วาทะสั้นๆ ของมีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) คนล่าสุด ที่เพิ่งรับตำแหน่งไปหมาดๆ แม้เขาจะไม่ใช่อัศวินม้าขาวจริงๆ
แต่ สำหรับแนวคิดของมีชัยในวันนี้หากปฏิบัติได้จริงคงไม่ต่างจากกันเท่าใดนัก
อย่างที่รู้ว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจระดับท็อปเทนมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน
และยังต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ทั้งงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างระบบสื่อสารโทรคมนาคม
รวมทั้งสัมปทานสื่อสารอีกหลายสิบโครงการที่ให้เอกชนไปดำเนินการ
หน่วยงานของรัฐแห่งนี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องวุ่นๆ ยิ่งมีโครงการประมูลขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลเกิดขึ้นด้วยแล้ว
หนีไม่พ้นต้องมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอๆ เรียกว่า พอเปลี่ยนรัฐบาล
เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งใด ตำแหน่งประธานบอร์ด ก็มีอันต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยทุกครั้ง
จะว่าไปแล้ว ตำแหน่งเก้าอี้ประธานบอร์ด ทศท.จึงเป็นตำแหน่งสำคัญ ไม่แพ้รัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมเลยก็ว่าได้
เพราะโครงการต่างๆ จะต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากบอร์ด ทศท.ก่อนส่งเรื่องไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าในระยะหลังๆ พรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนดูแลหน่วยงานแห่งนี้พยายามล้างภาพลักษณ์เก่าๆ
ทิ้ง เริ่มมาตั้งแต่การสิ้นอำนาจของรสช. ก็ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดยุคอำนาจสีเขียวที่เคยครอบงำหน่วยงานแห่งนี้
ถึงแม้จะผ่านพ้นยุคทหารไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้หน่วยงานแห่งนี้หลุดพ้นจากปัญหาเดิมๆ
ไปเสียทีเดียว
การเชิญสุเมธ ตันติเวชกุล มานั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด ทศท.ในสมัยที่สุวัฒน์
ลิปตพัลลภ แห่งพรรคชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็นับเป็นความพยายามในการสลัดภาพแดนสนธยา
เพราะสุเมธได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทุกฝ่าย
เมื่อสุเมธพ้นจากเก้าอี้ใหญ่ในทศท.ก็กลายเป็นโจทย์ท้าทายให้พรรคประชาธิปัตย์
ที่เข้ามาคุมกระทรวงหูกวางอยู่ในเวลานี้ เพราะคนที่มาแทนสุเมธนั้นจะต้องไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลชวน
หลีกภัย ที่กำลังสร้างแรงศรัทธากับประชาชนอยู่ในเวลานี้
ด้วยดีกรีของนักพัฒนาสังคม นักวิชาการ และเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โฆษกประจำสำนัก นายกฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าการประปา
ชื่อของ มีชัย วีระไวทยะ จึงติดอยู่ในโผต้นๆ จะว่าไปแล้ว ช่วงจังหวะของการนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดทศท.ของมีชัย
แตกต่างไปจากประธานบอร์ดทศท. คนอื่นๆ เพราะในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ ไม่มีสัมปทาน
ใหม่เกิดขึ้น หรือโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ แต่เป็นเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อรองรับการเปิดเสรี
การแปลงสัญญาสัมปทานที่ให้เอกชนไปดำเนินการ และการปรับโครงสร้างค่าบริการโทรคมนาคม
ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทศท.
"เวลานี้รัฐไม่มีงบประมาณจะจัดซื้อหรืออนุมัติโครงการอะไรแล้ว เอกชนเองก็ไม่อยากลงทุนอะไร
มีแต่จะคืนสัมปทาน สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การสร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาให้กับประชาชน
จุดนี้ถือว่าสำคัญ ซึ่งคุณมีชัยเหมาะมากสำหรับการทำในจุดนี้" แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าว
ตามสไตล์ของนักพัฒนาชุมชน เจ้าของฉายา "มีชัยสายรุ้ง" แนวคิดของเขาจึงมุ่งเน้นไปที่การลดช่องว่างระหว่าง
ทศท.กับประชาชน อันเป็นที่มาของแนวคิดในการแปรรูปทศท.ที่ต้องการให้คนไทยทุกระดับชั้นร่วมถือหุ้นในทศท.
