เด็กชายฌอน แมกกอร์แมคถือกำเนิดมาในโลกโดยไม่มีซี่โครงข้างซ้าย นั่นเป็นอาการผิดปกติของทารกที่เรียกกันว่า
โปแลนด์ส์ ซินโดรม มันหมายถึงว่าหัวใจของเขานั้นขาดปราการป้องกันขั้นพื้นฐาน
อาการบีบเต้นของหัวใจสามารถมองเห็นอยู่ภายใต้ผิวหนังชัดๆ คุณหมอปลอบคุณพ่อคุณแม่ว่าเมื่อฌอนอายุครบ
21 ปี ซึ่งมั่นใจได้ว่ากระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว คุณหมอจะผ่าตัดเอาแผ่นวัสดุสังเคราะห์สอดใส่ใต้ผิวหนังบริเวณนั้นให้
12 ปีต่อมา น้องฌอนกลายเป็นนักเบสบอลดวงเด่นของโรงเรียนไปแล้ว โดยไม่ต้องห่วงว่าการเล่นกีฬาจะเป็นอันตรายแต่อย่างใด
เหตุก็เพราะว่า คุณหมอได้ทราบข่าวการปลูกอวัยวะมนุษย์ในห้องแล็บ และแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาน้องฌอนไปหาทีมนักวิทยาศาสตร์และศัลยแพทย์
ที่โรงพยาบาลเด็กที่บอสตัน ซึ่งขึ้นชื่อเด่นที่สุดในวิทยาการดังกล่าว
กระดูกซี่โครงของน้องฌอนส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งถูกเฉือน และนำเซลล์ที่ยังมีชีวิตดีอยู่มาเพาะปลูกภายในแม่พิมพ์
แม่พิมพ์นี้ทำขึ้นด้วยวัสดุที่จะสลายในเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต (ทำนองเดียวกับไหมละลายที่ใช้เย็บผิวหนัง)
และถูกหล่อรูปทรงขึ้นมาตามรูปทรงลำตัวของพ่อหนู ในการเพาะปลูกซี่โครงให้น้องฌอนนี้
ทีมนักวิทยาศาสตร์แช่เซลล์ไว้ในองค์ประกอบกระตุ้นการเติบโตของเซลล์ และจัดทำอาหารเลี้ยงเซลล์ขึ้นมาในเครื่องปฏิกิริยาชีวภาพ
เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ เซลล์ขยายตัวทวีคูณขึ้นเป็นเนื้อเยื่อสามมิติ แล้วซี่โครงก็งอกเติบโตจนได้ที่
จากนั้นจึงเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเข้าสู่ร่างกายของน้องฌอน แน่นอน โครงการนี้ได้รับอนุญาตพิเศษจากสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา
(เอฟดีเอ) แล้ว เมื่อซี่โครงได้รับการติดตั้งเข้าไปเป็นที่เรียบร้อย เซลล์ทั้งหลายของซี่โครงก็ฉลาดรู้งาน
จัดแจงทำบทบาทของตัวได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการผนวกเข้ากับบรรดาหลอดเลือดในบริเวณใกล้เคียง
เซลล์ดั้งเดิมและเซลล์ใหม่สามารถผสานตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่นานให้หลัง
แม่พิมพ์สลายตัวไป ขณะที่เนื้อเยื่อซี่โครงที่เพาะงอกขึ้นในห้องแล็บก็สามารถไปกันได้กับร่างกายทั้งมวล
ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะถูกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้าน
ภายในเวลา 1 ปี ทรวงอกของน้องฌอนก็เหมือนคนทั่วไป เพราะกระดูกซี่โครงที่ถูกปลูกถ่ายเข้าไปนั้น
สามารถผนึกตัวเองรวมเข้ากับร่างกายของน้องฌอนเป็นอันดี หนำซ้ำยังสามารถเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ
สอดคล้องกับการเจริญวัยของร่างกายของน้องฌอนโดยรวม
นับถึงปัจจุบันนี้ สิริได้ 4 ปีแล้วที่น้องฌอนมีซี่โครงปกป้องหัวใจเหมือนใครต่อใคร
หนุ่มน้อยคนนี้เติบใหญ่แข็งแรง สมวัย 16 ปีเต็ม และสูงชะลูดเกือบ 180 ซม.
