CDC ฉวยโอกาสเปลี่ยนผู้ถือหุ้น ขยายเม็ดเงินลงทุนในไทย


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะปักหลักเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าศตวรรษ แต่บริษัท คอมมอนเวลธ์ ดิเวลลอปเม้นท์ คอร์ ปอเรชั่น หรือ CDC ก็เพิ่งจะสบโอกาสในคราวที่จะมีการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจของตนเอง ซึ่งรัฐบาลอังกฤษถือหุ้นอยู่เต็ม 100% และจะลดลงเหลือแค่ 40% ขยายเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านเหรียญฯ ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะนำเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้ภายในระยะ 6-8 เดือนนี้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มการลงทุนต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับนโยบายเรื่องการแปรรูปเป็นกิจการของเอกชน ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการในปี ค.ศ. 2000

มร.ชาร์ลส เซลเลอร์ ผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานซีดีซี ประจำประเทศไทยกล่าวว่า "ซีดีซีมีข้อที่แตกต่างจากสถาบันการลงทุนอื่นๆ คือซีดีซีมุ่งลงทุนและสร้างธุรกิจนั้นๆ ให้เติบโตจนถึงระดับหนึ่ง แล้วจึงลดบทบาทเพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินธุรกิจต่อไป"

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย นั้น ซีดีซีมีการลงทุนในรูปแบบหุ้นทุน (equity financing) และการปล่อยกู้แก่กิจการต่างๆ (loan financing) ในไทย ประมาณ 13 แห่ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 110 ล้านเหรียญฯ (ดูตาราง) โดยซีดีซีมีแนวทางการลงทุนในไทยที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของซีดีซีทั่วโลก คือลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และคุ้มค่าด้านการลงทุน ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจากการลงทุนทั้งหมดของซีดีซีอยู่ในระดับ 9%-10% แต่ในอนาคตซีดีซีมีนโยบายที่จะเพิ่มอัตราผลตอบแทนนี้เป็น 16%-17% ซึ่งก็สอดคล้องกับการเพิ่มการลงทุน ทั้งในรูปของหุ้นทุนและในกิจการที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นของซีดีซีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้ซีดีซีสนใจจะเพิ่มบทบาทการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นนั้นมี 2 เหตุผลใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงภายในของซีดีซีที่จะมีการแปรรูปกิจการขายให้เอกชน และอีกประการคือการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นมากมายในตอนนี้ แม้เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของไทยก็ตาม

มร.เซลเลอร์กล่าวว่า "มีดีลทางธุรกิจเกิดขึ้นน้อยมากในเวลานี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วควรจะมีมากกว่านี้ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติ ยังไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์ของประเทศไทยในตอนนี้ แต่สำหรับซีดีซีนั้น เรารู้จักธุรกิจและนักธุรกิจที่นี่ดีพอ เรามีความมั่นใจว่ามีธุรกิจหลายอย่างที่น่าลงทุน แม้ว่ามีบางอย่างที่มีปัญหา แต่เราเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานที่ดีของประเทศ ทำให้เราเชื่อมั่นว่าจะลงทุนต่อไป"

เม็ดเงิน 200 ล้านเหรียญฯ ที่จะนำเข้ามาลงทุนนั้น เป็นเม็ดเงินที่มีการเจรจาและอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจเซ็นสัญญา ซึ่งหากไม่มีข้อขัดข้องก็คาดว่าจะนำเงินเข้ามาลงทุนได้ภายในปีนี้ด้วยซ้ำ โดยธุรกิจที่อยู่ระหว่างเจรจานั้นได้แก่ โทรคมนาคม โรงแรม พลังงาน และธุรกิจบริการซึ่งรวมถึงบริการด้านการเงินด้วย

วิธีที่จะลงทุนต่อไปนั้นจะเป็นในลักษณะของการร่วมทุน (ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 15%-25%) บวกกับการปล่อยกู้ ซึ่งจะเน้นให้เกิดควบคู่ไปในลักษณะของแพ็กเกจ โดยระยะเวลาที่จะร่วมลงทุนด้วยนั้นอยู่ในช่วง 3-5 ปี และการออกจากการลงทุนก็ทำได้หลายวิธี ซึ่งวิธีที่นิยมทำคือการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วขายออกในตลาด แต่วิธีนี้คาดว่าจะทำได้ยากในอนาคต เพราะสถานการณ์ตลาดหุ้นไม่ใคร่ดีนัก อีกวิธีหนึ่งคือการขายคืนให้ผู้ถือหุ้นเดิม

มร.เซลเลอร์กล่าวว่า "วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้ทำให้พวกเราหวาดหวั่น เราเชื่อมั่นในโอกาสทางธุรกิจระยะยาวของประเทศไทย และประเทศไทยยังคงมีนักธุรกิจที่มีฝีมือและมีธุรกิจที่ดีๆ อยู่มากมาย" นอกจากนี้เขายังออกตัวด้วยว่า "ซีดีซีไม่ใช่นักลงทุนประเภทอีแร้ง ที่เข้ามาหวังผลกำไรระยะสั้นแล้วตีจาก ซึ่งเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วตลอด 27 ปีที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว"

ทั้งนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซีดีซีก็เพิ่งอนุมัติเงินกู้ในรูปของ subordinated loan facility อายุ 10 ปี ให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในวงเงิน 45 ล้านเหรียญฯ โดยแบ่งเป็นของซีดีซี 20 ล้านเหรียญฯ และอีก 25 ล้านเหรียญฯเป็นของ DEG ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาเช่นเดียวกับซีดีซี แต่เป็นของเยอรมนี

