เอไซฯ รุกตลาดยา ส่งยารักษาโรคอัลไซเมอร์สู้ศึก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

โรคความจำเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's dise ase) เป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งจะส่งผลให้เป็นโรคจิตเสื่อมหรือสติเสีย (Dementia) โรคดังกล่าวบางครั้งเรียกว่า โรคสมองฝ่อ หรือสมองเหี่ยว เนื่องจากผู้ป่วยสมองจะฝ่อเล็กลง เนื้อสมองและรอยหยักในสมองลดลง โดยลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีอาการตั้งแต่ขี้หลงขี้ลืมธรรมดาทั่วๆ ไป หรือจำเหตุการณ์เรื่องราวในอดีตไม่ค่อยได้ สับสนในเรื่องต่างๆ กระวนกระวาย อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย หรือถ้าอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคประสาทอย่างชัดเจน คลุ้มคลั่ง หดหู่ ควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้ จนถึงขั้นมีอาการชักและถึงเสียชีวิต เพราะมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไหว เนื่องจากสมองไม่สามารถสั่งงานอะไรได้อีก

ในอดีตโรคความจำเสื่อมไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาคนไทยเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น เนื่องจากอัตราเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวของคนไทยมีสูงขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และในอนาคตประมาณการกันไว้ว่า ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมจะยิ่งมีสูงมากขึ้นตามอัตราความมีอายุยืนของคน

จากความสำคัญดังกล่าว บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เอไซ จำกัด ของประเทศญี่ปุ่น ที่ดำเนินธุรกิจด้านการตลาด ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์สำหรับคนและสัตว์ รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ และอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิตยามาเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยมีเครือข่ายอยู่กว่า 60 ประเทศทั่วโลก ในปี 2539 บริษัทมียอดขายประมาณ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญในด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา โดยงบประมาณ 14% ของยอดขายจะนำมาดำเนินการด้านดังกล่าว และล่าสุดผลิตภัณฑ์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาใหม่ คือ ยาสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ที่จำหน่ายไปแล้ว 20 ประเทศ

ส่วนเอไซฯ ในประเทศไทย เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2509 โดยเน้นเวชภัณฑ์สำหรับคน ส่วนเวชภัณฑ์สัตว์และวิตามินอีที่ใช้ผสมอาหารสัตว์ จำหน่ายเพื่อรักษาลูกค้าเก่าไว้เท่านั้น และปีนี้ก็ยังได้นำยารักษาโรคอัลไซเมอร์เข้ามาจำหน่ายด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่นำเข้ามาจำหน่าย

"เหตุผลที่เรานำยาตัวนี้เข้ามาในไทย เนื่องจากเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-65 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมสูง ให้ยังมีความสามารถที่จะทำงานหรือทำประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป" ทวีศักดิ์ สีทองสุรภณา ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท กล่าวถึงสาเหตุที่นำยาตัวใหม่เข้ามาจำหน่ายในไทย

ในระยะแรกๆ นี้บริษัทจะยังไม่เน้นด้านยอดขาย แต่จะมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคความจำเสื่อมและแนวทางการรักษา พร้อมทั้งการสัมมนาวิชาการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และยังจะให้คำแนะนำยาดังกล่าวทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งคาดหวังว่าภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ตัวยาใหม่จะสามารถเจาะตลาดได้แน่นอน

"ตลาดยาในกลุ่มนี้จะเติบโตมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของผู้สูงอายุและความรู้ตัวของผู้ป่วย ตลอดจนความเอาใจใส่ของผู้ใกล้ชิด จากผลสำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้วปรากฏว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคความจำเสื่อม 5% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ส่วนในไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุประมาณ 3% หรือประมาณ 1.8-2 ล้านคนของประชากรทั้งหมด 60 ล้านคน เราจึงคาดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมประมาณ 1 แสนคน และยิ่งอายุสูงมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเป็นโรคความจำเสื่อมก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน อย่างเมื่อมีอายุ 80 ปี โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ประมาณ 40%" ทวีศักดิ์ กล่าว

เขายังกล่าวเสริมว่าในอนาคต ยารักษาโรคความจำเสื่อมจะเป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่ง ที่จะสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี เพราะตัวยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งสารอาเซททิลโคลีน เอสเตอเรส ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องการเกิดโรคสมองเสื่อม และตัวยานี้ไม่มีผลข้างเคียงต่อตับ แต่จะมีผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหาร ซึ่งจะคลื่นไส้ อาเจียน

"ยาตัวนี้ก็ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยา (FDA) ใน หลายๆ ประเทศ ซึ่งหลังจากจำหน่ายในยุโรป อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย โดยเฉพาะแค่ในอเมริกามียอดขายสูงถึง 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นเราจึงมั่นใจอย่างมากสำหรับยาตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพและยอดขายในไทย"

ในด้านยอดขายบริษัทจะจำหน่ายผ่านทางโรงพยาบาล ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยาเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลในไทยที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าวมีประมาณ 40 แห่ง

"ยาตัวนี้บรรจุ 1 ขวด 30 เม็ด จำหน่ายในราคา 3,000 บาท เราคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำยอดขายให้ได้ประมาณ 10 ล้านบาท แต่ภายใน 5 ปีนี้จะทำยอดขายได้ประมาณ 80 ล้านบาท อีกทั้งยังจะนำออกไปจำหน่ายในแถบประเทศอินโดจีน เช่น ลาว เวียดนาม แต่เรายังรอการขอขึ้นทะเบียนยาตัวนี้อยู่" สมพล วุฒิกรวิภาค ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กล่าวถึงช่องทางการจัดจำหน่ายของยารักษาโรคความจำเสื่อม

สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั่วๆ ไปของบริษัทในปี 2541 บริษัทจะยังคงเน้นเวชภัณฑ์สำหรับคนอยู่ และประมาณ 75% จะเป็นการจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน อีกประมาณ 15% จำหน่ายผ่านร้านขายยาทั่วไป โดยปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 200 ล้านบาท โดยมียอดขายในประเทศ 170 ล้านบาท อีกประมาณ 30 ล้านบาทเป็นยอดขายส่งออกไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและพม่า

"ในปีนี้เราจะเน้นการจำหน่ายผ่านร้านขายยามากขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น และคาดว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตขึ้นประมาณ 15% นอกจากนี้เรายังจะมีรายได้จากการจำหน่ายวิตามินอี ประมาณ 60 ล้านบาท และในปี 2543 เราน่าจะทำยอดขายได้สูงถึง 300 ล้านบาท" ทวีศักดิ์ กล่าวตบท้าย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของไทยที่ไม่น่าไว้วางใจ โอกาสที่คนไทยจะเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นมีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอายุอยู่ในช่วงทำงาน ดังนั้นถ้าหากไม่อยากเห็นตัวเองหรือคนรอบข้างเป็นโรคนี้ ควรหมั่นเอาใจใส่ดูแลร่างกายและสุขภาพจิตให้ดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.