ไพศาล อัศวโสภณ ทุกลมหายใจคือ "BOSE"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าถามถึงปี 2499 คนในยุคนี้อาจจะนึกถึงแค่หนังสุดฮิตเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ได้นำเหตุการณ์เกี่ยวกับชีวิตคนกลุ่มหนึ่งในยุคนั้นมาทำเป็นหนัง จนกระทั่งได้รับความสำเร็จอย่างมาก

และปีเดียวกันนี้เองก็ได้ก่อกำเนิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียงชื่อ "สถานบริการเสียงไฮ-ไฟ" ภายใต้การนำของ ทวี อัศวโสภณ ซึ่งถือว่าเป็นนักเล่นเครื่องเสียงในยุคแรกของไทย เนื่องจากนิสัยส่วนตัวของทวี รักความสนุกสนาน ชอบ ท่องเที่ยวและรักเสียงดนตรี โดยทวีได้ดำเนินการในลักษณะการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากต่างประเทศ แล้วนำมาประกอบเอง ซึ่งในช่วงแรกประกอบขึ้นมาเพื่อฟังเองและเรียกคนที่ชอบดนตรีมาฟังที่บ้าน แล้วเกิดติดใจทำให้มีการสั่งจองให้ทวี ประกอบเครื่องเสียงและลำโพงให้ ในที่สุดจึงเกิดแนวความคิดในการทำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจัง เนื่องจาก มองว่าลูกค้าน่าจะมีมากในอนาคต

จากแนวความคิดดังกล่าวประกอบกับสถานบริการเสียงไฮ-ไฟ เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น จึงได้สั่งเครื่องเสียงและลำโพงยี่ห้อ Sherwood เข้ามาจำหน่าย ในลักษณะเป็นผู้แทนและจัดจำหน่ายในไทย นอกจากนี้ยังได้นำอุปกรณ์เครื่องเสียงอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายด้วย เช่น AR และ Marantz

ต่อมาในปี 2510 ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท อัศวโสภณ จำกัด พร้อมๆ กับลูกชายของทวี ชื่อ ไพศาล อัศวโสภณ สำเร็จการศึกษาจาก Chicago Technical College สาขาอิเล็กทรอนิกส์ และได้รับการฝึกงานจาก Sherwood Electronics Laboratories กลับมาเพื่อรับช่วงในการบริหารงานต่อจากบิดา

"เมื่อกลับมาก็เปลี่ยนชื่อทันที และเราก็ได้สั่งสินค้าเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อสนองตอบนักเล่นเครื่องเสียง" ไพศาล เล่า

อย่างไรก็ตามในช่วงประมาณปี 2510-2511 อัศวโสภณ มีปัญหาเรื่องการขาย เนื่องจากภาวะตลาดเครื่องเสียงซบเซา ทำให้ Sherwood อยากจะเปลี่ยนผู้แทนจัดจำหน่ายอื่นแทนอัศวโสภณ

"คุณพ่อผมจึงได้มองหาเครื่องเสียงยี่ห้ออื่นเพื่อจะนำเข้ามาจัดจำหน่ายแทน Sherwood และได้ตัดสินใจนำเครื่องเสียงและลำโพงยี่ห้อ BOSE จากอเมริกาเข้ามา แต่ช่วงแรก BOSE ปฏิเสธที่จะให้เราจำหน่ายในไทย คุณพ่อผมจึงไปขอร้องผู้บริหารของ Sherwood ให้ไปคุยกับ BOSE ซึ่งก็ได้ผล" ไพศาล กล่าว

และในปี 2512 จึงเป็นจุดเปลี่ยนแปลงและเริ่มต้นของอัศวโสภณในการสร้างตลาดเครื่องเสียง BOSE ในไทย ที่สำคัญถือได้ว่าทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลอัศวโสภณ คือ ไพศาล ได้เข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว

"เมื่อมาอยู่กับ BOSE เราทุ่มการทำงานเต็มที่ เพราะเขาถ่ายทอดวิชาให้เราทุกอย่าง และในทุกๆ ปี ผมได้ไปอบรมกับ BOSE ที่บริษัทแม่ในอเมริกา จึงพูดได้ว่าเรากับ BOSE จะอยู่คู่กันตลอดไป" ไพศาล กล่าว

จากความเชื่อมั่นทั้งสองฝ่าย ทำให้ BOSE สามารถ ยืนหยัดและครองตลาดเครื่องเสียงและลำโพงมาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้ว่าบริษัทอัศวโสภณจะดูเงียบๆ ไปในเชิงธุรกิจ ทั้งนี้เกิดจากนิสัยส่วนตัวของไพศาลจะเป็นคนเก็บตัว ชอบการทำงานด้านเทคนิคมากกว่าการตลาด ดังนั้นจุดแข็งของ อัศวโสภณจึงเกิดขึ้นได้จากความไว้เนื้อเชื่อใจกันและการบริการมากกว่า กลยุทธ์ด้านการตลาดเหมือนกับบริษัทอื่นดำเนินการ

