จุดจบแบงเกอร์ไทย โฉมใหม่อุตสาหกรรมธนาคาร


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

14 สิงหาคม เป็นวันที่หลายคนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ แม้จะมีข้าวแพลมออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินที่ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยตัวเอง และแนวทางการดำเนินการธนาคาร 4 แห่ง ที่รัฐบาลประกาศเข้ายึดอำนาจการบริหารและการถือหุ้นเมื่อ 23 ม.ค. (ธ.ศรีนคร) และ 6 ก.พ. 2541 (ธ.นครหลวงไทย, ธ.มหานคร และ ธ.กรุงเทพฯ พาณิชย์การ) แต่ปฏิบัติการจริงๆ เริ่มได้หลังเจรจาปรึกษากับเจ้าที่ไอเอ็มเอฟและเอดีบี - เจ้าของเงินกู้รายใหญ่ของประเทศไทยตอนนี้

นายกฯ ชวน หลีกภัย พร้อมรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจหลายท่านได้แถลงข่าวครั้งสำคัญนี้ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และได้รับการตอบรับในทางบวกถึง 12.75% จากที่ตกต่อเนื่องกันมาหลายวัน เพราะความอึมครึมและการรอคอยการประกาศมาตรการของรัฐบาล

ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่าวันที่ประกาศมาตรการแผนฟื้นฟูฯ นี้ รัฐบาลได้เข้ามาทำหน้าที่ครบ 9 เดือนพอดี ซึ่งรัฐบาลก็จัดให้มีมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการเน้นในเวลานี้คือมาตรการที่ออกไปแล้ว เช่น เรื่องการลดดอกเบี้ย เรื่องกระบวนการประนอมหนี้ รวมถึงเร่งรัดกรณีพิพาททางการเงินให้ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพในกระบวนการศาล

อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆ ที่ออกมายังไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญของสถาบันการเงินในเวลานี้ ปัญหาที่ว่าคือเรื่อง "ทุนประกอบการของระบบการเงินทั้งหมด" ซึ่งสถาบันการเงินส่วนมากไม่สามารถหาทุนประกอบการใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ให้เพียงพอกับภาระหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

ประกอบกับที่ธนาคารพาณิชย์รายงานตัวเลขผลการขาดทุนในครึ่งปีแรกที่มีสูงถึง 113,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายความว่า ความสามารถที่จะปล่อยสินเชื่อประมาณ 12 เท่าของตัวเลขนี้ ขาดหายไปจากระบบ ขณะที่เม็ดเงินที่ธนาคารมีอยู่ก็ต้องนำมาใช้ในการตั้งสำรองหนี้ ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลจึงออกมาตรการแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินขึ้นมา เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหาที่เป็นคอขวดนี้ให้ได้

แผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินหรือ Finacial Sector Restructuring มีเนื้อหาหลักๆ 9 เรื่อง คือ (ดูล้อมกรอบกำหนดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ประกอบ)

1. โครงการช่วยเหลือด้านเงินกองทุน เป็นการให้ความสนับสนุนเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ 2 สำหรับสถาบันการเงินที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

2. การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประเด็นคือ

- อัตราความพอเพียงโดยรวมของเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์จะคงอยู่ที่ร้อยละ 8.5 (ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน BIS เล็กน้อย) และร้อยละ 8 สำหรับบริษัทเงินทุน ทั้งนี้โดยสัดส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 2 จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 ของเงินกองทุนทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล (BIS)

- เงินกันสำรองสำหรับหนี้ปกติในอัตราร้อยละ 1 จะสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้

- เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งประนอมหนี้ สถาบันการเงินที่ใช้เกณฑ์การจัดชั้นและกันสำรองจนถึงปี 2543 สามารถทยอยตัดจำหน่ายส่วนสูญเสียจากการประนอมหนี้ได้ในช่วงเวลา 5 ปี

3. ทางการเข้าแทรกแซงธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง และมีแผนงานจัดการสำหรับแต่ละแห่งดังนี้

- ธนาคารศรีนครและธนาคารนครหลวงไทย จะต้องเพิ่มทุนเพื่อให้สามารถปฏิบติตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์และกันสำรองปี 2543 ได้ครบ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินและสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากเงิน หลังจากนั้นจะเสนอขายต่อภาคเอกชนโดยเร็ว โดยให้มีผลกระทบต่อสาธารณชนน้อยที่สุด

- ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจะกลายเป็นสถาบันที่บริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้โดยจะโอนสินทรัพย์คุณภาพดี ลูกค้าผู้ฝากเงิน และหนี้สินไปยังธนาคารกรุงไทย

- ธนาคารมหานครจะรวมกิจการเข้ากับธนาคารกรุงไทย โดยมีเงื่อนไขการแบ่งความรับผิดชอบในส่วนสูญเสีย เช่นเดียวกับกรณีของธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนคร

4. ธนาคารกรุงไทยจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากรัฐบาล เพื่อเพิ่มเงินกองทุนให้เพียงพอสำหรับรองรับการกันสำรองเผื่อความสูญเสียจนถึงปี 2543 อย่างไรก็ดี การจัดให้เงินดังกล่าว จะกระทำภายหลังจากแผนการปรับโครงสร้างของธนาคารได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว อนึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยลงภายใน 2 ปี

5. ธนาคารพาณิชย์อีก 2 แห่ง ที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงในวันที่ 14 ส.ค. มีการจัดการดังนี้

- ธนาคารสหธนาคารและธนาคารแหลมทองถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซง โดยให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับผิดชอบในส่วนสูญเสียทั้งสิ้นที่เกิดจากการลดทุน และให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าถือหุ้นเพิ่มในรูปแบบการแปลงหนี้เป็นทุน

- ธนาคาสหธนาคารและธนาคารแหลมทองจะถูกควบรวมกิจการเข้ากับสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งได้แก่ บงล.กรุงไทยธนกิจ และ ธนาคารรัตนสิน ตามลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจแข่งกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้

6. บริษัทเงินทุน การดำเนินงานของระบบบริษัทเงินทุนจะต้องมีการรวมตัวกันมากขึ้น โดยการเข้าแทรกแซงของรัฐบาล ล่าสุดจะมีการควบรวมกิจการกับ บงล.กรุงไทยธนกิจ และธนาคารสหธนาคาร ซึ่งเมื่อปรับโครงสร้างสถาบันการเงินเหล่านี้เรียบร้อยแล้วก็จะขายให้เอกชนต่อไป

7.การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาคเอกชน (private AMCs) เพื่อเอื้ออำนวยให้การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นพอสมควร รัฐบาลจะดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาคเอกชนขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้กำหนดแนวทางการดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวต่อไปโดยเร็ว

8. การออกกฎหมายรองรับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจะเสนอให้มีการออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขข้อติดขัดทางกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์, การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ และการให้อำนาจรัฐบาลในการออกพันธบัตรระดมทุนที่จะใช้เพื่อการนี้

9. ภาระทางการเงินของรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินนี้ จะได้รับการชดเชยจากเงินที่ได้จากการขายสถาบันการเงินของรัฐให้แก่เอกชนในอนาคต รวมทั้งราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งนี้ หากจำนวนเงินจากการออกพันธบัตรไม่พอเพียงสำหรับการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินดังกล่าว รัฐบาลจะตั้งงบประมาณเพื่อรองรับภาระทางการเงินดังกล่าวในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า

แผนฟื้นฟูฯ ของรัฐบาลมีผลทำให้กลุ่มตระกูลเจ้าสัวธนาคารสูญหายไปจากระบบอีก อย่างน้อย 3 ตระกูล จากเดิมที่ทยอยร่วงหายไป จนอาจกล่าวได้ว่า ตอนนี้ที่เห็นๆ อย่างชัดเจนเหลืออยู่แค่ 2 ตระกูลใหญ่ ขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ และหวั่งหลี ยังน่าจะเป็นประเภท "คาบลูกคาบดอก" ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ที่จะสะกัดการพุ่งขึ้นของตัวเลข NPL

