ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ "Sign or be sued"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจาก ที่มีการเจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้มาเป็น เวลากว่า 2 ปี นับแต่เริ่มประกาศพักชำระดอกเบี้ยเมื่อ 22 สิงหาคม 2540 ด้วยมูลหนี้ 3.5 พันล้านเหรียญกับเจ้าหนี้จำนวน 148 ราย ปรากฏว่า ณ วันนี้บริษัท อุตสาหกรรม

ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(มหาชน) หรือ TPI ก็ยังเหมือนกับย่ำเท้าอยู่กับ ที่ในการเจรจา เพราะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง และเซ็นสัญญาประนอมหนี้กันได้

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา IFC ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้าหนี้ และเป็นสถาบันการเงินในเครือธนาคารโลกได้แสดงท่าทีไม่พอใจด้วยการประกาศว่าหากประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และ TPI ไม่ยอมเซ็นสัญญาตาม ที่มีการตกลงกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เขาจะต้องนำกรณี TPI ยื่นฟ้องศาลล้มละลาย เจ้าหนี้รายนี้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าประชัยจะต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง "sign or be sued" โดยคณะกรรมการเจ้าหนี้ฯให้เวลาดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ ที่ตกลงไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ภายใน 17 มกราคม 2543

ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 บริษัท TPI และคณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ได้เห็นชอบร่วมกันในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ร่างขึ้นเป็นเอกสารสัญญา หรือ Term Sheet จำนวน 70 หน้า ร่างเอกสารนี้ได้แปลงเป็นข้อตกลง และส่งมอบให้กับ TPI เมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 ต่อมาร่างเอกสารดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีกหลายครั้ง โดย ข้อตกลงฉบับล่าสุดได้ส่งมอบให้ TPI เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2542 ทว่าเมื่อ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา TPI ได้ยื่นข้อเสนอ ที่ไม่มีการเจรจากันมาก่อน ซึ่งข้อเสนอนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็น การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญหลายประการที่บริษัท TPI ตกลงไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542

ข้อเสนอของ TPI คือ ต้องการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 1 พันล้านเหรียญภายในต้นปี 2543 นี้ ทว่าคณะกรรมการเจ้าหนี้มองว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยน แปลงมูลหนี้ตาม ที่ได้มีการตกลงกันไว้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องจังหวะในการเพิ่มทุน และกลุ่มนักลงทุน ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวด้วย คณะกรรมการฯ ไม่คาดหมาย ที่จะให้มีการเพิ่มทุนโดยเร็วตาม ที่บริษัท TPI ต้องการ

ส่วนข้อเสนอเดิม ที่มีการตกลงกันได้ใน Term Sheet มีหลักการว่ากลุ่มเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนโดยไม่มีการขอลดหย่อนหรือไม่มี hair cut โดยการชำระหนี้นั้น บางส่วนจะได้รับในรูปของหลักทรัพย์หรือ equity ที่บริษัทจะออกให้ ส่วนดอกเบี้ยก็มีการทยอยชำระตามส่วนโดยอิง อัตรา Libor สำหรับหนี้ต่างประเทศ และอัตรา MLR สำหรับ หนี้สกุลบาท

สถาบันการเงินไทยเป็นเจ้าหนี้บริษัทเป็นวงเงินครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมด ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา อีกครึ่งหนึ่งเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซิตี้-แบงก์ ธนาคารส่งออก-นำเข้าสหรัฐ บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ธนาคาร KfW ธนาคารซันวา ธนาคารสแตน-ดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารส่งออก-นำเข้าเกาหลี ซึ่งธนาคารทั้งหมด ที่เอ่ยชื่อมานี้ครองมูลหนี้มากกว่า 68% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด

