วิสิฐ ตันติสุนทร จรวดท่อนที่สองของแกรมมี่สู่อินเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

แกรมมี่ มาถึงยุคผลัดใบ วิสิฐ ตันติสุนทร ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของ แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ยอมลุกจากเก้าอี้ใหญ่ให้นั่ง โดยหวังจะใช้ประสบการณ์ และความรู้ของวิสิฐ เป็นจรวดท่อนที่สองสานฝันแกรมมี่ไปสู่ต่างประเทศ แต่ลึกไปกว่านั้น แกรมมี่กำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ครั้งสำคัญ การมัวหมองจากการประมูลซาวด์แล็บ การปรับตัว เพื่อรับกับภาวะเศรษฐกิจขาลง วิสิฐ คือ ภาพลักษณ์ใหม่ของแกรมมี่ที่เข้ามาถูกจังหวะ เพราะถึงเวลาแล้วที่ไพบูลย์รู้ดีว่าต้องหลบฉากไปอยู่เบื้องหลัง เสียที

หากเอ่ยชื่อ วิสิฐ ตันติสุนทร คนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเอ็นเตอร์ เทนเมนต์ คงมีน้อยคนที่รู้จักเขา แต่ในแวดวงไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินแล้ว วิสิฐ เป็นอีกผู้หนึ่งที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจนี้มา 16 ปีเต็ม ยิ่งบรรดากองทุนทั้งในและต่างประเทศด้วยแล้วคงไม่มีใครปฏิเสธผู้บริหารหนุ่มไฟแรง จากเอไอจีวัย 39 ปีคนนี้เป็นแน่

วิสิฐ ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงธุรกิจ ไฟแนนซ์ถึง 10 ปีเต็ม ที่บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ทิสโก้ แหล่งฝึกปรือนัก ไฟแนนซ์ฝีมือดี ที่โลดแล่นอยู่ในวงการการเงินมานักต่อนัก สมัยอยู่ที่ทิสโก้ วิสิฐรับผิดชอบงานทางด้าน สินเชื่อและวาณิชธนกิจ

จนมาในปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงที่วิสิฐมองเห็นแล้วว่าธุรกิจไฟแนนซ์เริ่มอิ่มตัว การเปิดสินเชื่อเริ่มหาคุณภาพลำบาก และตลาดหุ้นเริ่มเฟ้อ เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาหาประสบการณ์นักลงทุนมืออาชีพ ที่บริษัทเอไอจี (อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป) ซึ่งมีธุรกิจประกันชีวิตชื่อกระเดื่อง เอไอเอ อยู่ในเครือ

6 ปีที่เอไอจี จึงเป็นการบ่มเพาะ ความรู้การเป็นนักลงทุน สายสัมพันธ์ของวิสิฐที่มีทั้งในและต่างประเทศ ทั้งกองทุนต่างๆ รวมถึงบรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย ซึ่งกลายเป็นความโดด เด่นที่สำคัญจนเข้าตากรรมการอย่างไพบูลย์อย่างจัง

หน้าที่ความรับผิดชอบในเอไอจี ไม่ใช่แค่การลงทุนในไทยเท่านั้น แต่เขาต้องดูพอร์ตการลงทุนของเอไอจีทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ ไล่มาตั้งแต่ ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ในตำแหน่ง Regional Director

ในขณะที่ผู้บริหารคนอื่นๆ นั่งบริหารงานอยู่ในเมืองไทย แต่ชีวิตการ เป็นผู้บริหารเงินลงทุนของวิสิฐ เวลา ทำงานส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง ไปต่างประเทศ 60% คนที่เดินทางมา ทั่วโลกอย่างวิสิฐ วิชั่นการลงทุนของเขา จึงมุ่งไปที่ธุรกิจโทรคมนาคม และบริการเสริมที่เกิดจากโทรคมนาคม (VALUE ADDED) เช่น เอ็นเตอร์เทน เมนต์ เคเบิล ทีวี มากกว่าจะเป็นธุรกิจประเภทอื่นๆ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจ คลื่นลูกที่สามที่จะมาแทนที่ธุรกิจการ เกษตรและอุตสาหกรรม

ตลอด 5-6 ปีที่แล้วมา พอร์ต การลงทุนของเอไอจี จึงเป็นธุรกิจด้าน โทรคมนาคมมากกว่า ธุรกิจเกือบแทบ ทั้งสิ้น คือมีทั้ง ทีเอ ชินวัตร แอ๊ดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส สามารถเทลคอม ไอบีซี เคเบิลทีวี รวมทั้งแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จนอาจเรียกได้ว่า บรรดาบริษัทสื่อสารเกือบทุกบริษัทจะมีบริษัทเอไอจี หรือเอไอเอ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่เกือบทุกแห่ง