เจ้าตัวบอกว่า "เจ๋งมากครับ เหมือนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ติดตัวผมมาแต่เกิดประมาณนั้น"
ความก้าวหน้าทางการแพทย์แขนงนี้เป็นความหวังแก่ผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ไม่ว่าจะแบบเกิดมาไม่ครบสามสิบสอง หรือแบบที่อวัยวะของร่างกายเสื่อมเสียไป
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนากระบวนการเพาะปลูกเซลล์ จนกระทั่งว่าวิศวกรรมเพาะสร้างเนื้อเยื่อมีความก้าวหน้าในระดับใช้งานได้บ้างแล้ว
เท่าที่ผ่านมา มีการทดลองปลูกและผ่าตัดติดตั้งอวัยวะประเภทกระดูก เอ็น
หลอดเลือด ตลอดจนผิวหนังให้กับร่างกายมนุษย์ไปแล้ว ส่วนอวัยวะประเภทตับ ตับอ่อน
หัวใจ เนื้อทรวงอก หู นิ้ว อยู่ในขั้นทดลองเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ยิ่งกว่านั้น
พัฒนาการในสาขานี้ยังไปไกลกว่าการเพาะสร้างอวัยวะที่ทำหน้าที่ปกติ ด้วยการข้ามช็อตไปสู่การเพาะอวัยวะอัจฉริยะ
อาทิ อวัยวะแบบเดียวกับหลอดเลือดแต่มาทำหน้าที่ลำเลียงยาเข้าสู่ร่างกาย,
ต่อมน้ำลายที่สามารถขับโปรตีนต่อต้านเชื้อราเพื่อต่อสู้ป้องกันการติดเชื้อในลำคอ,
ผิวหนังที่สามารถปลดปล่อยฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต ไปจนถึงอวัยวะที่สามารถนำมาดัดแปลงเชิงพันธุกรรม
เพื่อแก้ปัญหาความผิดปกติในพันธุกรรมของตัวคนไข้แต่ละราย
พร้อมกับที่วิทยาการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ช่องทางธุรกิจก็ก่อตัวขึ้นมารวดเร็วไม่แพ้กัน
บริษัทธุรกิจด้านการแพทย์และเภสัชกรรมจำนวนไม่น้อยหันมาจับบทบาทผู้ผลิต ผู้วิจัยทดลอง
และผู้ค้าอวัยวะทดแทนแก่มนุษย์ ตลาดแห่งอวัยวะทดแทนมีอัตราขยายตัวในระดับสูงเพราะอุปสงค์มีอยู่ล้นเหลือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่อวัยวะบริจาคจากมนุษย์มีไม่เพียงพอกับความต้องการ
และการปลูกถ่ายอวัยวะของบุคคลหนึ่งให้แก่อีกบุคคลหนึ่งยังมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้มเหลว
เนื่องจากร่างกายของผู้รับทำปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์เนื้อเยื่อใหม่
ธุรกิจการผลิตอวัยวะทดแทนบางประเภทก้าวหน้าขึ้น จากการสั่งทำเฉพาะราย มาเป็นการผลิตเป็นปริมาณมากสำหรับเรียกใช้ได้ทันใจ
อาทิ อวัยวะผิวหนัง หรือที่เรียกชื่อในวงการ แพทย์ว่า แอปลิกราฟ ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เอฟดีเอได้อนุมัติให้แพทย์นำแอปลิกราฟ ที่เกิดจากการเพาะสร้างจากห้องแล็บมาปลูกถ่ายแก่คนไข้โรคแผลพุพองที่ขา
โรคยอดฮิตในหมู่ผู้สูงอายุ
บริษัทออร์แกนโนยีเนซิส อิงค์ ผู้ผลิตแอปลิกราฟ เผยคร่าวๆ ว่า การผลิตแอปลิกราฟนั้นทำขึ้นมาจากเซลล์ส่วนหนังหุ้มปลายลึงค์ของทารกสองสามเซลล์
แล้วมาเพาะปลูกให้เป็นผิวหนังสดๆ ขนาดใหญ่โตหลายตารางกิโลเมตร เวลาใช้นั้นสามารถหยิบฉวยไปตัดแต่งรูปทรงและขนาดตามความเหมาะสมแล้ว
จึงปะติดเข้ากับร่างกายคนไข้ โดยไม่ต้องเกรงปัญหาภูมิคุ้มกันสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย
