เสี้ยวชีวิตอันขื่นขม : เบื้องหลังความสำเร็จของ พนม ฉัตรานนท์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มไฟแรงอย่าง พนม ฉัตรานนท์ ดีกรีนอกจากฟิลิปปินส์ ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน GTE DIRECTORIES CORP. ผู้จัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์รายแรกของประเทศไทย โดยได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นเวลา 17 ปี และ GTE นี่เองที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับสัญลักษณ์เยลโล่เพจเจจ หรือที่เรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันว่าสมุดหน้าเหลือง ซึ่งเป็นสมุดรายชื่อผู้เช่าโทรศัพท์ที่แบ่งเป็นหมวดธุรกิจประเภทต่างๆ นอกเหนือจากสมุดหน้าขาวที่มีรายนามผู้เช่าโทรศัพท์ทั่วไป

พนมจับงานขาย ซึ่งเป็นหัวใจของบริษัทนี้เป็นงานแรก เขาเริ่มไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย เป็นหัวหน้าฝ่ายขายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย และผู้อำนวนการฝ่ายขาย รวมทั้งรักษาการกรรมการผู้จัดการ ในยามที่กรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นชาวอเมริกันเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่บริษัทจะปิดตัวลงเมื่อปี 2530

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่เขาได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้านงานขายจาก GTE ทำให้เขามีความผูกพันและรักองค์กรนี้มาก จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งหัวใจของพนมแทบจะสลาย เมื่อบริษัทเขาถูกคำสั่งฟ้าผ่าให้ปิดการดำเนินงานสืบเนื่องมาจากเมื่อสิ้นปีที่ 17 ตามอายุสัมปทานที่ได้จาก ทศท. จะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ โดยการประมูลครั้งนั้นมี AT&T ซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของอเมริกาเข้าร่วมประมูลแข่งด้วย ในเงื่อนไขผลประโยชน์ที่สูงกว่า GTE ถึง 3 เท่า แต่พนมก็ไม่หวั่นวิตกใดๆ เพราะสเป็กการทำสมุดรายนามของ AT&T ไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ เขาจึงเดินหน้าการประมูลต่อไป แต่แล้วการประมูลครั้งนั้นก็ต้องมีการยกเลิกไปด้วยเหตุผลอันใดไม่มีใครทราบ และหลังจากนั้นก็ได้มีการจัดประมูลขึ้นใหม่ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาชุดใหม่รวมทั้งได้มีการแก้ไข สเป็กให้เป็นไปตามที่ AT&T เสนอมา เป็นเหตุให้ AT&T ชนะการประมูลในครั้งนั้นไปอย่างง่ายดาย

เมื่อเหตุการณ์ออกไปในรูปนั้น มีทางเลือกสำหรับ GTE 2 ทาง คือ ปิดบริษัทม้วนเสื่อกลับบ้าน หรือดำเนินธุรกิจอื่นต่อ ซึ่งในขณะนั้น GTE มีพนักงานร่วม 300 ชีวิต ทางคณะผู้บริหารจึงเลือกที่ดำเนินธุรกิจในเมืองไทยต่อไป โดยหันไปทำ BUSINESS DIRECTORIES แทน คือ เป็นสมุดธุรกิจอิสระ มีแต่รายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าไม่เกี่ยวกับสมุดรายนามโทรศัพท์ที่ ทศท.ให้สัมปทาน

หลังจากที่ GTE ดำเนินงานต่อไปได้ 3 ปี ปรากฏว่า AT&T ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ ทศท. ได้ตามกำหนด โดยให้เหตุผลว่า GTE เป็นคู่แข่งที่ทาง AT&T ไม่รู้มาก่อน ทำให้มีการแย่งลูกค้าลงพื้นที่โฆษณาในสมุดหน้าเหลือไป เนื่องจากลูกค้าสมุดหน้าเหลืองส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับ GTE มากกว่า และในที่สุดเพื่อเป็นการยุติปัญหานี้ ทาง ทศท.จึงได้ออก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในปี 2530 โดยมีใจความสำคัญว่า "...ผู้ใดก็ตามที่นำรายชื่อของผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์ไปตีพิมพ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากองค์การโทรศัพท์ก่อน

ไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ สำหรับ GTE อีกต่อไป ผู้คนกว่า 300 ชีวิตต่างต้องแยกกันเดินตามเส้นทางของตนเอง พนมในฐานะหัวเรือใหญ่ หรือเบอร์ 2 ในขณะนั้นถึงกับช็อก

"เป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสุดในชีวิต ที่จำใจต้องจากบริษัทซึ่งผมทำงานมาด้วยนานถึง 21 ปี เพราะบริษัทต้องปิดตัวลง มิใช่เพราะการทำงานที่ล้มเหลวหรือผิดพลาด แต่เป็นเพราะไม่สามารถท้าทายอำนาจรัฐใจขณะนั้นได้ ช่วงนั้นผมเสียใจมาก เบลอไปหมด ชนิดที่ขับรถไปตามทางยังไม่รู้เลยว่าอยู่บนถนนเส้นไหน ต้องขับตามเขาไป และทุกวันนี้เวลาที่คิดถึงวันเก่าๆ ก็มีสะกิดใจบ้างเหมือนกัน เหมือนมันเพิ่งเกิดเมื่อปีที่แล้วนี้เอง แต่วันเวลาผ่านไปก็เป็นเครื่องเยียวยาพอให้เราลืมไปได้บ้าง "พนมเล่าถึงเหตุการณ์ฝังใจเมื่อครั้งอดีตด้วยน้ำเสียงที่ขมขื่น

แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะเกิดมานานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังคงอยู่ในความทรงจำของ พนม จวบจนทุกวันนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีความผูกพันกับองค์กรแรกที่ตนเข้าไปทำงาน โดยไม่มีอุปสรรคไม่มีคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงมาร่วม 20 ปี พอเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าขึ้นมาย่อมขวัญกระเจิงไปบ้าง

อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกหลังจากวันวิปโยคของเขาเขาได้เข้าไปร่วมงานกับบริษัท ฟิลิป มอริส ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก สินค้าเด่นดังที่รู้จักกันทั่วโลก อาทิ บุหรี่มาร์ลโบโร ช็อกโกแลต ทรอเบอโรน เป็นต้น โดยในช่วงนั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก พล.อ. เปรมมาเป็น พล.อ.ชาติชาย ซึ่งกำลังมีกรณีพิพาทเรื่องมาตรา 301 กับอเมริกาที่หาว่าไทยกีดกันสินค้าของอเมริกา คือ บุหรี่มาร์ลโบโรที่อเมริกาพยายามจะผลักดันเข้ามา และอเมริกาขู่จะตัด GSP ไทย ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ต้องยอมเปิดเสรีนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ พนมได้เฝ้ามองเหตุการณ์นั้นอย่างใกล้ชิด โดยมีความคิดว่าต้องเข้าไปทำงานกับฟิลลิป มอริสให้ได้ ซึ่งที่สุดความหวังเขาก็เป็นจริง ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายคนแรกของฟิลลิป มอริส (ประเทศไทย)

"ตอนนั้นผมมีความคิดว่า อะไรที่รัฐบาลไม่ชอบผมจะทำ คุณปิด GTE ได้แล้วคุณมีปัญญาปิดบุหรี่นี่ไหม นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ผมตัดสินใจเข้าไปขายบุหรี่ ทั้งๆ ที่ผมเกลียดบุหรี่ที่สุด" นี่คือความคิดของพนมในช่วงที่ยังทำใจไม่ได้กับอดีตของเขาและหลังจากทำได้หนึ่งปี อาการแค้นก็เริ่มทุเลาลงเขาเริ่มกลับมามองโลกในแง่ดีขึ้นว่า "จะแค้นอะไรกันนักหนา" เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่รู้เรื่องกับรัฐบาลชุดเก่า ทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เขาจึงไม่อยากฝืนใจตนเองที่ต้องมาขายของที่ตนเองเกลียด และเท่ากับเป็นผู้หยิบยื่นสิ่งที่ไม่ดีต่อสังคม ด้วยการขอลาออกจากฟิลลิป มอริส ซึ่งพนมยอมรับว่า แม้จะทำงานกับฟิลลิป มอริสแค่ปีเดียว แต่เขาก็ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ด้านการขายคอนซูเมอร์โปรดักส์มากทีเดียว

