แอบบี้ โจเซฟ โคเฮน เซียนแห่งโกลด์แมนยังไปได้สวย


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 65 จุด และดูว่าจะปิดตลาด ด้วยสถิติใหม่ แต่แล้ววอลล์สตรีทเกิดปั่นป่วนไปทั่ว เพราะมีข่าวลือสะพัดว่า โคเฮนแห่งโกลด์แมน ซาคส์ บอกว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กเริ่มเข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว ตอนนั้นโคเฮนซึ่งเป็นหัวหน้าทีมผู้กำหนดยุทธศาสตร์การซื้อขาย หลักทรัพย์ กำลังฟังการปราศรัยของ จอน เอส คอร์ซีน ซีอีโอ แห่ง โกลด์ แมน ซาคส์ แอนด์ โค ร่วมกับ บรรดาพนักงานอาวุโสอื่นๆ ของบริษัท จำนวนหลายร้อยคน เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ของโกลด์แมนกระซิบข้างหูเธอ บอกว่า "เกิดเรื่องด่วน กรุณาเข้าออฟฟิศเดี๋ยวนี้เลย"
ตอนที่โคเฮนไปที่ห้องฮอตไลน์ของบริษัท ดาวโจนส์อ่อนบวกไปเกือบ หมดแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำห้องฮอตไลน์จัดแจงต่อสายให้โคเฮนเข้าระบบอินเตอร์คอม ซึ่งเชื่อมโยงไปยังสำนัก งานสาขาของโกลด์แมนทั่วโลก สิ่งที่โคเฮนประกาศออกไปคือ ช้อนของถูก ได้เลย ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น เท่านั้นเอง บรรดาเทรดเดอร์และโบรกเกอร์ต่างโดดเข้าเครื่องโทรศัพท์เป็นพัลวัน และตลาดก็ฟื้นตัว ดัชนีดีดกลับ ปิดตลาดวันนั้นบวกขึ้นไป 35 จุด

แอบบี้ โคเฮน -
ของแท้ยั่งยืนกว่าทศวรรษ

แอบบี้ โจเซฟ โคเฮน ณ วัย 46 ปี คือนักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ ผู้ที่เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ทั้งหลายไล่ ล่ามาร่วมรายการ บทบาทหลักของเธอคือการให้คำแนะนำแก่นักลงทุนระดับสถาบันของโกลด์แมน เธอได้รับ ยกย่องจากนิตยสาร Institutuinal Investor ว่าเป็นนักกำหนดยุทธศาสตร์ หมายเลขหนึ่ง

นับเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 1991 โคเฮนมาแรงมากในตลาดหุ้น ซึ่งนั่นคือเวลา 3 เดือนให้หลังจากที่ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งต่ำสุดที่ระดับ 2,365 แล้วเริ่มเดินหน้าดีวันดีคืน

ระหว่างปี 1996-1998 นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ทยอยกันเจ๊งไปเพราะ อาการทรุดช่วงสั้นๆ ของตลาด แต่ โคเฮนยังยืนยันในความเชื่อของเธอว่า ความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังเกื้อหนุนให้ตลาดกระทิงแห่งนิวยอร์กกระโจนขึ้นหน้าได้อีกไกล

ประวัติศาสตร์แห่งวอลล์สตรีทเต็มไปด้วยเรื่องเศร้าของบรรดาพ่อมดตลาดหุ้น ที่เกิดเร็วเกินกาลและจากไปก่อนวัยอันควร คนเหล่านี้จะเก็งถูกต้องทุกคราแต่แล้วจู่ๆ เกิดถลำตัวผิดเข้าเต็มๆ แบบแก้ไขไม่ทัน ดังนั้น เพื่อรักษาชื่อเสียงแห่งความเป็นนักวินิจฉัยโรคตลาดหุ้นที่เก่งที่สุด โคเฮน ย่อมต้องบอกให้ได้ว่าเมื่อไรที่ยุคกระทิง จะละจากตลาดหุ้นนิวยอร์กไป แต่การกลับลำหลังจากที่วิเคราะห์ วินิจฉัย ในทิศทางขาขึ้นมาตลอด ย่อมเป็นอะไรที่น่าหนักใจเอาการ โคเฮนนั้นอยู่ในภาวะกดดันมาก ในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวไต่ระดับสูงขึ้นมาจนดัชนีดาวโจนส์ทะลุเพดาน 9,000 มาได้ เธอย่อมไม่อาจเปลี่ยนแนวการทำนายไป สู่ภาวะหมีโดยที่ไม่ไปกระทบตลาด เรื่องที่น่ากลัวคือแรงกระทบนั้นอาจจะสาหัสเอามากๆ


