จากไพรัชถึงทวีศักดิ์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และคนในเนคเทคเองก็ไม่คาดคิดว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการเนคเทคจะได้มาอย่างยากเย็นเช่นนี้

ทั้งๆ ที่ดร.ทวีศักดิ์ เป็นทายาทที่ถูกวางตัวไว้ตั้งแต่ต้น

แม้ดร.ทวีศักดิ์ จะอ่อนอาวุโสที่สุดเมื่อเทียบกับรองผู้อำนวยการอีก 3 คน อันประกอบไปด้วย ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ , ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร, ดร.พันธุ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์

แต่คุณสมบัติของเขากลับเข้าตาคณะกรรมการสรรหามากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตผู้อำนวยการเนคเทค ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาถึง 8 ปี เต็มอันเป็นเวลาที่ยาวนานพอที่จะทำให้ ดร.ไพรัชต้องหาทายาทที่ไม่เพียงต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานเข้าขากันได้ เพราะหลังจากตำแหน่งผู้อำนวยการเนคเทคหมดอายุลง ก็ได้รับโปรโมตให้เป็นผู้อำนวยการ สวทช. ที่ต้องกำกับดูแลเนคเทคโดยตรง

ดร.ทวีศักดิ์ เป็นศิษย์เก่าเตรียมอุดม บินไปคว้าปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านวิศวะไฟฟ้า จากอิมพีเรียล คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน หลังคว้าดอกเตอร์ได้แล้วก็บินกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนจะย้ายมาสอนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่หลายปี และตอนหลังยังเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ทวีศักดิ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในแวดวงธุรกิจมากมาย

ในช่วงที่สอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ทวีศักดิ์ก็เริ่มทำงานวิจัยและพัฒนาระบบภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ และงานวิจัยด้านต่างๆ กับทางเนคเทค อันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ ดร.ทวีศักดิ์ ต้องหันเหจากชีวิตอาจารย์มาทำงานที่เนคเทคอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากงานพาร์ทไทม์ที่เนคเทคเป็นเวลาถึง 4 ปีครึ่ง ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากธรรมศาสตร์มานั่งทำงานประจำที่เนคเทคอย่างเต็มตัว

ทำงานในเนคเทคไปได้พักหนึ่ง ดร.ทวีศักดิ์ ก็ไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการในบริษัทอินเตอร์เน็ต ประเทศไทย ที่เนคเทคตั้งขึ้นมาโดยร่วมทุนกับการสื่อสารฯ และองค์การโทรศัพท์ฯ ในฐานะที่เป็นผู้รู้เรื่องอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดี และเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ และบริหารงานอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะย้ายกลับมาดูแลงานในเนคเทคอีกครั้ง

มาครั้งนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ก็เริ่มรับผิดชอบงานมากขึ้น โดยเฉพาะงานทางด้านโครงข่ายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นโครงการสคูลเน็ต, เครือข่ายไทยสาร และโครงการ GINET ซึ่งนับได้ว่าโครงการขนาดใหญ่ของเนคเทค อันถือเป็นบันไดชั้นดีของ ดร.ทวีศักดิ์ที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งในอนาคต

เพราะในขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์ได้รับมอบหมายให้ดูงานใหญ่ๆ รอบด้าน แต่รองผู้อำนวยการทั้ง 3 คนก็รับผิดชอบงานเฉพาะด้านที่ตัวเองถนัดไปอย่างเงียบๆ

ดร.ทวีศักดิ์ ได้รับแตกต่างให้เป็นคณะกรรมการในโครงการต่างๆ ทางด้านไอทีของประเทศไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ ยิ่งให้ช่วงหลังๆ ยังเข้าไปมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาในโครงการสื่อสารโทรคมนาคมให้กับกระทรวงคมนาคม ในโครงการร้อนๆ อย่างเอสดีเอช โดยเป็น 1 ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องราคาอุปกรณ์ของโครงการนี้ ที่มี สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เป็นประธาน และยังเป็นประธานชุดทำงานพิจารณาด้วยเทคนิคของโครงการเอสดีเอช ที่บอร์ด ทศท.ตั้งขึ้นล่าสุด และการประมูลคัดเลือกอุปกรณ์ขององค์การโทรศัพท์ฯ อีกหลายโครงการ

ชื่อของ ดร.ทวีศักดิ์จึงค่อนข้างคุ้นหูเป็นอย่างดี อยู่ในแวดวงวิชาการ และในหน่วยงานอื่นๆ

ถึงแม้จะเจออุปสรรคบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคชั่วคราว ที่เวลานี้ก็ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะได้อนุมัติจากบอร์ดเนคเทคเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว เพราะได้แรงหนุนที่ดีอย่าง ดร.ไพรัช



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.