ดร.ปิยะ ตัณฑวิเชียร "ผมทำงานสไตล์กดดัน"

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

อดีตนักเรียนทุนวัย 36 ปีผู้นี้เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการถือกำเนิดเว็บไซต์ "truehits"

เขาเป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิดที่ใช้ชีวิตในวัยเด็ก จนกระทั่งจบมัธยมปลายจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ สอบเอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชา อิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เริ่มงานแรกที่บริษัทอินเตอร์คอมไบน์ ในเครือสหพัฒนพิบูล ทำได้ปีเดียวย้ายมาเป็นวิศวกรระบบที่บริษัทไมโครเนติกส์ ออกแบบและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายให้กับตลาดหลักทรัพย์และสมาชิก สำหรับการซื้อขายออนไลน์ เป็นช่วงที่ทำให้เขาบ่มเพาะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์เครือข่าย

"พอดีเพื่อนไปสอบชิงทุนที่ ก.พ. ก็เลยไปลองดู" ปรากฏว่าเขาสอบชิงทุนได้ทั้งระดับปริญญาโท และปริญญาเอก วิทยาการสารสนเทศ ที่มหาวิทยาลัยโตโฮกุมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น เน้นการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์

รูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเคยได้รับ ที่เน้นการฝึกฝน และทำงานจริงจัง เต็มไปด้วยความกดดันอย่างสูง ที่ได้สัมผัสตลอดช่วงเวลา 6 ปีของการเรียนที่ญี่ปุ่น ไม่เพียงแค่บ่มเพาะความรู้ด้านวิชาการ หากแต่ประสบการณ์ ที่ซึมซับมาได้ถูกแปรเป็นหลักคิดการบริหาร "คน" ที่เขายึดถือมาตลอด ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ทุกคนเก่งได้หากได้รับการฝึกฝนและผ่านความกดดันมาแล้วอย่างหนัก

"สมัยที่ผมเรียนอยู่ญี่ปุ่น ผมกลัวอาจารย์ยิ่งกว่ากลัวพ่อ กลัวเรียนไม่จบ" เขายกตัวอย่างประสบการณ์ในช่วงเรียนที่ญี่ปุ่น

"ถ้าพูดถึงความเก่งคนไทยไม่แพ้คนญี่ปุ่น แต่ที่ต่างกัน คือความมุ่งมั่น ขยัน กดดัน เรายังอ่อนกว่าเขามาก นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 4 เวลาทำรายงาน เขาจะมีprofessor มานั่งฟัง ถ้างานไม่ดีเขาให้เวลา 1 วันไปแก้ใหม่ มันกดดันมาก เพราะต้องทำคนเดียว แต่พอจบปี 4 นักศึกษาของเขาก็ทำงานวิจัยได้แล้ว"

หลังเรียนจบ เขากลับมาทำงานใช้ทุนที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เน้นงานโครงการด้านเครือข่ายระบบ VPN และระบบสวิตชิ่ง ATM

จนกระทั่งมาบุกเบิกทำเว็บไซต์ truehits อยู่ในโครงการพัฒนาระบบตรวจสอบและประมวลผลสถิติเยี่ยมชมเว็บไซต์ไทยในปี 2543 ร่วมกับทีมงานเพียงไม่กี่คน แต่ก็สามารถพัฒนาจนกลายเป็นที่นิยมในบรรดา web master ที่ใช้เป็นมาตรฐานวัดเรตติ้ง

เป็นผลงานของการสร้างทีมงานที่ไม่เน้น "จำนวน" แต่เน้น "ประสิทธิภาพ"

"คนเก่ง" ในมุมมองของเขาไม่จำเป็นต้องเก่งโดยกำเนิด แต่ต้องผ่านการฝึกฝนและกดดันอย่างหนัก

"ญี่ปุ่นเขาสอนเลยว่าคนฝึกกันได้เพราะคนที่จะมีไอเดียแบบไอน์สไตน์มีน้อย และเราไม่ต้องการคนแบบนั้น แต่เราต้องการคนที่ตั้งใจเรียนรู้"