จากการที่พนมอยู่ในสายงานการขาย การตลาดมาเป็นเวลานาน ประกอบกับชื่อเสียงและฝีมืออันเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ จนทำให้เขากลายเป็นนักขายมืออาชีพที่หลายบริษัทต่างจ้องจะฉกตัวเขาไปทำงานให้

ในปีถัดมาเขาได้รับการชักชวนให้ไปร่วมกับเดอะเนชั่นในตำแหน่งผู้อำนวยกรฝ่ายพัฒนาตลาด และในปีเดียวกันเขาก้ได้รับการโปรโมตให้เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของเนชั่น บุ๊คส์ และสองปีต่อมาเครือเนชั่นได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยกลายเป็น โฮลดิ้ง คอมพานี เขาได้ถูกดึงตัวไปรับหน้าที่เป็นรองกรรมการอำนวยการ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่เนชั่น

เป็นความบังเอิญอย่างหนึ่งของพนมที่เขามักจะเป็นผู้บุกเบิกบริษัทใหม่ๆ โดยเข้าไปเป็นผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ ใน DAY ONE ที่แพรนด้า จิวเวลรี่ก็เช่นเดียวกับ 3 บริษัทแรก โดยที่บริษัทนี้สามารถเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทพีม่าโกลด์ เลยย่อมได้ เพราะเขาเข้ามาส่วนในผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มแพรนด้าตั้งแต่ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ เดอะ เนชั่นแล้วในตำแหน่งที่ปรึกษาของแพรนด้า เนื่องจากในช่วงนั้นแพรนด้าได้รับสิทธิพิเศษ BOI และในรัฐบาลยุคนั้นมีนโยบายให้บริษัทที่ได้รับ BOI ผลิตสินค้าขายในประเทศได้ 20% ซึ่งแพรนด้าได้เปรียบในแง่ของต้นทุนสินค้าที่ถูกมากอยู่แล้ว ขาดแต่เพียงประสบการณ์ในการขายและทำการตลาดในประเทศเท่านั้น พนมจึงเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับตามองมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มงานที่ GTE และเขาเองที่เป็นคนริเริ่มโครงการพรีม่า โกลด์ขึ้นมากับมือ

พนม นั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับแพรนด้าฯ จนกระทั่งสินค้าของพรีม่าโกลด์ได้ออกวางตลาดเมื่อปี 2535 จากนั้นสิ้นค้าตัวใหม่นี้ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จากที่เริ่มต้นเพียง 1-2 สาขา และมีพนักงานไม่ถึง 10 คน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 100 คนในช่วงเวลาเพียงสองปีครึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นทาง แพรนด้าฯ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดพรีม่าโกลด์ไปสู่ต่างประเทศอีกด้วย ผู้บริหารของแพรนด้าจึงมีความต้องการให้พนมมานั่งทำงานให้อย่างเต็มตัว จนในที่สุดเมื่อปลายปี 2537 พนมยอมสละเก้าอี้ที่เดอะ เนชั่น มานั่งเก้าอี้ตัวใหม่ที่แพรนด้าฯ สำนักงานใหญ่ โดยรับผิดชอบตลาดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกก่อน รวมทั้งดูแลนโยบายและการบริหารให้กับพรีม่าโกลด์ด้วย จากนั้นเขาก็ได้รับการโปรโมตให้เข้ารับผิดชอบพรีม่าโกลด์เต็มตัว ในตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการบริษัทพรีม่าโกลด์ จำกัด จนถึงปัจจุบัน

สำหรับสาเหตุที่พนมตัดสินใจมาทำงานที่แพรนด้าฯ คือ การที่เขามีส่วนสร้างพรีมาโกลด์มากับมือ ซึ่งในตอนนั้นเขาไม่คิดว่าทางแพรนด้าจะจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทพรีม่าโกลด์ขึ้นมา เพื่อให้เขาดูแลโดยเฉพาะ เพราะแพรนด้าฯ มีสินค้าตัวอื่นอีกตั้งมากมาย และที่สำคัญกว่านั้นคือ "ตลาดต่างประเทศ" ที่ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของชายหนุ่มเลือดนักขายผู้นี้หลังจากที่คลุกคลีกับตลาดในประเทศมานาน