"ธุรกิจไอที ถือเป็นสินทรัพย์ หลัก จะเห็นได้ว่าผมไม่ลงทุนในบริษัท ทำอาหารกระป๋องหรืออะไรประเภทนั้น เพราะมันไม่ใช่สไตล์ของเรา เรามองวิชั่นในอนาคตมากกว่า" วิสิฐชี้แจง

แต่ธุรกิจมีขึ้น ก็ย่อมมีลง ธุรกิจสื่อ สารโทรคมนาคมก็เช่นเดียวกัน แม้จะเคยเป็นดาวรุ่งเมื่อเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดต่ำ และนโยบายค่าเงินบาทลอยตัว หลายราย ก็ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะ แม้จะเป็นธุรกิจที่มีอนาคต แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาลเพื่อใช้ในการสร้างโครงข่าย ซึ่งล้วนแต่ไปกู้เงินจากต่างประเทศมาเป็นส่วนใหญ่ เพราะให้ดอกเบี้ยถูกกว่าในประเทศ และเมื่อเจอกับค่าเงินบาทลอยตัว หนี้ที่ก่อไว้จึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้หลายบริษัทต้องตกที่นั่งลำบากอยู่ในเวลานี้

ในฐานะนักลงทุน วิสิฐย่อมตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี ! ในระยะหลังๆ วิสิฐจึงไม่ใช่นักลงทุน ที่นั่งประชุมบอร์ด รอดูหุ้นขึ้นลงเท่านั้น แต่เขาต้องออกแรงเข้าไปช่วยเหลือบรรดาบริษัทหลายบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุน ต้องวิ่งหาพันธมิตรและเงินทุนมาใช้ในธุรกิจ หลายครั้ง วิสิฐต้องอาศัยคอนเนกชั่นในต่างประเทศ เป็นสะพานเชื่อมไปหาพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง

กรณี การดึงบริษัทมัลติช้อยส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง หรือ MIH ยักษ์เปย์ทีวี (pay TV) ระดับโลก ที่มีฐานอยู่ที่แอฟริกาใต้มาร่วมลงทุนใน ไอบีซี และกลายเป็นพันธมิตรสำคัญ ที่ทำให้สถานการณ์ไอบีซีกระเตื้องขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ยูทีวีต้องรีบรวมกิจการกับไอบีซี นี่เป็นหนึ่งในผลงานของวิสิฐที่ทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อ ซึ่งวิสิฐบอกว่า เป็นหน้าที่ของนักลงทุน เช่นเขา

ก่อนลาออกจากเอไอจี วิสิฐยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการบริหารในสามารถเทลคอม ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมที่วิสิฐมองว่า มีอนาคต เพราะเป็นธุรกิจบริการเสริม และการเข้ารับตำแหน่งในครั้งนั้น ก็เพราะบริษัทสามารถเทลคอมนั้นต้อง การอาศัยชื่อและสายสัมพันธ์ของวิสิฐและเอไอจีมาช่วยในเรื่องของการหาเงินกู้เพื่อมาใช้ในกิจการ ซึ่งเวลานั้นมีโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท และธุรกิจวีแสทที่เขามองว่ายังมีอนาคตที่ดี

"ผมมองตั้งแต่ปีสองปีที่แล้วว่า ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเริ่มตกต่ำ มูลค่าของโทรคมนาคมไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน การเป็นนักลงทุน เราต้องมองไปข้างหน้า และสิ่งนั้นทำ ให้เรามองว่าถึงจุดที่เราต้องไปลงทุนในเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพราะมันเป็น VALUE ADDED ของโทรคมนาคม และ นั่นคือการเข้าไปลงทุนในแกรมมี่ และ สามารถเทลคอม ซึ่งล้วนแต่เป็นธุรกิจ บริการเสริม"

วิสิฐมองว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดและเติบโตสูงต่อไปในอนาคตคือ ธุรกิจ ในเรื่องของซอฟต์แวร์ ซึ่งที่ผ่านมา เอไอจีได้เข้าไปลงทุนในแกรมมี่ ประมาณ 400-500 ล้านบาท วิสิฐมองว่าเป็นคำตอบที่พิสูจน์ว่า ทำไมเขาจึงเลือกลงทุน ในบริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างแกรมมี่

ในวันนี้ของวิสิฐ วิชั่นของเขาก้าวไปไกลมากกว่านั้น !