หรือปัญหาแผลเป็นแต่อย่างใด
โปรเจกต์ต่อไปของออร์แกนโนยีเนซิส คือ การเพาะสร้างกระดูกอ่อนเพื่อเสริมความแข็งแรงของทางเดินปัสสาวะ
กับเพื่อซ่อมแซมหัวเข่า ไปจนถึงเพื่อผ่าตัดปลูกถ่ายทดแทนกระดูกหน้าแข้ง โครงการเหล่านี้ใกล้สำเร็จแล้ว
และกำลังจะยื่นขออนุมัติจากเอฟดีเอในปีหน้า หรือช้าสุดก็ในปี 2000
ในอีกที่หนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเสต วิทยาเขตวอร์เชสเตอร์ ทีมของชาร์ลส์
วาแคนตี กำลังเพาะสร้างกระดูกนิ้วหัวแม่มือให้ช่างเครื่องสองรายที่ประสบอุบัติเหตุนิ้วขาด
วาแคนตีบอกว่าในประมาณเดือนนี้เดือนหน้า จะดำเนินการผ่าตัดปะติดนิ้วให้แก่คนไข้ทั้งสองรายนี้
อวัยวะอันนี้จะได้รับองค์ประกอบช่วยเร่งความเจริญเติบโต ที่จะช่วยกระตุ้นให้เส้นประสาทและเอ็นงอกใหม่ออกมา
สร้างความต่อเนื่องระหว่างตัวนิ้วกับส่วนโคนนิ้ว ตามการคำนวณของวาแคนตี ประมาณการว่าภายใน
12 สัปดาห์นิ้วหัวแม่มือจะใช้งานได้ตามปกติ ในเวลาเดียวกัน โรงพยาบาลเด็กที่บอสตัน
นำโดยดร.แอนโธนี อาตาล่า กำหนดจะผ่าตัดปลูกถ่ายกระเพาะปัสสาวะที่ปลูกสร้างขึ้นในแล็บ
ให้แก่คนไข้ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมนี้
แม้แต่การเพาะปลูกอวัยวะที่ซับซ้อนที่สุดก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ในอีกประมาณ
5 ถึง 10 ปี ข้างหน้า นั่นคือการเพาะปลูกหัวใจมนุษย์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
บรรดานักวิจัยทั่วโลกได้ประชุมกันไปรอบหนึ่งที่โตรอนโต แคนาดา จัดทำโครงการ
10 ปีเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไมเคิล เซฟตัน ศาสตราจารย์ทางวัตถุชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต
กล่าวว่า "แนวโน้มความสำเร็จของโครงการมีสูงทีเดียว"
ส่วนสำหรับอวัยวะที่ซับซ้อนมากๆ รายการอื่นๆ ได้พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างกันไปบ้างแล้ว
ลินดา กริฟฟิธซีม่า วิศวกรเคมีแห่งแมสซาชูเสต อินสติติว ออฟ เทคโนโลยี กำลังพัฒนาปลูกตับมนุษย์
แอน อาร์เบอร์ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กำลังปลูกทรวงอกสำหรับสตรีที่ถูกผ่าตัดหน้าอก
ทิ้งทีมวิจัยที่สวีเดนและแคลิฟอร์เนียสามารถปลูกเส้นประสาทไขสันหลังขึ้นใหม่ในหนู
ถึงขนาดว่าหนูพิการที่ขาสามารถกลับเดินได้ แต่ไม่ถึงกับคล่องแคล่วนัก
ความก้าวหน้าของวิทยาการปลูกเพาะอวัยวะทดแทนที่เป็นมาอย่างมากมายในเวลาอันสั้น
ย่อมไม่ใช่อะไรที่น่าฉงนฉงาย เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าตลาดด้านมีนี้ศักยภาพการขยายตัวอย่างมหาศาล
รายงานการวิจัยเมื่อปี 1993 พบว่า เงินมากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีในสหรัฐอเมริกา
ถูกใช้จ่ายไปกับการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากอวัยวะของร่างกายบกพร่องเสียหาย
ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงโอกาสอันมิอาจคณานับถ้วน ทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงมนุษยธรรม
