านบนจุดพักมอเตอร์เวย์ ซึ่งไม่ยุ่งยากนัก ส่วนหลานชายเสริมว่า หากวันหนึ่งมีความพร้อมมากกว่านี้การไปเปิดร้านทำเองที่กรุงเทพฯ คงมีความเป็นไปได้มากขึ้น
จากขนมเปี๊ยะไส้ถั่วผสมฟัก ที่มีส่วนสำคัญในพิธีการต่างๆ ของจีน เช่น งานแต่งงาน ไหว้เจ้า สารทจีน เริ่มพัฒนาให้ลูกเล็กลง เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ชอบไส้ฟัก ก็มีไส้คัสตาร์ด ไส้เผือก ไส้ฟักทอง ไส้มะตูม หรือไส้งาดำไว้ให้เลือกซึ่งเป็นการขยายฐานลูกค้าไปด้วย
มุมหนึ่งของร้าน ลูกหลานตั้งใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ กระเป๋าเดินทางของอากงสมัยที่มาจากเมืองจีน ไม้นวดแป้งประจำตัว เป็นส่วนหนึ่งที่จะเอามาวางโชว์
"กระเป๋าใบนี้ เมื่อก่อนผมเห็นแล้วมีความรู้สึกว่ามันน่าเกลียดวางแล้วรกบ้านด้วยซ้ำ เคยคิดว่าทำไมมันไม่เป็นกระเป๋าเจมส์บอนด์บางๆ นะ ดูแล้วเท่มาก แต่ตอนนี้ใครจะเอากระเป๋าเจมส์บอนด์ 10 ใบมาแลกผมก็ไม่ยอม"
"ผมรู้ประวัติของไม้อันนี้มาจากอาเจ็ก บอกว่าเป็นไม้นวดแป้งประจำตัวของอากงที่เอามาจากเมืองจีน บ้านไฟไหม้ ย้ายบ้านย้ายที่มาแล้วหลายครั้ง ไม้อันนี้ก็ไม่เคยหาย ผมคิดต่อไปว่า แล้วถ้าผมมีลูกและลูกผมได้เห็นก็คงรู้สึกดีเหมือนกับว่าเรามีอดีตที่เชื่อมถึงกัน เราได้รู้ว่าอดีตของเราเริ่มจากอันนี้ มีหลักฐานที่เห็นๆ อยู่" หลานชายคนเล็กกล่าวเสริม
วันนี้ทุกคนมีความสุขที่จะได้คอยต้อนรับผู้คนที่แวะมาเยือน พร้อมกับเล่าเรื่องราวความเป็นมาของร้านตั้งแต่สมัย "อากง" มาจากเมืองซัวเถาครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างภาคภูมิใจ เป็นความสุขอยู่ที่ใจและมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงิน หลายเท่านัก
"ดูเหมือนว่าตอนนี้คนที่มีความสุขที่สุดคือเขานั่นล่ะ" อาเจ็กบุ้ยใบ้ไปยังพี่ชายที่นั่งยิ้มอยู่ข้างๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|