แบงเกอร์ระดับบริหารรายหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ก่อนหน้ารัฐบาลประกาศแผนฟื้นฟูฯ ว่า "ประเทศไทย ณ ขณะนี้มันเป็นอย่างนี้ คือทุกคนนั่งทำตาปริบๆ คนที่ไม่เข้าเกณฑ์หลัง 30 มิ.ย.มา ก็ทำตาปริบๆ เพราะจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะไปบอกให้ไปหาทุน ก็ไม่มีปัญญาที่จะไปหา หมากมันก็อยู่ในมือของรัฐบาลกับสภาฯ ที่จะตัดสินว่าจะนำประเทศไทยไปสู่ทางใด ด้วยวิธีการอย่างไร"

เขาคาดหมายไว้ว่า "มาตรการที่รัฐบาลจะประกาศต่อไปนั้น มันต้องรุนแรงโดยธรรมชาติ เพราะว่าไข้มันขึ้นรุนแรง เพราะว่าเม็ดเงินเม็ดใหญ่ และต้องมีคนที่สูญเสีย มีคนที่ไม่เข้าใจ"

ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีอยู่ 15 แห่งนั้น ถือเป็นธนาคารของรัฐและสถาบันเสีย 3 แห่ง (ธ.กรุงไทย, ธ.ไทยพาณิชย์ และ ธ.ทหารไทย) ที่เหลือเป็นของเอกชนล้วนๆ อย่างไรก็ดี เมื่อธนาคาร 6 แห่ง ถูกรัฐยึดไปดังที่กล่าวมา ก็เหลือธนาคารพาณิชย์ของเอกชนจริงๆ อยู่ 6 แห่ง (กลุ่มที่หนึ่ง และสอง) ในจำนวนนี้อาจแบ่งกลุ่มธนาคารได้ 3 ประเภทตามสถานการณ์การเพิ่มทุน (ดูตารางทุนประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย) ซึ่งได้แก่:

- กลุ่มแรก (4 แห่ง) ธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มทุนสำเร็จแล้วมี 2 แห่ง คือ ธ.กรุงเทพ และ ธ.กสิกรไทย และธนาคารพาณิชย์ที่เจรจาขายหุ้นเพิ่มทุนให้ต่างชาติสำเร็จ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ธ.ไทยทนุ และ ธ.เอเชีย

- กลุ่มสอง (4 แห่ง) ธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ คือ ธ.กรุงศรีอยุธยา, ธ.นครธน (ธ.ทหารไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้)

- กลุ่มที่สาม (5 แห่ง) ธนาคารของรัฐ ซึ่งได้แก่ ธ.กรุงไทย (+ธ.มหานคร, ธ.กรุงเทพฯ พาณิชย์การ) , ธ.รัตนสิน (+ธ.แหลมทอง) , ธ.สหธนาคาร (+บงล.กรุงไทยธนกิจ +12 ไฟแนนซ์), ธ.นครหลวงไทย และ ธ.ศรีนคร

ดังนั้น ธนาคารไทยในอนาคตจะมีรวม 13 แห่ง (ดูตารางทุนประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย) ซึ่งปรากฏว่าธนาคารกลุ่มที่สามนั้นกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่ มีทุนจดทะเบียนสูง ในขณะที่ธนาคารกลุ่มที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จเรื่องการเพิ่มทุนและการหาผู้ร่วมทุนต่างชาติ กลายเป็นธนาคารขนาดกลางและเล็ก ซึ่งต้องเริ่มคิดปรับตัวรับมือกับกลุ่มที่สามส่วนกลุ่มที่สองนั้นยังจัดเป็น "สถาบันคาบลูกคาบดอก" โดยส่วนใหญ่ เพราะยังไม่มีใครเพิ่มทุนสำเร็จ และเป็นที่เข้าใจว่ากลุ่มนี้ควรจะเข้าโครงการรับความช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุนของรัฐบาล

กสิกรไทยยังประคองตัวได้

ธ.กสิกรไทยเป็นธนาคารรายแรกที่เพิ่มทุนสำเร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในปีที่แล้วนั้น ต้องถือว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของธนาคาร เพราะไปขายหุ้นเพิ่มทุนในช่วงเวลาที่ตลาดใกล้วาย นักลงทุนต่างชาติเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่อย่างเอเชียแล้ว

บัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ที่เราไปเพิ่มทุนตอนนั้นก็เฮงมหาศาล คือไปตลาดเปิดช่องนิดเดยวเท่านั้นที่เราสอดตัวเข้าไปได้ พอพ้นแล้วมันก็ปิดปึงเลย ปิดทันที คนอื่นจะตามไปก็ทำไม่ได้ และให้เราทำอีกทีเราก็ทำแบบนั้นไม่ได้"

ในสิ้นปี 2540 ธนาคารยังแสดงผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิอยู่ 801 ล้านบาท ขณะที่ในครึ่งแรกของปี 2541 เริ่มแสดงผลการขาดทุนสุทธิ 3,915 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,003 ล้านบาท (ดูตาราง ธ.กสิกรไทย)

คาดว่าเมื่อถึงงวดสิ้นปี ธนาคารก็จะรายงานผลการขาดทุนอีก ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม บัณฑูรกล่าวถึงแนวนโยบายของเขาว่า "เราก็แค่ประคับประประคองไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เราก็รู้ว่าเราไม่มีทางดีกว่าประเทศไทย ถ้าประเทศไทยจม ทั้งกองนี้จมลงไป กสิกรไทยต่อให้อยู่บนยอดของกองนี้ มันก็จมในที่สุด มันก็ลงใต้น้ำเหมือนกัน โจทย์ในขณะนี้มันต้องแก้ประเทศไทยก่อน คนอื่นถึงมีโอกาสแก้ได้"

แต่การแก้ปัญหาประเทศไทยในเวลานี้ โจทย์ใหญ่สุดก็คือการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และไม่ใช่เรื่องที่จะแก้กันได้ง่ายๆ บัณฑูรพูดแสดงความเห็นใจคนที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาเวลานี้ "คนพยายามแก้ก็เป็นคนที่ตั้งใจดีแก่ประเทศ แต่มันไม่ใช่คำตอบที่ง่ายๆ และก็ตอบกันอย่างไม่เต็มปาก"

ตัวบัณฑูรนั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาออกมาแสดงความเห็นในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เสนอให้ปิดการดำเนินงานธนาคารธนาคารที่ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ แต่เมื่อถึงวันนี้เขาเริ่มเข้าใจว่ามันมีความละเอียดอ่อนอยู่หลายอย่าง และการดำเนินการแก้ไขก็ต้องหาวิธีการจัดการตาม "ระบอบแบบไทยๆ"

"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ 4 แบงก์ มันอยู่ที่ว่าที่เหลือนี่เขาจะทำอย่างไร เขาต้องให้จบลงตัว สมมติว่าปิด 4 แบงก์วันนี้ แล้วคนแห่ไปถอนในธนาคารอื่นๆ เขาจะทำอย่างไร ปิด 4 แบงก์ก็เป็นเรื่องใหญ่ในตัวมันเอง แล้วมันเกิดไปกระตุกความรู้สึกของตลาด แล้วไปแห่ถอนเงิน ซึ่งก็ต้องให้คนถอน ด้วยการเอาเงินกองทุนฟื้นฟูใส่เข้าไป เมื่อเอาเงินประชาชนใส่เข้าไป ผู้ถือหุ้นเดิมก็ต้องเหลือ 1 สตางค์" ซึ่งแนวทางที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติได้ทำมาแล้วกับ 4 ธนาคาร