ดร.ปิเตอร์ ซี. จอห์นสัน ประธานของหน่วยงานร่วมเพื่อการวิจัย พิตสเบิร์ก
ทิสชู เอนจิเนียริ่ง อินนิชิเอทีฟ ประมาณว่า ตลาดของเนื้อเยื่อจากการวิศวกรรมและการปลูกถ่าย
รวมทั้งหมดแล้วน่าจะสูงถึงระดับ 80,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้เองวงการวิศวกรรมเนื้อเยื่อ
จึงมีพวกบริษัทตั้งใหม่โดดเข้ามายึดพื้นที่ความเป็นเจ้ายุทธจักรกันอย่างคึกคัก
ตัวอย่างเช่น โนวาร์ทิส ฟาร์มา ซูติคอลส์ คอร์ป ได้ลงทุนตั้งบริษัทวิศวกรรมเนื้อเยื่อ
4 แห่ง รวมทั้ง ออแกโนเจเนซิส ยิ่งเมื่อเอฟดีเออนุมัติให้ใช้แอปลิกราฟได้ด้วยแล้ว
ธุรกิจตรงนี้ก็ยิ่งคึกคักขึ้นเป็นไหนๆ โนวาทิสมิใช่บริษัทเดียวที่มีวิสัยทัศน์แห่งอนาคต
บริษัทอังกฤษ สมิธ แอนด์ เนฟิว ก็กำลังลงทุนราว 70 ล้านดอลลาร์ใน แอดแวนเซ็ด
ทิชชู ซายส์ ขณะที่ แอมเจนทำข้อตกลงมูลค่าสูงถึง 465 ล้านดอลลาร์กับกิลฟอร์ด
ฟาร์มาซูติคอลส์ เพื่อพัฒนาส่วนประกอบสำหรับการปลูกถ่ายเส้นประสาท ด้าน สตรายเกอร์ก็ให้เงินทุนอุดหนุนการวิจัยการปลูกถ่ายกระดูก
ของบริษัท ครีเอทีฟ ไบโอโมเลกุลส์ ส่วน เมดโทรนิกนั้นสัญญาที่จะลงทุน 26
ล้านดอลลาร์ในโครงการเพาะปลูกลิ้นหัวใจในห้องแล็บของไลฟ์เซลล์
ตลาดเฉพาะกลุ่มที่ขยายตัวล่วงหน้าก่อนใครๆ และเป็นตัวที่ดูจะมีอนาคตมากที่สุดในเฉพาะหน้านี้
ตามคำบอกเล่าของ ไมเคิล เออร์เรนไรช์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพประจำบริษัทที่ปรึกษาทางการลงทุน
เทคเวสต์แห่งนิวยอร์ก คือ กระดูกอ่อนสำหรับทดแทนของเดิมตรงหัวเข่าที่เสียหายไป
ซึ่งวิธีที่ใช้ในปัจจุบันคือนำวัสดุทำเทียมมาใส่เปลี่ยนให้ "ทุกๆ ปีจะมีการผ่าตัดเกี่ยวกับข้อต่อหัวเข่าราว
250,000 ราย และไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการเอาของเทียมใส่ให้เลย"
เมื่อการปลูกสร้างอวัยวะทดแทนกลายเป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวาง พัฒนาการในแง่การปลูกสร้างอวัยวะตระเตรียมไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก
เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันทีที่เรียกหา จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับผู้ผลิต
ซึ่งนอกจากจะดีสำหรับการขายแล้ว ยังเป็นการดีสำหรับผู้บริโภคด้วย เพราะคนไข้ไม่จำเป็นต้องนำเซลล์ของตนมาค่อยๆ
เพาะไม่จำเป็นต้องรอให้อวัยวะโตพร้อมแก่การใช้ แต่นั่นหมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จะต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน
ที่ร่างกายคนไข้อาจต่อต้านกับอวัยวะทดแทน
เท่าที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ผิวหนังทดแทน หรือ แอปลิกราฟ ได้กลายเป็นแมสโปรดักส์ไปอย่างเต็มตัว
เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์สามารถยอมรับเซลล์ผิวหนังแปลกหน้าบางอย่างได้
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการนำเอาอวัยวะที่เพาะปลูกเตรียมไว้ล่วงหน้ามาปลูกถ่ายให้คนไข้
