|
บรรจุความภาคภูมิใจด้วยงานสถาปัตยกรรม
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
การปรากฏตัวของสถาปัตยกรรมกลางทุ่งริมถนนหลังนั้น สามารถดึงดูดสายตาของผู้คนได้ในทันที เป็นความสวยงามที่ดูอบอุ่นและสงบนิ่ง อย่างชาวตะวันออก แต่แฝงการเชื้อเชิญอยู่ในที
"ผมไม่เคยเข้าใจอะไรเกี่ยวกับขนมเปี๊ยะเลยการที่ผมตัดสินใจรับงานออกแบบงานนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรื่องเงินค่าออกแบบ นั้นอาจไม่คุ้มที่จะทุ่มเทนั้น เป็นเพราะผมสัมผัสความภาคภูมิใจอันเต็มล้นของครอบครัวทำขนมนี้ ตั้งแต่วันแรกที่ได้คุยกัน โดยเฉพาะจากเด็ก 2 คนที่ทำให้ผมทึ่งมาก
ผมอยากให้อาคารหลังนี้สื่อสารกับผู้คนที่ยืนต่อหน้ามัน กล่าวคำทักทายเป็นภาษาจีนที่เป็นมิตร เล่าถึงความภาคภูมิใจ และความเป็นมาของครอบครัวหนึ่ง และขนมเปี๊ยะของพวกเขา ซึ่งมีตำนานข้ามน้ำข้ามทะเลและดำเนินกิจการมา 3 ชั่วอายุคน"
ชาตรี ลดาลลิตสกุล แห่งบริษัทสถาปนิกต้นศิลป์ พูดถึงสาเหตุในการรับงาน และแนวความคิดในการออกแบบ พลังในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา ทำให้ร้านขายขนมเปี๊ยะ "ตั้งเซ่งจั้ว" ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ประเภท อาคารรวมกิจกรรมพาณิชยกรรมดีเด่น เมื่อปี 2547
ไม่บ่อยครั้งนักหรอกที่คณะกรรมการสมาคมจะลงมาให้ความสนใจกับงานร้านขนมเล็กๆ อย่างนี้ คงเป็นเพราะความหมดจด และสามารถสื่อให้เห็นวิธีคิดอย่างชัดเจนนั่นเอง ทำให้งานชิ้นนี้โดดเด่นขึ้นมา
จุดแวะพักของผู้ผ่านทางที่ดูอบอุ่นและเป็นกันเองนี้ เป็นกลุ่มอาคารขนาดเล็กตั้งอยู่ในเนื้อที่ 4 ไร่ มีโรงดื่มน้ำชา กาแฟเล็กๆ ไว้บริการ ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของจีน แลดูคล้ายศาลเจ้าที่แปลกตา
ในส่วนของร้านหลักที่ขายขนมและของที่ระลึกนั้นตกแต่งด้วยความเป็นจีน และประวัติศาสตร์ของร้าน ลูกหลานคนหนึ่งของครอบครัวผู้ซึ่งรับผิดชอบงานตกแต่งภายในได้จำลองร้านเก่า ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของญาติพี่น้องทั้งหมด และถูกไฟไหม้ไป มาสร้างบรรยากาศให้งานตกแต่ง มีเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น
"ถ้าเคยแวะบางคล้า จะมีร้านขนมเปี๊ยะ เล็กๆ เป็นอาคารไม้ตั้งอยู่หลังซุ้มต้นไม้ เจ้าของร้านต้อนรับผู้มาเยือนด้วยตนเอง ทางร้านมักเลี้ยงน้ำชาชั้นดีกับคนแปลกหน้า บางครั้งเปิดเพลงจีนให้ฟัง คุณชอบเขาจะก๊อบปี้เทปม้วนนั้นมอบกลับให้คุณไปฟังที่บ้าน
ผมกังวลใจเสมอว่า ที่ร้านใหม่ จิตวิญญาณนี้จะหายไป ผมพยายามตั้งใจให้ความสำคัญเรื่องสัดส่วนของอาคาร ด้วยเกรงว่าอาคารที่สูงใหญ่ ทำให้ดูมีพิธีรีตองแย่งชิงความรู้สึกที่ใกล้ชิดและความเป็นกันเองนี้ไป"
การเลือกใช้วัสดุที่ไม่หรูหรามากนัก และงานก่ออิฐฉาบปูนแบบชาวบ้าน จึงได้ถูกดึงมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันงานระบบน้ำ ระบบไฟ ของร้านเล็กๆ นี้ จะทันสมัยที่สุด
เป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำอันมีความสุข และความภาคภูมิใจของสถาปนิกเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|