ขึ้นบ้าง พักบ้าง รูปแบบขั้นบันได

ในการทำนายว่าตลาดอยู่ในภาวะกระทิง โคเฮนมีความเชื่อพื้นฐาน ว่าการขยายตัวด้านของอุตสาหกรรมไฮเทศ เป็นปัจจัยเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ดีเยี่ยมโดยไม่สร้าง ความกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งมักเป็น ต้นเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและ การเทขายหุ้น เท่าที่ผ่านมา ดัชนีสำคัญ ทั้งหลายที่เป็นมาตรวัดว่าเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไปหรือไม่ อาทิ อัตราส่วนราคาต่อรายได้ อัตราการจ่ายปันผล ฯลฯ ล้วนแต่แตะระดับที่น่าวิตกไปเรียบร้อยนานแล้ว หากแต่ในทัศนะของโคเฮน มาตรวัดตามประเพณีเหล่านี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ ในการวัดความก้าวหน้าของตลาด ที่มีแรงหนุนจากอัตราโตกระฉูดของเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อที่เจือจาง สองแรงหนุนแบบนี้นับว่าหากได้ยากนัก

เศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มเดินหน้าอย่างมาดมั่นในทศวรรษ 1990 แต่ ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ โคเฮน เรียกว่า "รูปแบบขั้นบันได" กล่าวคือการทะยานขึ้นแรงแล้วเว้นด้วยจังหวะเคลื่อนไหวช่วงแคบสักพักยาวๆ ระยะ หนึ่ง รูปแบบอย่างนี้จะทยอยตามไล่กันชุดแล้วชุดเล่า

สำหรับปี 1998 นับจากกลางเดือนมกราคมถึงปลายเดือนเมษายน ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นสูงร่วม 21% อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤษภาคม ดัชนีเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 9,000-9,200 ปรากฏการณ์ นี้จะเป็นรูปแบบของอีกหนึ่งขั้นบันไดในแนวทางขาขึ้นของตลาด หรือมันคือระยะต้นของฉากสุดท้ายแห่งตลาดกระทิงยุคทศวรรษ 90

คำแนะนำของโคเฮนแก่นัก ลงทุนมีอยู่ว่า ใจเย็นๆ แต่ลึกลงไปเธอรู้ว่าผลกำไรของบริษัทธุรกิจซึ่ง เป็นเครื่องจักรที่ให้พลังแก่ตลาดหุ้น เริ่มเสียแรงขับเคลื่อน ประมาณการของเธอคำนวณออกมาว่า รายได้ปี 1998 ของบริษัทธุรกิจที่อยู่ในบัญชีชื่อของ หุ้น 500 ตัวของสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ จะลดลงเหลือ 8% จากที่เคยทำได้ 10% ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม โคเฮน มองว่ารายได้จะดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้า ระบบเศรษฐกิจ ของสหรัฐฯ ในจินตนาการของเธอเป็นเสมือนสุดยอดเรือบรรทุกน้ำมันของเศรษฐกิจโลก คำพูดจากปากของเธอมีอยู่ว่า "อาจจะไม่ใช่เรือที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด แต่เรื่องจะกระแทกให้หลุดออกจากเส้นทางล่ะก้อ..ยาก"

เป็นอะไรที่น่าเชื่อถือ

ทัศนะแบบนี้เองที่หนุนเนื่องภาพรวมของตลาดหุ้นยุคกระทิงทรหด แนวโน้มดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตามการวิเคราะห์ของเธอ จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 9,300 ภายในปลายปีนี้ และจะไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ ในปีหน้า โคเฮนจะยังไม่เสี่ยงทำนายแนวโน้มปี 1999 จนกว่าจะเห็นข้อมูลต่างๆ ในปลายปีนี้ แต่ก็บอกให้นักลงทุนเตรียมใจไว้ว่า ในภาวะกระทิงแบบ ที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ นักลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนต่อปีไว้แค่ระดับ 8-10% แทนที่จะเล็ง 20-30% แบบที่เคยได้มา จนชิน อย่างไรก็ตาม สัจธรรมที่ปฏิเสธ ไม่ได้คือ ในท้ายที่สุด ภาวะกระทิงย่อมต้องเข้าสู่ภาวะหมี เพียงแต่โคเฮน ไม่คิดว่าภาวะหมีจะมาถึงจนกว่าจะปลายปี 1999