ในส่วนของการประครองฐานะของธนาคารกสิกรไทยในปีนี้นั้น ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สูญ (loan-loss provisions) ไว้ 12,580.38 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2541 (ดูตารางการขาดทุนสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์) เทียบกับเมื่องวดสิ้นปี 2540 ที่ตั้งสำรองหนี้ 26,717.1 ล้านบาท (โดยมีตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งสิ้น 105,379.2 ล้านบาท) และธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Capital Adequacy Ratio (CAR) เกิดกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดคือมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 11.58% และมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 เท่ากับ 9.63% เมื่อสินปี 2540 และหลังจากที่ธนาคารเพิ่มทุนครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วจนทำให้มีทุนจดทะเบียนรวม 11,760 ล้านบาทนั้น บัณฑูรเห็นว่าธนาคารยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก "ยังพอจะไปรอดไปอีกพักหนึ่ง"

อย่างไรก็ดี ในสายตานักวิเคราะห์นัก บล.ทิสโก้คาดหมายว่า ปีนี้ธนาคารจะมีการดำเนินงานขาดทุนสูงถึง 14,912 ล้านบาท (ในครึ่งปีแรกธนาคารขาดทุนเกือบ 4,000 ล้านบาท) ซึ่งเหตุผลหลักของการขาดทุนมากขนาดนี้มาจากการเพิ่มการตั้งสำรองหนี้นั่นเอง

ธนาคารฯ มีสัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPl ในงวดครึ่งแรกของปีนี้ 23% แต่โกลด์แมน ซาค ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่นำธนาคารฯ ไปขายหุ้นเพิ่มทุนจนสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว คาดหมายตัวเลข NPL สูงสุดของธนาคารว่าอยู่ที่ระดับ 38-43% ซึ่งหาก NPL เพิ่มสูงขนาดนี้ ธนาคารก็ต้องมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว

ปัญหาสำคัญสำหรับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเพิ่มทุนสำเร็จแล้วอยู่ที่ปัญหารวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการที่ธนาคารอื่นๆ ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ เป็นเหตุให้การดำเนินงานของระบบธนาคารชะงักงัน การปล่อยสินเชื่อมีน้อยมาก (ตัวเลขล่าสุดแสดงว่าระบบธนาคารของรัฐมีการปล่อยสินเชื่อออกมามากกว่าธนาคารพาณิชย์)

นอกจากนี้ การแข่งขันในเรื่องเงินฝากในช่วงหนึ่งเป็นเหตุให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มสูงมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าส่วนต่างหรือ spread นั้นแทบไม่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเคยเพิ่มสูงถึง 200 basis points แต่ในระยะหลังเมื่อแบงก์ชาติเริ่มปรับนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย ก็มีผลให้ธนาคารต่างๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งกสิกรไทยก็เป็นหนึ่งในแบงก์ที่นำร่องในเรื่องนี้

บัณฑูรกล่าวว่า "ดอกเบี้ยเงินฝากนี่มันขึ้นมาค้ำคอสถาบันการเงินจนกระทั่งมันติดลบอยู่แล้ว (การลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น) อาจจะเรียกว่าเป็นการกู้คืนบางส่วนกลับไปเท่านั้นเองจนกระทั่งพอเรากู้คืนได้ส่วนหนึ่ง ก็พอที่จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ส่วนหนึ่ง"

การที่ดอกเบี้ยลดลงก็ทำให้ต้นทุนเงินของแบงก์ลดลงด้วย และแบงก์อาจจะพอหากำไรจากส่วนต่างได้บ้าง ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วยังมี spread ถึง 3.3% และสูงกว่านี้ในยามที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์

อย่างไรก็ดี ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในสายตานักวิเคราะห์ค่ายทิสโก้ เพราะมีการคาดหมายว่าแม้ปีนี้จะมีการขาดทุนมาก แต่ในปีถัดไป ธนาคารก็จะเริ่มมีกำไนพอประมาณ 2,177 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดรายหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสถาบันการเงินของรัฐบาล ว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้หรือไม่

ในส่วนของการถือหุ้นของตระกูลล่ำซำนั้น ต้องถือว่าเป็น 1 ใน 2 ตระกูลที่สามารถรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้นและอำนาจการบริหารไว้ในมือได้ แม้จะล่วงเข้าสู่คนรุ่นที่ 3 ของตระกูลแล้ว บัณฑูรยกประโยชน์ใหักับความเฮงของตัวเขาและธนาคาร

เขากล่าวว่า "มันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ นี่มันเข้ารุ่นที่ 3 แล้ว ดังนั้นการถือหุ้นโดยธรรมชาติที่ผ่านมานั้นมันก็เจือจางลง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของกลุ่มตระกูลหรอก แต่ความล่มสลายของระบบมันก็ฟาดหางโดนหมดทุกคน เพราะที่ล้มๆ ไปก็มีทั้งที่เป็นตระกูลและไม่ใช่ เพราะถ้าไปปล่อยผิดทางและจังหวะผิดหมด มันก็พังทั้งนั้น ไอ้ที่เหลือก็มีความเฮงอยู่พอสมควร" ซึ่งเขาหมายถึงเรื่องการเพิ่มทุนเมื่อปีก่อนของธนาคาร

อย่างไรก็ดี มีคุณูปการที่ธนาคารได้สั่งสมมาซึ่งเป็นเหตุให้ธนาคารสามารถรักษาตัวรอดในครั้งนี้ได้ และผู้ถือหุ้นตระกูลล่ำซำก็รอดตัวด้วยนั้นก็คือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของการบริหารธนาคารในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา

บัณฑูรอธิบายว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็คือการไปเร่งอัตราการเติบโตของธนาคารให้ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว "การไปเร่ง speed ให้ใหญ่ เพราะไม่ใหญ่ที่มันยืนไม่อยู่ในกระแส ใหญ่นี่ยังพอมีแรง คนยังเชื่อถือได้บ้าง ดังนั้นที่บอกว่าเป็นตระกูลแล้วยังเล็กๆ ต๊อกๆ แต๊กๆ อยู่นี่ ไม่มีทางหรอก พอมรสุมมาก็พัดกระเด็นไปหมด"

ธนาคารกสิกรไทยมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในสมัยของบัญชา ล่ำซำ - บิดาของบัณฑูร ก่อนหน้านั้นธนาคารเป็นแค่แบงก์ขนาดกลาง แต่ในสมัยบัญชา ธนาคารมีอัตราการเติบโตถึง 30% ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นเหตุให้แซงหน้าธนาคารหลายแห่งและก้าวมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับแบงก์ใหญ่คือ ธ.กรุงเทพ

แม้ว่าในช่วงที่บัณฑูรเริ่มรับตำแหน่งบริหาร และเขามีนโยบายเรื่องรีเอนจิเรียริ่ง ซึ่งมีผลให้ลดเจ้าหน้าที่ลงมากนั้น นโยบายนี้กลับมีผลดีต่อการเผชิญหน้าวิกฤติเศรษฐกิจในตอนนี้ นโยบายดังกล่าวมีผลทำให้ "ต้นทุนไม่บานปลาย ไม่อย่างนั้น ในบางปีกสิกรไทยเพิ่มคนกว่า 800 คน ถ้าขืนยังทำกันอยู่แบบนี้ ป่านนี้ก็ตายเลือดจมแน่นอน เราหยุดเพิ่มคนมา 5-6 ปีแล้ว ซึ่งแสดงว่าจริงๆ แล้วธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ไม่วาจะอาศัยความเก่งหรือความเฮง หรือกระทั่งตำรวจฮวงจุ้ยก็ตาม ธนาคารก็ได้แสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงตัวเองให้มีความเข้มแข็งมั่นคงพร้อมจะฝ่ามรสุมใหญ่ลูกนี้ไปได้ โดยมีข้อแม้ว่าเศรษฐกิจส่วนรวมต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างดีด้วยจากทางการ