ยังมีปัญหากับระบบต่อต้านอัตโนมัติอยู่ ในขณะนี้ยังจำเป็นต้องให้ยาลดภูมิคุ้มกันแบบเดียวกับที่จ่ายให้กับคนไข้
ซึ่งผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับบริจาคจากร่างกายของผู้อื่น
สิ่งที่วิศวกรเนื้อเยื่อกำลังเร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้คือ การเพาะสร้างเซลล์ที่สามารถบริจาคให้คนไข้ได้ทั่วหน้า
โดยไม่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันแสดงปฏิกิริยา หากแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ
ผู้ผลิตอวัยวะทดแทนย่อมสามารถตั้งโรงผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นจำนวนมากๆ
ได้
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ในทางทฤษฎีมองกันว่าต้องใช้วิธีดึงโปรตีน
ที่กระตุ้นให้เกิดการไม่ยอมรับออกจากเซลล์นั้น ด้วยวิธีการทางพันธุศาสตร์
หรืออีกวิธีหนึ่งคือนำเซลล์นั้นห่อหุ้มไว้ในเยื่อหุ้มชนิดที่ร่างกายจะยอมรับไว้
วิธีหลังนี้กำลังใกล้ถึงขั้นการทดลองใช้กับร่างกายของสิ่งมีชีวิตแล้ว อาทิ
กรณีการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานที่ตับอ่อนไม่ทำงาน ทางบริษัทไบโอไฮบริด
เทคโนโลยีส์ อิงค์ แห่งเมืองชริวส์เบอรี รัฐแมสซาชูเสตต์ กับ บริษัทนีโอคริน
แห่งเมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังปลูกเซลล์ผลิตอินซูลิน อันได้จากตับอ่อนของหมู
แล้วนำมาห่อด้วยเยื่อหุ้มที่จะป้องกันปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกัน ขณะที่ยินยอมให้เซลล์ทำงานของมันได้
เยื่อหุ้มบรรจุเซลล์เหล่านี้จะถูกฉีดเข้าไปในช่องท้อง จากนั้นมันก็จะเข้าไปทำงานผลิตอินซูลิน
แม้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวงการอวัยวะทดแทนดูจะพึงพอใจกับพัฒนาการที่ผ่านมา
แต่ความวิตกถึงผลระยะยาวของอวัยวะทดแทนไม่ใช่จะไม่มี อาทิว่า อีกหลายสิบปีในอนาคต
หลังจากที่ปลูกถ่ายอวัยวะที่เพาะสร้างจากแล็บเข้าไปนั้น อาจเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ยังไม่มีใครสามารถรับประกัน แม้เนื้อเยื่อที่เพาะสร้างขึ้นในแล็บต้องผ่านกระบวนการชำระให้บริสุทธิ์
เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เป็นพาหะนำเชื้อ แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่อวัยวะจากเนื้อเยื่อเหล่านี้
จะไม่สร้างปัญหาได้เหมือนกับเซลล์ดั้งเดิมที่นำมาเพาะ ยิ่งกว่านั้น ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าเนื้อเยื่อจากการเพาะปลูกจากในแล็บจะไม่กลายเป็นเนื้อร้ายขึ้นมา
กระนั้นก็ตาม ของอย่างนี้เป็นใครก็ยอมเสี่ยง คนไข้ย่อมอยากรับการรักษาโดยเร็ว
หากไม่ประสบอันตรายแบบทันตาเห็น แพทย์ย่อมอยากทำงานถ้าไม่ถึงกับเสี่ยงมาก
แต่ที่สำคัญที่สุด ยามน้ำขึ้น บริษัทผู้ผลิตย่อมต้องรีบตัก และรีบยึดพื้นที่ความเป็นเจ้าตลาดไว้ก่อนใคร
เพราะมันคือหม้อทองคำแห่งอนาคตกาลที่ตักได้ไม่มีหมด ตราบเท่าที่มนุษย์ยังอ่อนแอต่อกาลเวลาและสังขาร