ธีระศักดิ์ สุวรรณยศ นักการเงินที่รู้จักกันดีในวงการโบรกเกอร์ หลังเงียบหายไปพักใหญ่
วันนี้เขากลับมาอีกครั้งในฐานะมือการเงินบอร์ด ทศท.
ชื่อของธีระศักดิ์ สุวรรณยศอาจยังไม่คุ้นหูในแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมเท่าใดนัก
แต่หากเป็นวงการเงินทุนหลักทรัพย์แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักเขา
หลังจากเงียบหายไปพักใหญ่ วันนี้เขากลับมาอีกครั้ง ในฐานะของบอร์ดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
ตามคำชักชวนของสุเทพ เทือกสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
หน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมาย คือ การแปรรูปของ ทศท. ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
หนีไม่พ้นเรื่องของเงินๆ ทองๆ เพราะรัฐวิสาหกิจแห่งนี้จัดเป็นหน่วยงานที่มีรายได้ส่งเข้ารัฐมากที่สุดแห่งหนึ่ง
มีทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายโทรศัพท์ และยังมีสัมปทานสื่อสารอีกมากมายหลายโครงการที่ให้กับเอกชนไป
ธีระศักดิ์ผ่านร้อนผ่านหนาวในแวดวงการเงินมาไม่น้อยยิ่งในยุคที่ตลาดหุ้นบูม
ไฟแนนซ์เฟื่องฟู ฝีไม้ลายมือของเขาถึงขั้นที่หลายคนเคยเปรียบไว้ว่า "พ่อมดการเงิน"
ฉายาเทียบเคียงได้กับเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ และราเกซ สักเสนา
สำหรับเชิดศักดิ์นั้นว่ากันว่าทั้งสองสนิทสนมกันดี เพราะมีวิธีการคิด และใช้ชีวิตคล้ายๆ
กัน
ธีระศักดิ์ มีเชื้อสายไทย-ปากีสถาน บิดามีเชื้อสายปากีสถาน มีมารดาเป็นชาวไทยภาคเหนือ
ในช่วงที่ว่างจากทำงานธีระศักดิ์มักบินไปพักที่บ้านจังหวัดเชียงใหม่เป็นประจำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เขาเงียบหายไปจากวงการ และมาเปิดบริษัทของตัวเองที่ชื่อว่า
ดีเอส พรูเดนเชียล แมนเนจเมนท์ ซึ่งมีใบอนุญาตที่ปรึกษาการเงิน
ชีวิตการทำงานเริ่มต้นครั้งแรกที่ส่วนงานคาร์โก้บริษัท การบินไทย ตอนหลังย้ายมาอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่หลายปี
จากนั้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ที่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต
ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการเข้าสู่อาชีพโบรกเกอร์อย่างเต็มตัว แต่ธีระศักดิ์อยู่ที่นี่ไม่นาน
ว่ากันว่ามีปัญหากับนักลงทุนชาวไต้หวันในเรื่องการซื้อขายหุ้น มูลค่าเกือบ
50 ล้านบาท จนมีคดีฟ้องร้องเรื่องฉ้อโกงกันมาจนทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังมีกรณีของเสี่ยสอง
วัชรศรีโรจน์ข้อหาปั่นหุ้น ซึ่งว่ากันว่าส่งผลกระทบถึงขั้นต้องลาออกจาก บงล.นครหลวงเครดิต
หลังจากเงียบหายจากวงการไปพักหนึ่ง ก็ย้ายมาอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟประมาณปีกว่า
และสามารถฝากผลงานทำกำไรเพิ่มขึ้นก็ยื่นใบลาออกและมีกระแส ข่าวว่า ธีระศักดิ์มีแผนจะไปซื้อซับโบรกเกอร์เล็กๆ
เพื่อบริหารเอง แต่ในที่สุดก็มาเปิดบริษัทรับเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนที่ชื่อ
ดีเอส พรูเดนเชียล แมนเนจเม้นท์ มีลูกค้าหลายกลุ่มที่เคยมาใช้บริการของเขา
ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มบ้านฉางของไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
กลุ่มโรบินสัน และซีโนบริต ของลิขิต หงส์ลดาลมภ์
ธีระศักดิ์ เคยเป็นศิษย์เก่าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และที่นี่เองที่ทำให้ธีรศักดิ์ได้พบกับเพื่อนรุ่นพี่ สุเทพ เทือกสุวรรณ เรียนอยู่คณะเดียวกัน
และแม้ว่าหลังจากจบการศึกษาทั้งสองจะแยกย้ายไปมีวิถีทางของตัวเอง แต่ก็ยังคบหากันมาจนทุกวันนี้
ทันทีที่สุเทพ ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เฉือนไตรรงค์
สุวรรณคีรี ที่ต้องไปนั่งเหงาๆ อยู่ที่กระทรวงแรงงาน ธีระศักดิ์ถูกดึงตัวมาเป็นที่ปรึกษาของบอร์ดการบินไทย
ซึ่งก็อยู่ระหว่างการแปรรูปเช่นกัน จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) ชุดปัจจุบันที่มีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานบอร์ด ที่ก็มาในยุคของสุเทพเช่นกัน
"ตอนนั้นผมยังอยู่เมืองนอก ไปทำงานเป็นที่ปรึกษา ให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทลงทุนในต่างประเทศ
คุณสุเทพก็ใส่ชื่อผมเข้าไปในบอร์ดองค์การโทรศัพท์ ผมยังไม่รู้เรื่องเลย"
ธีระศักดิ์ เล่า
