ในที่สุดบริการโทรศัพท์มือถือระบบดิจิตอล ซีดีเอ็มเอ ก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
หลังจากติดปัญหาเรื่องคลี่นความถี่ทำให้การติดตั้งอุปกรณ์ล่าช้าออกไปหลายเดือน
นับเป็นการเปิดศักราชโทรศัพท์มือถือระบบใหม่สังกัดผู้ให้บริการรายใหม่
เพราะในสังเวียนของตลาดโทรศัพท์มือถือในเมืองไทยที่ผ่านมา มีเพียงแค่ชินวัตร
และยูคอม เอกชน 2 รายที่ยึดครองตลาดอยู่มาเป็นเวลาหลายปี
แม้ว่า ตะวันโมบายเทเลคอมจะเป็นเพียงผู้ที่ได้สิทธิในการทำตลาด และขยายเครือข่ายเพิ่มเติมในบางจุดจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ก็ตาม เพราะการติดตั้งเครือข่ายของดิจิตอลซีดีเอ็มเอนั้น กสท.เป็นผู้ลงทุนเอง
ซึ่งแตกต่างไปจากชินวัตรและยูคอมได้รับสัมปทานแบบเบ็ดเสร็จ
อย่างไรก็ดี การที่โทรศัพท์มือถือจากค่ายน้องใหม่ ย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเกมครั้งนี้อยู่ในมือของเธียร ปฏิเวชวงศ์ ผู้ที่สร้างความฮือฮาให้กับวิทยุติดตามตัว
เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัว "อีซีคอล" ในราคาเครื่องละบาทเดียว
สำหรับเธียรแล้ว การถือกำเนิดบริการโทรศัพท์มือถือดิจิตอลซีดีเอ็มเอ นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งบนถนนธุรกิจโทรคมนาคมเลยก็ว่าได้
ก่อนหน้านี้เธียรเคยสร้างชื่อมาแล้ว ในสมัยที่ยังนั่งทำงานให้กับกลุ่มเลนโซ่
บริษัทค้าเคมีที่หันมาเอาดีทางธุรกิจโทรคมนาคม
แต่แล้วน้ำผึ้งที่เคยหวานก็กลับขม เธียรอำลาจากกลุ่มเลนโซ่ พร้อมกับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่มเลนโซ่
ที่เจษฎา วีรพร ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเลนโซ่ก็ต้องจดจำมืออาชีพคนนี้ไปอีกนาน
เส้นทางธุรกิจสื่อสารยังคงเป็นเป้าหมายของเธียร และตามสไตล์ของผู้ที่มองการณ์ใหญ่ไม่สนโครงการเล็กๆ
เธียรจัดตั้งตะวันเทเลคอมขึ้น พร้อมกับบริษัทลูกอีก 3-4 แห่ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ธุรกิจสื่อสารขนาดใหญ่และธุรกิจพลังงาน
แม้ว่าในช่วงแรกตะวันเทเลคอมจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของผู้ถือหุ้น
และธุรกิจที่จะทำก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างอยู่บ้าง
เมื่อตะวันเทเลคอมได้อินเตอร์ฟาร์อีสต์ บริษัทเครือสหพัฒนพิบูลย์ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นพันธมิตรร่วมสานฝันอย่างเป็นตัวเป็นตน
การได้อินเตอร์ฟาร์อีสต์มาถือหุ้นย่อมไม่ธรรมดา ถึงแม้ว่าเธียรจะมีสไตล์การบริหารแบบพ่อค้าคนจีนที่คิดเองทำเอง
แต่เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มี "คอนเนกชั่น" อยู่ทั้งใน กสท.และในยักษ์สื่อสารอย่างยูคอม
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาสามารถคว้าสิทธิเป็นผู้ทำตลาดโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอให้กับ
กสท.
ตามสัญญาที่ทำไว้ตะวันโมบายเทเลคอม ซึ่งถือหุ้นโดยตะวันฟาร์อีสต์ 65% กสท.
32% และพนักงานกสท. 3% จะต้องทำตลาดให้ได้ 60,000 รายในปีแรก เพิ่มเป็น 150,000
รายภายใน 3 ปี และตลอดอายุสัมปทาน 15 ปี จะต้องมียอดลูกค้า 350,000 ราย หากทำยอดไม่ได้ตามที่กำหนดไว้
ตะวันโมบายเทเลคอมจะต้องจ่ายค่าเช่าเลขหมายรายเดือน 450 บาทให้กับ กสท.ในส่วนที่ทำยอดขายไม่ได้
เพื่อชดเชยให้กับ กสท.ที่ลงทุนในการสร้างเครือข่ายระบบซีดีเอ็มเอ บนโครงข่ายของระบบอนาล็อก
800 แบนด์เอ ไปแล้ว 69 สถานี และลูกค้าของ 800 แบนด์เอจะต้องโอนย้ายมาใช้ระบบซีดีเอ็มเอ
ในเดือนกันยายน ตะวันโมบายเทเลคอมจะต้องลงทุน 40 ล้านเหรียญ หรือประมาณ
1,500 กว่าล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายสถานีฐานอีก 50 แห่ง
นอกจากนี้ ตะวันโมบายเทเลคอมจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ กสท.60% อีก
40% เป็นของตะวันโมบายฯ ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะมาจากรายได้ค่าแอร์ไทม์ และค่าบริการรายเดือน
ที่หลังจากหักค่าเชื่อมวงจร 200 บาท
เธียรเริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์การทำตลาดแบบง่ายๆ ไม่ทิ้งสไตล์เดิม ด้วยโปรโมชั่น
"โทรฟรี 1 ปีแบบไม่มีจำกัด" ให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องระบบซีดีเอ็มเอ
ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ คือ 22 เมษายนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม
ย่อมเท่ากับว่าในช่วงปีแรกตะวันโมบายเทเลคอมจะไม่มีรายได้จากค่าแอร์ไทม์เลย
ยกเว้นรายได้ที่มาจากค่าบริการรายเดือน 450 บาท และค่าเครื่องลูกข่าย ซึ่งในช่วงแรกก็มีเพียงแค่ยี่ห้อควอคอมม์
และซัมซุงเท่านั้น ซึ่งกำหนดราคาขายไว้ที่ 34,000 บาทสำหรับลูกค้าใหม่ และ
23,900 บาทสำหรับลูกค้าเก่าในระบบแอมป์ 800 แบนด์เอของ กสท.