"การทำตลาดเราจะเน้นเรื่องการยอมรับในเรื่องคุณภาพของ BOSE มากกว่าที่จะไปเน้นในเรื่องการลด แลก แจก แถม ซึ่งนักฟัง นักเล่นอุปกรณ์เครื่องเสียงมืออาชีพเขารู้ดี" ไพศาล กล่าว

อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจของไพศาลแม้ว่าจะไม่เหมือนใคร แต่ความสำเร็จก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากรายได้ที่เข้ามาเติบโตขึ้นจากระดับหลักสิบล้านบาทกลายเป็น 100 ล้านบาทในช่วงปี 2537 เป็น ต้นมา

"ตลาดของเราจะมาจากตลาดบ้านหรือลูกค้าทั่วๆ ไปที่ซื้อสินค้าของ BOSE ไปเพิ่มคุณภาพของเสียง จะเป็นตลาดระดับบน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70% และตลาดให้บริการจัดระบบเสียงโครงการโดยเราจะเข้าไปลักษณะประมูล งานมาดำเนินการ ซึ่งเรามีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 30%" ไพศาล กล่าว

ความสำเร็จของอัศวโสภณในด้านประมูลงานที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการเครื่องเสียงไทย เพราะสถานที่ขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟหัวลำโพง โรงยิมนิมิบุตร โบสถ์อัสสัมชัญ ห้องประชุมในโรงแรม โรงเรียน สถานบันเทิงต่างๆ ล่าสุดเข้าไปจัดระบบเสียงให้สนามกีฬา 700 ปี ที่เชียงใหม่และสนามกีฬาที่หัวหมาก และปัจจุบันกำลังทำให้วัดพระธรรมกาย

"เราภูมิใจมากที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปจัดระบบเสียง อย่างสนามกีฬาที่เชียงใหม่เราได้รับค่าจ้างประมาณ 14 ล้านบาท ที่หัวหมากเราได้ประมาณ 28 ล้านบาท"

จากการเข้าไปจัดระบบเสียงเหล่านี้นอกจากได้รับผลตอบแทนในรูปเม็ดเงิน แม้ว่าจะไม่ค่อยคุ้มกับการลงทุนก็ตาม แต่ที่สำคัญ คือ ได้รับผลดีในระยะยาวในด้านชื่อเสียง เหมือนกับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

นี่คือยุครุ่งเรืองของอัศวโสภณ แต่มาถึงยุคปัจจุบันจากสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา ตลาดเครื่องเสียงและลำโพงก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย มูลค่าตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ไพศาลเล่าว่าในอดีตมูลค่าตลาดแต่ละปีประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท แต่มาในปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบันมูลค่าตลาดเหลือเพียงประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลงไปมากพอสมควร แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาหนักใจของไพศาล เพราะเขายังเชื่อมั่นว่าลูกค้าเก่าจะยังคงอยู่กับ BOSE ต่อไป

อย่างไรก็ตามจากการที่สถานการณ์ในภาวะปัจจุบันเปลี่ยนไป ทำให้การทำธุรกิจเริ่มลำบากมากขึ้น คนในวงการเครื่องเสียงและลำโพงเริ่มห่วงใยในธุรกิจของอัศวโสภณมากขึ้น เนื่องจากหัวเรือใหญ่อย่างไพศาลที่เป็นคนชอบทางเทคนิค มากกว่าการบริหารด้านการตลาด น่าจะส่งผลกระทบต่อการ ขยายธุรกิจพอสมควร แต่แล้วอาการน่าเป็นห่วงของคนในวงการก็หายไป เมื่อลูกชายคนโตของไพศาล คือ ยิ่งฉัตร อัศวโสภณ กำลังจะหอบปริญญาโทด้านการบริหารจาก Central Michigan University กลับมาบริหารงานในอัศวโสภณ ซึ่งถือว่าเป็นรอยต่อที่ลงตัวอย่างมากและจะทำให้ไพศาลสามารถทำงานที่ตัวเองรักในด้านเทคนิคอย่างเต็มที่

คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าในรุ่นที่ 3 ของตระกูลอัศวโสภณที่จะเข้ามารับช่วงบริหารงาน จะสามารถผงาดขึ้นเป็นเจ้าตลาดเครื่องเสียงและลำโพงเช่นเดียวกับที่ไพศาลทำไว้หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.