วสันต์ จาติกวณิช ล็อกซเล่ย์วันนี้ขอเป็นแค่หมูตัวเล็กๆ


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะโดนภาวะเศรษฐกิจขาลงพ่นพิษเข้าให้ แต่ด้วยความที่ยึดนโยบายอนุรักษนิยมมาโดยตลอด หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขยายธุรกิจอย่างเชื่องช้าแบบระมัดระวัง ไม่ลงทุนแบบตูมตามเหมือนคนอื่น ล็อกซเล่ย์จึงยังไม่ออกอาการให้เห็นแบบหนักๆ เหมือนกับกลุ่มธุรกิจตระกูลอื่นๆ ที่ลงทุนแบบไม่ลืมหูลืมตา

กระนั้นก็ดีล็อกซเล่ย์ก็ยังไม่อาจมองข้ามความปลอดภัย เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ล็อกซเล่ย์ก็ยังอดไม่ได้ที่จะนำเม็ดเงินไปใช้ขยายธุรกิจ ทั้งในธุรกิจสื่อสารและด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่างโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม เป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ (ตัวแทนบริการ) โทรศัพท์มือถือระบบพีซีเอ็น 1800 ร่วมลงทุนในการสร้างเขื่อน ร่วมเข้าประมูลในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไอพีพีให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

แม้ว่าในวันนี้ล็อกซเล่ย์จะลดไขมันส่วนเกินออกไป ด้วยการลดกำลังคนจากเดิมที่มีอยู่ 1,400 คน ให้เหลืออยู่ 900 คนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่กินเวลายาวนานกว่าที่คาด

"วันนี้แม้ว่าเราจะกลายเป็นหนูตะเภาแล้ว แต่ก็ยังเป็นหนูตะเภาที่ยังอ้วนอยู่บ้าง ยังต้องให้คล่องตัวมากกว่านี้" วสันต์ จาติกวณิช กรรมการบริหารของล็อกซเล่ย์กล่าวเปรียบเทียบสภาพของล็อกซเล่ย์ในเวลานี้

วสันต์ นั้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของล็อกซเล่ย์ในช่วง 5-6 ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เช่น โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และพลังงาน ซึ่งเขานับว่ามีบทบาทต่อการลงทุน

วสันต์ เป็นบุตรคนโตของคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช อดีตผู้บริหารคนสำคัญของล็อกซเล่ย์ จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัย Princeton และปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Lehigh สหรัฐอเมริกา ก่อนจะมาร่วมงานในล็อกซเล่ย์ วสันต์เคยหาประสบการณ์ทำงานที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในเรื่องการทำธุรกิจบนเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่วสันต์ยังคงยึดสไตล์แบบเดิมๆ คือ การบริหารงานแบบค่อยเป็นค่อยไป และเชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีมมากกว่าการบริหารงานแบบวันแมนโชว์ ที่มักจะเน้นการรุกขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว

วสันต์ บอกว่า ทิศทางการลงทุนของล็อกซเล่ย์ในเวลานี้ จะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจดั้งเดิมที่ยังคงทำรายได้ต่อเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ คอนซูเมอร์ และน้ำมันเครื่องคาสตรอล และลดการลงทุนลงในธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมากๆ ด้วยการขายหุ้นในธุรกิจเหล่านี้ออกไป เช่น เขื่อนห้วยเฮาะที่ประเทศลาว ซึ่งล็อกซเล่ย์ร่วมทุนกับกลุ่มแดวู โรงไฟฟ้าในโครงการไอพีพี รวมทั้งโรงงานเหล็กที่ล็อกซเล่ย์ ร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจจากออสเตรเลียซึ่งได้ขายหุ้นออกไปแล้ว

สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมนั้นก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ล็อกซเล่ย์จะลงทุนในโครงการใหม่ๆ แต่จะลงทุนในธุรกิจเดิม เช่น วิทยุติดตามตัว และอินเตอร์เน็ต เป็นสองธุรกิจที่ยังคงมีรายได้และลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนในโครงการโทรศัพท์มือถือผ่านดาวเทียมโกบอลสตาร์นั้น ยังคงลงทุนต่อไปเพราะใช้เม็ดเงินไม่มาก รวมทั้งในโครงการโทรศัพท์ 1.1 ล้านเลขหมาย ซึ่งล็อกซเล่ย์จะไม่ขายหุ้นแต่จะไม่ลงทุนเพิ่ม