สิ่งแรกที่เขาทำคือเริ่มจากทีมงาน เรียนรู้งานทุกอย่าง เป็นวิธีคิดที่ไม่ต่างไปจากเถ้าแก่คนจีน ที่ใช้ฝึกลูกหลานให้เรียนรู้ธุรกิจก่อนขึ้นมาคุมกิจการ

ขณะเดียวกันพนักงานเหล่านี้ ก็ต้องผ่านการฝึกฝน ภายใต้ภาวะของความกดดันและสร้างแรงกระตุ้น

"สไตล์ผมจะกดดันและสร้างแรงจูงใจ ผมไม่ได้กระตุ้นเป็นเดือน แต่กระตุ้นทุกวัน อย่าลืมว่าเราไม่ได้แข่งกันเอง แต่ต้องแข่งทั่วโลก และเราไม่ต้อง innovation อะไรไม่รู้ ต้องใช้งานได้จริง ต้องเป็นธุรกิจ"

ดร.ปิยะเป็นนักวิชาการไม่กี่คนที่เข้าใจเรื่องราวทางธุรกิจ เรื่องของกำไรขาดทุนอย่างเต็มเปี่ยม

"ได้มาโดยอัตโนมัติ อย่างการเป็นลูกจ้าง ไม่ว่าเถ้าแก่จะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล ถ้าให้เงินเดือนลูกจ้าง 10,000 บาท เขาต้องทำงานให้คุ้มเงินเดือน 3 เท่าเป็นอย่างต่ำ ไม่อย่างนั้นแล้วบริษัทอยู่ไม่ได้"

เขาจะยึดหลักการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด เพื่อทีมงานเดินไปในทางเดียวกัน ชนิดที่ต้องไม่แตกแถว

"ผมไม่ได้สนใจเรื่องเทคนิคมาก แต่สนใจความเป็นคน มีกฎเกณฑ์ไม่เหมือนคนอื่น ผมพูดแล้วลูกน้องต้องทำ บางคนอาจว่าผมเผด็จการ ผมบอกเลยว่า ทุกมีสิทธิ์เสนอความเห็น แต่ผมเป็นคนตัดสินใจ และถ้าเขาไม่เห็นด้วย เขาก็ต้องทำ ก็เหมือนกับทหาร ทำไมคนธรรมดามาเดินอย่างทหาร ถึงทำไม่ได้ เพราะเขามีกฎ มีกติกา"

เขาเชื่อว่าความลำบากและแรงกดดันที่พนักงานได้รับจากการฝึกฝน จะเป็นบทเรียนชั้นดี และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พนักงานก้าวไปสู่ผลสำเร็จได้อย่างมั่นคง

"ผมต้องใช้ระบบนี้ ไม่ว่าคุณจะเก่งมาจากไหน คุณต้องเชื่อผม ช่วงแรกคุณอาจลำบาก เพราะเขาจะรู้สึกกดดัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาจะสบาย เวลานี้เขาไม่ต้องกลัวผมแล้ว เพราะเขาทำได้แล้ว ไม่มีผม ทุกคนก็สามารถทำงานต่อไปได้"

ทุกวันนี้เขาจะอยู่ในฐานะที่ปรึกษาให้กับทีมงานทั้ง 4 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 25 ปี ซึ่งแต่ละคนจะแยกความรับผิดชอบในการบริหารและร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์

"เรื่องของอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ อย่างแอนตี้ไวรัสตัวใหม่ คนเขียนอายุ 18 ปี เพราะแค่ 5 ขวบก็เริ่มเล่นคอมพิวเตอร์กันแล้ว"

ไม่แปลกที่เขาเลือกเกษียณอายุในวัย 45 ปี สำหรับ นักวิจัยที่มีสไตล์และวิธีคิดในการบริหารจัดการ และสร้างเว็บไซต์ที่เว็บมาสเตอร์ส่วนใหญ่ต้องใช้บริการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.