ภาวะเศรษฐกิจของประเทศธุรกิจหลากหลายสาขาได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย สุขภาพอนามัย
การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ธุรกิจโรงพยาบาลน่าจะยังไปได้ดี แต่ช่วงเวลาไม่กี่เดือนสถานการณ์ก็พลิกกลับ
เมื่อถึงคราวที่โรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องปรับตัวรอรับสถานการณ์
นายแพทย์ พงศ์ศักดิ์ วิทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ
จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกิจการโรงพยาบาลกรุงเทพ เล่าถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ
โรงพยาบาลในปัจจุบัน
การคาดการณ์การขยายตัวก็ไม่สามารถทำได้ ทุกวันนี้โรงพยาบาลต้องมีการปรับตัวกันให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจแทบจะทุก
3 เดือน ใครที่มองการเติบโต มองผลประกอบการหรือรายได้ที่จะเข้ามา และเตรียมตัวเพื่อรองรับนั้น
นับว่าเป็นเรื่องที่ผิด สถานการณ์คาดเดาได้ยาก ที่สำคัญก็คือการประคองตัวให้รอดพ้นปี
2541ไปได้
เมื่อเข้าสู่ปี 2542 จึงจะสามารถเริ่มต้นในการวางทิศทางของธุรกิจกันใหม่
ซึ่งประเมินสถานการณ์ดูแล้ว การเติบโตในปีหน้าคงเริ่มที่จะมีบ้าง เพียงแต่ว่าจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ
เท่านั้น
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้แตกต่างไปจากธุรกิจในแขนงอื่น ที่มองการขยายตัวจากภาวะการเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมีการขยายตัวของรายหนึ่ง ก็จะมีรายอื่นๆ เริ่มขยายตัวและดำเนินการตามมา
หนทางที่ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไปได้รอด ก็ต้องมีการหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาร่วม
โดยเฉพาะพันธมิตรต่างประเทศ แต่โรงพยาบาลไม่เหมือนธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
หรือธุรกิจด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างระบบสาธารณูปโภคที่ต่างประเทศต่างก็สนใจเข้ามาร่วมลงทุน
ทำให้ไม่ได้รับความสนใจ
สำหรับผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยก็คงยากเช่นกัน เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่เอื้อ บริษัทต่างประเทศที่เข้ามา
น่าที่จะเป็นผู้ที่มีเทคโนโลยีด้านการแพทย์เป็นหลัก เพื่อสามารถถ่ายทอดมายังประเทศไทยได้
สัดส่วนหุ้นคงอยู่ที่ระดับประมาณ 20%
อีกวิธีก็คือ "เมื่อรายได้ไม่เพิ่มขึ้นก็ต้องลดค่าใช้จ่าย" ดูเหมือนจะเป็นวิธีสามัญที่หลายบริษัทในปัจจุบันเลือกใช้อยู่
แต่การทำธุรกิจโรงพยาบาลว่าน่าจะยังสามารถไปได้ดี ก็ตรงที่การมีสาขาหรือโรงพยาบาลตั้งอยู่ในหลายแห่ง
เพราะเมื่อสาขาใดมียอดผู้มาใช้บริการลดลง ก็อาจมีสาขาอื่นมียอดเพิ่มขึ้น
สามารถทดแทนและเป็นถัวเฉลี่ยการดำเนินงานของทุกโรงพยาบาลในเครือได้
สำหรับโรงพยาบาลกรุงเทพเองนั้น มีโรงพยาบาลในเครือ 9 แห่ง ที่เห็นเด่นชัดว่าผลการดำเนินงานไปได้ดีก็เช่นที่พัทยา
กับภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ซึ่งยอดผู้ใช้บริการนั้นโดยความเป็นจริงแล้ว มีนักท่องเที่ยวเพียงประมาณ
10% เท่านั้น ที่เหลือก็คือคนไทยที่ทำงานในกิจการด้านการท่องเที่ยวนั่นเอง
เมื่อกิจการโรงพยาบาลในเครือดี แม้แห่งอื่นจะยอดลดลงแต่ก็ยังคงประคองตนเองได้
มีการถ่ายเทอุปกรณ์และบุคลากรจากแห่งอื่นไปช่วยเสริมแทน ไม่ต้องลดขนาดของเจ้าหน้าที่ลงโดยให้ลาออกเหมือนธุรกิจอื่น
โรงพยาบาลกรุงเทพเองยังมีบริษัทในเครือคือ บริษัทสหแพทย์เภสัช จำกัด เป็นผู้ผลิตยาป้อนให้กับโรงพยาบาลในเครือ
และจัดจำหน่ายทั่วไป เมื่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศต้องลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศลง
บริษัทแห่งนี้ก็ต้องรองรับการผลิตยาเพิ่มขึ้น
โดยสัดส่วนเดิมที่มีการนำเข้ายาประมาณร้อยละ 80 ก็ต้องให้เหลือเพียงร้อยละ
60 เท่านั้น เป้าหมายนั้นน่าจะถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว
นั่นก็คือลดการใช้ของแพง ของนอกลง เป็นวิธีการประหยัดอีกทางหนึ่ง เพราะจากค่าเงินบาทที่เปลี่ยนไป
ทำให้ยานอกมีราคาปรับสูงขึ้นประมาณ 20-40% จึงมีการรณรงค์หันมาใช้ยาไทยกันมากขึ้น
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ บอกเล่าเรื่องราวของการพยายามพยุงสภาพของโรงพยาบาลเอกชน