เป้าหมายของเธียรคือ ลูกค้าเก่าในระบบแอมป์ 800 แบนด์เอ ที่จะหันมาใช้ระบบซีดีเอ็มเอ
นอกเหนือจากราคาเครื่องที่ถูกกว่าราคาขายปกติแล้ว เพราะลูกค้าเก่าจะได้ยกเว้นค่าจดทะเบียน
4,100 บาท
แต่ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้ระบบแอมป์ 800 แบนด์เอ มีอยู่ประมาณ 50,000 ราย
ก็ถูกแย่งชิงไปจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่นของโทเทิ่ล
แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น (แทค) ที่จัดโปรโมชั่นแลกเครื่องในราคาถูก
แม้จะมีโปรโมชั่นเรียกน้ำย่อยในช่วงแรก แต่ก็ไม่ได้สร้างความฮือฮาเท่าที่ควร
นั่นอาจเป็นเพราะเธียรก็รู้ดีว่า การโหมโปรโมชั่นแบบไม่ลืมหูลืมตาย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
เพราะเครื่องลูกข่ายที่ให้บริการในเวลานี้มีอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อ แม้ว่า
ฟิลิปส์ และโซนี่จะทยอยออกสู่ตลาด แต่ก็เทียบไม่ได้กับระบบอื่นๆ ที่มีให้เลือกมากกว่า
ระบบการขายตรงโดยพนักงานจึงถูกเลือกให้เป็นทางออกในยามนี้ เธียรชี้แจงว่า
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของระบบซีดีเอ็มเอจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับบน นักธุรกิจทั่วไปที่มีโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว
พนักงานขายตรงจะทำให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีที่สุด
"จุดขายของระบบซีดีเอ็มเอ จะอยู่ที่คุณภาพของการใช้งานที่จะแตกต่างไปจากระบบอื่น
โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพเสียง และการโทรเข้าออกได้ง่ายและต่อเนื่อง โดยสายไม่หลุด"
จะว่าไปแล้วระบบซีดีเอ็มเอ จัดเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโทรศัพท์มือถือ ที่ใช้ระบบการส่งสัญญาณด้วยรหัส
(CDMA: CODE DIVISION MULTIPLE ACCESS) ที่พัฒนาขึ้นมาล่าสุด ข้อดีของระบบนี้คือ
สถานีฐาน (เซล-ไซต์) จะมีความแรงของสัญญาณมาก และรองรับกับจำนวนเครื่องลูกข่ายได้มาก
และการพัฒนาจะมุ่งเน้นในเรื่องของการขจัดสัญญาณรบกวน และมีระบบ SOFT HAND
OFF
อย่างไรก็ตาม ตะวันเทเลคอมก็ยังต้องเจอกับอุปสรรคสำคัญ ในเรื่องของเครือข่ายของระบบซีดีเอ็มเอที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ในช่วงปีแรกจะให้บริการได้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางอีก
18 จังหวัดเท่านั้น ต้องรอการขยายจากตะวันโมบายฯ อีก 50 สถานีฐาน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ส่วนการขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ กสท.ก็ได้อนุมัติให้กับบริษัทเทเลคอมคอนเนคชั่นให้เป็นผู้ขยาย
ก็ถูกตีกลับจากกระทรวงคมนาคม ให้ กสท.ไปขยายเอง ซึ่งทำให้การขยายเครือข่ายต้องล่าช้าออกไปอีก
ลูกค้าที่นำไปใช้ในต่างจังหวัดจะต้องรอการโรมมิ่งกับเครือข่ายแอมป์ 800
แบนด์เอของ กสท.เท่านั้น ไม่สามารถโรมมิ่งกับเครือข่ายแอมป์ 800 แบนด์บี
อันเนื่องจากสัมพันธ์อันร้าวฉานของเธียรกับผู้บริหารระดับสูงของยูคอม จนมีเรื่องฟ้องร้องค่าเสียหายกันอยู่ในเวลานี้
และเป็นเหตุให้ยูคอมถอนตัวจากการถือหุ้นในตะวันโมบายเทเลคอมในเวลาต่อมา
แม้ว่าความเชื่อมั่นยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวเธียร แต่การเปิดตัวอีซี่คอลกับระบบซีดีเอ็มเอแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทั้งภาวะเศรษฐกิจขาลงและค่าเงินบาท รวมทั้งคู่แข่ง 2 รายที่ยึดครองตลาดอยู่ในเวลานี้และอุปสรรคของตัวเครือข่ายเอง
เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เธียรจะแจ้งเกิดได้อีกครั้งบนถนนสื่อสาร
ที่มีโทรศัพท์มือถือระบบดิจิตอล ซีดีเอ็มเอเป็นเดิมพันได้หรือไม่