คอลิน เวียร์คุมชะตาโฮปเวลล์ ไพ่ใบสุดท้ายหุ้นกำไรทำโครงการต่อ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

บันทึกอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 คอลิน เวียร์ ผู้อำนวยการบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ซึ่งถูกกอร์ดอน วู ประธานใหญ่ของบริษัท วางตัวเป็นผู้ดำเนินโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพฯ เปิดตัวแถลงการณ์ครั้งสำคัญ ถึงท่าทีของโฮปเวลล์ที่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย จากคู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นมูลค่าถึง 100,000 ล้านบาท

งานนี้ไม่มีกอร์ดอน วู ออกหน้า แต่ทุกคนรู้ว่า ผู้ที่อนุมัติการร้องเรียนครั้งนี้มาจากตัวประธานใหญ่ที่ฮ่องกง

เป็นเพราะโฮปเวลล์รู้แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลไทยไม่สนใจบริษัทโฮปเวลล์อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีการเจรจาหารือใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย หลังการประกาศบอกยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ จากทางคณะรัฐมนตรีปลายปีที่แล้ว ส่วนหนังสือบอกเลิกอย่างเป็นทางการก็ตามมาในวันที่ 27 มกราคม 2541

หนังสือฉบับนั้นยื่นเงื่อนไขเด็ดขาด ห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ในพื้นที่โครงการด้วย และยังแถมด้วยว่า คู่สัญญาฝ่ายรัฐขอสงวนสิทธิในการจะเรียกค่าเสียหาย จากการที่บริษัทไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามสัญญา รวมทั้งขอริบเงินค่าตอบแทนสัญญาที่บริษัทได้จ่ายให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐไว้แล้วทั้งหมด และริบหลักประกันตามสัญญา

จากนั้นฝ่ายกระทรวงคมนาคมก็เงียบหาย ไม่มีการเจรจาเหมือนที่ผ่านมาระหว่างกระทรวงคมนาคมกับโฮปเวลล์ ทั้งจากสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือกระทั่งประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์

ด้านหนึ่งนั้นฝ่ายรัฐมั่นใจว่า ด้วยเหตุผลความล่าช้าของโฮปเวลล์ ย่อมทำให้ฝ่ายรัฐมีสิทธิจัดการกับเอกชนได้เต็มที่ อีกทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะฝ่ายรัฐคงไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนหากมีการร้องเรียน ประกอบกับความใหม่ของรัฐมนตรีที่ไม่ต้องการเสียเวลาต่อรองกับเอกชน ด้วยการศึกษาโครงการนี้ ต้องมีความลึกและจัดเจนในแง่กฎหมายอย่างมากถึงจะดำเนินการได้

ความเงียบจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ก็คือการปล่อยให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตามกฎหมาย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเท่ากับโยนงานให้ผู้รู้รับไปทำ

ส่วนกระทรวงคมนาคมก็เดินหน้าหาเอกชนรายอื่นเข้ามาสวมโครงการต่อ คงไม่สามารถปล่อยให้เสาตอม่อตามแนวรางรถไฟที่โฮปเวลล์ลงทุนสร้างไปแล้วอยู่ในสภาพนั้น ประจานความบกพร่องของรัฐบาลไทยได้

รัฐบาลไทยไม่มีเงินมากพอที่จะสานงานต่อ เพราะวิกฤติการณ์ด้านการเงินในประเทศไทย คงไม่อยู่ในฐานะที่จะลงทุนโครงการมูลค่าสูงได้ และเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า โครงการทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพฯ นี้ รัฐบาลต้องให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

หากจะทำได้อย่างมากที่สุดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนก็คือ ฝ่ายการรถไฟฯ ต้องเป็นผู้ลงทุนงานฐานราก ในสัดส่วนประมาณ 20% ของทั้งโครงการ ที่เหลือก็คือให้เอกชนเข้ามาร่วม

ส่วนเรื่องที่จะให้โฮปเวลล์กลับมาทำทั้งหมดคงยาก เพราะผลงานที่ผ่านมา ไม่มีความคืบหน้า และฝ่ายไทยก็รู้สึกถูกผูกมัดเกินไป ที่ไม่สามารถจัดการใดๆ กับโฮปเวลล์ได้ ได้แต่ปล่อยให้ผลงานเป็นไปตามนี้ เพื่อจะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดสักที

โฮปเวลล์จึงต้องดิ้นหาทางออกให้กับตนเอง ที่ผ่านมาความพยายามให้ฝ่ายกระทรวงคมนาคมยึดตามสัญญา ด้วยการตั้งอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้รับการตอบสนอง หรือกระทั่งการชูตัวอย่างภาพลักษณ์ ที่ต้องสูญเสียไปกับการยกเลิกสัญญากับนักลงทุนต่างประเทศ ก็ไม่เป็นผล