วิสิฐ รู้จักกับไพบูลย์มาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่สมัยที่ทำงานอยู่ที่ทิสโก้ ผ่านพ่อสื่ออย่าง อนันต์ อัศวโภคิน เพื่อนร่วมรุ่นสวนกุหลาบของไพบูลย์ และพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร สอง กุนซือให้คำปรึกษาในช่วงแกรมมี่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นผู้แนะนำให้ไพบูลย์รู้จักกับวิสิฐ จนกระทั่งชวนเข้ามานั่งเป็นกรรมการนอก

นับจากนั้น สายสัมพันธ์ระหว่าง วิสิฐและไพบูลย์ก็เดินไปด้วยดี ยิ่งในช่วงที่เอไอจีมาลงทุนในแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ วิสิฐก็ขยับจากการเป็น กรรมการมานั่งเป็นรองประธานกรรม การ (VICE CHAIR-MAN) และเป็นประ-ธานบริษัทจีเอ็มเอ็ม (GLOBAL MUSIC & MEDIA)

ในที่สุดวิสิฐก็ตัดสินใจย้ายสถาน ที่ทำงานจากอาคาร เอไอเอ ถนนสีลม ไปอยู่บนชั้น 32 ของ อาคารซีมิค แหล่งบัญชาการของบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์-เทนเม้นท์ เพื่อรับ ตำแหน่งประธาน กรรมการบริหารหรือ CEO แทนไพบูลย์ บิ๊กบอสของแกรมมี่ที่โยกไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ

ไพบูลย์ เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่า การดึงวิสิฐมารับตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร เพื่อต้องการให้แกรมมี่เปลี่ยนแปลงการบริหารที่เป็นระบบมากขึ้น และต้องการอาศัย ประสบการณ์ ความรู้ และสายสัมพันธ์ ของวิสิฐ มาช่วยในการขยายธุรกิจของ แกรมมี่ไปสู่ต่างประเทศ

ไพบูลย์ ใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มชักชวนวิสิฐมาร่วมงานในแกรมมี่ เพราะ เขามองว่าวิสิฐเหมาะสมที่สุดสำหรับยุคต่อไปของแกรมมี่ ในสายตาของ ไพบูลย์ และเรวัต พุทธินันท์ - อดีต ผู้ร่วมก่อตั้งแกรมมี่ซึ่งล่วงลับไปแล้วนั้น วิสิฐไม่ใช่แค่นักลงทุน หรือนักบริหาร แต่มีความเป็นศิลปิน เป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมกับองค์กรอย่างแกรมมี่

ใครจะรู้ว่าอดีตมือไฟแนนซ์ และนักลงทุนจากเอไอจี อย่างวิสิฐ เคยเรียนร้องเพลงโอเปร่า และเคยเป็น มือกีตาร์ ในวงดนตรีที่เขาร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งวง สมัยที่เรียนอยู่สายวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท และที่คณะบัญชี จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6 ปีที่เอไอจี บ่มเพาะทั้งประสบ การณ์ ความรู้ และสายสัมพันธ์ในต่างประเทศ ไพบูลย์เชื่อว่าวิสิฐจะเป็นทั้งผู้บริหารและสานฝันธุรกิจแกรมมี่ไปสู่ต่างประเทศ

"การเปลี่ยนเแปลงโครงสร้างใน ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแกรมมี่ เพราะช่วงแรกมีผมและ คุณเรวัต พุทธินันท์ เป็นเสมือนจรวด ท่อนแรกที่ทะยานจากพื้นดิน ช่วงต่อไปคุณวิสิฐจะเป็นจรวดท่อนที่สอง ที่จะนำแกรมมี่พุ่งสู่อวกาศ"

สำหรับวิสิฐแล้ว การลาออกจาก เอไอจีมาทำงานที่แกรมมี่ นับเป็นการก้าวจากนักลงทุนไปสู่บทบาทของนักบริหารที่ต้องใช้ทักษะในการบริหารงาน ซึ่งที่แล้วมาเขายังขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้

"หน้าที่ของนักลงทุนอย่างผม ก็คือ การเข้าไปลงทุน ไปถือหุ้น 3% หรือ 5% เข้าไปนั่งในบอร์ด และรอหุ้นที่เราลงทุนว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมเข้าไปนั่งในแกรมมี่ คือ การ ที่เราเข้าไปลงทุน และสร้างให้เติบโตขึ้นมาด้วยทีมงาน และความสามารถของเรา"

