บางกอก มอเตอร์โชว์' 98 การยกระดับกับการเปิดศึก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การเริ่มต้นงานมอเตอร์โชว์ครั้งใหม่อย่างยิ่งใหญ่ที่เพิ่งจบมาไม่นาน สำหรับปราจิน เอี่ยมลำเนา ผู้จัดงานแล้ว เขาควรได้รับการปรบมือ ส่วนบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมงานทั้งหลายคราวนี้มีแต่กล่องเท่านั้น แต่สิ่งที่นับว่าดีที่สุดก็คือผู้บริโภคในตลาดรถยนต์เมืองไทย

ไม่ใช่ว่างานครั้งนี้ มีการลดแลกแจกแถมกันอย่างมโหฬาร ตรงข้ามเทศกาลครั้งนี้มีไม่มากนักสำหรับ โปรโมชั่น ที่คุ้นเคย

งานครั้งนี้ได้มุ่งเน้นความเป็นไปของเทคโนโลยียานยนต์ แม้ไม่อาจเทียบเท่ามอเตอร์โชว์ในระดับโลกได้อย่างเท่าเทียม แต่ครั้งนี้ก็นับว่าได้พัฒนาขึ้นไปอย่างมาก เพราะแต่ละบริษัทพยายามเน้นการโชว์ศักยภาพทางเทคโนโลยี มากกว่าการนำเสนอสินค้าเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

และบทสรุปที่สำคัญที่ได้เห็นก็คือ เมืองไทยจะยังกลายเป็นสมรภูมิที่เข้มข้น แม้ตลาดจะย่ำแย่อยู่ และสมรภูมิครั้งนี้ ไม่ใช่สงครามตัวแทนอีกต่อไป เพราะเกือบทุกบริษัทรถยนต์ระดับโลก ได้ประกาศถึงความพร้อมที่จะเข้ามาห้ำหั่นกันด้วยตัวเองแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ไครสเลอร์ ผู้ผลิตรถยนต์หนึ่งในบิ๊กทรีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประกาศตัวต่อสาธารณชนในเมืองไทย ด้วยการเข้ามาด้วยตนเองอย่างเต็มตัว (รายละเอียดในสกู๊ปข่าวยานยนต์)

หรือการแยกตัวออกมาอย่างชัดเจน จากกลุ่มยนตรกิจของรถยนต์บีเอ็มดับบลิว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้เห็นอนาคตได้ชัดขึ้นว่า บีเอ็มดับบลิว เอจี จะเอาอย่างไรกับตลาดรถยนต์ในไทย และจะตัดสินใจอย่างไรต่อกลุ่มยนตรกิจ

งานมอเตอร์โชว์คราวนี้ รถยนต์บีเอ็มดับบลิวได้ถูกจัดแสดงแยกออกมาต่างหากจากรถยนต์อีก 5 ยี่ห้อของกลุ่มยนตรกิจ และผู้ที่ดูแลรับผิดชอบก็คือบริษัทที่บีเอ็ม ดับบลิว เอจี ตั้งขึ้นมาโดยตรง ที่ชื่อ บายเยอริชเชอ โมโทเรน เวอร์เค่อ (ประเทศไทย) จำกัด

แหล่งข่าวในกลุ่มยนตรกิจกล่าวว่า บีเอ็มดับบลิว เอจี เยอรมนี พยายามอย่างหนักที่จะต่อรองเพื่อเข้าเทกโอเวอร์การดำเนินกิจกรรมในเมืองไทยทั้งหมด แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อเสนอให้กลุ่มยนตรกิจเป็นผู้ถือหุ้นบางส่วน อย่างไรก็ตาม บีเอ็มดับบลิวยังติดปัญหาหลัก ตรงที่ไม่สามารถประสานกับดีลเลอร์ให้โอนย้ายเข้ามาภายใต้การดูแลของตนเองได้ นอกจากนี้รถยนต์บีเอ็มดับบลิวยังคงมีอยู่ในสต็อกของกลุ่มยนตรกิจสูงถึง 2,000 คัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บีเอ็มดับบลิวต้องตัดสินใจว่า จะรอให้ยนตรกิจเคลียร์สต็อกให้หมดก่อนหรือจะรับซื้อเอาไว้ทั้งหมด

"บีเอ็มดับบลิวพยายามบีบทุกทาง ถึงวันนี้ เราคงต้องขอหย่าแล้ว" แหล่งข่าวจากกลุ่มยนตรกิจกล่าว

