Music never die By...อากู๋


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

จู่ๆ "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่ง GMM Grammy ตกเป็นข่าวใหญ่ติดต่อกันถึง 2 ครั้ง ด้วยกัน

ครั้งแรกเป็นงานแถลงข่าว ที่ GMM Grammy จัดขึ้นเองใช้ชื่องานว่า "Music never die" งานนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ขนเอาศิลปินหน้าใหม่กว่า 100 ชีวิต มาเปิดตัวอย่างเต็มพิกัด ทำเอาห้องบอลรูมของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวทั้งสายบันเทิงและสายธุรกิจที่มารวมกัน

อีกไม่กี่วันถัดมา "อากู๋" ไพบูลย์ก็ขึ้นหนังสือพิมพ์หน้า 1 เกือบทุกฉบับ เมื่อตัดสินใจประกาศขอเป็นผู้ลงทุนซื้อทีมฟุตบอล "ลิเวอร์พูล" แทนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนักในเรื่องดังกล่าว

ทั้งสองเรื่องแม้จะดูต่างกรรมต่างวาระ... แต่มีที่มาไม่แตก ต่างกัน

แม้ว่า GMM Grammy จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ปี โดยในปี 2536 มีรายได้ 3,804 ล้านบาท

แต่สถานการณ์ของธุรกิจเพลงใช่ว่าจะราบรื่น นอกจากประสบกับปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน เทคโนโลยี "ไรต์" แผ่นซีดีที่ทำกันอย่างง่ายดาย เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกจนถึงทุกวันนี้

ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมเพลงเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปมาก โอกาสที่จะทำยอดขายต่ออัลบั้มทะลุไปถึง 1 ล้านแผ่น แทบ จะไม่มีให้เห็น จึงต้องหันมาเพิ่มจำนวนอัลบั้มและศิลปินเพื่อไม่ให้ยอดขายตก

ซึ่งก็เป็นที่มาของกลยุทธ์ "แตกแล้วโต" ที่ให้มีค่ายเพลงจำนวนมากๆ และให้บริหารกันเอง business unit รับผิดชอบกำไรขาดทุน แม้จะทำให้จำนวนการผลิตมากขึ้น แต่ข้อเสียก็มี ค่าใช้จ่ายสูง นานวันเข้าคุณภาพก็อาจไม่ได้ตามเป้า

"อากู๋" ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เปลี่ยนมาใช้วิธีรวมศูนย์มาก ขึ้น โดยแต่งตั้ง 5 ขุนพลเพลง กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ, อัสนี โชติกุล, นิติพงษ์ ห่อนาค, วิเชียร ฤกษ์ไพศาล และกริช ทอมมัส เป็นทีม ร่วมกันดูแลธุรกิจเพลงทุกค่ายในเครือแกรมมี่

เมื่อตลาดเปลี่ยน กลยุทธ์การตลาดต้องเปลี่ยนให้ทันตาม การเพิ่มจำนวนศิลปิน เพื่อขยายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกแนวเพลง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ทีน/แดนซ์ ป๊อป ร็อค อินดี้ ลูกทุ่ง และ สตริงไทย เพื่อให้เข้าถึงรสนิยมของลูกค้าทุกกลุ่ม

ปีที่ผ่านมาแกรมมี่ผลิตเพลง 200 อัลบั้มต่อปี แต่ปีนี้จำนวนอัลบั้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 260 อัลบั้ม จากศิลปินหน้าใหม่ 140 คน

บุษบา ดาวเรือง ประธานกรรมการบริหาร บอกว่า การเพิ่มจำนวนศิลปินเปรียบได้กับการสร้างต้นน้ำลำธารให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับกับช่องทางใหม่ๆ ที่จะมาเป็นตัวเสริมรายได้ให้บริษัท

ช่องทางใหม่ที่ว่านี้คือโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตการจัดแสดงคอนเสิร์ต การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์คาราโอเกะ