แม้ในสายตาคนอื่นบริษัท แกรมมี่จะเป็นแค่บริษัททำธุรกิจค่ายเพลงในประเทศ เทียบไม่ได้กับบริษัทข้ามชาติอย่างเอไอจี แต่ในสายตาวิสิฐแล้ว เขากลับมองว่าผลความสำเร็จของแกรมมี่ ซึ่งเป็นแค่ค่ายเทปเพลงท้องถิ่น แต่สามารถเป็นอันดับ 1 ในตลาดเพลงในประเทศ เอาชนะ 5 ค่าย เพลงยักษ์ใหญ่จากเมืองนอก (5 Major) คือ โซนี่, บีเอ็มจี, อีเอ็มไอ, โพลีแกรม และวอร์เนอร์ ที่ไม่สามารถ ทำอะไรได้ ย่อมเป็นบทพิสูจน์ถึงความ สามารถของบริษัทท้องถิ่น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่แกรมมี่อาจจะประสบความสำเร็จในต่างประเทศในกาลข้างหน้าได้

การนำแกรมมี่ค่ายเทปท้องถิ่นไปบุกต่างแดน จึงเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับเขามากกว่าการเป็นนักลงทุนให้ กับบริษัทข้ามชาติอย่างเอไอจี

"คนอื่นอาจมองแกรมมี่ว่าเป็นค่ายเพลง แต่สำหรับผมแล้ว แกรมมี่ไม่ได้เป็นแค่ค่ายเพลง (MUSIC HOUSE) แต่เป็นมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โฮลดิ้ง และนี่คืออุตสาหกรรมในปี 2000"

ในอีกด้านหนึ่ง วิสิฐอาจตระหนัก ดีว่า ถึงเวลาที่เขาจะต้องทบทวนบทบาทของรองประธาน ฝ่ายภูมิภาคฝ่ายลงทุนแล้ว เพราะแม้ว่า นโยบายด้านการลงทุนของเอไอจีจะเป็นเรื่องของการลงทุนในระยะยาวที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนในระยะสั้น แต่ภาวะที่เกิดกับธุรกิจโทรคมนาคม และหลายแห่งก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเกินกว่าคาดหมาย ราคาหุ้นตก ลงกว่าเดิมหลายเท่าตัว และมีแนวโน้ม ว่าต้องใช้เวลาในการเยียวยาอีกนาน แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อบริษัทลงทุนอย่างเอไอจีโดยตรง ซึ่งอย่างที่รู้ว่าการลงทุนของเอไอจีภายใต้การนำของวิสิฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไดัให้ความสำคัญ และมุ่งเน้นการลงทุนไปที่ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่

แม้จะไม่ใช่ความผิดโดยตรงของ นักลงทุน ซึ่งย่อมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในวันข้างหน้า แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหาร จะต้องรับผิดชอบโดยตรง

อีกทั้งเป้าหมายการลงทุนในอนาคตของเอไอจีจะมุ่งไปในธุรกิจที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่วิสิฐมองมาตั้งแต่ต้น

วิสิฐ กล่าวว่า การลาออกของเขา จะไม่มีใครมานั่งตำแหน่งรองประธาน ฝ่ายลงทุนแทน โดยมนตรี ศรไพศาล อดีตนักไฟแนนซ์ที่เขาดึงเข้ามาช่วยงาน เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว มารับผิดชอบการ ลงทุนในประเทศ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศที่วิสิฐเคยรับผิดชอบอยู่ จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเอไอจีที่ ฮ่องกงเป็นผู้ดูแล

"ผมยังคงให้คำปรึกษากับเอไอจี ในบางเรื่อง แต่การนั่งในบอร์ดหรือในคอมมิตตีตามบริษัทที่เอไอจีไปลงทุนเอาไว้นั้นไม่มีแล้ว ผมออกมาอยู่แกรมมี่เต็มตัว" วิสิฐกล่าว

จรวดท่อนที่สองสู่ต่างแดน

แกรมมี่เริ่มตั้งต้นธุรกิจต่างประ-เทศมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ด้วยการจัด ตั้งบริษัท GLOBAL MUSIC AND MEDIA ASIA (จีเอ็มเอ็ม) ซึ่งเวลานี้ วิสิฐได้นั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ที่จีเอ็มเอ็มอีกแห่ง เพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศ เริ่มจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอยู่ระหว่างการจดทะเบียน จัดสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง และมีสำนักงานสาขาอยู่ที่ไต้หวัน

