|
สร้าง Brand ด้วยปูอัดยักษ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
คนที่ได้ไปเดินชมงานงาน Thaifex & Halfex 2004 หรืองานเทศกาลอาหารและเครื่องดื่ม 2547 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริม การส่งออกที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้ คงต้องตื่นตาตื่นใจกับบูธของบริษัทแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ (Pacific Fish Processing : PFP) ที่ได้นำปูอัดที่อาจจะเรียกได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาตั้งโชว์ และตัดแบ่งให้ผู้ชมได้ลองชิม
กลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็น 1 ในแผนงานเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้รู้จักกับตราสินค้า PFP ที่กำลังรุกเข้ามาในตลาดค้าปลีก ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งอย่างเต็มตัว
ในความเป็นจริง PFP ถือเป็นบริษัทของคนไทยรายแรกๆ ที่สามารถผลิตซูริมิ หรือที่คนไทยรู้จักกันคุ้นเคยกันในนาม "ปูอัด" โดยเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ปี 2527
"ปี 2526 ญี่ปุ่นได้เข้ามาส่งเสริมให้คนไทยรู้จักการผลิตซูริมิ เพราะในประเทศเขาวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน จึงต้องหาแหล่ง ผลิตใหม่ ผมเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้ไปเรียนที่สิงคโปร์" ทวี ปิยะพัฒนา กรรมการผู้จัดการ PFP เล่ากับ "ผู้จัดการ"
หลังจากเรียนจบกลับมาทวีจึงตั้งโรงงาน PFP ขึ้นที่จังหวัดสงขลา และเริ่มผลิตซูริมิส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น และจำหน่ายภายในประเทศ
"ถ้าเรายังจำได้ สมัยก่อนปูอัดถือเป็นอาหารญี่ปุ่นที่แพงมาก แต่พอเราเริ่มผลิตและนำออกมาขาย ราคาก็ลดลง และเริ่มหากินกันได้ง่ายขึ้น"
ความนิยมในการบริโภคปูอัด ขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลัง จาก PFP ตั้งโรงงาน ปูอัดได้กลายเป็นสินค้าที่มีอยู่ในเมนูของทุก ร้านอาหาร เนื่องจากความสะดวกในการบริโภค หรือแม้กระทั่งรถเข็นที่ขายอาหารประเภทลูกชิ้นปลาทอดที่ตระเวนขายตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ต้องมีปูอัดเสียบไม้ไว้ขายให้กับลูกค้า
ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตปูอัดในเมืองไทยมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และ PFP ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดปูอัดในประเทศไทยมากกว่า 50%
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดอยู่ในใจของผู้บริหาร PFP พอสมควร เพราะน้อยคนนักที่จะรู้ว่าปูอัดที่เขารับประทานผลิตมาจากโรงงานของ PFP
แผนการสร้างแบรนด์ให้กับ PFP จึงต้องเริ่มต้นขึ้น โดยทวีได้ดึงศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน มือการตลาดที่ได้รับการยอมรับของวงการเข้ามาดำรงตำแหน่ง President ที่ดูแลทางด้านการตลาดโดยเฉพาะ
"ผมมาอยู่ที่ PFP ได้ 2 ปีกว่าแล้ว" ศาสตราจารย์เจริญบอก
การสร้างแบรนด์ PFP เริ่มทำอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่ติดตรา PFP วางขายในจุดขายต่างๆ ตั้งแต่ตลาดสด ร้านค้า ไปจนถึงโมเดิร์นเทรด
นอกจากปูอัดแล้ว PFP ยังขยายสายผลิตภัณฑ์ให้มีความ หลากหลายยิ่งขึ้น แต่ยังคงเน้นที่เป็นสินค้าอาหารทะเลแปรรูป เช่น ลูกชิ้น ซาลาเปา ลูกเต๋า และเต้าหู้ที่ทำจากเนื้อปลา ฯลฯ
เฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปในปัจจุบัน PFP สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 80% โดยมีกำลังการผลิตรวม 1,200 ตันต่อเดือน ในจำนวนนี้เป็นปูอัด 720 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ปีที่แล้ว PFP มีรายได้รวม 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ จากการขายในประเทศ 20% โดยส่วนใหญ่ 80% ของยอดขายมาจากการส่งออก ทวีได้ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของยอดขายในปีนี้ ให้เพิ่มขึ้นอีก 20% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 570 ล้านบาท
ปูอัดแบรนด์ PFP น่าจะเริ่มมีคนรู้จักกันมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|