เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ New Choice

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

การนำเอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์เข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นกาวกระโดดครั้งใหญ่ของภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา ที่ยึดสไตล์การทำงานแบบ conservative มากว่า 20 ปี เขามีความมั่นใจขนาดไหนจึงกล้าคิดเช่นนี้

ตามกำหนดการ ภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา คาดว่าจะเริ่มนำหุ้นของบริษัทเอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการบริหารอยู่ในปัจจุบัน ออกมา กระจายขายให้กับประชาชนทั่วไปได้ประมาณ ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่กำหนดการดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตามสถานการณ์การ ซื้อขายหุ้นที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่ย่างเข้าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ความตั้งใจที่จะนำเอ็นแอล ดีเวล ลอปเมนต์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของภูมิสันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ถือเป็นกระบวน การสำคัญยิ่งต่อการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีอายุกว่า 23 ปี แห่งนี้

ภูมิสันมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะนำเอ็นแอลขึ้นชั้นไปรับงานก่อสร้างภาครัฐในโครง การก่อสร้างขนาดใหญ่ (mega project) ที่มีการคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และรัฐอาจต้องมีการใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า ปีละ 2 แสนล้านบาทกับโครงการเหล่านี้ในช่วง 6 ปีข้างหน้า

"ผมเชื่อว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในเรื่อง พวกนี้จริง เมื่อเราเชื่อว่าเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้น จริง เราก็ต้องถามตัวเราเองว่าแล้วเราจะอยู่ตรงไหน ในบรรยากาศเช่นนี้ถ้าเราจะอยู่ตรง นั้นจริง เรามีความพร้อมอะไรบ้าง แล้วเราขาดอะไรบ้าง เราต้องตอบโจทย์พวกนี้ได้" ภูมิสันบอกกับ "ผู้จัดการ"

มีบางคนเปรียบเปรยว่าการตัดสินใจกระโดดเข้ารับงานก่อสร้างขนาดใหญ่จากภาครัฐของภูมิสัน เป็นเหมือนการนำเอ็นแอล ขึ้นชั้นไปเทียบกับบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ ช.การช่าง หรือซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง ฯลฯ ที่จดทะเบียน อยู่แล้วในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งๆ ที่โดยประวัติของเอ็นแอลเคยรับงานมูลค่าสูงที่สุดเพียง 600 ล้านบาทเท่านั้น

ยิ่งคนที่รู้จักกับภูมิสันมานานอาจมอง ว่าการก้าวกระโดดของเขาขัดแย้งกับสไตล์การทำงานที่ผ่านมา เพราะภูมิสันได้รับการยอมรับว่าเป็นคนที่ค่อนข้าง conservative และไม่เคยคิดทำอะไรที่เกินตัว โดยเฉพาะการสร้างหนี้ เพราะตลอดเวลากว่า 23 ปี เงินที่นำมาลงทุนในเอ็นแอล ตลอดจนการขยายงานของเอ็นแอลแต่ละครั้งล้วนใช้เงินของผู้ถือหุ้นและเงินสดสะสมของบริษัท มีสัดส่วนเงินกู้ยืมจากธนาคารน้อยมาก

ความตั้งใจที่จะเข้าไปจับงาน mega project ของภูมิสัน เขาจำเป็นต้องเตรียมแผนการอย่างดีรองรับไว้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงกับเอ็นแอลมากจนเกินไป

"เรายังอยู่ในคอนเซ็ปต์ที่ไม่เกินตัวที่เราจะก้าวกระโดด เพราะว่าเราเชื่อมั่นว่า การบริหารจัดการเราพร้อมแล้ว แล้วเราก็จะไม่ไปบอกว่าเราจะไปรับ mega project ด้วยตัวเราเองล้วนๆ นั่นก็อยู่ในคอนเซ็ปต์ที่ว่าเรา conservative อยู่ เรายอมรับในความต่าง เพราะฉะนั้นเราก็จะแสวงในสิ่งที่เราคิดว่าเรายังไม่แกร่ง ขณะเดียวกันถ้าระบบการบริหารจัดการเราไม่เข้มแข็งพอ อย่าไปทำดีกว่า อันนั้นจะมีปัญหา" เขาอธิบาย

ความมั่นใจของภูมิสันเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ประการแรก-เขาเชื่อมั่นว่าระบบบริหารจัดการที่เขาวางไว้ให้กับเอ็นแอล มีความรัดกุมเพียงพอที่จะกล้าเข้าไปรับงานขนาดใหญ่ได้แล้ว

"ถ้าถามว่าเอ็นแอลขายอะไร เราขายความจัดเจนในเรื่องการบริหาร โดยเฉพาะ ในงานก่อสร้าง ถ้าเราสามารถควบคุมระยะเวลาก่อสร้างตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในสัญญา ควบคุมความถูกต้องของแบบ และควบคุมต้นทุนไว้ได้ ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งเอ็นแอลเชื่อมั่นว่าเราได้วางระบบควบคุมปัจจัยทั้ง 3 ตัวเอาไว้แล้วอย่างดี"

ประการที่ 2-ด้วยเทคโนโลยีทางด้านงานก่อสร้างที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง การเข้ารับงานขนาดใหญ่ของเอ็นแอลจะไม่เข้าไปรับงานเพียงผู้เดียว แต่จะใช้รูปแบบการหาพันธมิตรจากต่างประเทศ

"ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใด ก็ตาม จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรม ผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมทำตู้เย็น ยุคสมัยนี้มันมาถึงขั้นที่เรียกว่า คุณซื้อ technology know-how มาทั้งชุดได้เลย ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขนี้เราคงไม่เรียนรู้ทีละ step เหมือน ตอนเราก่อร่างสร้างตัวมา แต่เราจะแสวงหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเป็นหุ้นส่วน อาจจะเป็นลักษณะ joint venture หรือเป็น consortium หรือมา supcontract กับเรา แล้วถามว่าอย่างนี้เราจะทำได้ไหม เราทำได้ เพราะเราได้สะสมความจัดเจนในการบริหารจัดการมาอย่างเพียงพอ"

ปัจจุบันนอกจากงานที่เอ็นแอลแล้ว ภูมิสันยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมอุตสาห-กรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตำแหน่งนี้นอกจากจะมีผลดีต่อภาพลักษณ์ของเอ็นแอลแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ทำให้เขาสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับนักอุตสาหกรรมก่อสร้างของต่างประเทศอีกหลายราย

ปี 2546 เอ็นแอลมีรายได้รวม 688 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 54 ล้านบาท จัดได้ว่าเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินค่อนข้างมั่นคง เพราะมีต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร เพียง 36.6 ล้านบาท และดอกเบี้ย จ่ายเพียง 2 แสนกว่าบาท

ความจำเป็นในการนำบริษัทเข้าตลาด หลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเพื่อระดมเงินทุนมาสะสมไว้รอรับการขยายตัวขึ้นไปรับงานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็น mega project จากภาครัฐแล้ว ยังเป็นกระบวนการที่จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งหลังจากนี้จะต้องออกไป deal งานกับบริษัทก่อสร้างจากต่างชาติมากขึ้น

ตัวเลือกใหม่ของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อจะกระโจนลงสู่สนาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.