นอกจากนี้ ตระกูลล่ำซำก็ยังคงรักษาอำนาจการนำการบริหารและสัดส่วนการถือหุ้นที่มีนัยสำคัญไว้ได้ด้วย อย่างไรก็ดี การเข้าแทรกแซงของรัฐต่อธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง และมีผลทำให้เปลี่ยนแปลง scenario ของธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคตนั้น เป็นเรื่องที่เหล่าเจ้าสัวต้งอเริ่มขบคิดถึงอนาคตแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความใหญ่ของธนาคารที่บัณฑูรกล่าวถึงและใช้เวลาสร้างสมมานานนั้น มาบัดนี้ก็สูญหายไปในพริบตาเมื่อ รมว.ธารินทร์ประกาศแทรกแซงธนาคาร 6 แห่งตามแผนฟื้นฟูฯ

แบงก์กรุงเทพต้องคิดวางกลยุทธ์ใหม่

ธนาคารที่เคยมีขนาดใหญ่สุดในประเทศแห่งนี้ใช้นโยบายที่ระมัดระวังยิ่งในการดำเนินการ โดยเมื่อปีที่แล้วมีนโยบายตั้งสำรองหนี้ที่สูงมากอย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคารรายงานว่า ณ งวดสิ้นปี 2540 ธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 57,925.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่เกิดกว่าจำนวนที่ต้องกันไว้ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารรายงานว่า "สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ธนาคารต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเป็นพิเศษ โดยคำนึงถึงเสถียรภาพและความมั่นคงระยะยาวเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นในปีนี้ ธนาคารจึงกันค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนที่สูงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว"

ส่วนงวดครึ่งแรกของปี 2541 นี้ ธนาคารก็มีการตั้งสำรองฯ 25,353.27 ล้านบาท ขณะที่มีรายงานการขาดทุนสุทธิ 16,385.13 ล้านบาท (ดูตารางขาดทุนสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์) และธนาคารคาดหมายด้วยว่าจะแสดงผลการขาดทุนไปอีกประมาณ 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง แต่ในสายตาของนักวิเคราะห์จาก บล.ทิสโก้เห็นว่าธนาคารสามารถฟื้นตัวได้ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี ผลจากการประกาศแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของรัฐบาลเมื่อ 14 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ทำให้การคาดหมายต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่หมด แม้ว่าธนาคารจะเอาตัวรอดฝ่าวิกฤติมาได้ในขั้นหนึ่งแล้ว แต่ต่อไปธนาคารต้องเร่งพิจารณาเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สูญ ซึ่งรัฐบาลมีโครงการให้ความสนับสนุนด้านเงินทุน โดยเฉพาะการเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 2 ซี่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการประนอมหนี้ และไม่มีเงื่อนไขเข้มงวดในเรื่องของหุ้นบุริมสิทธิและคณะผู้บริหารเหมือนการเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ดูล้อมกรอบโครงการช่วยเหลือเรื่องเงินกองทุน)

ในส่วนของเงินกองทุนนั้นแบงก์กรุงเทพมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Capital Adequacy Ratio 12.5% เมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราส่วนของกองทุนชั้นที่ 1 ถึง 9.3% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน BIS มาก ซึ่งเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้มีการเปลี่ยนสัดส่วนการนับเงินกองทุนเป็นอัตราส่วน 50:50 ธนาคารก็ยิ่งมีความยืดหยุ่นมากในจุดนี้

เป็นที่คาดว่าธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแนวดำเนินงานใหม่ ภายใต้กรอบกติกาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องเงินกองทุนและการจัดชั้นและกันสำรอง

ด้านตระกูลโสภณพนิชซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารมาถึงรุ่นที่ 3 แล้วนั้นก็คงจะต้องมีการพิจารณาปรับกลยุทธ์ของธนาคารกันใหม่ เพราะความใหญ่เป็นอันดับหนึ่งนั้น มาถึงตอนนี้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว จำนวนสาขาที่เคยมีมากที่สุด ก็กลายเป็นจำนวนขนาดกลาง เพราะแบงก์กรุงไทยที่ควบ รวมเอา ธ.มหานคร และ ธ.กรุงเทพฯ พาณิชย์การ เข้ามา มีสาขารวมกันถึง 650 แห่ง ซึ่งในอนาคตคงยุบลงบ้าง แต่ก็ต้องมีมากกว่าของแบงก์กรุงเทพเป็นแน่

กลุ่มรัตนรักษ์
ต้องตัดสินใจเรื่องเงินกองทุน

แบงก์กรุงศรีฯ เป็นธนาคารที่มีการกล่าวถึงอยู่ไม่น้อย เพราะไม่มีข่าวคืบหน้าใดๆ เรื่องการเพิ่มทุนเล็ดรอดออกมาเลย จนกระทั่งล่าสุด ก่อนหน้าประกาศแผนฟื้นฟูฯ ของรัฐบาลเพียง 3-4 วัน กลุ่มรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารสามารถขายหุ้น 25% ในบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงไทย และได้เม็ดเงินประมาณ 6.3 พันล้านบาท ทำให้เชื่อว่าธนาคารฯ จะมีเงินทุนพอเพียงหากผู้ถือหุ้นใหญ่ยอมเพิ่มทุนอีก

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวด้วยว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 500 ล้านหุ้นเป็นเงิน 5,000 ล้านบาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมาตามแผนการระดมเงินอีก 1,500 ล้านหุ้น เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนให้ได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับปัจจุบันธนาคารมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท หรือ 1,000 ล้านหุ้น เหลือหุ้นที่ยังไม่ได้จัดสรรอีก 1,000 ล้านหุ้น ซึ่งในจำนวนนี้ธนาคารจะจัดสรรให้ประชาชนทั่วไป 145 ล้านหุ้น และขายให้บุคคลในวงจำกัดตามประกาศ ก.ล.ต. จำนวน 855 ล้านหุ้น

ในเรื่องนี้ประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารฯ กล่าวไว้ว่าธนาคารอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งถึงตอนนี้ก็มีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติสนใจติดต่อกันหลายราย และธนาคารฯ กำลังพิจารณาอยู่

ด้านฐานะความเข้มแข็งของธนาคารนั้น ธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆ คือเมื่องวดครึ่งปีแรก 2540 ธนาคารตั้งสำรอง 5,250 ล้านบาท ครั้นงวดสิ้นปี 2540 เพิ่มเป็น 10,969 ล้านบาท และในงวดครึ่งแรกของปี 2541 ตั้งสำรองเพิ่มเป็น 18,300 ล้านบาท จำนวนเงินกันสำรองนี้ ธนาคารกล่าวว่า "สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด"

ธนาคารมีการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายในประเทศสูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่คือการระดมเงินฝากจากประชาชน ซึ่งเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ 78.8 ของแหล่งเงินทุนโดยรวม ส่วนหนี้สินต่างประเทศนั้น ธนาคารมีตัวเลขการออกหุ้นกู้หรือตั๋วเงินเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาวที่มีอายุ 7-10 ปี

ส่วนตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ที่เพิ่มขึ้นทุกวันนั้น ปรากฏว่าเมื่องวดแรกของปีนี้ธนาคารรายงานตัวเลข NPL 19% ของสินเชื่อทั้งหมด 382,954.01 ล้านบาท แต่นักวิเคราะห์จาก บล.ทิสโก้คาดหมายว่าภายในปี 2541 นี้ NPL ของธนาคารจะอยู่ในระดับ 31% อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการติดตามหนี้และการขอรับความช่วยเหลือตามโครงการ Tier II ของรัฐบาล (ดูล้อมกรอบโครงการช่วยเหลือด้านเงินกองทุน)

ด้านสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Capital Adequacy Ratio ของธนาคารฯ นั้นอยู่ในระดับ 9.2% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดและเมื่อทางการอะลุ้มอล่วยในเรื่องเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ 2 ธนาคารฯ ก็ยังพอมีช่องทางหายใจได้อีกระยะหนึ่งอย่างน้อยก็ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนให้ได้ภายในปีนี้

แบงก์นครธน
รอทบทวนเรื่องเซ็นสัญญา?