นอกจากนี้ในภาวะเช่นนี้ล็อกซเล่ย์ไม่สามารถเป็นแค่คนขายของที่นั่งรอโครงการเท่านั้น แต่ต้องทำตัวเป็นนักบุกเบิกสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ เพื่อสร้างเม็ดเงินจากบริการใหม่ๆ ก่อนใคร

ธุรกิจบริการ และบริการเสริมจึงเป็นทิศทางที่วสันต์ เชื่อว่าจะมีอนาคต และไปได้ดีกว่าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ธุรกิจรับบริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในธุรกิจภายใต้แนวคิดดังกล่าว ที่วสันต์เชื่อว่าจะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจยุคนี้ เพราะเวลานี้ลูกค้าจะไม่ซื้อเครื่องใหม่ แต่จะหันมาใช้วิธีอัพเกรดหรือซ่อมเครื่องที่มีอยู่เดิม ซึ่งล็อกซเล่ย์เองก็มีความพร้อมในเรื่องของพนักงาน ที่มีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม ดิจิตอล เครื่องพรินเตอร์ที่จะสามารถให้บริการได้

วสันต์ยังเชื่อในเรื่องบริการอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ (E-Commerce) จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น เพราะประโยชน์ของอี-คอมเมิร์ซนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อขายของผ่านอินเตอร์เน็ต หรือบริการอีดีไอเท่านั้น แต่จะเป็นรูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล การสั่งซื้อ และการส่งสินค้า รวมทั้งการชำระเงิน อันเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของการทำธุรกิจในอนาคต ซึ่งเมืองไทยควรจะมีการนำมาใช้เพื่อไม่ให้เสียเปรียบต่างชาติ

แต่เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยยังมีปัญหาในเรื่อง ความรู้และความเข้าใจในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ซอยู่มาก วสันต์มองว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าว น่าจะมีส่วนในการผลักดันให้มีการนำไปใช้โดยเร็ว ล็อกซเล่ย์เองก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ อินเตอร์เน็ต ที่จะเข้าร่วมในการผลักดันให้มีการใช้อิเล็กทรอนิกซ์คอมเมิร์ซ โดยอยู่ระหว่างการยื่นเสนอไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เป็นตัวกลาง ในการคัดเลือกบริษัทผู้ส่งออก 4-5 ราย ให้มาพบกับบรรดาไอเอสพี เพื่อที่จะไปสู่การร่วมมือในการนำอิเล็กทรอนิกซ์คอมเมิร์ซไปใช้ ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง เพราะล็อกซเล่ย์ต้องการผู้ที่ให้ความสนใจและนำไปใช้อย่างจริงจัง

สำหรับวสันต์แล้ว เขาต้องการให้ล็อกซเล่ย์เป็นองค์กรขนาดเล็กที่คล่องตัว เปรียบแล้วก็เหมือนกับการเป็นหนู ดีกว่าจะใหญ่โตแล้วเป็นช้างที่ไม่แข็งแรง เพราะในอนาคตการแข่งขันของธุรกิจในเมืองไทย ไม่ได้อยู่แค่คู่แข่งในประเทศ แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่มีทั้งพลังเงินทุน และเครือข่ายธุรกิจอยู่ทั่วโลก ซึ่งการแข่งขันกับบริษัทเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สู้ทำตัวเป็นหนู และเก็บกินในธุรกิจที่ตัวเองมีกำลังที่จะทำได้ดีกว่าเป็นช้างแล้วไม่แข็งแรง

"อย่างในสหรัฐอเมริกา เคยมีปัญหาเศรษฐกิจเหมือนเมืองไทย แต่เมื่อผ่านวิกฤติเศรษฐกิจไปแล้ว ธุรกิจที่อยู่รอดและมีบทบาทไม่ใช่ยักษ์ใหญ่อย่างเอทีแอนด์ที แต่กลับเป็นบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่ซอฟต์แวร์เล็กๆ" วสันต์ชี้แจง

ล็อกซเล่ย์ในวันนี้จึงเป็นการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันในวันหน้า และแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเทรดดิ้งเฟิร์ม แต่ในวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ ล็อกซเล่ย์ขอเป็นแค่หนูตัวเล็กๆ ที่อยู่ข้างๆ ราชสีห์ก็พอ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.