ไทยพาณิชย์ลุ้นสินเชื่อเคหะสุดตัว


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเพราะธนาคารไทยพาณิชย์มีพอร์ตของสินเชื่อเคหะซึ่งใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาแบงก์พาณิชย์ด้วยกัน คือเป็นตัวเลขที่สูงถึง 90,000 ล้านบาท มีลูกหนี้ต้องคอยดูแลประมาณ 120,000 ราย ในขณะเดียวกันทางธนาคารเองเคยหวังไว้ว่าปี 2541 นี้ สินเชื่อเคหะนี้ควรจะมีตัวเลขที่เติบโตขึ้นประมาณ 16-17% แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือระยะเวลาจากต้นปีจนถึงกลางปีนั้น ตัวเลขของการปล่อยสินเชื่อเคหะต่อเดือนจะประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาทเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเลยแม้แต่น้อย ไม่มีอัตราการเติบโตแต่อย่างใด

"6 เดือนนี้เราปล่อยสินเชื่อเคหะใหม่ไปประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นปีแล้วเป็นบวกเพียง 400-500 ล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งมีการชำระหนี้คืน มีปิดบัญชีของใหม่ได้มาก็ได้แค่นี้ ซึ่งนับว่าน้อยแต่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น" นะเพ็งพาแสง กฤษณามระ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานลูกค้าบุคคลกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในจำนวน 120,000 รายนี้มีประมาณ 20% ที่เป็นลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ

วิธีการต่างๆ เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ รวมทั้งการช่วยเหลือลูกค้ารายเก่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการผ่อน จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งเงินสำรองหนี้สูญมากนัก

เริ่มตั้งแต่การจัดทำโครงการตลาดบ้านพร้อมอยู่โดยทางธนาคารได้รวบรวมบ้านที่ยึดจากลูกค้า และบ้านที่เสร็จแล้วแต่ลูกค้าผ่อนต่อไม่ไหวเอามาฝากขาย มาดำเนินการเป็นตัวแทนในการขายให้ โดยครั้งแรกได้จัดไปแล้วเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2541 ที่ผ่านมา ที่ตึกไทยพาณิชย์ปาร์ค ถนนรัชดา ซึ่งครั้งแรกนั้น ทางแบงก์มีบ้านที่ยึดมาประมาณ 90 หลัง และประสบผลสำเร็จพอสมควรโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยในย่านฝั่งเหนือของกรุงเทพฯ เช่นย่านดอนเมือง รังสิต และหากไม่มีอะไรผิดพลาดในเดือนสิงหาคม 2541 นี้ งานตลาดบ้านพร้อมอยู่ครั้งที่ 2 ก็จะจัดขึ้นที่จังหวัด เชียงใหม่

ในการจัดงานที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น นอกจากเป็นการขายโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่แล้วทางแบงก์ก็หวังผลโดยอ้อม ว่าจะได้นำเอาโครงการแถวชายทะเลในภาคกลาง เช่นที่พัทยา ระยองขึ้นไปขายด้วย เพราะคนเชียงใหม่ที่มีกำลังซื้อนั้นต้องการได้บ้านพักชายทะเลไว้เป็นที่พักผ่อน รวมทั้งที่โครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เพื่อเสนอขายให้กับผู้ที่ต้องการซื้อให้บุตรหลานอยู่อาศัยเพื่อการศึกษา

หลังจากนั้น โครงการตลาดนัดพร้อมอยู่จะกลับมาจัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกครั้ง คราวนี้จะเป็นการจัดพร้อมกันทั้ง 4 มุมเมืองในวันเดียวกัน โดยร่วมมือกับทางธนาคารไทยพาณิชย์สาขาต่างๆ ในการจัดงาน ส่วนเงื่อนไขพิเศษเพื่อเป็นการกระตุ้นลูกค้าในการที่จะตัดสินใจซื้ออีกทางก็คือ จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในราคาพิเศษต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติประมาณ 5% สำหรับระยะเวลา 2-3 ปี แรก

โครงการกู้เงินกู้ก่อนการซื้อบ้านเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทางธนาคารได้จัดขึ้น โดยร่วมมือกับบริษัทของผู้ประกอบการเข้าไปวิเคราะห์สินเชื่อให้ลูกค้าก่อนการซื้อบ้าน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเองก็จะได้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อแน่นอน ส่วนแบงก์เองก็จะได้ลูกค้าที่มีคุณภาพ บริษัทแลนด์แอนด์ เอ็าส์ จำกัด มหาชน เป็นบริษัทแรกที่เข้ามาทำโครงการนี้ร่วมกับทางไทยพาณิชย์ ซึ่งนะเพ็งพาแสง ยืนยันตัวเลขว่าในระยะเวลาของการจัดงาน 2 วัน มีลูกค้าแสดงความสนใจที่จะซื้อบ้าน และยื่นเรื่องต้องการสินเชื่อทั้งหมดประมาณ 400 ราย ซึ่งปรากฏว่าหลังจากผ่านการวิเคราะห์แล้วทางแบงก์สามารถอนุมัติได้ทันทีในวันงานนั้นเลย 141 ราย อีก 4 รายไม่ผ่านกฎเกณฑ์ ส่วนอีกประมาณ 60% ที่เหลือ กำลังรอความพร้อมของหลักฐานต่างๆ และจะค่อยๆ ทยอยอนุมัติสินเชื่อให้

ในโครงการเงินกู้ก่อนซื้อบ้านนี้ ทางธนาคารมีแผนที่จะจัดร่วมกับบริษัททางด้านที่อยู่อาศัยอีกหลายบริษัทที่กำลังรอจ่อคิวอยู่ก็มี เช่น บริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน), บริษัทวังทองกรุ๊ป, บริษัทคลอลิตี้เฮ้าส์จำกัด (มหาชน) ซึ่งการที่จะดำเนินการกับโครงการใดก่อนได้นั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมในข้อมูลของลูกค้า ซึ่งจะนำมาเก็บในคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ร่วมกัน ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาในการทำพอสมควรทีเดียว

นะเพ็งพาแสงอธิบายว่า ที่ดำเนินการกับบริษัทแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ก่อนโครงการอื่น เป็นเพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีโครงการบ้านและที่อยู่อาศัย ที่กำลังก่อสร้างหลายโครงการในพื้นที่หลายจังหวัด แต่กว่าจะทำข้อมูลเสร็จก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-7 เดือนเช่นกัน

ส่วนมาตรการทางด้านช่วยเหลือลูกค้าที่สำคัญก็คือทางธนาคาร จะลดดอกเบี้ยเงินกู้เคหะลงประมาณ 1% สำหรับลูกค้าที่กู้เงินซื้อบ้านในราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 16-17% ของวงเงิน 90,000 ล้านบาท ส่วนวิธีการที่จะผ่อนผันให้เปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่าเหมือนกับทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ทำนั้น นะเพ็งพาแสงยืนยันว่า ทำไม่ได้ เพราะผิดหลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ สวนทาง ธอส. ทำได้เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ นอกจากเป็นเรื่องที่ต้องขอผ่อนผันเป็นรายๆ ไป แต่ก็จะยุ่งยากมากเพราะทางธนาคารมีลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก

ก็ได้แต่หวังไว้ว่าตัวเลขสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไปเพราะที่ผ่านมาหลายโครงการมีปัญหาทางด้านการเงินต้องชะลอการก่อสร้างออกไป ทำให้การโอนต้องล่าช้าไปด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.