แนวทางการเจรจาล่าสุดของธนาคารนครธนดูเหมือนเป็นประเด็นหนึ่งที่เร่งให้รัฐบาลทำแผนฟื้นฟูฯ ออกมาในลักษณะที่เห็นกันอยู่ ทั้งนี้ธารินทร์เอ่ยถึงกรณีนี้ว่า "ระยะหลังต่างชาติเวลามองแบงก์ไทย เขาจะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ" เหตุการณ์ที่คำพูดนี้พาดพิงถึง คือกรณีการเจรจาร่วมทุนระหว่างแบงก์นครธนกับธนาคาร สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด

โดยธนาคารต่างชาติรายนี้ยินดีที่จะนำเงินเข้ามาลงทุนในนครธน แต่ผู้บริหารของธนาคารฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังอีกหรือไม่ ซึ่งธนาคารชาติ (โดยผู้บริหารธนาคารที่เคยทำงานในธนาคารนครธนมาก่อน) ก็หลวมตัวให้คำรับรองการันตีการลงทุน แต่มากลับลำทันในวันถัดมาเมื่อกระทรวงการคลังไม่เอาด้วย

ล่าสุดมีข่าวออกมาว่าธนาคารนครธนมีแนวโน้มว่าจะตกลงขายหุ้นให้กับแบงก์โนวาสโกเทียถึง 80% โดยกลุ่มหวั่งหลีจะหมดบทบาทในการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และการบริหารลงทั้งหมด และแบงก์โนวาสโกเทียจะเข้ามาดูแลบริหารงานและปรับปรุงกิจการ แต่ข่าวนี้ยังไม่มีการยืนยันและธนาคารก็ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับแบงก์โนวาสโกเทียแต่อย่างใด

แม้ธนาคารจะมีเป้าหมายเรื่องการหาผู้ร่วมทุนต่างชาติตามที่ประกาศไว้ในรายงานประจำปี แต่แน่นอนว่าผู้บริหารธนาคารก็คงไม่คิดว่ากลุ่มหวั่งหลีต้องสละแบงก์ที่ตนสร้างขึ้นมา ขายให้นักลงทุนต่างชาติไปเหมือนเช่นแบงก์เล็กอื่นๆ และมาในยามนี้เมื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปสืบเนื่องมาจากแผนฟื้นฟูฯ 14 ส.ค. ผู้บริหารธนาคารนครธนคงต้องคิดหนักมากขึ้น

อาจจะโชคดีของธนาคารที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาขายหุ้นกับใคร เพราะอาจจะหวังขอพึ่งพิงความช่วยเหลือจากทางการได้อีก แต่ความช่วยเหลือนั่งดูแล้วเป็นเพียงการประคองให้อยู่รอดได้เท่านั้น ถึงอย่างไรธนาคารก็ต้องเดินหน้าเรื่องเพิ่มทุนด้วยการหาผู้ลงทุนต่างชาติ เพียงแต่ประวิงเวลาให้ธนาคารสามารถต่อรองมีเงื่อนไขที่ดีมากขึ้น

ว่าไปแล้วธนาคารนครธน แม้จะเล็กแต่ก็เดินแนวทางอนุรักษ์มาตลอด ไม่มีการขยายตัวอย่างหวือหวา (ยกเว้นการลงทุนอสังหาฯ ของตระกูลหวั่งหลี) ธนาคารฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุน 3,076 ล้านบาทเมื่องวดครึ่งปีแรก 2541 ขณะที่เมื่องวดสิ้นปี 2540 นั้นขาดทุน 169.8 ล้านบาท มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 6,357.60 ล้านบาท หรือ 10.6% ของเงินให้สินเชื่อรวม แต่ธนาคารก็มีสินเชื่อและภาระผูกพันกับสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการเป็นจำนวน 2,403.39 ล้านบาท ซึ่งธนาคารมิได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนนี้ไว้

กล่าวได้ว่าโดยผลการดำเนินงานของธนาคารนั้นไม่มีตัวเลขที่น่ากลัว แต่ผลที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจได้กระหน่ำให้ธนาคารต้องมีภาระเพิ่มมากขึ้น ขนาดที่อาจจะรับไม่ไหว ไม่ว่าจะมาจากเรื่องภาระสินเชื่อที่ปล่อยให้สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ ภาระ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้ธนาคารต้องเพิ่มทุน

ธนาคารนครธนคงจะไม่มีทางเลือกมากนัก แต่ก็ไม่ทราบว่าจะประวิงเวลาไปได้นานเพียงใด ธนาคารฯ คงไม่เข้าโครงการขอรับความช่วยเหลือเรื่องกองทุน แค่ชั้นที่ 2 แต่ต้องขอชั้นที่ 1 ด้วย ควบคู่ไปกับการเจรจาหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารว่าจะหาเงื่อนไขที่ดีได้อย่างไร ในยามที่ภาวะโดยรวมไม่เอื้ออำนวยสักเท่าใด

แหลมทอง & สหธนาคาร
ปิดประตูลั่นดานแบงเกอร์รายล่าสุด !!!

แผนฟื้นฟู 14 ส.ค. ถือเป็นการปิดฉาก 2 ธนาคารเล็กรายล่าสุดที่ไม่สามารถดิ้นเอาตัวรอดได้จากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ตระกูลชลวิจารณ์, อัศวินวิจิตร, จันทร์ศรีชวาลา เป็น 3 ตระกูลนายธนาคารรายล่าที่ถูกลบชื่อออกจากวงการธนาคารไทย และธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้ก็มีประวัติการฟาดฟันช่วงชิงการถือหุ้นและครองอำนาจในธนาคารมาอย่างพิสดารโลดโผน ประวัติเช่นนี้ คงเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของตำนานเล่าขานถึงประวัติศาสตร์การธนาคารไทย ที่ถึงจุดหักโค้งในปีแรกของทศวรรษ 40

ธนาคารสองแห่งนี้มีเงินฝากรวมกันร้อยละ 2 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทั้งระบบมีเงินฝากรวม 4,229,970 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2540 ทั้งสองธนาคารถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซง โดยให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับผิดชอบในส่วนสูญเสียทั้งสิ้นที่เกิดจากการลดทุนและให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าถือหุ้นเพิ่มในรูปของการแปลงหนี้เป็นทุน

ทั้งนี้ ธนาคารแหลมทองลดทุนลงจาก 2,130 ล้านบาท เหลือ 2.13 ล้านบาท และแปลงหนี้เงินกู้ระยะสั้นของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นทุนของกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหมด ทำให้ธนาคารมีทุนจดทะเบียนเป็น 15,067 ล้านบาท

ส่วนธนาคารสหธนาคารลดทุนลงจาก 1,790 ล้านบาท เหลือเพียง 1.8 ล้านบาท และกองทุนฟื้นฟูฯ แปลงหนี้เป็นทุน ทำให้มีทุนจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด 12,334 ล้านบาท