งานนี้โฮปเวลล์ ต้องหันหลังชนกำแพงเข้าสู้ เพราะหาทางออกด้วยวิธีอื่นคงไม่ได้ สิ่งที่บริษัทลงทุนจ่ายผลประโยชน์ให้กับฝ่ายไทย ตั้งแต่การเซ็นสัญญาเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2533 จะต้องได้ตอบแทนกลับคืนมาบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าตลอดระยะเวลาประมาณ 8 ปีที่ผ่านมา

ถึงปัจจุบันโฮปเวลล์ระบุว่า ได้ลงทุนในโครงการที่กรุงเทพฯ ไปแล้วมากกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่ว่าค่าใช้จ่ายนั้นจะให้กับใครหรือองค์กรไหน เพื่อให้โครงการในประเทศไทยสามารถดำเนินการและรักษาสถานภาพไว้ได้

มองอีกด้านหนึ่ง การสูญเสียโครงการในประเทศไทยไป ก็เท่ากับเป็นการเสียภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ไปได้เช่นกัน นอกเหนือจากตัวเงินที่ได้ลงทุนไป

ตัวกอร์ดอน วู เองนั้นดูเหมือนจะเงียบหายไป ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เขาต้องเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเจรจากับรัฐมนตรีทุกคน ซึ่งผลที่ออกมาจะได้ข้อสรุปว่า โฮปเวลล์จะได้ทำโครงการต่อไป

มาครั้งนี้ คอลิน เวียร์ หรือ คอลิน เฮนรี่ เวียร์ ออกหน้าเต็มตัวแทน

วิศวกรโยธาอายุ 52 ปีเชื้อสายอังกฤษ เข้ามาร่วมงานกับกลุ่มโฮปเวลล์ เมื่อปี 2528 ผู้นี้ เคยทำโครงการด้านออกแบบโครงสร้างสถานีพลังงานและทางด่วนในเมืองจีนให้กับโฮปเวลล์ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของโฮปเวลล์ที่ฮ่องกง

เขาคงคาดไม่ถึงว่า การเข้ามารับงานด้านระบบขนส่งมวลชนของโฮปเวลล์ที่กรุงเทพฯ สำหรับเขา จะเป็นงานหินขนาดนี้

คอลิน เวียร์ ประกาศชัดเจนหลังจากการประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่า เขาจะเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากฝ่ายรัฐบาลไทย หากผ่านไปแล้ว 2 เดือนยังไม่มีคำตอบ หรือการหารือที่ชัดเจนในรูปของการเจรจาต่อรองกับฝ่ายไทย ทางโฮปเวลล์ก็ดำเนินการตามกฎหมาย

โฮปเวลล์นั้นต้องการดูท่าทีของฝ่ายรัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร หากเอกชนทำท่าเอาจริงเอาจังตามกฎหมาย

แต่อีกทางหนึ่งในการแถลงข่าวครั้งนี้ ก็ดูเหมือนเป็นการเสนอตัวกับทางฝ่ายรัฐว่า เขาจะขอเข้าร่วมในโครงการทางรถไฟยกระดับในรูปแบบใหม่ ที่จะมีการลดขนาดโครงการลง หากมีการร่วมหุ้นระหว่างฝ่ายกระทรวงคมนาคม, โฮปเวลล์ และเอกชนรายอื่น

เพราะโฮปเวลล์เชื่อมั่นว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาในโครงการที่กรุงเทพฯ แม้จะยังก่อสรัางไม่เสร็จเรียบร้อย แต่งานฐานรากด้านวิศวกรรมนั้น โฮปเวลล์รู้ดีที่สุด การก่อสร้างขั้นต่อไป ต้องมีโฮปเวลล์ร่วมอยู่ด้วย

ทางหนึ่งเหมือนเอาจริง แต่อีกทางหนึ่งคือยื่นเงื่อนไขขอต่อรอง

"บริษัทหวังว่ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะปฏิบัติตามพันธะที่มีอยู่ในสัญญา และพิจารณาประเมินค่าเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้องโดยเร็ว มิฉะนั้นจะเป็นการบั่นทอนความไว้วางใจในการดำเนินการสัญญาต่างๆ ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะยื่นข้อเรียกร้องแย้งมา และบริษัทพร้อมที่จะเจรจาหาข้อยุติเกี่ยวกับฐานการคำนวณข้อเรียกร้องค่าเสียหายที่ยุติธรรมได้"

คำประกาศที่ชัดเจนของ คอลิน เวียร์ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงนัยความต้องการของโฮปเวลล์ว่า อย่างไรเสียโฮปเวลล์ก็ยัง HOPEWELL กับงานในประเทศไทยต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.