จับตามอง สิริวัฒน์ พรหมบุรี


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

สิริวัฒน์ พรหมบุรี กรรมการผู้จัดการธนาคารสงเคราะห์กำลังรับศึกใหญ่ๆ อยู่หลายด้าน ที่ชัดๆ ก็คือจะบริหารพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเคหะ ที่มีวงเงินนับแสนล้านบาทไม่ให้กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพได้อย่างไร ในช่วงเวลาที่ความสามารถในการชำระหนี้ของคนลดลงอย่างรวดเร็ว

ในขณะเดียวกัน ก็มีภาระในการทำเป้าการปล่อยสินเชื่อในปีนี้อีกประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท

ปลายปี 2540 ธอส. มีหนี้ค้างชำระประมาณ 5 หมื่นราย จากลูกค้าประมาณ 6 แสนราย เป็นตัวเลขที่สิริวัฒน์ยืนยันว่าไม่น่าตกใจ แม้ตัวเลขในครึ่งปีแรกนี้ทาง ธอส. ยังไม่เปิดเผยว่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าคงไม่น้อยทีเดียว มาตรการผ่อนผันและประนอมหนี้จึงได้ออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 14 มาตรการ โดยซื้อหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงประกาศมาตรการต่างๆ เหล่านี้เพื่อที่จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ได้รับรู้อย่างทั่วถึง

เริ่มจากเรื่องของการขยายเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้นเป็น 30 ปี ขอเฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระออกมาเป็นงวดๆ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดได้ ก็สามารถขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระพร้อมกับขยายระยะเวลาเงินกู้ได้ ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ได้รับรู้อย่างทั่วถึง

เริ่มจากเรื่องของการขยายเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้นเป็น 30 ปี ขอเฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระออกมาเป็นงวดๆ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดได้ ก็สามารถขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระพร้อมกับขยายระยะเวลาเงินกู้ได้

จัดให้มีโครงการตลาดนัดซื้อขายบ้านและโครงการโอนทรัพย์จำนองชำระหนี้และขอเช่าทรัพย์ ในขณะเดียวกันตัวเลขของลูกค้าที่ถูกฟ้องของธนาคารอาคารสงเคราะห์เองก็เพิ่มสูงขึ้น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีก็มี เช่น ในเรื่องของลูกหนี้ชะลอฟ้องนั้นต้องชำระเงินติดต่อให้ทันงวดภายใน 6 เดือน แล้วผ่อนชำระตามสัญญาเดิมหรือลูกหนี้ที่ขอชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือนดอกเบี้ย 19% ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน โดยคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องชำระแต่ละเดือนกำหนดระยะเวลา 31 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ผ่อนผัน หากลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงโดยไม่ขาดส่ง โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารจนครบสัญญากู้เงิน และถ้ายังคงมีลูกหนี้ค้างชำระ ให้ยื่นเรื่องขอทำสัญญาใหม่ หรือกู้เพิ่ม หรือเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา

ส่วนกรณีการถอนฟ้อง ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องและมาติดต่อชำระหนี้ให้ทันงวดและไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายครบถ้วน ธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือตามประกาศธนาคาร

ส่วนกรณีที่ลูกค้าขอยอมความ ขอชะลอการขายทอดตลาด และขอยึดทรัพย์ทางธนาคารได้มีหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการช่วยเหลือไว้เหมือนกัน

สิริวัฒน์ กล่าวว่าช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีผู้ติดต่อขอประนอมหนี้ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 9,433 ราย คิดเป็นสัดส่วน 15% ของลูกค้าที่มีปัญหาในการผ่อนชำระ

ส่วนในเรื่องของเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อนั้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2541 ธนาคารได้ให้บริการสินเชื่อไปแล้วจำนวน 17,500 ล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 9,500 ล้านบาท และสินเชื่อภูมิภาค 8,000 ล้านบาท

ธอส.จะสามารถทำเป้าได้หรือไม่ ในเมื่อตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะชี้ขาดความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเช่นกัน

ฝ่ายวิชาการของ ธอส. ระบุว่าสมมติให้ประชาชนที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัย มีรายได้ 35,000 บาทต่อเดือน เงินงวดที่ผ่อนชำระต่อเดือนที่สถาบันการเงินกำหนดเท่ากับร้อยละ 30 ของรายได้ผู้กู้ ดังนั้นผู้กู้ต้องชำระเงินงวด 10,500 บาทต่อเดือน หากผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้ดังกล่าวกู้เงินธนาคาร อาคารสงเคราะห์ ในช่วงต้นปี 2534 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 15.50 โดยกู้เป็นระยะเวลา 20 ปี จ่ายเงินงวดคงที่ 10,500 บาทต่อเดือน ดังนั้นวงเงินกู้ที่ผู้กู้สามารถจะกู้ได้เท่ากับ 775,500 บาท ในขณะเดียวกันโดยทั่วไปธนาคารจะให้สินเชื่อในสัดส่วนร้อยละ 80 ของมูลค่าหลักประกัน เมื่อคำนวณย้อนกลับจะพบว่าที่อยู่อาศัยที่ผู้กู้ซื้อได้ จะอยู่ในวงเงินประมาณ 969,500 บาท

แต่หากผู้กู้คนเดียวกันขอกู้เงินธนาคารในช่วงต้นปี 2537 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 10.75 ผู้กู้สามารถกู้ได้ในวงเงินที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,034,250 บาท (เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 258,700 บาท) และราคาบ้านที่ซื้อหาได้จะอยู่ในวงเงิน 258,700 บาท สูงกว่าผู้ยื่นกู้เมื่อปี 2534 ถึง 323,500 บาท ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดต่ำลงร้อยละ 4.75 ผู้กู้สามารถกู้เงินและซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 33

เท่ากับว่าในทุกๆ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นร้อยละ 1 ผู้กู้สามารถซื้อบ้านลดลงร้อยละ 7

ในขณะที่เวลานี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ของลูกค้าที่กู้เงินต่ำกว่า 1 ล้านบาทลงมาประมาณ 1% ธอส. แม้จะลดได้ 1 % เช่นกันแต่สิริวัฒน์ยืนยันว่าต้องใช้เวลาถึง 8 เดือน ซึ่งเป็นเพราะอะไรนั้นเป็นคำถามที่ใครๆ สนใจและเป็นเรื่องที่ธนาคารน่าจะรีบหาทางแก้ไขเพราะถ้าดอกเยยังคงสูงอยู่เช่นนี้ มาตรการประนอมหนี้เองก็คงไม่ได้ผลลูกค้ารายใหม่ก็ไม่เพิ่มขึ้น สิริวัฒน์เจอปัญหาหนักแน่ บทบาทสำคัญของธนาคารในการช่วยเหลือประชาชนในการซื้อบ้านก็ควรจะเปลี่ยนไปเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.