หลังลดทุนเพิ่มทุนเพิ่มทุนแล้วธนาคารทั้งสองจะถูกควบกิจการ โดย ธ.แหลมทองควบรวมกับธ.รัตนสิน และ ธ.สหธนาคารควบรวมกับ บงล. กรุงไทยธนกิจ และไฟแนนซ์อื่นๆ อีก 12 แห่ง ซึ่งในกรณีหลัง บงล.กรุงไทยธนกิจ จะใช้ใบอนุญาตของ ธ.สหธนาคาร ซึ่งจะทำให้สหธนาคารกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่มาก

ธ.แหลมทองเมื่อรวมกับรัตนสินจะมีทุนจดทะเบียนประมาณ 19.565 ล้านบาท โดยธนาคารแหลมทองต้องมีการเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้ได้ถึง 8.5% หลังจากที่กันสำรองเต็มจำนวนแล้ว และต้องมีการจัดทำแผนการรวมกิจการของ ธ.แหลมทอง และ ธ.รัตนสินให้เสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2541 นอกจากนี้ ธ.รัตนสินจะมีการเพิ่มทุนอีก หลังจากแผนการบริหารได้รับความเห็นชอบจากแบงก์ชาติและกันสำรองเต็มจำนวนแล้ว

วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการของ ธ.รัตนสินได้เข้าควบคุม ธ.แหลมทอง พร้อมด้วยคณะกรรมการของ ธ.รัตนสิน ก็เข้าเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ของ ธ.แหลมทอง สวมแทนที่ชุดเดิมที่มี สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นั่งอยู่ วิชิตกล่าวว่า ธนาคารจะให้ความสำคัญในเรื่องของการระดมเงินฝากในประเทศ เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้นในด้านการอำนวยสินเชื่อ ธนาคารจะเน้นเรื่องคุณภาพและบริการ และจะเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพและบริการ และจะเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพของสินเชื่อ เพื่อให้จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพลดลงโดยเร็ว

ธ.แหลมทองมีผลการดำเนินงานขาดทุน 1,577.4 ล้านบาท ในงวดแรกของปี 2541 ขณะที่เมื่องวดสิ้นปี 2540 ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน 891 ล้านบาท และธนาคารก็ยังตั้งสำรองได้ไม่ครบตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดตั้งแต่งวดสิ้นปี 2540 กล่าวคือ ธนาคาต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งสิ้น 3,126.41 ล้านบาท แต่ธนาคารสามารถตั้งได้เพียง 507.12 ล้านบาทเท่านั้น ยังขาดอยู่อีกเป็นจำนวน 2,619.29 ล้านบาท

การตั้งสำรองได้ไม่ครบบวกกับการที่ธนาคารมีสินเชื่อที่ระงับการรับรู้รายได้ ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2540 มีจำนวน 7,077 ล้านบาท ขณะที่มีการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 42,244 ล้านบาท หรือคิดเป็น NPL 16.75% เป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ธนาคารไม่อาจดำรงสถานะอยู่ได้ จนกระทั่งต้องปิดฉากความเป็นแบงเกอร์ของตระกูลจันทร์ศรีชวาลา รวมไปถึงเสถียรไทย เบญจรงคกุล - 2 ผู้ถือหุ้นใหม่ที่หลวมตัวเข้ามาในตอนอวสานของธนาคาร

ด้านธนาคารสหธนาคารนั้นคณะกรรมการชุดเดิมที่มีปิยะบุตร ชลวิจารณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีนั้น ก็จบบทบาทลงเช่นกันเมื่อมีคณะกรรมการชุดใหม่ที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติแต่งตั้งเข้าไปดูแลแทน คือ โกวิท โปษยานนท์ อดีตประธาน ก.ล.ต. ไปเป็นประธานกรรมการฯ และพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการ บงล.กรุงไทยธนกิจ ไปเป็นกรรมการร่วมกับผู้บริหารอื่นๆ อีก 5 เพื่อดูแลการควบกิจการกับ บงล.กรุงไทยธนกิจ

สหธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวน 2,325.65 ล้านบาท ในงวดครึ่งแรกปี 2541 ขณะที่ในงวดสิ้นปี 2540 ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน 2,981.48 ล้านบาท ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้เมื่องวดสิ้นปี 2540 จำนวน 3,707.76 ล้านบาท แต่คาดว่าในงวดแรกของปี 2540 ธนาคารเริ่มไม่สามารถตั้งสำรองได้ครบเกณฑ์ของแบงก์ชาติแล้ว

นอกจากทุนจดทะเบียนใหม่ที่สหธนาคารมีอยู่ในเวลานี้จำนวน 12,334 ล้านบาท ธนาคารต้องมีทุนมากกว่านี้เมื่อรวมเข้ากับ บงล. กรุงไทยธรนกิจและ 12 ไฟแนนซ์ (ทั้งนี้ 5 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการในคราวเดียวกันและต้องรวมเข้ามานั้น มีทุนจดทะเบียนรวม 16,760.15 ล้านบาท เท่ากับตอนนี้มีทุนรวม 29,094.15 ล้านบาท - ไม่รวมของ บงล.กรุงไทยธนกิจ และ 7 ไฟแนนซ์ ที่ถูกปิดก่อนหน้า) ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ

และนั่นก็เป็นการปิดฉากธนาคารที่มีเรื่องราวของการแย่งชิงการครอบครองหุ้น และมีผลการดำเนินงานที่ล้าหลังมาตลอด และในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดฉากโฉมใหม่ของธนาคารที่มีทุนมากที่สุด แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นโฉมใหม่ที่สุกสกาวแวววาวสักเพียงใด เพราะการรวมกิจการ 14 แห่งเข้าด้วยกันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและวุ่นวายไม่น้อย กว่าที่อะไรๆ จะลงตัวก็ไม่แน่ว่าคนอื่นจะตั้งตัววิ่งนำไปก่อนหรือไม่ เพราะปัญหาภายในอีกมากมายที่ต้องใช้เวลาสะสางแก้ไข

ฟ้าที่ ธ.ไทยทนุไม่ใสอย่างที่คิด

แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยทนุจะสร้างความสำเร็จด้วยการหาพันธมิตรมาร่วมทุนได้เป็นรายแรก โดยขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารดีบีเอส แห่งสิงคโปร์ พันธมิตรเก่าที่ร่วมงานกันมายาวนานกว่า 8 ปี และสถาบันการเงินอีก 2 แห่งของสิงคโปร์คือ SELETAR และ GIC ในราคาหุ้นละ 20 บาท ทำให้ 3 สถาบันนี้ถือหุ้นส่วนรวมกันในสัดส่วนประมาณ 57% และดีบีเอสกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือในสัดส่วน 50.27% ในขณะที่กลุ่ม "ตู้จินดา" เหลือสัดส่วนในการถือครองหุ้นประมาณ 4% เท่านั้น ซึ่งพวกเขาต้องยอมเพื่อแลกกับความอยู่รอดของธนาคารไทยทนุ การเพิ่มทุนครั้งนี้ธนาคารได้เม็ดเงินจำนวน 6,000 ล้านบาทมาช่วยเสริมฐานกองทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยชื่อของธนาคารยังคงเป็นธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เช่นเดิม

ส่วนผู้บริหารยังคงเป็นคนไทย นำทีมโดยปกรณ์ ทวีสิน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมทีมผู้บริหารชุดเดิมที่ยังคงมีพรสนอง ตู้จินดา เป็นกรรมการผู้จัดการต่อไป และดีบีเอสได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านคัสโตเดียน ด้านอินเวสเม้นท์แบงกิ้งมาเสริมฐานธุรกิจให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ตามคำขอของผู้บริหารฝ่ายไทย นอกจากนั้นดีบีเอสยังส่งเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ประสานงานด้านต่างๆ ระหว่างสองธนาคารด้วย