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะคล้อยตามทฤษฎีกระทิงของโคเฮน แต่ชื่อเสียงความเป็นมืออาชีพของเธอที่สั่งสม ไว้ช้านานทำให้เธอโดดเด่นออกจากพวก เซียนเหยียบเมฆในอดีต มหาบัณฑิตเศรษฐศาสตร์คนนี้บอกว่า "ไม่ใช่ว่าดิฉันมีลูกแก้ววิเศษที่บอกสัญญาณ ใดๆ ออกมานะคะ"

แท้จริงแล้ว เบื้องหลังความสำเร็จของเธออยู่ที่งานวิจัย งานของเธอมักจะเจาะลึกมากกว่าที่นักกำหนดยุทธศาสตร์คนอื่นทำกัน ยิ่งกว่านั้น ทีมสนับสนุนของเธอยังเป็นทีมวิจัยการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของย่านวอลล์สตรีท

โคเฮนสร้างสูตรของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำประมาณการกำไรบริษัทธุรกิจ จากข้อมูลผลประกอบการรายไตรมาส เธอจะตรวจสอบรายละเอียดตัวเลขกำไรขาดทุนประจำไตรมาสของบรรดาบริษัท 500 อันดับของเอสแอนด์พี อย่างน้อย 2 รอบ

โคเฮนมองว่าข้อมูลดังกล่าวเป็น ข้อได้เปรียบแก่การวิเคราะห์ในยุคสมัย ที่เต็มไปด้วยการแทงบัญชีหนี้สูญคราวละมากๆ และเป็นยุคสมัยที่มีการเปลี่ยน แปลงกฎเกณฑ์ด้านการบัญชีบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้การทำนายผลกำไรของ บริษัทต่างๆ ซับซ้อนเหลือเกิน ในเวลา เดียวกัน โคเฮนออกจะไม่ไว้วางใจหลักการมาตรฐานที่นิยมใช้คำนวณการลงทุน ความรู้สึกนี้ติดตรึงมาตั้งแต่ครั้งที่เธอเริ่มเข้าสู่วงการในกลางทศวรรษ 70 ในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัย ในสำนักวิจัยแห่งคณะกรรมการธนาคาร กลางที่วอชิงตัน

"โมเดลทางเศรษฐศาสตร์หลาย อย่างที่ธนาคารกลางใช้นั้นหมดพลังการวิเคราะห์ทำนายไปนานแล้ว เพราะ มันไม่ได้รับการพัฒนาให้สามารถ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ" โคเฮนวิจารณ์ไว้อย่างนั้น และเผยความลับ ส่วนตัวว่า

"ดิฉันได้รับบทเรียนสำคัญมากที่ทำให้การวิเคราะห์ของดิฉันมีความยืดหยุ่น ดิฉันจะมองลึกลงไปภายใต้กฎมาตรฐาน ขุดเข้าไปดูพลวัต ที่รองรับอยู่ภายใต้ระบบ"

โคเฮนประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงกลางทศวรรษ 90 เพราะเธอประยุกต์ แนวคิดข้างต้นนี้ไปใช้ เธอเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนักวิเคราะห์แห่งวอลล์สตรีท กลุ่มแรกๆ ที่ฟันธงว่า สิ่งที่ตามมาตร ฐานเดิมเรียกกันว่าอัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นต่อกำไรของบริษัท ที่เคยบอกกันว่าสูงนักสูงหนานั้น ไม่ต้องไปกลัวเลยว่าจะสูงเกินไปถ้ามีองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ คอยหนุนอยู่อาทิ ภาวะเงินเฟ้อต่ำ ผลตอบแทนจากเงินทุน หรืออาร์โอซี พุ่งสูง แล้ว ก็แนวโน้มทางเศรษฐกิจอื่นๆ เกื้อหนุนอย่างเกินธรรมดา

