|
ความท้าทาย
โดย
ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นเพราะ "ความท้าทาย" ทำให้ประเสริฐ มนูพิบูลย์ ผันตัวเองจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-eleven มาที่ "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" ซึ่งเวลานั้นยังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก
ประเสริฐจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ (อุตสาหการ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มงานแรกเป็นวิศวกรแผนกส่งเสริมการผลิต บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการผลิต รวมเป็นเวลา 6 ปี
จากนั้นจึงโยกมาเป็น "นักวิชาการ" ภายในศูนย์ส่งเสริมคุณภาพบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ถือเป็นการข้ามฟากจากวิศวกรมาดูด้านบริหารจัดการ รับผิดชอบนำระบบ Total Quality Management หรือ TQM มาประยุกต์เป็นรายแรกๆ ของไทยที่นำระบบ TQM มาใช้
ประเสริฐเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้ง คราวนี้เขาเลือกเรียน MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบก็ตัดสินใจลาออกมาร่วมงานกับ 7-eleven
"มาดูแลงานด้านพัฒนาธุรกิจของ 7-eleven มีหน้าที่พัฒนางานในร้าน ต้องปรับปรุงเรื่องการทำงานของเด็กในร้าน เอาระบบไอทีมาใช้จากที่ใช้ cash register เปลี่ยนมาใช้ระบบ P.O.S" ทำอยู่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจปีกว่าๆ โยกมาดูแลงานสาขา ทำให้เขามองเห็นภาพ 2 ด้านทั้งส่วนกลางและสาขา ก่อนจะย้ายมาร่วมงานในเคาน์เตอร์เซอร์วิส
การเข้ามาของประเสริฐในเวลานั้นนับเป็นช่วงที่ท้าทาย เพราะธุรกิจขาดทุน และอาจต้องปิดบริษัทหากสถานการณ์ทางธุรกิจไม่กระเตื้องขึ้น
"ธุรกิจยังใหม่มาก มีสาขา 50 สาขา มีบริการแค่ 10 บริการ คนใช้บริการวันละ 40 บิล ขาดทุนมาตลอด ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด มันหนักหนาสาหัส หลายคนถามว่า อยู่ที่เดิมดีอยู่แล้ว ย้ายมาทำไม แต่สำหรับผมถือว่าเป็นเพราะความท้าทายที่ไม่มีใครมาทำ" ประเสริฐเล่า
ประเสริฐใช้เวลา 6 ปีเต็ม ยกเครื่ององค์กร ลดต้นทุน พลิกฟื้นธุรกิจจากขาดทุนเกือบต้องปิดกิจการ จนธุรกิจเริ่มมีกำไรในปี 2546
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|