การคิดอัตราดอกเบี้ยนั้น เนื่องจากแม้จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็มีการบริหารงานแบบเอกชน ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่นี่จึงไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ถูกเสมือนให้เปล่า แต่มีต้นทุนที่ต้องคิดด้วย ซึ่งสุปิยา อินทรทูต ผู้บริหาร สำนักงานซีดีซี ประเทศไทยกล่าวว่า "ปกติเราจะปล่อยด้วยอัตราที่กำหนดตายตัวหรือ fixed interest rate แต่ตอนนี้ก็อาจจะปรับเป็นอัตราลอยตัว อย่างไรก็ดี เราคิดอัตราอิงกับพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ หรือ Gilt rate บวกความเสี่ยงของประเทศและของโครงการที่เราปล่อยกู้ ซึ่งหากเทียบแล้วก็อยู่ในอัตรา LIBOR +3% ถึง 5% ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ซีดีซีใช้"

ทั้งนี้ ซีดีซีปล่อยเงินกู้ในรูปของเงินเหรียญสหรัฐและเงินปอนด์ ซึ่งโครงการและเงินกู้ในประเทศไทยที่ทำผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนหรือการกู้ในแต่ละโครงการระหว่าง 5-50 ล้านเหรียญฯ

ด้านข้อมูลการดำเนินงานของซีดีซีนั้น หน่วยงานแห่งนี้มีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอังกฤษ โดยรัฐบาลฯ ถือหุ้น 100% เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่มีนโยบายในการพัฒนาตลาดเกิดใหม่ โดยการเข้าไปลงทุนในภาคเอกชนในตลาดนั้นๆ

ซีดีซีมีเป้าหมายที่จะสร้างและช่วยขยายธุรกิจของประเทศ ที่มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจให้สามารถยืนหยัดได้ในระยะยาว รวมทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนด้านการลงทุน และเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของจรรยาบรรณอันเคร่งครัด

ในปี 2541 นี้เป็นปีฉลองครบ รอบ 50 ปีของการดำเนินงานของซีดีซี ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานในระดับภูมิภาค 27 แห่งทั่วเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

เมื่อสิ้นปี 2540 ที่ผ่านมานั้น ซีดีซีได้ลงทุน (gross investment portfolio) ไปแล้วเป็นจำนวน 1,600 ล้านปอนด์ ในธุรกิจมากกว่า 400 แห่งใน 54 ประเทศทั่วโลก ส่วนมูลค่าการลงทุนเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คิดเป็นเม็ดเงินราว 237 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดห

เมื่อสิ้นปี 2540 ซีดีซีมีรายได้เพิ่มขึ้น 12% จาก 141 ล้านปอนด์ในปี 2539 มาเป็น 158 ล้านปอนด์ในปี 2540 และมีกำไรประมาณ 64 ล้านปอนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 3% เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มีการขายเงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านปอนด์ในกิจการ BAL ซึ่งทำการผลิตน้ำมันปาล์มและเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของซีดีซี เป็นต้น

ในเดือนตุลาคม 2540 นายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์แห่งอังกฤษได้ประกาศแผนการแปรรูปกิจการซีดีซี ให้มีลักษณะเป็น public/private partnership โดยรัฐบาลอังกฤษจะขายหุ้นที่รัฐบาลถืออยู่ในซีดีซีออก 60% ซึ่งกระบวนการขายหุ้นครั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งให้ BZW เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการ และคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี จึงสำเร็จ เพราะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการขายหุ้นได้

นโยบายนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของซีดีซีในวาระที่ก่อตั้งมาได้ครบ 50 ปี ลอร์ด เครนส์ (Lord Cairns) ซึ่งเป็นประธานซีดีซี กล่าว ในรายงานประจำปี 2540 ว่า "นโยบายนี้จะทำให้ซีดีซีมีบทบาทมากขึ้น ในอันที่จะพัฒนาธุรกิจที่ได้ลงทุนไว้ในประเทศเกิดใหม่ต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีอุปสรรคจากการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลอังกฤษ" นอกจากนี้ เขามองว่านโยบายนี้ยังช่วยให้ซีดีซี "สามารถเข้าถึงตลาดทุนของเอกชน ขณะที่กลไกการดำเนินงานต่างๆ ของซีดีซียังคงเป็นในลักษณะเดิม เพื่อดำรงบทบาทในการพัฒนาภาคธุรกิจในประเทศยากจน (pre-emerging and emerging markets)"

ทางด้าน ดร.รอย เรย์โนลด์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ซึ่งจะเดินทางมาฉลองวาระครบรอบการก่อตั้ง 50 ปีในไทยในกลางเดือนนี้ ก็ได้เน้นย้ำในประเด็นเดียวกันว่า "การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนในอนาคตนั้น ซีดีซีจะคงดำเนินงานในลักษณะของธุรกิจเอกชน แต่จะไม่มีข้อติดขัดในเรื่องการถือครองหุ้นของรัฐบาล เจตนารมณ์ของการแปรรูปที่จะเกิดขึ้นก็คือดำเนินงานไปตามเป้าหมายเดิมของซีดีซี และทำในสิ่งที่ซีดีซีมีความชำนาญ ซึ่งก็คือ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาธุรกิจ ในประเทศกำลังพัฒนาที่ซีดีซีได้ทำมา และสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจให้แก่ผู้ถือหุ้น และดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณที่ดี"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.