วันนั้นใครๆ ต่างคิดว่า ธนาคารไทยทนุน่าจะมีอนาคตต่ำสดใสกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กรายอื่น ที่ยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ แต่วันนี้ผู้บริหารของธนาคารต่างต้องหนาวๆ ร้อน ๆ ไปตามๆ กัน เนื่องจากการที่รัฐบาลประกาศแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินและบทสรุปของ 4 แบงก์รัฐเดิม (BBC-BMB-FBCB-SCIB) และ 2 แบงก์รัฐใหม่ (LTB-UB) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินทุนของธนาคารไทยทนุที่มีอยู่ 5,500 ล้านบาท หรือหมายถึงขนาดของธนาคารหล่นไปอยู่อันดับท้ายๆ ทันที ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นที่ทางการจับควบรวมกันได้แก่ ธนาคารกรุงไทยกับธนาคารมหานครและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การบางส่วน ทำให้ธนาคารกรุงไทยมีเงินทุนสูงกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ห่างกันมากทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของดีบีเอสมีกำไรสุทธิลดลงถึง 50% จากประมาณ 353.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 9,700 ล้านบาท) ของปีก่อน เหลือเพียง 178.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4,830 ล้านบาท) และมีตัวเลขกันสำรองสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าจาก 52.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท) ของปีก่อนเป็น 315.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 8,500 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการที่ดีบีเอสตั้งสำรองทั่วไป สำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในภูมิภาคเอเชียไว้เพียงประมาณ 110.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)

ผลกำไรสุทธิของดีบีเอสที่ลดลงกว่า 50% บรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติได้วิเคราะห์ว่า สืบเนื่องมาจากการเร่งปล่อยสินเชื่อในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจมานานร่วม 2 ปี

นอกจากนั้นทางดีบีเอสเองได้ออกมาชี้แจงว่า ยอด NPL รวมของการปล่อยสินเชื่อในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ณ สิ้นเดือน ก.ค.41 มีทั้งสิ้น 771.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 21,000 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของสินเชื่อรวมที่ดีบีเอสปล่อยในภูมิภาคนี้ ซึ่งในส่วนนี้ได้รวมถึงการลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารไทยทนุเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย โดยแทงเป็นบัญชีหนี้สูญจากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 27.8 บาทต่อหุ้น เหลือเพียง 10 บาทต่อหุ้น และการรวม NPL ของไทยทนุเข้าไปทำให้ NPL ของดีบีเอสเพิ่มขึ้นเป็น 2,510 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (68,000 ล้านบาท) หรือ 22% ของสินเชื่อที่ดีบีเอสปล่อยในภูมิภาคเอเซียทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นดีบีเอสยังมีแนวโน้มที่ต้องเพิ่มการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้สูงถึงประมาณ 35% ของสินเชื่อรวม เพื่อรับภาระหนี้เสียจากธนาคารไทยทนุที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง

สำหรับตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปี 41 ของธนาคารไทยทนุมียอดสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 135,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 128,801 ล้านบาท และหนี้สินรวมเท่ากับ 124,898 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 117,575 ล้านบาทของปีที่แล้ว ส่วนยอดเงินฝากของครึ่งปี 41 เพิ่มขึ้นประมาณ 20% เป็น 104,376 จาก 84,843 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว และในครึ่งปีแรกนี้ธนาคารขาดทุนสุทธิ 5,044 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีที่แล้วที่มีกำไร 677 ล้านบาท (ดูตารางฐานะทางการเงินของธนาคารไทยทนุ)

เมื่อรูปการเป็นเช่นนี้ มีหรือที่ผู้บริหารไทยทนุจะไม่ร้อนอาสน์ ลู่ทางที่เคยมองว่าจะแจ่มใส กลับมีม่านหมอกมาบังเสียแล้ว หนทางที่จะทำให้ธนาคารไทยทนุหลุดจากความอึมครึมนี้ได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของธนาคารว่ามีความเห็นอย่างไรกับแผนการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันประกาศออกมา รวมถึงมีแนวนโยบายที่จะเข้าร่วมโครงการกองทุนขั้นที่หนึ่งและหรือกองทุนขั้นที่สองหรือไม่ หรือทางผู้บริหารไทยทนุยังมองเห็นช่องทางในการที่จะดิ้นโดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการเหล่านี้ได้อีก

บทสรุปที่ไม่เบ็ดเสร็จของ 4 แบงก์รัฐ

ในที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแผนที่เป็นรูปธรรมสำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ 4 แบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ธนาคารศรีนคร ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารมหานคร เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ว่าจ้างให้เจพี มอร์แกน ทำการตรวจสอบฐานะทางการเงินของธนาคารทั้ง 4 แห่งโดยละเอียด และให้เสนอแนะวิธีการจัดการกับทรัพย์สิน หนี้สิน และพนักงานของธนาคารทั้ง 4 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการแก้ปัญหาจะต้องก่อให้เกิดต้นทุนต่อกองทุนฟื้นฟูในสัดส่วนที่น้อยที่สุด ต้องเป็นการช่วยให้ระบบธนาคารพาณิชยืไทยมีจำนวนธนาคารขนาดเล็กลดลง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงิน ต้องทำให้เกิดความมั่นใจต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศและต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างโปร่งใส โดยไม่มีผลกระทบต่อผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ โดยมีบทสรุปให้

ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ยุติการทำธุรกรรมด้านการรับฝากเงิน การให้สินเชื่อการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ หรือการก่อภาระผูกพันรายใหม่ แต่ยังคงใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไว้ก่อน และให้ทำการโอนทรัพย์สินส่วนดี อันได้แก่ สินเชื่อที่ยังมีการจ่ายดอกเบี้ยอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยกองทุนฟื้นฟูฯ เงินฝากทั้งหมดและหนี้สินอื่นๆ รวมทั้งหนี้สินที่เป็นภาระผูกพันล่วงหน้าไปยังธนาคารกรุงไทยทั้งหมด โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นให้แปรสภาพเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ บบส.เอกชน โดยมีกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเจ้าของ เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพของธนาคารเอง รวมทั้งรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ด้วย พร้อมทั้งคืนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ภายในวันที่ 31 ต.ค.41 และในส่วนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนี้ ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จะจัดตั้งคุณะกรรมการสินเชื่อ เพื่อพิจารณาคำขอสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการประนอมหนี้ โดยบีบีซีที่จะสามารถเบิกเงินดังกล่าวได้จากวงเงินที่ธนาคารกรุงไทยจัดตั้งให้

ส่วนพนักงานทั้งหมดของบีบีซีจะได้รับการจ้างต่อเป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นประมาณกลางเดือนตุลาคม ธนาคารกรุงไทยจะรับโอนพนักงานครึ่งหนึ่งคือประมาณ 2,000 กว่าคน เพื่อทำหน้าที่ให้บริการเงินผากและสินเชื่อที่ดีที่ธนาคารกรุงไทยรับโอนมาจากบีบีซี ขณะที่บีบีซีจะยังคงจ้างพนักงานอีกส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 คนเพื่อบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ยังคงมีอยู่ และพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ทุกคนจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา สำหรับส่วนของสาขาและอสังหาริมทรัพย์อื่น บีบีซีจะทำขายทอดตลาดต่อไป นอกจากนั้น กองทุนฟื้นฟูฯ จะทำการแปลงหนี้ที่ให้แก่บีบีซีไปเป็นทุนของธนาคารกรุงไทยทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารกรุงไทยส่วนหนึ่งด้วย

ย้อนหลังไปประมาณ 1 เดือน ก่อนจะมีการประกาศมาตรการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินจากรัฐบาล อัศวิน คงสิริ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ธราคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การได้จัดงานแถลงข่าวแผนการดำเนินงานในครึ่งปีแรก และทิศทางในครึ่งปีหลังของบีบีซี หลังจากที่รัฐบาลเลื่อนการประกาศมาตรการจากเดิมที่จะประกาศตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ราวกับว่า อัศวินจะล่วงรู้ชะตากรรมของธนาคารจึงรีบออกมาแถลงข่าวย้ำความเชื่อมั่น ว่าอย่างไรก็ตาม บีบีซีก็ยังคงดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้การดูแลของบรรษัทฯ และทีมงานของอัศวิน แต่พอหลังจากมีการประกาศมาตรการแล้ว แผนระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งสัญญาความร่วมมือในการเข้าบริหารและฟื้นฟูกิจการระหว่างบรรษัทฯ กับกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ต้องแก้ไขจัดทำใหม่ บรรษัทฯ คงต้องกลับไปแก้ปัญหาธุรกิจของตัวเองต่อไป ทิ้งอัศวินกับทีมบริหารหนี้เสียของบีบีซีตามลำพัง (?)

