เกษม เตชะวัฒนากร คนไทยที่ GE ส่งไปโตในต่างแดน

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ สุธี ชยะสุนทร
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

การถ่ายโอนพนักงานของ GECF จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ถือเป็นวิถีหนึ่งที่ GECF ใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้
ทั้งในรูปขององค์กรเรียนรู้จากคนและคนเรียนรู้จากตัวองค์กร

เกษม เตชะวัฒนากร ถือเป็นหนึ่งตัวแทนคนไทยที่ GECF ให้โอกาส โดย ส่งให้ไปทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของ GECF ที่ฮ่องกง

เกษมเคยร่วมงานกับบริษัทบัตรเครดิตแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 7 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมงานกับ GECF (Thailand) เมื่อปี 2540 ในฐานะ Senior Manager ดูแลแผนกควบคุมคุณภาพ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทฯ มีพนักงานประมาณ 100 กว่าคน และมีเพียง 2 ธุรกิจ คือ สินเชื่อ First Choice และบัตร Central Card เรียกได้ว่าธุรกิจของ GECF เองยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่ม

ต่อมาเมื่อธุรกิจเริ่มพัฒนาเขาเป็นผู้นำระบบ Six Sigma เข้ามาใช้และเมื่อฐานลูกค้าที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น จึงเข้าพัฒนาระบบ CRM หลังจากนั้นจึงได้พัฒนา personal loan ตัวอื่นๆ เช่น QuickCash ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2542 ก่อนที่จะเข้ามาดูแลธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในฐานะกรรมการผู้จัดการ ในปี 2544 จนถึงสิ้นปี 2546 เป็นตำแหน่งสุดท้ายในไทย

"พอดีที่ฮ่องกงมีผลกระทบจากเศรษฐกิจ มีการพูดคุยกับคุณริด้า (presi-dent GECF Asia) คุณริด้าบอกว่ามี opportunity ที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ แต่ GECF ทำได้ไม่ดี สนใจที่จะรับ assignment นี้ไหม" เกษมเล่ากับ "ผู้จัดการ" ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฮ่องกง ถึงที่มาที่ไปของการย้ายไปประจำที่ฮ่องกง

เดือนมกราคม 2547 เขาจึงเข้าร่วมโครงการ Short Term International Assignment เพื่อรักษาการตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำฮ่องกงเป็นระยะ เวลา 5 เดือน ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น president อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

"ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการตั้งรับเนื่องจากฮ่องกงมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ GDP ไม่มีการเติบโต อัตราว่างงาน และอัตราล้มละลายอยู่ในระดับสูง แต่ปีนี้ trend เริ่มดีขึ้น GECF จะเริ่มทำการรุกตลาด" เขาบอกถึงภารกิจที่รอ อยู่ข้างหน้า

โดยรวมตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในฮ่องกง ถือว่ามีการพัฒนามากกว่าของ ไทย ทั้งเรื่องของจำนวนผู้เล่นที่มีมากกว่า 40 ราย ขนาดของตลาดที่มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญ และ demographic ของกลุ่ม ลูกค้าซึ่งมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 8,000 ถึง 10,000 เหรียญ (40,000-50,000 บาท)

นอกจากนี้ประเภทของสินเชื่อที่เปิด ให้บริการ ยังมีความแตกต่างไปจากของไทย ทั้งนี้เป็นไปตามระบบเศรษฐกิจที่แตกต่าง ที่ฮ่องกง GECF เปิดให้บริการสินเชื่อเพียง 3 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อ ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็น commercial vehicle หรือรถ taxi เนื่องจากฮ่องกงเป็นเมืองท่องเที่ยว

"กลยุทธ์ที่ใช้ต้องแตกต่างจากที่เมืองไทย การให้ของแถมอาจจะไม่ work ต้องแตกต่างอย่างมีหลักการ โดยอาศัยจุดแข็งที่มีอยู่ คือในเรื่องการบริหารความเสี่ยง" เกษมบอกถึงแนวทาง

ฮ่องกงมีข้อดีในเรื่องของ infrastruc-ture มีระบบ credit bureau ที่ดี เมื่อ เดือนเมษายนที่ผ่านมา GECF ได้ทำการ launch สินเชื่อที่สามารถอนุมัติทางโทรศัพท์ โดยลูกค้าไม่ต้องมาที่สาขา ลูกค้าเพียงบอก ข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ GECF ก็สามารถ ตรวจสอบกับ credit bureau และทำการ แจ้งผลอนุมัติทันที

GECF นับเป็นรายแรกในฮ่องกงที่นำเสนอบริการในรูปแบบนี้

เป็นเวลากว่า 5 เดือนที่เกษมเข้า ไปมีบทบาทสำคัญในฮ่องกง บัดนี้ถือว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี "ช่วงแรกที่มาถือว่ามี challenge นิดหน่อย เพราะเป็นคนไทย คนแรกที่มา ไม่ถึงกับมีการต่อต้าน แต่พนักงานก็ไม่ค่อยมั่นใจ" เกษมยอมรับ

แต่หลังจากประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก เขาก็เริ่มได้รับการยอมรับ จากพนักงาน เพราะเป็นปีแรกที่มีการเติบโต มีผลกำไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.