วิสิฐบอกว่า กลยุทธ์ของเขาคือ ขยายเร็วแต่อนุรักษ์ และทำในสิ่งที่ แกรมมี่ถนัด

ธุรกิจเพลง จึงเป็นเสมือนกับจรวดท่อนแรกที่แกรมมี่จะใช้บุกทะลวง ตลาดในต่างแดน ในสายตาของวิสิฐแล้ว แกรมมี่มีจุดแข็งหลายอย่าง ทั้งกำลังคน การคุมทั้งด้านมีเดีย จัดจำหน่าย และด้านผลิต ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จ ที่ผ่านมาของแกรมมี่ ที่ครองมาร์เก็ตแชร์ชนะ 5 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ได้

แกรมมี่จะทำวิธีการเดียวกันนี้ในต่างประเทศ ซึ่งในบางประเทศนั้นมีศักยภาพมาก แต่ตลาดยังไม่พัฒนาเท่ากับเมืองไทย และตลาดส่วนใหญ่ก็อยู่ในมือของ 5 ค่ายเทปเพลงยักษ์ใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่แกรมมี่จะใช้จุดแข็งเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

ประเทศเป้าหมายที่แกรมมี่จะเข้าไปลงทุนต่อจากไต้หวัน ก็คือ อินโด นีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งอินโดนีเซีย นั้นจัดว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากมีประชากรอยู่ถึง 200 ล้านคน ส่วนฟิลิปปินส์ นั้นมีศักยภาพในเรื่องของนักร้องและนักดนตรีค่อนข้างมาก

ขั้นตอนในการทำธุรกิจเพลงในต่างแดน วิสิฐบอกว่า ทำเพลงท้องถิ่นของประเทศนั้น โดยใช้วิธีการปั้นนักร้องขึ้นมาเอง ส่วนขั้นตอนการผลิต เทปจะดูว่าผลิตที่ไหนถูกกว่ากัน เพราะ เวลานี้ทีมงานของแกรมมี่ก็มีความพร้อม ทั้งในเรื่องการตลาด มีเดีย การผลิต ที่จะรองรับการทำตลาดในต่างประเทศ ได้อยู่แล้ว

จุดสำคัญก็คือ การคัดเลือกนักร้อง ซึ่งวิสิฐบอกว่า หากไปทำในประเทศที่ไม่คุ้นเคย ก็จะใช้วิธีไปลง ทุนร่วมกับบริษัทในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนใน ประเทศเหล่านั้นจะรู้จักชื่อของแกรมมี่ อยู่แล้ว

การทำธุรกิจสไตล์แกรมมี่คือ เน้นความประหยัด วิสิฐอธิบายว่า การ ลงทุนของแกรมมี่จะไม่ทำอย่างใหญ่โตในช่วงแรก แต่จะเป็นการทยอยลงทุน เช่น ในกรณีของการหาศิลปิน เขายินดีที่จะสร้างนักร้องขึ้นมาเอง ดีกว่าการซื้อดาราเหมือนกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทำ ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล

เงินลงทุนช่วงแรกนั้นคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่ง อยู่ในวิสัยที่แกรมมี่ทำได้อยู่แล้ว เพราะ การลงทุนในธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์นั้น ไม่ใช่การลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในเบื้องต้นเหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคม แต่เป็นการลงทุนด้านทักษะ และความรู้ที่มีอยู่ ต้นทุนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการผลิตมากกว่า

การลงทุนต่างประเทศนี้คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี จึงจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา และภายใน 5 ปี เมื่อ ธุรกิจไปได้ดี จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศนั้นๆ

เรียกว่า เมื่อมีแกรมมี่เป็นฐาน ธุรกิจมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ในประเทศแล้ว วิสิฐก็เชื่อว่าบริษัทจีเอ็มเอ็ม ก็จะเป็น regional entertainment holding company ที่จะทำธุรกิจ ด้านมีเดีย และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ใน ภูมิภาคนี้

วิสิฐ กล่าวว่า เวลานี้มีกองทุนต่างประเทศหลายแห่งให้ความสนใจอยากทำธุรกิจร่วมกับแกรมมี่ โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนทางด้านมีเดีย และ เอ็นเตอร์เทนเมนต์โดยตรง ซึ่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และในยุโรป

"กองทุนเหล่านี้จะไปชวนเอา พันธมิตรในต่างประเทศ หรือผู้ประกอบ การให้เข้ามาลงทุนในไทย หรือว่าจะชวนแกรมมี่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ และหลังจากนั้นกองทุนเหล่านี้ก็จะเข้าไปร่วมลงทุนกับแกรมมี่ในต่างประเทศ หรือในไทยอีกที" วิสิฐชี้แจง