"ความจริงบีบีซีเป็นแบงก์ที่น่าเห็นใจ มีภาระหนี้สินเยอะ มีเงินฝากประมาณ 1 แสนล้านบาท มีหนี้ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ดีแค่หมื่นกว่าล้านเท่านั้นเอง ที่เหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ได้ช่วยซื้อออกมาบางส่วน ฉะนั้นสถานะของบีบีซีมีโอกาสฟื้นได้ยากมาก ทำให้โอกาสในการปรับปรุงทางการเงินมีจำกัด เราจึงพยายามหาทางที่ดีที่สุดที่จะสร้างบีบีซีให้เป็นประโยชน์ ก็คือการเปลี่ยนให้เป็น บบส. เอกชนก็เท่านั้นเองไม่ได้มีเหตุผลอื่น" เป็นคำกล่าวของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีต่อสถานะของบีบีซีในปัจจุบัน

กรุงไทยกลืนมหานคร

จากฐานเงินฝากของธนาคารมหานครที่ลดลงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 41 ธนาคารมียอดเงินฝากลดลงจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วจาก 178,975 ล้านบาท เหลือเพียง 136,348 ล้านบาท คิดเป็นลดลงกว่า 20% หากปล่อยให้ดำเนินการเองต่อไปก็คงหาพันธมิตรร่วมทุนได้ยากมาก ทางการจึงมีมาตรการให้ธนาคารมหานคร ซึ่งรวมตั้งแต่เงินฝาก หนี้สิน สาขา และพนักงานทั้งหมดด้วย ภายใต้ข้อตกลงการเฉลี่ยผลเสียหาย (LOSS SHARING ARRANGEMENT) โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะทำการเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารมหานครให้ได้ถึง 8.5% ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เพียง 6.41% จากนั้นจะทำการแปลงหนี้ที่ให้แก่มหานครทั้งหมดเป็นทุนของธนาคารกรุงไทยต่อไป (ดูตารางฐานะทางการเงินธนาคารมหานคร)

สำหรับเหตุผลที่ธนาคารกรุงไทยเลือกควบกิจการกับธนาคารมหานครเพียงธนาคารเดียว เนื่องจากธนาคารมหานครเป็นธนาคารที่เหมาะสมมากที่สุดในบรรดา 4 แบงก์รัฐ จากจำนวนสาขาที่มีอยู่มากในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยขยายขอบข่ายสาขาของธนาคารที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดได้ โดยสาขาของธนาคารมหานครจะถูกเลือก รวมเข้ากับระบบสาขาของธนาคารกรุงไทยตามความเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารมหานครยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้นำเข้าส่งออกจำนวนมากด้วย ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารมหานครนั้น ธนาคารกรุงไทยจะจัดตั้งหน่วยบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาบริหารเป็นกรณีพิเศษเช่นเดียวกับบีบีซี และเมื่อควบรวมกิจการเรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารมหานครต้องคืนใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์ภายใน 31 ธ.ค. 42

ทั้งนี้เมื่อการโอนสินทรัพย์ดีจากบีบีซี และการควบรวมกิจการกับธนาคารมหานครเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งผลให้ธนาคารกรุงไทยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลจึงเห็นควรให้มีการแปรรูปธนาคารกรุงไทย โดยการปรับปรุงโครงสร้างของธนาคารให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีอิสระ และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับธนาคารพาณิชย์เอกชนทั่วไป

จับศรีนคร-นครหลวงไทยใส่ตะกร้าล้างน้ำ รอขายต่อไป

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะเร่งจัดการแปรรูปธนาคารศรีนครและธนาคารนครหลวงไทย ด้วยการแปลงหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นทุน เพื่อให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมีถึง 8.5% และจะตั้งเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ครบถ้วนในทันทีตามเกณฑ์ปี 43 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ฐานะของธนาคารทั้ง 2 แห่งมั่นคงยิ่งขึ้น จากนั้นจึงเสนอประมูลขายให้ผู้ลงทุนรายใหม่ต่อไป โดยผู้ลงทุนรายใหม่สามารถเสนอซื้อธนาคารได้เต็มที่ 100% และจะต้องรับโอนสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งรวมทั้งสิ้นทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปทั้งหมดด้วย (ดูตารางฐานะทางการเงินธนาคารศรีนคร กับธนาคารนครหลวงไทย)

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการจูงใจแก่ผู้ลงทุนใหม่ รัฐบาลจึงยินดียังเฉลี่ยผลเสียหายของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งรับประกันผลตอบแทนเพื่อชดเชยภาระหนี้สินด้วย ทั้งนี้ผู้ลงทุนรายใหม่ต้องเสนอแนวทางในการเฉลี่ยผลเสียหาย และการประกันผลตอบแทนที่ต้องการในการยื่นเสนอประมูลทั้ง 2 ธนาคาร โดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณปลายปีนี้

เป็นที่กังขาว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับ 2 แบงก์นี้ โดยการนำไปรวมกับธนาคารกรุงไทยเช่นเดียวกับกรณีบีบีซีและมหานครซึ่ง รมว.กระทรวงการคลังได้ให้คำตอบว่า "เรามีการหารือกันเหมือนกันว่า จะเอาทั้ง 4 ธนาคารไปรวมกับธนาคารกรุงไทย แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่าธนาคารกรุงไทยรับได้แค่ไหน ทั้งความสามารถด้านพนักงาน ด้านสาขา ท้ายที่สุดก็สรุปว่ารับได้เพียงแบงก์เดียวเท่านั้นในเมื่อเหลือแบงก์เดียว กรุงไทยก็ขอดูว่าแบงก์ไหนดีที่สุดในแง่เครือข่ายสาขาที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำกันมากนัก และถ้ารวมกันแล้วจะเป็นตัวบวกให้กับแบงก์มากที่สุด ก็มาลงตัวที่ธนาคารมหานคร สรุปว่าเขาใช้คำว่า SYNERGY มาเป็นตัวสำคัญ คือ ถ้ารวมกันแล้วต้องได้ประโยชน์สูงสุด" และในระหว่างนี้ธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้ยังคงเป็นธนาคารของรัฐอยู่ ซึ่งจะทำการบริหารโดยคณะผู้บริหารชุดเดิม

นอกจากนั้นมาตรการแก้ปัญหา 4 แบงก์รัฐดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังได้เสนอมาตรการทางกฎหมายที่จะเป็นการเอื้อต่อการดำเนินการต่างๆ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการโดยออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ เพื่ออำนวยต่อการควบกิจการและโอนสินทรัพย์ และออก พ.ร.ก. เพื่อจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์เอกชนด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.