เส้นทางสู่ความเป็นเลิศ

แอบบี้ โจเซฟ โคเฮน เป็นเด็กจากครอบครัวผู้อพยพชาวโปลิชที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ คุณแม่ ของเธอ เชอรี่ ซิลเวอร์สไตน อพยพมาจากโปแลนด์พร้อมผู้ปกครองเมื่อทศวรรษที่ 20 มาตั้งรกรากย่านบรูคลิน และได้เล่าเรียนจนจบจากบรู้คลิน คอลเลจ ส่วนคุณพ่อเรย์มอนด์ โจเซฟ เกิดในสหรัฐฯ ในครอบครัวคนโปแลนด์ ที่เพิ่งอพยพมาสหรัฐฯ หมาดๆ ด้วย สติปัญญาและความอุตสาหะ เรย์มอนด์ คว้าปริญญาโทสาขาการเงินจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กขณะทำงานเต็มเวลา

ทั้งสองสมรสกันเมื่อปี 1946 แล้วย้ายมาสร้างครอบครัวในย่านควีนส์ ในย่านนี้จะเต็มไปด้วยครอบครัวเดี่ยว เพิ่งแต่งงาน เพิ่งเริ่มตั้งตัว ในระยะแรก ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ทำงานนอกบ้าน คุณพ่อเป็นนักบัญชีที่บริษัท เจ เค ลาสเซอร์ ส่วนคุณแม่ทำงานกับสำนักตรวจบัญชีของบริษัทเยเนอรัล ฟู้ด จนกระทั่งมีลูกคนแรกซึ่งเป็น พี่ชายของโคเฮน คุณแม่จึงลาออกจาก งานมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลา แต่คุณแม่ ก็คิดอ่านหางานเสริมจนได้ คือหลังจาก ปี 1952 ที่แอบบี้ โจเซฟ เกิดมาได้ไม่นาน คุณแม่เริ่มกิจการค่ายฤดูร้อน ดูแลลูกๆ ของเพื่อนบ้านละแวกใกล้ๆ

แอบบี้ โตขึ้นมาในทศวรรษ 60 ที่เต็มไปด้วยกบฏสังคม แต่เจ้าตัวบอก ว่า "ดิฉันไม่นึกอยากจะกบฏต่ออะไรเลย" แต่เธอไม่ใช่คนหัวอ่อน เธอพูด ถึงตัวเองสมัยนั้นว่า "ถ้าดิฉันศึกษา ตระเตรียมความคิดมาอย่างแตกฉาน จนมั่นใจว่าตนเองถูกต้องแน่นอน ดิฉัน จะพร้อมต่อต้านความรู้ความคิดที่เชื่อ ถือต่อๆ กันมาและดิฉันไม่แคร์เลยว่าคนอื่นเค้าจะเห็นพ้องตามดิฉันหรือไม่"่

ปี 1969 เธอสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ตอนแรกเลือกเรียนคณะฟิสิกส์ แล้วย้ายมาเรียน เศรษฐศาสตร์กับคอมพิวเตอร์ เมื่อจบ การศึกษาในปี 1973 เธอแต่งงานกับเดวิด เอ็ม โคเฮน เพื่อนนักศึกษาเอกแรงงานสัมพันธ์ หนุ่มคนสำคัญคนนี้พบปะและเคียงข้างกับเธอตั้งแต่ที่ได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วยกันเมื่อตอนปี 1

ครอบครัวโคเฮนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในวอชิงตัน เพราะแอบบี้ได้งานทำในสำนักวิจัยแห่งคณะกรรมการธนาคารกลาง ระหว่างนั้น เธอทำปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ไปด้วย และแล้วก็ถึงคราวที่ต้องคิดตรึกตรองเรื่องปริญญา เอก เธอตัดสินใจไม่เรียนเพราะชั่งใจแล้วว่าในความสนใจด้านตลาดการเงิน นั้น เธอต้องการความรู้จากการปฏิบัติมากกว่าจากทฤษฎี

ปี 1976 เธอลาออกจากธนาคาร กลางเพื่อไปทำงานกับบริษัทที. โรว ไพร้ซ แอสโซซิเอทส์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนรวมในบัลติมอร์ เวลา 7 ปีกับบริษัทเอกชนรายนี้ให้ความรู้แก่เธอไม่แค่เพียงการทำนายทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยสร้างตัวแบบเศรษฐมิติเพื่อช่วยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทำนายอุปสงค์ของอุตสาห- กรรมหมวดเซมิคอนดักเตอร์กับหมวดไฮเทคอื่นๆ