นี่คือจุดที่วิสิฐจะใช้ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและสายสัมพันธ์ของเขาที่มีอยู่มาใช้ประ-โยชน์ให้กับแกรมมี่ได้อย่างเต็มที่ เพราะที่ มาของกองทุนเหล่านี้ก็มาจากสายสัมพันธ์ของเขาสมัยที่อยู่เอไอจี

และนี่คือสาเหตุ ที่ไพบูลย์บอกว่าต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพื่อชักชวนวิสิฐมาร่วมงานกับแกรมมี่

เพราะกองทุนประเภทนี้ จะมีทั้งข้อมูลและสายสัมพันธ์อันดีในบริษัท ที่ประกอบธุรกิจมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเมนต์รายใหญ่ๆ ของโลกที่บรรดากองทุนเหล่านี้ไปลงทุนเอาไว้ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมที่จะดึงเอาบรรดาบริษัทเหล่านี้เข้ามาร่วมลงทุนกับแกรมมี่ ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย

นอกจากนี้วิสิฐยังกล่าวถึงสองธุรกิจในประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วนี้ คือการตั้งโรงเรียนดนตรี และการร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อตั้งค่ายเพลง ขึ้นใหม่

วิสิฐ กล่าวว่า การทำธุรกิจร่วม กับยักษ์ใหญ่ด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการนำเอาศิลปินของ แกรมมี่ออกไปต่างประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นการ SYNERGY ธุรกิจของทั้งสองร่วมกัน

เพราะสิ่งที่แกรมมี่ต้องการร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ข้อแรก ความ รู้ความสามารถในระดับสากลของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ซึ่งแกรมมี่จำเป็นต้องใช้ในการทำธุรกิจในต่างแดน และเสริม สร้างธุรกิจเพลงในประเทศให้แข็งแกร่ง ขึ้นกว่าเก่า

สอง การนำสินค้าของแกรมมี่ไปขายในต่างประเทศ โดยอาศัยช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทเมเจอร์เหล่านี้ ซึ่งมีขอบข่ายอยู่ทั่วโลกมาช่วยในการกระจายสินค้า

สาม ต้องการอาศัยโนว์ฮาวใหม่ๆ เข้ามาทำธุรกิจเอ็นเตอร์เมนต์อื่นๆ ในไทย เพราะแกรมมี่ยังมีธุรกิจทางด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ ในมืออีก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ การศึกษา และกีฬา ซึ่งบางธุรกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้น และบางธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใหม่ แกรมมี่จึงต้องการเอาประสบการณ์ และโนว์ฮาวของพันธมิตรมาช่วย และเพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายไปต่างประเทศด้วย

"ผมไม่อยากปิดตาแล้วมองให้แคบ การทำธุรกิจใหม่ของแกรมมี่ ต้องเป็นภาพที่กว้างกว่าเดิม คือ ไม่ใช่ ทำเพลงอย่างเดียว เมื่อร่วมทุนกับพันธมิตรแล้ว เรามีพาร์ตเนอร์ที่มี ความรู้ มีเครือข่าย เราต้องเปิดกว้างที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ก็ทำในสิ่งที่เราถนัดและมีทรัพยากรที่จะทำ เรามีทรัพยากรเหล่านี้ที่จะเสริมธุรกิจใหม่ได้ ในขณะที่คนอื่นไม่มี"

ส่วนจะเป็นพันธมิตรรายใด นั้น วิสิฐยังไม่ยอมเปิดเผย เพียงแต่บอกว่าอาจจะมี MIH ซึ่งเขาเคยเป็นพ่อสื่อให้มาร่วมทุนในไอบีซี แต่คราวนี้ MIH ก็อาจจะขยายมาลงทุนกับแกรมมี่ ในธุรกิจอื่นๆ แต่ยังไม่สามารถบอกว่า จะเป็นธุรกิจอะไร

ถึงเวลา "อากู๋" ต้องอยู่เบื้องหลัง

หากเปรียบเทียบระหว่างเรวัต พุทธินันท์ กับวิสิฐ ตันติสุนทร แล้ว แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งการศึกษา และประสบการณ์ที่หล่อหลอมคนทั้งสองมา

ในขณะที่วิสิฐอยู่ในแวดวงการเงินและการลงทุนมาตลอด แต่เรวัต นั้นยึดอาชีพนักดนตรีมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน จนกระทั่งเป็นหนึ่งในสมาชิก วงดิอิมพอสซิเบิล และไปทำงานเล่นดนตรีที่ต่างประเทศก่อนจะมาร่วมกับไพบูลย์ตั้งบริษัทแกรมมี่

