ไอพีบี แบงก์ หวังแจ้งเกิดในไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2541 ของวงการสถาบันการเงิน ปรากฏว่าเป็นไปตามความคาดหมายของบรรดาผู้อยู่ในวงการนี้ นั่นคือกำไรลดลงจนถึงขั้นขาดทุน บ่งบอกถึงเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนต่างประเทศก็ได้เริ่มทยอยกันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ไทยเป็นอย่างมาก

ล่าสุดธนาคารไอพีบี แบงก์ (IPB Bank : Investicni a Postovni Banka, a.s. หรือภาษาอังกฤษ Investment and Postal Bank) เป็นของประเทศสาธารณรัฐเชก ได้เข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนในไทย หลังจากในอดีตเคยเปิดสำนักงานในฟิลิปปินส์แล้วปิดกิจการไป ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของเชกและกลุ่มประเทศยุโรปตอนกลางและตะวันออก ที่รุกตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไอพีบี แบงก์ เป็นหนึ่งในบรรดาธนาคารเชกที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นผู้ได้สิทธิตามกฎหมายให้ดำเนินกิจการของธนาคารมอรท์เกจ เครดิต แบงก์ แห่งอาณาจักรเชก ซึ่งก่อตั้งในปี 2408 และใช้ชื่อ Investicni Banka (Investment Bank) ในปี 2463 และในปี 2502 การปฏิบัติงานบางส่วนจะรวมอยู่กับธนาคารแห่งรัฐเชกโกสโลวะเกียเดิม ในขณะที่งานส่วนที่เหลือของ Investicni Banka อยู่ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่เน้นธุรกิจค้าหลักทรัพย์

หลังจากเชกโกสโลวะเกียกลับมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีในปี 2532 ไอพีบี แบงก์ เริ่มกลับมาประกอบธุรกรรมธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ต่อมาในปี 2535 ได้แปรรูปเป็นบริษัทร่วมทุน และในระหว่างปี 2536 ธนาคารได้เข้าไปถือหุ้นใน Postovni Banka (Postel Bank) ที่นำไปสู่การรวมกิจการของธนาคารทั้งสองเข้าด้วยกันและเปลี่ยนชื่อมาเป็น ไอพีบี แบงก์ ในปัจจุบัน และขณะนี้ ไอพีบี แบงก์ ถูกจัดอันดับเป็นธนาคารรายใหญ่หนึ่งในสี่ของประเทศ และได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นธนาคารเอกชน ภายหลังการขายหุ้นให้กับ โนมูระ (ยุโรป) เมื่อต้นปี 2541 ทำให้โนมูระสามารถซื้อหุ้นไอพีบีได้ 36% จากเดิมเป็นสัดส่วนของรัฐบาลเชก ส่งผลให้โนมูระถือหุ้นสูงถึง 60% ทำให้ ไอพีบี แบงก์ มีทุนเพิ่มขึ้นและระดมส่วนของผู้ถือหุ้นได้สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2540 มีสินทรัพย์รวม 6,381 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรสุทธิ 25,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสาขาและสำนักงานตัวแทนทั่วโลก 3,625 แห่ง และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันมูดี้ส์ โดย ในระยะสั้นอยู่ที่ระดับ P-2 และระยะยาวอยู่ที่ระดับ Baa2

ด้วยศักยภาพด้านเงินทุนทำให้ ไอพีบี แบงก์ มีนโยบายที่จะขยายธุรกิจออกไปเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งในแถบเอเชียก็ได้เลือกไทยเป็นด่านแรก ในการรุกคืบของการทำธุรกรรมธนาคารพาณิชย์

"การก่อตั้งสำนักงานตัวแทนในไทยจะช่วยส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างกลุ่มยุโรปตอนกลางและตะวันออกกับประเทศแถบเอเชีย แม้ว่าขณะนี้สภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียกำลังถดถอย แต่เชื่อมั่นว่ายังคงเป็นภูมิภาคที่มีการปรับตัวได้ดีแห่งหนึ่งของโลก และ ไอพีบี แบงก์ มีพันธกิจที่จะช่วยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ด้านธุรกิจและการค้าระหว่างภูมิภาค เป็นเหมือนการเปิดประตูที่เปิดทางให้นักลงทุนทั้งสองภูมิภาค เข้ามาสู่ภาคการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ" จิริ ฟาเร็ค รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการของคณะกรรมการบริหาร ไอพีบี แบงก์ กล่าว