ต่อจากนี้เราจะไม่เรียกว่าเทปเพลง เพราะช่องทางต่างๆ ได้พัฒนาไปมาก มีทั้งโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ บรอดแบนด์ อนาคตมันไปได้หมด" ไพบูลย์บอกกับ "ผู้สื่อข่าว"

ที่พูดเช่นนี้ ส่วนหนึ่ง "อากู๋" เห็นน้ำเห็นเนื้อมาจาก "อีโอทูเดย์" ที่สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากบริการดาวน์โหลด ริงโทน และโลโกผ่านโทรศัพท์มือถือ 300 ล้านบาทในปีที่แล้ว และหลังจากมืออาชีพตบเท้าลาออก ก็ได้ "สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม" หลานชายที่เคยดูแล Grammy big มารับผิดชอบ แทน โดยเน้นสร้างความหลากหลายและเพิ่มช่องทางใหม่ๆ

ส่วนธุรกิจจัดแสดงคอนเสิร์ต แต่เดิมมีเพียงบริษัทเอ็กซทรอแกไนเซอร์ เป็นช่องทางที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง ตั้งแต่หน้าที่ดูแลและหางานป้อนศิลปิน ไปจนถึงจัดคอนเสิร์ต ล่าสุด GMM Grammy ได้ควบรวมบริษัทนินจา รีเทิร์น ที่เคยโด่งดังในอดีต เพื่อมาขยายธุรกิจรับจัดคอนเสิร์ต ไม่จำกัดว่าจะเป็นศิลปินค่ายแกรมมี่เท่านั้น

ทั้งสองธุรกิจได้ถูกคาดหมายว่าจะเป็นธุรกิจ "ธงนำ" ที่สร้างรายได้ให้กับ GMM Grammy เช่นเดียวกับธุรกิจภาพยนตร์ ได้ควบรวมกับบริษัทไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และหับ โห้ หิ้นจัดตั้งบริษัท "จีเอ็มเอ็ม ไท หับ" เพื่อสร้างพลังต่อรองในธุรกิจภาพยนตร์

ไม่แปลกที่ "อากู๋" ไพบูลย์จะขันอาสาไปเจรจาลงทุนซื้อทีมฟุตบอล "ลิเวอร์พูล" เพราะการลงทุนออกแรงออกเงินในครั้งนี้ "อากู๋" ประเมินแล้วว่า "ได้" มากกว่า "เสีย"

การสวมบทบาทของอากู๋ในครั้งนี้เท่ากับเป็นการหา "ทางออก" ให้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังถูกโจมตีอย่างหนักเกี่ยวกับการตัดสินใจในครั้งนี้

การตัดสินใจของอากู๋คงไม่ใช่เป็นเพราะสายสัมพันธ์กับนายกทักษิณ ที่มีมาต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะตัวธุรกิจ "กีฬา" เอง

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า "ฟุตบอล" จัดเป็น event อันทรงอิทธิพลที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับ เกมกีฬาอื่นๆ

นักกีฬาฟุตบอลเวลานี้ไม่ต่างไปจาก "ดารา" ความไร้พรม แดนของ "ฟุตบอล" นักฟุตบอลโด่งดังข้ามประเทศได้ง่ายกว่า การปั้นนักร้องให้ go inter มากนัก แถมยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ ตราสินค้า

ความพยายามในการแตกขยายธุรกิจของ "อากู๋" มีมาต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อากู๋เคยสนใจลงทุนธุรกิจกีฬามาแล้ว แต่ต้องเลิกไปด้วยปัญหาหลายประการ

เพียงแต่ขนาดของธุรกิจในครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งที่แล้ว งานนี้ต้องควักกระเป๋าเป็นเงินถึง 5,000 ล้านบาท แลกกับสิทธิในการบริหาร และดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งอากู๋ได้ชักชวนพันธมิตรมาแล้วทั้งกลุ่มสามารถ สยามสปอร์ต อาจรวมไปถึงค่าย AIS ที่ล้วนแต่ได้สัมผัสกับการใช้ประโยชน์จาก content กีฬา

ไม่ว่าการเจรจาทางธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่นี่คือ Music never die ในความหมายของอากู๋


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.