ไคฉะ แมวเก้าชีวิต Inside the Kaisha


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพพจน์ของธุรกิจญี่ปุ่นในอดีต เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วเป็นภาพพจน์ ที่น่าศึกษาค้นคว้าหาแนวทางการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจ ที่รุกคืบเข้าสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่ธุรกิจได้จับ ตามอง แต่ในสภาพปัจจุบัน เพราะ เหตุใดธุรกิจญี่ปุ่นจึงไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีต

Inside The Kaisha เขียนโดย Noboru Yoshimura และ Philip Anderson (แปลโดยปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ และพันธุมวดี เกตะสันต์ : ไคฉะ แมวเก้าชีวิต) จะช่วยสร้างความกระจ่างชัดของคนญี่ปุ่น พฤติกรรมทางธุรกิจรูปแบบการบังคับบัญชา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ในธุรกิจ ที่ทำงานประจำอันเป็นพื้นฐานหลักของธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งใครก็ตาม ที่ต้องการเป็นพันธมิตรการค้าร่วมกับญี่ปุ่นจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้

Yoshimura และ Anderson ได้ถ่ายทอดพฤติกรรม วัฒนธรรมของพนักงานญี่ปุ่นอันจะช่วยทำให้มองเห็นแนวโน้ม และสามารถ ที่จะวิเคราะห์ถึงความสำเร็จ และความล้มเหลวของธุรกิจต่างๆ ในญี่ปุ่นได้

ญี่ปุ่นทำให้คนภายนอกฉงนสนเท่ห์ วัฒนธรรมต่างด้าวมักจะดูน่าประหลาดสำหรับผู้ที่ไม่ได้เติบโตขึ้นในวัฒนธรรมนั้น ๆ แต่ความสับสน มักจะจางหายไปตามเวลา และ ประสบการณ์ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นคือ ความรู้สึกถึง "การขัดแย้งกัน" อย่างรุนแรง ที่คนไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นรู้สึก

ญี่ปุ่นก่อให้เกิดการแบ่งขั้วแม้กับผู้ที่รู้จักญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง บางคนรักประเทศญี่ปุ่นโดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะได้พบกับการยกย่องให้เกียรติ ความสุภาพ และความดูแลเอา ใจใส่ บางคนกลับเกลียดญี่ปุ่นมากโดยเพ่งเล็งถึงความหยาบคาย ยโสโอหัง และการขาดสัมมาคารวะ ที่คนแสดงออกให้เห็น

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่บทนำเกี่ยวกับญี่ปุ่น จะพบเรื่องราวเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวัฒนธรรมประจำชาติ ประวัติศาสตร์ มารยาท หรือองค์กรทาง อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น แต่เป้าหมายจะเกี่ยวกับพฤติกรรมธุรกิจในบรรษัทขนาดใหญ่ (ไคฉะ) จะเน้นไป ที่ "ซามารีแมน" (samariman) หรือพนักงานประจำกินเงินเดือน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลาง เพื่อช่วยให้รู้เกี่ยวกับวิธีคิดของพนักงานประจำ

ถ้าเชื่อว่าการจ้างงานตลอดชีพเป็นนโยบายของบริษัทญี่ปุ่น เพราะผู้บริหารคิดว่าเป็นทางที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดแรงจูงใจสูงสุดต่อพนักงานแล้วจะประหลาดใจ และตระหนก ที่เห็นบริษัทญี่ปุ่นปลดพนักงานอเมริกันในลักษณะเดียวกับ ที่บริษัทอเมริกาทำกัน แต่ถ้าเข้าใจได้ว่าการจ้างงานตลอดชีพมิใช่เป้าประสงค์ของนโยบายในตัวของมันเอง แต่เป็นผลลัพธ์ของสิ่งพึงกระทำ ที่ลึกซึ้งในเชิงองค์กรในสถานการณ์หนึ่งๆ แล้วก็จะสามารถคาดการณ์ และเข้าใจกับพฤติกรรม ที่คาดเดาไม่ได้ของคนญี่ปุ่นได้

เมื่อบริษัทญี่ปุ่นอยู่ในสภาพเสมือนดั่งไม่มีใครหยุดยั้งได้ การถือเอาพฤติกรรมเฉพาะบางประการ เช่น การจ้างงานตลอดชีพ และปัจจัยเชิงจิตวิญญาณ เช่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความร่วมมือกันเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจกัน ได้ง่าย อย่างไรก็ตามความคงอยู่ของรูปลักษณ์เหล่านี้ ภายใต้สถานการณ์ ที่แตก ต่างกันราวหน้ามือกับหลังมือในทศวรรษ ที่ 90 นั้น ได้บ่งชี้ว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นสาเหตุหรือเป็นผลลัพธ์ของความสำเร็จทางเศรษฐกิจตลอดสี่ทศวรรษหลังสงคราม

หนังสือเริ่มด้วยการอธิบายการเข้าสู่สังคมพนักงานประจำของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ประสบการณ์ทางการศึกษาในตอนแรกสุด พนักงานประจำแทบทุกคน ของ "ไคฉะ" จะผ่านชุดของการกลั่นกรอง และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้นำพวกเขาไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นยอด ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ดังนั้น บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นมักจะรับคนที่ค่อนข้างจะมีความกลมกลืนคล้ายคลึงกันมาก หรือก็คือ บัณฑิตใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย ที่เข้าสังคมคล้ายๆ กัน แล้วหล่อหลอมพวกเขาให้เป็นพนักงานประจำในรูปแบบ ที่ปฏิบัติงานได้ดีในสภาวะแวดล้อมของ บริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น

บริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่มักจะจัดการให้เกิดการแปรสภาพนี้เป็นลักษณะ ที่เหมือนๆ กัน ซึ่งได้อธิบายกระบวนการสร้างสรรค์คน และผลที่ตามมา รวมไปถึงการเปรียบเทียบความ แตกต่างระหว่างบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทอเมริกาอีกด้วย สุดท้ายได้วิเคราะห์ว่าชาวตะวันตกจะนำเอาความเข้าใจบางอย่างไปใช้ในการจัดการความสัมพันธ์กับวิสาหกิจญี่ปุ่นได้อย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.