ในภาวะที่ธุรกิจเล็กใหญ่ค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป ธุรกิจใหม่ๆ หาได้น้อยเต็มที
แต่ภาวะเช่นนี้ สันติ เจริญฤทธิ์ศักดิ์ พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง
โดยการเปิดบริษัท ใหม่ท้าทายเศรษฐกิจ ในชื่อว่า บริษัท อุตสาหกรรมเตาประหยัดแก๊ส
(ประเทศไทย) จำกัด
"ทุกวันนี้ คนต้องการประ-หยัดทุกอย่าง ขณะที่เตาแก๊สของเราให้ความร้อนสูงกว่า
ทั้งยังประ หยัดแก๊สอีกกว่า 40% ซึ่งกำลังเข้ากับกระแสเศรษฐกิจ"
เขาให้เหตุผล พร้อมกับเล่าถึงความเป็นมาของบริษัทว่า เตาประ หยัดแก๊ส HOTTEST
นี้ ประดิษฐ์โดย พิทยา พิทยธนาคม ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปีในการลองผิดลองถูกและปรับ
ปรุงจนกระทั่งใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ประหยัดแก๊สได้มากกว่า
40% โดยได้รับการทดสอบและรับรองจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังให้ความร้อนสูงกว่าเตาแก๊สทั่วไป เนื่องจากเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์
ทั้งยังไม่มีเขม่า และไม่เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
อย่างไรก็ดี เตา HOTTEST จำเป็นต้องอาศัยแรงดันแก๊สที่ค่อนข้างสูง ประมาณ
40 องศา ประกอบกับพื้น ที่ในการระบายอากาศค่อนข้างมาก ดังนั้นในระยะแรก สันติจึงเล็งกลุ่มเป้าหมายไปยังโรงแรม
ภัตตาคาร และร้านอาหาร เพราะร้านอาหารจะมีปุ่มปรับความดันแก๊สอยู่แล้วจึงไม่ต้องลงทุนเพิ่ม
ทำตลาดได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือร้านอาหารจำเป็นต้องใช้แก๊สเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน
ทำให้เห็นผลของความประหยัดแก๊สได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามเขามีแผนที่จะผลิตเตาแก๊สเพื่อรองรับตลาดครัวเรือนภายใน 3
ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้พิทยา และวิศวกรในบริษัทกำลังร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับครัวเรือนมากขึ้น
อุตสาหกรรมเตาประหยัดแก๊ส จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 ด้วยทุนจดทะเบียน
1 ล้านบาท โดยการร่วมทุนของสันติ เจริญฤทธิ์ศักดิ์ ประธานกรรมการ โอฬาร ภาคย์กิจจากุล
กรรมการผู้จัดการ และพิทยา พิทยธนาคม นักประดิษฐ์
บริษัทได้เริ่มทำการตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายน โดยใช้วิธีการขายตรง
เพราะสามารถเจาะตลาดเป้าหมายได้ง่ายที่สุด สันติมองว่าเตา HOTTEST จำเป็นต้องมีการสาธิตให้ดูจึงสร้างความเชื่อถือแก่ลูกค้าได้
ซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีคำสั่งซื้อเข้ามาจนผลิตไม่ทันขาย
อันที่จริงการเพิ่มกำลังการผลิตนั้นไม่ยาก เพราะบริษัทใช้วิธีว่าจ้างบริษัทเหล็กหลายแห่งผลิตชิ้นส่วนที่แตกต่างกันไป
จากนั้นจึงนำมาประกอบเข้าเป็นเตาแก๊สทั้ง 4 รุ่น คือ เตาสำหรับต้ม เตาสำหรับผัด
เตาไฟแรงพิเศษ และเตาอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากบริษัทเพิ่งก่อตั้งไม่นาน และมีเงินทุนหมุนเวียนไม่มากพอที่จะสั่งผลิตชิ้นส่วนเข้ามาคราวละมากๆ