"ผมจะทำกระปุกออมสินเป็นรูปโทรศัพท์ประมาณ 1 ล้านใบ แจกจ่ายไปตามชุมชนต่างเๆ
เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสเป็นผู้ถือหุ้นในทศท. ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือไม่
ทุกคนมีสิทธิ์ถือหุ้นขององค์การโทรศัพท์เท่ากันหมด"
มีชัยเชื่อว่า วิธีนี้จะเป็นการสร้างอารมณ์ร่วมให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดีกับองค์การโทรศัพท์ฯมากขึ้น
ซึ่งแนวคิดของมีชัยนั้นก็เป็นแนวคิดเดียวกับนโยบายการแปรรูปของบริษัทบางจากปิโตรเลียมที่
โสภณ สุภาพงษ์ เป็นหัวเรือใหญที่กำลังเปิดให้คนไทยส่วนใหญ่ทั่วประเทศเข้ามาถือหุ้นจนเป็นที่ฮือฮาอยู่ในเวลานี้
เพราะมีทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน
ทศท.ในยุคของมีชัยจึงต้องเปลี่ยนจากบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนแทบไม่เคยสัมผัสถึง
มาเป็นองค์กรเพื่อประชาชน และต่อไปนี้ชาวนาจะเป็นคนอีกกลุ่มที่จะต้องมีโทรศัพท์ให้ใช้ฟรี
รวมทั้งคนพิการที่จะมาเป็นพนักงานให้กับบริการ 13 หรือ 17
แม้จะมีรายได้ปีละนับหมื่นล้าน แต่ทศท.ก็มีค่าใช้จ่ายมากพอๆ กัน และที่สำคัญยังมีจุดรั่วไหลอยู่เสมอๆ
และที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ โทรศัพท์สาธารณะที่ทำรายได้ให้กับทศท.มหาศาล มีชัยจึงมีแนวคิดที่จะให้ชุมชนต่างๆ
ที่อยู่ในสลัมมาประชุมร่วมกับทศท.เพื่อกำหนดจุดติดตั้ง และเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตู้โทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้
และทศท.จะแบ่งรายได้ให้ 10%
ที่พลาดไม่ได้คือ การปรับลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความพยายามมาหลายรัฐบาลแล้ว
แต่ก็ยังไม่มีใครทลายตำนานนี้ได้ แต่สำหรับมีชัยแล้ว เขามองว่า ทศท.น่าจะอาศัยช่วงเวลาที่เอกชนต้องมายื่นขอแปลงสัมปทาน
ขอให้เอกชนปรับลดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ
"เหมือนกับการยื่นหมูยื่นแมว ในเมื่อเอกชนมาขอแปลงสัมปทาน ทำไมเราจะขอให้เขาปรับลดค่าบริการลงไม่ได้"
ไม่เพียงทศท.จะต้องเล่นบทผู้ให้แล้ว ทศท.ในยุคนี้ยังต้องเล่นบทนักบู๊ ไม่ให้พ่อค้ามามีอำนาจเหนือกว่าเหมือนที่แล้วมา
บริการโทรศัพท์มือถือ ย่านความถี่ 1500 เมกะเฮิรตซ์ ก็เป็นอีกโครงการที่มีชัยจะนำมาปัดฝุ่นใหม่
ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า เมื่อ ทศท.ได้อนุมัติคลื่นมาแล้วก็ควรดำเนินการเองก่อน
ดีกว่ารอให้เมื่อเปิดเสรีแล้วบริษัทจากต่างชาติเข้ามาดำเนินการ
"ในเมื่อเรามีถนนอีกเส้นหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้มันว่างเปล่า เราก็มาทำให้มันมีมูลค่า
ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เราต้องเปิดเสรีต่างชาติต้องเข้ามา ถนนเส้นนี้จะมีมูลค่า
มากกว่าเป็น แค่คลื่นความถี่" มีชัยสะท้อนแนวคิด
แม้จะพยายามเดินไปข้างหน้ากับภารกิจเร่งด่วน ที่รออยู่ข้างหน้า แต่เขาก็รู้ดีว่า
ปัญหาเฉพาะหน้าที่รออยู่ ในเรื่องการ "ฮั้ว" ประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ที่อื้อฉาวมาโดยตลอด
แนวคิดของมีชัย จึงต้องการให้มีการประมูลแบบข้ามชาติ คือ ให้บริษัทผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาประมูลได้
แทนที่จะเป็นบริษัท คนไทยที่ต้องนำเข้าอุปกรณ์อีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้มีชัยเชื่อว่าจะทำให้ราคาอุปกรณ์ลดลง
นอกเหนือจากภารกิจในทศท.แล้ว ไอเดียการแก้ไขปัญหาสังคมก็ยังไม่ได้หยุด
มีชัยจึงได้เตรียมจัดตั้งบริษัทธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อตรวจสอบ และสร้างจิตสำนึกทางสังคมให้กับบรรดาบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
"บริษัทนี้จะมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และเปิดให้ทุกคนมีสิทธิ์มาซื้อหุ้นได้
และเราจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปซื้อหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีอยู่
400 กว่าแห่ง"
การไปซื้อหุ้นในบริษัทเหล่านี้ เพื่อเข้าไปรับรู้ข้อมูลในฐานะของผู้ถือหุ้น
และนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคม
เช่น การจัดทำวารสารเพื่อสำรวจข้อมูลการจัดอันดับบริษัทที่จ่ายเบี้ยประชุมคณะกรรมการสูงที่สุด
หรือบริษัทใดที่มีโครงการทำเพื่อสังคม บริษัทใดยังไม่ได้ทำบ้าง
"ทุกวันนี้เราก็เห็นแล้วว่า ธุรกิจได้นำความหายนะมาสู่สังคม กลุ่มธุรกิจของหลายตระกูลเองไม่ได้ช่วยเหลือสังคมเลย
การจะอยู่ร่วมกันคนที่มีต้องช่วยคนไม่มี ผมเชื่อว่าวิธีนี้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้"
ธนาคาร จะเป็นกลุ่มแรกที่บริษัทธุรกิจเพื่อสังคมนี้จะเข้าไปถือหุ้น ซึ่งธนาคารใดยังไม่ทำเพื่อสังคมคงต้องเริ่มลงมือกันแล้ว
การมาของมีชัย นอกจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทศท. และเมืองไทยแล้ว ยังเป็นจุดท้าทายในชีวิตการงานของมีชัยด้วยว่า
เขาจะใช้ประสบการณ์และแนวคิดนำพาให้องค์กรแห่งนี้ไปสู่วิถีทางที่ควรจะเป็นได้หรือไม่