แต่ทั้งเรวัตและ วิสิฐต่างเหมือนกันอยู่อย่าง ก็คือ การมาร่วมงานและเป็นกำลังสำคัญในแกรมมี่ให้กับไพบูลย์ในแต่ละช่วงของการเติบโต

จะว่าไปแล้ว แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นองค์กรที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยน แปลงในด้านของโครงสร้างองค์กรเลย จะมีบ้างก็เมื่อครั้งก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ว่ากันว่าเป็นการเปลี่ยน แปลงบางส่วนให้ดูเป็นสากลมากขึ้นเท่านั้น แต่การบริหารงานยังคงเหมือน เดิม

แม้กระทั่งหลังการเสียชีวิตของเรวัต ซึ่งเป็นคู่คิดที่ร่วมกันก่อตั้งแกรมมี่ และเรวัตยังเป็นกำลังหลักที่ดูแลในเรื่องของศิลปิน คือ ประธานกรรมการ แต่ ไพบูลย์ก็ยังคงบริหาร แกรมมี่โดยลำพัง มาได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งไพบูลย์ใช้วิธีแก้ ปัญหาในเรื่องธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจ หลัก ด้วยการแตกเป็นบริษัทลูก แยก เป็นประเภทเพลงให้ผู้บริหารของ แกรมมี่รับผิดชอบ อาทิ บริษัทแกรมมี่ โกลด์ ดูแลโดย กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ บริษัทกรีนบีน รับผิดชอบโดย บุษบา ดาวเรือง บริษัทแกรมมี่แกรนด์ มี นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นผู้บริหาร

วิธีนี้เท่ากับทำให้ทางเลือกในธุรกิจเพลงของแกรมมี่มีมากขึ้น และไม่ต้องยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในการบริหารงาน และแกรมมี่เองก็ยัง คงรักษาการเติบโตในธุรกิจเพลงไว้ได้ (ดูตารางงบการเงิน)

แต่สิ่งที่แกรมมี่กำลังเผชิญในเวลานี้ ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ

การส่งมอบเก้าอี้ซีอีโอของ แกรมมี่ให้กับวิสิฐ ไม่ได้เป็นเพียงการ อาศัยศักยภาพของวิสิฐ สานฝันไปสู่ต่างประเทศเท่านั้น

เพราะการขยายธุรกิจไปต่างประเทศก็ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่ไพบูลย์ ทำไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และเชื่อได้ว่าแม้ไพบูลย์จะย้ายไปนั่งเก้าอี้ประธานบริษัท แต่เขาก็ยังคงบทบาทในเรื่องการบริหารงานเช่นเดิม

แต่สาเหตุสำคัญที่ต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอนั้น เป็นเพราะนักการตลาดอย่างไพบูลย์ ผู้มากด้วยประสบการณ์ ทั้งจากพรีเมียร์และการสร้างแกรมมี่จนยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ ย่อมรู้ดีว่า เวลาไหนที่เขาควรรุกเวลาไหนควรถอย

การประกาศนโยบายลดการลงทุนในธุรกิจด้านโทรทัศน์ และหันมามุ่งธุรกิจเทปเพลง อันเป็นธุรกิจดั้ง เดิมของแกรมมี่ ตั้งแต่ปลายปี 2539 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความเป็นคนมองการณ์ไกลของไพบูลย์

ผลจากการตัดสินใจในครั้งนั้นทำให้แกรมมี่ไม่ต้องเจ็บตัวจากการหดตัวของยอดโฆษณาในสื่อทีวี ที่ออกอาการมาตั้งแต่ครึ่งปีแรกของ 2541 และคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะลดลงถึง 60% เหลืออยู่แค่ 6-7 พันล้าน เมื่อเทียบกับ ปี 2540 ที่ยอดโฆษณายังแตะอยู่ในระดับหมื่นล้านขึ้นไป ซึ่งทำเอาผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เกือบทุกรายต้องบาดเจ็บกันระนาวอยู่ในเวลานี้

ในขณะที่ธุรกิจเทปเพลงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเลย แถมยังเติบโตเพิ่มขึ้นอีก เพราะตลาดเทปเพลงส่วนใหญ่เป็นของ วัยรุ่น ซึ่งก็ยังคงเป็นกลุ่มที่ยังคงมีกำลังซื้ออยู่ ซึ่งจากการวิจัยของสถาบัน การศึกษาแห่งหนึ่งก็พบว่า ตลาดของเทปเพลงเติบโตขึ้นมาก และไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนกับธุรกิจ อื่นๆ เลย