ทั้งนี้ประชัยเปลี่ยนใจหันมาใช้วิธีเพิ่มทุนเร็วขึ้นมาจากเหตุ ที่ว่าสถานการณ์ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และนั่นหมายถึงว่าเขาอาจจะสามารถรักษาธุรกิจ ที่ตระกูลเขาก่อร่างสร้างขึ้นมาได้ ทั้งในเรื่องของอำนาจการบริหาร การกำหนดนโยบาย และความเป็นเจ้าของ

ขณะที่หากเดินตามแผนการเดิม เขามีความเสี่ยงในประเด็นข้างต้นอยู่มาก สัดส่วนการถือหุ้นต้องลดลง อำนาจการบริหารมีจำกัด เพราะคณะกรรมการเจ้าหนี้จะเข้ามามีส่วน ร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารงานได้มาก โดยเฉพาะ IFC ที่คาดว่าเมื่อแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว จะได้ถือหุ้นถึง 20% ขณะที่ประชัย และตระกูลต้องลดสัดส่วนลงถือแค่ 30% จากเดิม ที่ถือไว้ 60%

นี่เป็นความเป็นความตายของการรักษาธุรกิจของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งประชัยเผชิญความหมิ่นเหม่เช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว

ขณะที่ TPI ยังคาราคาซัง ทั้ง ที่มีความคืบหน้าเรื่องการ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า แต่ปรากฏว่าไม่เรียบร้อยเบ็ดเสร็จสักที แต่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) หรือ TPIPL ได้มีการสรุปผลการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มสถาบันการเงินเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้วเมื่อ 16 ธันวาคม 2542 โดยมีเจ้าหนี้ลงมติรับแผนการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยคะแนนเสียง 95.6% ของมูลหนี้ทั้งหมด มีเจ้าหนี้เพียง 4.4% ที่ไม่ยอมรับแผนดังกล่าว

บริษัทฯจะดำเนินการยื่นร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ และป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องภายหลัง โดยคาดว่าจะใช้เวลาเตรียมแผนประมาณ 2 เดือน และจะใช้เวลาดำเนินการในศาลประมาณ 5 เดือน

ทั้งนี้ TPIPL มีภาระหนี้รวม 51,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดเงินต้น 44,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดเงินต้น ที่อยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ 67% หรือประมาณ 29,480 ล้านบาท

รายละเอียดแผนการปรับโครงสร้างหนี้ TPIPL ที่สำคัญคือ หนี้ในส่วน ที่เป็นดอกเบี้ยค้างจ่ายตั้งแต่เดือนม.ค. 2541 ถึงพฤศจิกายน 2542 จะแปลงเป็นหุ้นเพิ่มทุนใหม่ในราคาเท่ากับราคา ที่เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนใหม่ โดยเป็นราคาตลาด ณ เวลานั้น ซึ่งตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีสิทธิ์ ที่จะซื้อคืนหรือทำ Call Option ในราคา และเวลา ที่ได้ตกลงกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ ส่วนดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2542 บริษัทจะทำการชำระภายในวันที่ 5 มกราคม 2543

พร้อมกันนี้ TPIPL จะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนขายให้นักลงทุนทั่วไปจำนวน 180-270 ล้านเหรียญ โดยเงินเพิ่มทุนจำนวนนี้จะนำไปชำระหนี้จำนวน 180 ล้านเหรียญ โดยมีส่วนลดด้วยวิธีการประมูลตามความสมัครใจ หากมีเงินเหลือจากการประมูลจะเฉลี่ยคืนเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ทุกราย ส่วนเงินเพิ่มทุนอีก 90 ล้านเหรียญ จะใช้ขยายกำลังการผลิตโรงปูนซีเมนต์แห่ง ที่ 4

ด้านระยะเวลาชำระหนี้กำหนดไว้ 5 ปี บริษัทมีสิทธิ ที่จะขอขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกครั้งละ 1 ปี เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งบริษัทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการต่อสัญญาชำระหนี้ดังนี้ ปีแรก 0.5% ปีที่สอง 0.75% และปีที่สาม 1%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.