เขายังกล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่เลือกไทยเนื่องจากกำลังหลุดพ้นจากปัญหาภาวะวิกฤต และเข้าสู่การฟื้นฟูเพื่อไปยังจุดที่แข็งแกร่ง สังเกตได้จากค่าเงินบาทเริ่มมีค่าแข็งขึ้น รวมทั้งไทยยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน ดร.มิโรสลาฟ โอครูลี่ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนในไทย กล่าวว่า กิจกรรมของสำนักงานในไทยจะเน้นเรื่อง การสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยและหน่วยงานราชการ ติดต่อกับบรรดาธนาคารและนักธุรกิจไทยที่ส่งออกและนำเข้า ที่สนใจในสินค้าของกลุ่มประเทศยุโรปตอนกลางและตะวันออก นอกจากนี้ยังสนับสนุนและชักชวนให้ลูกค้าของธนาคาร ที่สาธารณรัฐเชกและแถบประเทศใกล้เคียง หันเข้ามาลงทุนในไทยและแถบเอเชียมากขึ้น

"เรามองว่าตลาดในไทยมีความกว้างโดยเฉพาะตลาดผู้บริโภค ถ้าถามว่าเชกให้อะไรกับไทยและไทยให้อะไรกับเชก นั่นคือการค้าขายระหว่างกัน"

ปัจจุบันการค้าขายระหว่างสาธารณรัฐเชกกับไทยนั้น ถือว่ามีมูลค่าสูงพอสมควร โดยส่วนใหญ่สาธารณรัฐเชกมีรายได้จากการส่งสินค้ามาจำหน่ายในไทย อาทิ อุปกรณ์ด้านพลังงาน อุปกรณ์ไฟฟ้าการพิมพ์ ส่วนไทยส่งสินค้าไปจำหน่าย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ

"และต่อไปนี้คือสิ่งที่เรามองไว้ คือ เราต้องการสนับสนุนธุรกิจของเชกในไทย ซึ่งฉายาของเรา คือ work shop of Europe ดังนั้นเราเห็นเสมอว่าในไทยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางที่ใหญ่โตนัก ฉะนั้นสิ่งที่มุ่งไปในธุรกิจจึงเน้นไปในโครงการขนาดเล็กและกลาง เช่น อุตสาหกรรมเกษตร การผลิตอาหาร ซึ่งนักลงทุนในประเทศเราได้มองอุตสาหกรรมเหล่านี้ไว้ด้วย" โอครูลี่ กล่าวถึงเป้าหมายจะเป็นตัวแทนของนักลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

ความตั้งใจของ ไอพีบี แบงก์ ในไทยนั้นคาดหวังว่า จะทำให้การลงทุนทั้งสองประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในปัจจุบันการค้าของทั้งสองมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีแรกจะเน้นไปยังการ trade finance โดยจะให้สินเชื่อในระยะสั้นจนถึงระยะยาว การให้การค้ำประกันด้านต่างๆ รวมทั้งยังจะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกและนำเข้าหรือการจัดการด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ กับผู้ประกอบการส่วนธุรกรรมตราสารอนุพันธ์ยังไม่ดำเนินการในช่วงปีแรก

"การขออนุญาตเปิดเป็นสาขาเต็มรูปแบบนั้น คงต้องรอดูถึงความสำเร็จในช่วงแรกก่อน แต่ถ้ามีโอกาสก็พร้อมที่จะขยาย เพราะเราไม่อยากเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการลงทุนต่างประเทศ แต่ต้องการเป็นผู้กระทำเอง เราจึงเป็นผู้จุดประกายให้นักลงทุนยุโรปตะวันออก เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้" ฟาเร็ค กล่าวปิดท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.