ขณะที่การขายนั้นบางครั้งกว่าจะเก็บเงินได้อาจใช้เวลานาน ทุนหมุนเวียนจึงไปจมอยู่กับขั้นตอนต่างๆ
ค่อนข้างมาก
ทุกวันนี้บริษัทมีช่างประกอบและติดตั้งประมาณ 20 คน มีกำลังการผลิตประมาณ
3,000 เตาต่อเดือน สันติมีแผนขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศโดยใช้ระบบตัว
แทนขาย (AGENT) ซึ่งได้เริ่มแล้วที่ จ.ชลบุรี
เตารุ่นที่ขายดีมากๆ ขณะนี้มี 2 รุ่น คือ รุ่น PGSS 102 เตาสำหรับผัดเหมาะสำหรับร้านอาหารทั่วไป
ราคาเตาละ 2,975 บาท และรุ่น PGSS 103 เตาไฟแรงพิเศษ เหมาะสำหรับภัตตารคาร
และร้านอาหารขนาดใหญ่ราคาเตาละ 4,975 บาท
"แม้ว่าราคาจะแพงกว่าเตาทั่วๆ ไปประมาณ 5-7 เท่า แต่เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนจากการประหยัดค่าแก๊สในแต่ละเดือนแล้ว
เพียงแค่ไม่กี่เดือนก็เหมือนกับได้เตาของเราไปเปล่าๆ" สันติเน้นจุดขาย
เนื่องจากค่าแก๊สเป็นต้นทุนแปรผันที่สำคัญสำหรับร้านอาหาร ถ้าประหยัดค่าแก๊สได้เดือนละ
500 บาท เพียง 6-10 เดือนก็เท่ากับราคาเตาแก๊สใหม่แล้ว เพราะเหตุนี้เองจึงยังไม่มีลูกค้ารายใดปฏิเสธการเสนอขายของ
HOTTEST
แต่กระนั้นการที่เตาดังกล่าวจำเป็นต้องมีพื้นที่ในการระบายอากาศค่อนข้างมาก
บางครั้งจึงจำเป็นต้องปรับปรุง สถานที่ปรุงอาหารก่อนการติดตั้งเตาแก๊ส HOTTEST
ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่นการเปลี่ยนท่อระบายอากาศ เป็นต้น
ชั่วเวลา 2 เดือนเศษ HOTTEST มีลูกค้าเป็นโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหารขนาดใหญ่กว่า
20 ราย สันติตั้งเป้าว่าต้องการคำรับรองจากลูกค้าขนาดใหญ่ให้ได้ 50 ราย จึงจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
และเมื่อประสบความสำเร็จกับตลาดในประเทศแล้ว ก็ทำการส่งออกไปขายต่างประเทศ
ต่อไป
"ตอนนี้ผมกำลังศึกษาระบบแก๊สของต่างประเทศอยู่ ในยุโรปคงยากเพราะส่งแก๊สผ่านท่อ
แต่ถ้าเป็นฮ่องกง มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ใช้ระบบถังแก๊สเหมือนบ้านเรา ตอนนี้ก็คุยกับกรมส่งเสริมการส่งออกอยู่
ว่าต่อไปจะส่งออกไปขายด้วย" สันติ กล่าว
แม้ว่าเรื่องของการส่งออกยังเป็นเพียงแผนที่ยังต้องใช้เวลาศึกษาอีกไม่น้อยกว่า
1-2 ปี แต่ก็เป็นนิมิต หมายอันดีที่สิ่งประดิษฐ์ของคนไทยจะออกสู่ตลาดโลกในอนาคต
ทุกวันนี้ก๊าซแอลพีจี กำลังจะหมดไป ไทยต้องนำเข้าก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ละปีไทยมีการใช้ก๊าซนี้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท และทั่วโลกกำลังรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงานทุกชนิด จึงนับเป็นจังหวะเหมาะที่การคิดค้นของพิทยาได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบลงพอดี
อย่างไรก็ตามนักประดิษฐ์ย่อมหนีไม่พ้นนิสัยที่จะคิดค้นอะไรออกมาใหม่ๆ อยู่เสมอ
เช่นเดียวกับพิทยาตอนนี้เขากำลังวุ่นอยู่กับการพัฒนาเตาแก๊สรุ่นใหม่ ที่ใช้ได้ทุกครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