แต่การลดบทบาทตัวเอง และชูภาพลักษณ์ของวิสิฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนอันเจ็บปวดจากการเข้าประมูลคอมพิวเตอร์ และซาวด์แล็บเมื่อครั้งที่ผ่านมานั้นได้สร้างรอยมลทิน ให้กับชื่อเสียงแกรมมี่ รวมทั้งตัวไพบูลย์ อย่างมาก เพราะธุรกิจการศึกษาเป็นเรื่องของสังคม ที่เปราะบางมากต่อความรู้สึกของคนทั่วไป หากเกิดความ ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่สำหรับองค์กรที่ต้องอาศัยภาพลักษณ์เช่นแกรมมี่ (อ่านล้อมกรอบ)

แน่นอนว่าคนที่เดินเกมเป็นอย่างไพบูลย์ย่อมรู้ดีว่าเมื่อภาพลักษณ์ ของเขาออกมาในทางลบเช่นนี้ ถึงเวลา ที่เขาจะต้องลดบทบาทตัวเองลง และหาคนใหม่ที่มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับแกรมมี่ในทศวรรษหน้าขึ้นมาแทน

การได้วิสิฐมานั่งเก้าอี้ใหญ่ในแกรมมี่ เท่ากับว่าวิสิฐจะมาเป็นเสมือน ภาพลักษณ์ใหมๆ ให้กับแกรมมี่ ที่กำลังเดินออกสู่ต่างประเทศ เพราะประสบการณ์และคอนเนกชั่นของวิสิฐ ผู้ที่เดินทางมาทั่วโลกย่อมสานฝันนี้ให้เป็นจริงได้เร็วขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น วิสิฐนั้นก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาผู้บริหารในบริษัท สื่อสารหลายแห่งของเมืองไทย ไม่ว่าจะ เป็นกลุ่มชินวัตรของดร.ทักษิณ ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มแกรมมี่มานานแล้ว กลุ่มสามารถของตระกูลวิไลลักษณ์ หรือแม้แต่กลุ่ม ทีเอ และการขยายธุรกิจ ของแกรมมี่ ซึ่งเชี่ยวชาญธุรกิจด้านซอฟต์แวร์สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับบรรดาเจ้าของเครือข่ายได้โดยตรง ซึ่ง วิสิฐเองก็มีวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้ดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังเท่ากับเป็นการทำให้แกรมมี่ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เพราะที่แล้วมาไพบูลย์เองก็พยายามจัดและตกแต่งบ้านของแกรมมี่ ให้เข้าสู่ระบบการบริหารที่เป็นสากล มากขึ้นด้วยการพัฒนาให้คนของแกรมมี่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากสายด้านศิลปินให้เรียนรู้การทำธุรกิจ โดยการเปิดบริษัท และแบ่งสายงานให้คนเหล่านี้รับผิดชอบมากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของไพบูลย์ที่ต้องการให้คนของแกรมมี่เรียนรู้เรื่องธุรกิจเพิ่มขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นคนมองการณ์ไกล และเข้าถึงปัญหาอย่างไพบูลย์ ย่อมรู้ดีว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ภาวะที่เงินขาดหายไปจากระบบเช่นนี้ ปัญหาของการจัดการธุรกิจในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องการตลาด แต่เป็นเรื่องของการจัดการด้านเงินทุน แม้ในวันนี้แกรมมี่จะไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องและเงินทุนเหมือนกับบริษัทอื่นๆ เพราะยังมีเงินสดที่ใช้หมุนเวียนได้อีก 2,000 ล้านบาทในมือ แต่ในอนาคตไม่ใช่เรื่องแน่นอน เมื่อปัญหาเศรษฐกิจซบเซายังกินเวลาออกไปอีกนาน คนที่อยู่ได้นานและอึดที่สุดย่อมเป็นผู้ที่ได้เปรียบที่สุด และคนที่เตรียมรับมือกับปัญหาแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าไม่ยอมทำอะไรเลย

อดีตนักไฟแนนซ์ และนักลงทุนอย่างวิสิฐย่อมเหมาะสมที่สุดสำหรับ แกรมมี่ที่กำลังมาถึงช่วงข้อต่อที่สำคัญอีกช่วงหนึ่ง

จรวดท่อนที่สองอย่างวิสิฐ จึงต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่ใช่แค่สานฝันออกต่างประเทศเท่านั้น และถึงเวลา แล้วที่ไพบูลย์จะต้องหลบไปอยู่เบื้องหลังเสียที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.