แนวโน้มการเสียบีเอ็มดับบลิวไป สำหรับยนตรกิจแล้วคงต้องรู้สึกสะเทือนใจลึกๆ แน่ เพราะถือเป็นผู้สร้างตำนานบีเอ็มดับบลิวในไทยมาหลายสิบปี แต่ยังดีตรงที่ว่าแนวโน้มในส่วนของรถยนต์กลุ่มโฟล์กสวาเก้นซึ่งยนตรกิจถือครองอยู่นั้น กำลังจะเข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ได้ในอนาคต

Markus Schrick เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอาดี้ เอจี เยอรมนี ดูแลรับผิดชอบภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวยืนยันถึงแผนงานที่จะเน้นความร่วมมือระหว่างเอาดี้กับยนตรกิจว่า สายการผลิตรถยนต์เอาดี้ในไทยนั้นจะเริ่มขึ้นในปี 2542 นี้อย่างแน่นอน โดยจะเป็นรุ่น เอ 4 และเอ 6 ซึ่งแนวนโยบายนี้ถือได้ว่า เอาดี้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มยนตรกิจในการทำตลาดรถยนต์เอาดี้ในไทย

นอกจากนี้ ทางค่ายฟอร์ดกับมาสด้า ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่จะสร้างความเร้าใจให้กับวงการรถยนต์เมืองไทย เมื่อทั้งสองค่ายนี้ได้เปิดตัวรถยนต์ปิกอัพ จากสายการผลิตแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุน

ปิกอัพฟอร์ด เรนเจอร์ กับปิกอัพมาสด้า บี 2500 ไฟเตอร์ใหม่ นับเป็นความท้าทายต่อตลาดรถยนต์ปิกอัพเมืองไทยอย่างมาก ทั้งจากนโยบายการเป็นฐานส่งออกปิกอัพทั้งฟอร์ดและมาสด้า และจากรูปลักษณ์และสมรรถนะของตัวรถ

2 ปีที่ผ่านมา ฟอร์ด และมาสด้าได้ประกาศยึดการบริหารด้านการผลิตมาจากผู้จัดจำหน่ายในเมืองไทย ด้วยการประกาศร่วมทุนก่อตั้งบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อทำหน้าที่ประกอบรถมาสด้าและฟอร์ดในไทย

ในครั้งนั้น ฟอร์ด ประกาศยึดทั้งการบริหารการตลาดและการผลิตมาไว้ในมือ ขณะที่มาสด้ายังปล่อยให้การทำตลาดและผลิตอยู่ในหน้าที่ของสุโกศลมาสด้า ที่มีตระกูลสุโกศลถือหุ้นใหญ่ไปก่อน การเข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อฟอร์ดและมาสด้าสูงมาก ในการที่จะประกาศต่อลูกค้าถึงภาพลักษณ์ใหม่ ในการบริหารงานทุกด้านที่จะเกิดขึ้นจากทั้งฟอร์ดและมาสด้าเอง

รองประธานมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป แห่งญี่ปุ่น ถือโอกาสบินด่วนมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และหวังจะใช้เวทีมอเตอร์โชว์ในไทยโปรโมตรถปิกอัพรุ่นนี้ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ เพราะหลังจากโรงงานที่ระยองเดินเครื่องเต็มที่ สายการผลิตปิกอัพมาสด้าก็จะย้ายจากเมืองโยโกฮามาญี่ปุ่นมาที่ไทยแทน และไทยก็จะเป็นฐานผลิตปิกอัพเพื่อส่งออก แทนฐานที่ญี่ปุ่นที่พร้อมจะยกเลิกสายการผลิตในทันที ทั้งนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกปิกอัพมาสด้า ใหญ่เป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา

ยังมีอีกหลากหลายมุมมองจากงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ ที่น่าจะสรุปได้ว่าค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังคงทุ่มเทที่จะลงสู่สมรภูมิเมืองไทยอย่างไม่ยอมถอยให้แก่กัน โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดอย่างโตโยต้า ที่ลงทุนอย่างมากมายและโดดเด่นที่สุดในงานครั้งนี้ หรืออย่างฮอนด้า ก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากันนัก

ยังมีสีสันอีกหลากหลายกับบรรยากาศความเป็น "มอเตอร์โชว์" ครั้งแรกในไทย ที่น่าจะเก็บความประทับใจไว้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.