ติดใจง้วนดินย่านวอลล์สตรีท

ในปี 1983 โคเฮนตอบรับเสน่ห์ของวอลล์สตรีท โดยเข้าร่วมในบริษัทเดรกเซล เบิร์นแฮม แลมเบิร์ต อิงค์ ใน ตำแหน่งนักกำหนดยุทธศาสตร์ แก่นักลงทุนรายใหญ่ ยุคสมัยนี้ เป็นยุคแห่งความรุ่งเรือง กลางปี 1987 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมนักกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งจังหวะนั้นเป็นช่วงใกล้จะเกิดแบล็คมันเดย์ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ประมาณเดือนสิงหาคม เธอและ ริชาร์ด โฮเอย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเดรกเซล ตลอดจนใคร อีกหลายคนในคณะกรรม การนโยบายการลงทุนของ เดรกเซล ถกเถียงกันหนัก ว่าหุ้นมีราคาแพงเกินไปหรือยัง ความเห็นร่วมกันคือ ตลาดเฟ้อไปบ้างแต่เนื่องจากไม่มีแรงคุกคามจากเงินเฟ้อ ดังนั้น หากจะมีการปรับฐานอ่อนตัวลงมาก็จะเล็กน้อยและช่วงสั้นๆ การทำนายนี้ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะดัชนีดิ่งหนัก เพียงแต่เป็นอยู่ไม่นาน

ณ วันที่ 19 ตุลาคม 1987 ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงหนัก 22.6% เป็นการถูกทุบรุนแรงที่สุดที่เคยประสบกันมา

ถ้าโคเฮนผิดพลาดไม่เตือนลูกค้าให้ระวังตัวตอนหุ้นตก เธอได้ชดเชย ให้แล้วเมื่อตอนที่หุ้นแกว่งตัวขึ้น ตามการวิเคราะห์ของเธอ มีหุ้นดีๆ ประมาณ 15% ที่ราคาต่ำเกินไป โฮเอย์เห็นด้วย ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าดอกเบี้ยที่อ่อนตัวลงมาจะช่วยดึงราคาพันธบัตร เช้า วันรุ่งขึ้น เดรกเซลแนะนำลูกค้าให้ใช้เงินเท่าที่มีเข้าซื้อหุ้นกับพันธบัตรอย่างละครึ่ง โคเฮนระลึกความหลังว่า มันเป็นการทำนายที่อาจหาญเอามากๆ ทั้ง คู่เก็งถูก แต่โคเฮนต้องยอมรับกับตัวเองว่าเครื่องมือวิเคราะห์ของเธอนั้นไม่สมบูรณ์

เหตุการณ์แบล็คมันเดย์ เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่สาเหตุของมันไม่ใช่ว่าเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ หากแต่เพราะมีจุดบกพร่องเชิงโครงสร้างในตัวตลาดการเงินเอง โคเฮนบอกว่า "มันเป็นเรื่องของความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ซึ่งทำให้ดิฉันต้องระมัดระวัง และให้ความใส่ใจมากขึ้นนับแต่นั้นมา"

ในปี 1990 เดรกเซลซึ่งมีปัญหา ความขัดแย้งระหว่าง 2 แนวทางอันสืบ เนื่องมาจากการที่บริษัทแห่งนี้ก่อตัวขึ้นจากการผนวก 2 บริษัทเข้าด้วยกัน ก็ถึงคราวแตกสลาย โคเฮนและทีมวิจัยของเธอร่วม 40 ชีวิตอพยพกันไปทำงานให้บาร์เคลย์ เดอ โซต เวด ซึ่งเป็นสถาบันวาณิชธนกิจจากลอนดอน โคเฮนอยู่ที่นี่แค่สองสามเดือน แล้วมาทำกับโกลด์แมนในเดือนตุลาคมปีเดียว กันนั้นเอง ตอนนั้น หัวหน้าทีมนักกำหนดยุทธศาสตร์ของโกลด์แมนคือ สตีเฟ่น จี ไอน์ฮอร์น ซึ่งมีแนวทางการวิเคราะห์การลงทุนแบบเน้นที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ตอนที่โคเฮนเริ่มร่วมงานกับไอน์ ฮอร์น ทั้งคู่มองตลาดในทางขาลงแต่ ในสัปดาห์แรกที่โคเฮนเข้ามาในโกลด์ แมนนี่เอง ตลาดถึงจังหวะหักเหออกจากภาวะหมี ตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อโกลด์แมนย้ายเข้าสู่ค่ายกระทิงเต็ม ตัว ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้น 13%

