GECF ผู้ปลุกสีสันตลาด Consumer Finance

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ สุธี ชยะสุนทร
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

GECF ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เล่นรายแรกที่สามารถกระตุ้นตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศไทยให้คึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อ 4-5 ปีก่อน และทำให้ตลาดนี้ เป็นเหมือนเค้กกอนใหญ่ที่ดึงดูดผู้เล่นอีกหลายรายให้ต้องกระโจนเข้ามาขอร่วมรับส่วนแบ่ง

หากจะวิเคราะห์เส้นทางเติบโตของ GECF ในประเทศไทย ต้องยอมรับในความเป็นจริงข้อหนึ่งที่ว่า GECF ประเทศไทย เป็นองค์กรสัญชาติอเมริกันที่เติบใหญ่ และสร้างความแข็งแรงขึ้นมาได้ ในช่วงที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติ

โดยเฉพาะช่วงที่ทางการประกาศปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ในปี 2542 ข้อได้เปรียบของการที่ GECF ไม่ต้อง ตกอยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายบริษัทเงินทุน ทำให้ GECF สามารถทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถยนต์ได้อย่างเต็มที่

"ตอนที่สถาบันการเงิน 56 แห่ง ถูกทางการสั่งปิด เราแทบจะเป็นเพียงรายเดียวที่ยังให้เงินสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วงนั้น" พิริยะ วิเศษจินดา ประธาน GECF ประเทศไทย บอก

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ GECF ประเทศไทย เกิดขึ้นในปี 2536 เมื่อ GE Capital ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจของ GECF ในขณะนั้นได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ ตลาดรถยนต์ใน ขณะนั้นอยู่ในระยะขาขึ้น ด้วยยอดขายรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 4.6 แสนคัน ในปี 2536 ก่อนที่จะถึงจุด peak ในปี 2539 ที่ยอดขายประมาณ 5.9 แสนคัน

ควบคู่ไปกับธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ GECF ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อผ่อนชำระ (Sales Loan) นับเป็นรายแรกของประเทศ ด้วยการออกสินเชื่อ First Choice เพื่อใช้ซื้อสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ก็ยังคงเป็นยุทธศาสตร์และเป็นแหล่งรายได้หลักให้กับบริษัท

4 ปีหลังจากที่ GECF เข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ จุดแปรผันสำหรับภาคธุรกิจ โดยรวมก็ได้เกิดขึ้นในปี 2540

สถาบันการเงินกว่า 56 แห่งถูกทาง การสั่งปิด ผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ตกลงมากกว่า 40% ในปี 2540 และยิ่งลดต่ำลงในปี 2541 ด้วยยอดขายที่ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1.4 แสนคัน ถึงกระนั้น บทบาทของ GECF ในธุรกิจนี้หาได้ลดลงไม่

"ตอนบริษัท finance ล้ม สินเชื่อรถยนต์แทบจะมี GE เจ้าเดียวที่เหลือ" พรรณพร คงยิ่งยง กรรมการผู้จัดการธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ บอกถึงสถานการณ์ในขณะนั้น

ในขณะที่ finance อื่นๆ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการลอยตัวค่าเงินบาท GE กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากได้มีการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มาตลอด ถึงแม้ว่าจะมีส่วนทำให้ต้นทุนด้านเงินทุนสูงกว่าผู้เล่นรายอื่นแต่ก็นับว่าคุ้มค่า

ห้วงเวลานั้นถือเป็นโอกาสในการสร้างฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนทำให้ GE กลายมาเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรถยนต์ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2541-2544 เป็นช่วงที่ GECF ได้เริ่มขยับขยายไปทำธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่นตามทิศทางและความต้องการของตลาด

โดยเริ่มที่ธุรกิจบัตร Central Card ซึ่งทาง Central เองในขณะนั้นต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารบัตร เพื่อต้องการสร้าง loyalty ให้กับตัวเอง นอกจากนั้น Central ยังต้องการ focus ไปที่ retail ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

การเข้าบริหารบัตร charge card ชนิดนี้เกิดขึ้นโดยการร่วมกันจัดตั้งบริษัท Central Card Services จำกัด โดย GECF เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 80 : 20 และได้เปลี่ยน ชนิดของบัตรมาเป็น credit card ในเวลาต่อมา มีส่วนทำให้ยอดบัตรได้เพิ่มจาก 50,000-60,000 ใบ มาเป็นประมาณ 600,000 ใบในปัจจุบัน ถือว่าเป็น private label credit card ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศ

แนวทางการดำเนินธุรกิจ private label credit card ที่ได้ร่วมกับ retail ในลักษณะนี้ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องกับ Tesco Lotus และ Home Pro ในปี 2544 และ 2545 ตามลำดับ ถือเป็นการขยายฐานความสำเร็จไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ในกลุ่ม retail

บริษัท Tesco Card Service จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2544 เป็นการร่วมทุนระหว่าง GECF และ Tesco Lotus ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อบริหารบัตร Tesco Card ใน ฐานะ product หลักของบริษัทฯ

ส่วน product เสริมมีประกันอุบัติเหตุ ประกันภาระหนี้ (payment protection) ที่ได้อาศัย Tesco Lotus ที่มีมากกว่า 57 สาขา และร้าน Value ในเขตต่างจังหวัด เป็นช่องทางการขาย "Thailand is under secured" Martyn Beauchamp CEO วัย 31 ของ Tesco Card Service บอกถึงโอกาสทางธุรกิจ

และในปีเดียวกันนั้นเอง GECF ยังได้รุกธุรกิจบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง โดยเข้า ไปเป็น partner กับผู้เล่นในตลาดรายหนึ่ง

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทย ที่มีภาพลักษณ์ค่อนข้าง conservative มีฐานลูกค้าชั้นดีอยู่เป็นจำนวนมากและมีสาขามากกว่า 400 สาขาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ถูกเลือกให้เป็นพันธมิตรในพันธกิจนี้

บริษัทบัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงถูกจัดตั้งขึ้นโดยถือหุ้นฝ่ายละเท่าๆ กัน ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตแบบ monoline ซึ่ง ให้ความคล่องตัวมากกว่าบัตรเครดิตที่ออก โดยธนาคารทั่วๆ ไป

ถือเป็นครั้งแรกในวงการธุรกิจบัตรเครดิตไทยที่จัดโปรโมชั่น "ฟรีค่าธรรมเนียม ตลอดชีพ" โดยไม่มีเงื่อนไขให้กับลูกค้าบัตร ปัจจุบันยอดบัตรอยู่ที่ประมาณ 500,000 ใบ และถือเป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจบัตรเครดิต รองจาก KTC ธนาคารกสิกรไทย และ Citibank

"บัตรกรุงศรี-จีอี เริ่มมีการเปลี่ยน แปลงนโยบาย branding แต่ไม่ถึงกับ dilute brand ของ partner" สุขดี จงมั่นคง กรรมการผู้จัดการ Bank Card & PLCC เล่าถึงสาเหตุในการติด logo GE บนบัตรเครดิต ทั้งนี้เป็นผลมาจากการสำรวจลูกค้า ทั้งที่เป็นลูกค้าอยู่เดิมและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่เห็นว่าภาพลักษณ์บัตรอยู่ในเกณฑ์ดี แต่จะดู conservative ไปนิด น่าจะมีการใส่โลโกของ GE ลงไปบนบัตร

วิถีทางการทำธุรกิจของ GECF ส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปของการลงทุนร่วมกัน โดยการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาพัฒนา เป็นกลยุทธ์ โดย GECF จะทำหน้าที่พัฒนาระบบ technology Relationship Manage-ment การออกบัตรและ operation ส่วน partner จะดูแลเรื่อง network ช่องทางการขาย รวมทั้งงานขาย

แต่ก็มี product อยู่กลุ่มหนึ่งที่ GECF ได้พัฒนาขึ้นมาโดยไม่ได้อาศัย partner ใดๆ

สินเชื่อ QuikCash ที่เริ่มได้เริ่มพัฒนาในปี 2542 ถือเป็น product ของ GECF ที่มีแบรนด์แข็งแกร่งที่สุดและยังเป็น product ที่ต้องมี distribution channel เป็นของตนเอง

หัวใจของสินเชื่อชนิดนี้คือต้องอนุมัติได้เร็ว ซึ่งปัจจุบัน QuikCash สามารถอนุมัติ สินเชื่อได้ภายใน 30 นาที

หากจะว่าไปแล้วสินเชื่อประเภทนี้เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยง สูงสุด หนึ่ง เพราะต้องอนุมัติเร็ว สอง เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่นเดียวกับสินเชื่อประเภท อื่นๆ

นอกจากนี้ยังได้ออก GE Personal Credit ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับสูงกว่า QuikCash ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

ในปีนี้สินเชื่อในกลุ่ม Personal Loan จะเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงสุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.