"ในความคิดของผม ตลาดในประเทศเหมือนการจับปลาในอ่าวไทย ซึ่งตอนนี้ไม่มีปลาให้จับแล้ว ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกไปจับปลาในมหาสมุทรบ้าง เพราะน่านน้ำสากลมีปลาให้จับเยอะแยะไม่มีที่สิ้นสุด และประเทศชาติจะเจริญได้ ต่อเมื่อเรามีการค้าระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง เราต้องก้าวไปสู่ตลาดสากลได้แล้ว" นี่คืออีกมุมมองหนึ่งของพนม

"พรีม่าโกลด์" เกิดจากตลาดในประเทศ โดยเปิดเอ๊าท์เล็ตขายแห่งแรกที่ไทม์สแควร์เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จากนั้นมีการขายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีถึง 30 แห่งในปัจจุบันส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ได้เริ่มบุกอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา โดยรุกไปที่อินโดนีเซียเป็นตลาดแรก ตามมาด้วยมาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ดูไบ และตลาดในตะวันออกกลางอีกปลายประเทศ และปัจจุบันมีเอ๊าท์เล็ตพรีม่าโกลด์เกือบ 200 ใน 10 ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียและตะวันออกกลาง

นอกจากนั้น พนมได้วางนโยบายระยะยาวที่ชัดเจนอีกว่า ต้องการสร้างชื่อของ "พรีม่าโกลด์" ให้เป็นแบรนด์ระดับนานาชาติ เฉกเช่นแบรนด์ระดับโลก เช่น คริสเตียนดิออร์ กุชชี่ โรเล็กซ์ หรือบัลลี่ เป็นต้น โดยเขามองเห็นลู่ทางว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตและประดิษฐ์สินค้าทองรูปพรรณ 24K ได้อย่างประณีตสวยงามไม่แพ้ประเทศอื่น ยิ่งกว่านั้น พรีม่าโกลด์ยังมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดดูไบที่กำลังมาแรง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างให้ "พรีม่าโกลด์" กลายเป็นพรีเมียมแบรนด์ระดับนานาชาติที่ระบุว่า "เมด อิน ไทยแลนด์"

"คิดดูสิ คนที่ซื้อกระเป๋ายี่ห้อดังๆ ใบละ 3-4 หมื่นบาทอย่างหน้าตาเฉย ทั้งที่มีต้นทุนสินค้าจริงๆ ไม่กี่พันบาทนอกนั้นบวกเป็นค่าแบรนด์ และคนที่ซื้อนาฬิกายี่ห้อดังๆ ราคาเป็นแสนเป็นล้านก็มีให้เห็นเยอะไป ต้นทุนพวกนี้ก็อาจไม่ถึง 20% คิดเอาเองว่า เจ้าของสินค้าจะได้กำไรจากการขายสินค้าของตนขนาดไหน เราเองก็อยากได้อย่างนั้นกับเขาบ้าง" พนมกล่าว

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ส่งผลให้ยอดขายในประเทศของพรีม่าโกลด์ลดลงไปอย่างฮวบฮาบ แต่โชคยังดีที่พรีม่าโกลด์มีตลาดต่างประเทศมาช่วยไว้ โดยสัดสว่นรายได้ต่างประเทศต่อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 70:30

เวลาที่เหลือต่อจากนี้ เป็นเวลาของพนมที่จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่มีความสามารถ ที่จะมานั่งทำหน้าที่แทนเขาได้ในวันที่เขาเกษียณตัวเองจากพรีม่าโกลด์ ซึ่งพนมได้ให้เหตุผลว่า "ผมทำงานมาเป็นเวลานานร่วม 30 ปี ถึงเวลาที่จะเกษียณตัวเองได้แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนผมจะได้ไปทำในสิ่งที่อยากทำให้กับตัวเองบ้าง โดยเฉพาะงานเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นผลงานที่ผมรักมาก"

แม้ว่า พนมมีแผนจะวางมือจากงานมือปืนรับจ้างที่ทำให้กับคนอื่นมาตลอดทั้งชีวิต แต่ใช้ว่าหลังจากนั้นเขาจะไม่ทำอะไรเลย เพราะธรรมชาติของเขาไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งเฉยได้ การเขียนและการสอนหนังสือจะกลายมาเป็นงานในบั้นปลายชีวิตของเขาต่อไป และบาดแผลในวันเก่าๆ ของเขา ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เขาใช้สอนคนรุ่นหลัง ให้ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตาที่มาเล่นบทร้ายบ้างในช่วงของชีวิต เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.