The Changing of American Corporate

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ สุธี ชยะสุนทร
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทัศนคติของคนทั่วไป ที่มีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทสัญชาติอเมริกัน และคนอเมริกันเริ่มเปลี่ยนแปลง

ยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ซึ่งนำมาสู่การทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก และเหตุการณ์ก่อการร้าย เพื่อโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในหลายๆ ประเทศ ยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติดังกล่าวของคนทั่วโลกมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ในประเทศไทย องค์กรสัญชาติอเมริกันเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จนทำให้รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540

และองค์กรอเมริกันอีกนั่นแหละ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปเต็มๆ จากซากความล่มสลายของไทยที่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น

แรงบีบคั้นดังกล่าว ดูเหมือนจะกดดันให้องค์กรธุรกิจของอเมริกัน ซึ่งออกไปแผ่ขยายอิทธิพลจากการเข้าลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มเปลี่ยนท่าที

การเข้าไปมีบทบาทในกิจกรรมเพื่อสังคมท้องถิ่นที่ตนเองเข้าไปลงทุน ตลอดจนการให้ความสำคัญ ผลักดันให้คนท้องถิ่นขึ้นมามีบทบาทในการเป็นผู้บริหารกิจการเริ่มมีมากขึ้น

ทุกองค์กรล้วนกล่าวอ้างเหตุผลเดียวกัน คือเป็นนโยบายขององค์กรอเมริกันทุกแห่งที่ต้องเป็น good citizen ในทุกประเทศที่ลงทุน

เรื่องราวของ GE Consumer Finance (Thailand) และ Unocal Thailand ซึ่งเป็นบรรษัทสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมาช้านาน แต่เพิ่งจะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีอย่างมีนัยสำคัญ ในปีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างซึ่งเป็นรูปธรรมที่สุดในประเด็นดังกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.