ให้อยู่รอดภายในสภาพการณ์เช่นปัจจุบัน เพราะประสบการณ์ที่ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี
2515 ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ สั่งสมประสบการณ์ในฐานะผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนได้มากกว่านักบริหารหลายคน
ในยุคที่โรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลายแห่งจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนในจำนวนตัวเลขที่ค่อนข้างสูง
สิ่งที่เรียนรู้จากคนรอบข้างหรือแวดวงที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพผู้นี้มองว่า
การทำธุรกิจต้องมีการศึกษาอย่างมาก เพราะมีตัวแปรเยอะมากที่จะส่งผลถึงการดำเนินงาน
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์เริ่มทำงานเมื่อปี 2503 หลังจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ได้รับประกาศนียบัตรโรคทางเขตร้อน จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อปี 2505 และ Post Graduate Course จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี
2513
เคยปฏิบัติงานที่สถานพยาบาลคุรุสภา ตั้งแต่ปี 2504 ในตำแหน่งหัวหน้าแผนก
จนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองสถานพยาบาลคุรุสภา และทำงานบริการครูซึ่งเป็นสมาชิกคุรุสภาจนถึงปี
2520
ปี 2515 นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ร่วมกับกลุ่มแพทย์ก่อตั้งโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขนาดรักษาจำนวน 50 เตียง ด้วยทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ปัจจุบันขยายตัวเป็นโรงพยาบาลขนาด
500 เตียง ทุนจดทะเบียน 285 ล้านบาท ขยายเครือข่ายไปต่างจังหวัด 9 แห่ง โดยมีทรัพย์สินรวมทั้งเครือข่ายไม่ต่ำกว่า
5,000 ล้านบาท
เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2538-2539 กับที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ด้านการปรับปรุงสาธารณสุขจนถึงปัจจุบัน
แม้เลิกรักษาคนไข้ทั่วไปมาประมาณ 15 ปีแล้ว และรับหน้าที่งานบริหารโรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลในเครือเต็มตัว
ได้รับรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นประจำปี 2540 ภาคเอกชนจากสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย
และรางวัลมหิดลจากมหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับโรงพยาบาลกรุงเทพเองมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ มาใช้ จนโรงพยาบาลกรุงเทพได้รับประกาศนียบัตรรับรองระบบคุณภาพ
สมอ. ISO 9002 จาก สมอ. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2541
ประสบการณ์งานบริหารทำให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกิจได้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตขึ้นอย่างมาก เป็นเพราะความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
จากสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2531 การขยายตัวของธุรกิจถึงร้อยละ
10.4 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็ได้รับผลด้วย
ใครจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
นับจากปี 2531 ถึงปี 2534 อัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจมีอย่างมาก จนกระทั่งปี
2538 เริ่มมีเค้าของการชะลอตัว แต่หลายคนยังไม่คิดว่าจะมีปัญหาขนาดหนัก ตัวเลขการเติบโต
จากปี 2534-2535 มีประมาณร้อยละ 24 จนปี 2536 ประมาณ ร้อยละ 21 ปี 2537 ร้อยละ
18 แม้เป็นตัวเลขที่เริ่มลดต่ำลง แต่หลายคนก็ยังมองว่าไม่น่าส่งผลกระทบรุนแรงกับธุรกิจโรงพยาบาลที่เป็นปัจจัยสำคัญมากนัก
ปรากฏว่านับจากปี 2538 เริ่มมองเห็นการชะลอตัวชัดเจน แม้ผู้บริหารโรงพยาบาลจะรับทราบสถานการณ์
แต่ก็ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ทัน เพราะการลงทุนเพื่อขยายงานได้ดำเนินการไปแล้ว
และช่วงเปิดตัวก็เป็นจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำพอดี ทุกอย่างจึงต้องเดินหน้าต่อไป
หลักสำคัญของการบริหารที่นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ย้ำก็คือ ต้องยังคงรักษามาดของตนเองไว้
รักษามาตรฐานและคุณภาพการบริการไว้รอจนพ้นปีเสือนี้ไปแล้ว ปีหน้าทุกคนก็หวังว่าจะดีขึ้น