ในปี 1992 โคเฮนเสมือนจะเกิดปิ๊งจับทางบางอย่างได้ เธอมองเห็น อักษร S ในตุ๊กตาของลูกสาว และได้แนวคิดในการมองภาพอนาคตว่าเป็น การเคลื่อนไหลขึ้นลงอย่างคลื่นยาวๆ ซึ่งเป็นคลื่นของการขยายกำไรที่เงียบเชียบแต่ยั่งยืน และมันคือเส้นกราฟแสดงการเติบโตของตลาดกระทิงนั่นเอง

โคเฮนดูว่าจะเคยตัดสินใจหุน หันแบบตื่นตูมเกินไปครั้งหนึ่งในต้นปี 1993 หลังจากที่ประธานาธิบดีคลินตันปราศรัยในฐานะประธานาธิบดีครั้งแรก ทั้งเธอทั้งไอน์ฮอร์นประเมินว่าข้อเสนอด้านการเงินของคลินตันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และจึงแนะ นำให้นักลงทุนลดสัดส่วนการลงทุน ในตลาดหุ้นเหลือ 55% จาก 70% แต่ เรื่องนี้ โคเฮนบอกว่าเป็นความตื่นตูมของไอน์ฮอร์นคนเดียว


รุ่งโรจน์วันนี้ และจะอยู่ต่อไปในวันหน้า

ในฤดูใบไม้ผลิปี 1994 มีการปรับฐานของดัชนีลงมา 10.7% แต่ตลอดช่วงนั้น โคเฮนรักษาความมั่นใจในพลังเดินหน้าของตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ดัชนีร่วงดิ่งลึกอีกรอบหนึ่งนั้น เธอยิ่งยืนยันแนวโน้มกระทิง ทั้งที่คนอื่นกลัวว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นมาอีก แล้วจะไปกระทบให้ดอกเบี้ยดีดตัว ดีหมี หัวใจกระทิงที่อยู่ในสายเลือดของเธอเชื่อมุ่งมั่นว่าหุ้นในตลาดมีราคาต่ำเกินไป เธอเข้าพบไอน์ฮอร์นและเสนอทฤษฎีว่าถึงเวลาที่จะใช้ไล่ซื้อเพราะตลาดเข้าสู่ขาขึ้นแล้ว แต่ไอน์ฮอร์นมัวชักช้าอยู่ ส่งผลให้พลาดขบวนไป

โคเฮนรุ่งตลอดมาในฐานะหัว หน้าทีมนักกำหนดยุทธศาสตร์ ปลายปี 1996 คอมเมนต์ของเธอล้วนเป็นประโยคเพชรประโยคทองสำหรับนักลงทุน ทัศนะของเธอเป็นเชื้อขับเคลื่อนตลาดขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว โกลด์แมน ซาคส์ กลายเป็นบริษัทของแอบบี้ โคเฮน ไปเสียแล้ว

คุณูปการของหญิงเก่งนามแอบบี้ โจเซฟ โคเฮน ในแวดวงวิชาการระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีอย่างชนิดที่ว่าเหลือคณานับ

เธอสอนวิชาสัมมนาการเงินของมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยคอร์แนล มหาวิทยาลัยวาร์ตัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ อีกทั้งในบิสซิเนส สกูล ชั้นแนวหน้าอื่นๆ อีกหลายแห่ง

เมื่อไม่นานมานี้ รักษาการคณบดีของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เคย ติดต่อทาบทามให้โคเฮนยอมเข้าเป็นอาจารย์ประจำของทางคอร์แนล แต่เธอปฏิเสธไป อย่างไรก็ตาม เธอให้ความหวังไว้ว่าสักวันในอนาคตเธออาจจะบอกลาวอลล์สตรีท เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเต็มตัว สำหรับระยะนี้ โคเฮนบอกว่ายังมีตลาดกระทิงที่อาจจะต้องการแรงสนับสนุนอีกสักรอบหนึ่ง ซึ่งเธอสนุกที่จะทำบทบาทหน้าที่นี้อยู่อีกนาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.