ธีระศักดิ์ เล่าว่า สาเหตุที่สุเทพชักชวนเข้าไปทำงาน เพราะเป็นช่วงที่เมืองไทยต้องพึ่งพาเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ
ค่าเงินบาทลอยตัว ที่สำคัญรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็ต้องแปรรูปเพื่อรองรับกับการเปิดเสรี
จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางด้านการเงินเข้าไปเกี่ยวข้อง
"ทุกอย่างในเมืองไทยในเวลานี้ หลังจากเปลี่ยน แปลงเป็นค่าเงินบาทลอยตัว
จำเป็นต้องอาศัยไฟแนนเชียลเทคนิคเข้ามาช่วย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"
ธีระศักดิ์กล่าว
และนี่เองที่ธีระศักดิ์ มาฝากฝีไม้ลายมือทางด้านการเงินอีกครั้ง และดูเหมือนว่าครั้งนี้เขาลงลึกไปกว่าเดิม
เพราะไม่เพียงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธีระศักดิ์กำลังเดินหน้าไปอย่างเงียบๆ
แต่ต้องมาเจอกับโครงการประมูลร้อนๆ อย่างโครงการประมูลจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์สื่อสัญญาณความเร็วสูง
(เอสดีเอช) ที่ได้ชื่อว่าอื้อฉาวที่สุดแห่งปี แต่จนบัดนี้ก็ยังทำอะไรไม่ได้
ไม่สามารถเอาผิดกับผู้สมรู้ร่วมคิดในกระบวนการ "ฮั้ว" ของผู้เข้าประมูลทั้ง
6 ราย
บอร์ดทศท.ที่มีมีชัย วีระ-ไวทยะเป็นประธานจึงต้องออกมาแก้เกี้ยวหาทางออกเพื่อลดกระแส
"ฮั้ว" โดยมีมติให้ ทศท. เป็นผู้จัดซื้อเอง และให้เอกชน 6 รายคือ อีริคสัน
โตเมน ซีเมนส์ จัสมิน มิตซุย และล็อกซเล่ย์เป็นผู้ติดตั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่
พร้อมกันนี้ก็ได้ตั้งคณะกรรม การขึ้นมาอีก 2 ชุด ชุดหนึ่งจะดูเรื่อง เทคนิค
ซึ่งมีทวีศักดิ์ กออนันตกูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอ นิกส์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์
(เนคเทค) เป็นประธาน คณะกรรมการอีกชุดจะดูเรื่องการเงินมีธีระศักดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้
คณะกรรมการชุดของทวีศักดิ์ มีหน้าที่ไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับราคาอุปกรณ์เอสดีเอชและเคเบิลที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ทั่วโลก
เพราะจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้หลายประเทศยกเลิกหรือชะลอโครงการลงทุนไป
ส่งผลราคาที่ขายอยู่ในตลาดโลกลดลง
ส่วนคณะกรรมการด้านการเงินของธีระศักดิ์ จะดูเรื่องเงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อ
ซึ่งมีเรื่องอัตราค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากซื้ออุปกรณเอสดีเอชและเคเบิลนั้นมาจากหลายประเทศ
จำเป็นต้องใช้เงินหลายสกุล ทั้งดอลลาร์สหรัฐ มาร์กเยอรมัน เงินเยน เงินฟรังซ์ของฝรั่งเศส
ธีระศักดิ์ ไม่ได้ทำแต่เพียงแต่ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับความผันผวนของค่าเงินบาท
ซึ่ง ทศท.ต้องรีบศึกษาเอาไว้ เพราะเมื่อ ทศท.เป็นผู้ซื้อเองก็จำเป็นต้องรับผิดชอบเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าเงินบาท
แต่ยังเตรียมนำเอาเครื่องมือทางการเงินเข้ามาใช้ร่วมด้วย
ธีระศักดิ์ เล่าว่า เครื่องมือทางการเงินที่จะนำมาใช้มีอยู่หลายวิธี เขายกตัวอย่างว่า
การทำประกันความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือที่เรียกว่า การทำเฮดจ์
(Hedging) เป็นหนึ่งในวิธีทางการเงินที่จะนำมาใช้
อีกวิธีหนึ่ง คือ การทำอาร์บิทาจ (Arbitrage) หรือ การทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
เช่น เอาเงินบาทไปซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงที่ค่าเงินตก พอค่าเงินขึ้นก็ขาย
และนำเงินกำไรมาซื้อเงินเยนของญี่ปุ่นในช่วงที่ค่าเงินเยนตก ทำกำไรจากค่าเงินเหล่านี้
ซึ่งทั้งหมดนี้ธีระศักดิ์บอกว่า เขาจะเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเอง
"เราจะต้องอาศัยข้อมูล เราจะดูความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ถ้าเราเห็นว่าค่าเงินที่ถืออยู่จะตก
เราก็ทำประกันความเสี่ยงเอาไว้" คำตอบของธีระศักดิ์
ยังไม่แน่ชัดว่า ธีระศักดิ์นั้นเคยมีประสบการณ์กับเรื่องนี้เพียงใด แต่ที่แน่ๆ
องค์การอย่างแบงก์ชาติก็เคยบอบช้ำอย่างหนักกับเรื่องเหล่านี้มาแล้วอย่างสาหัส
จนกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เมืองไทยต้องเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้
และที่แน่ๆ โจทย์ทำนองนี้ ธีระศักดิ์ถนัดนัก
สำหรับการแปรรูป ทศท. ธีระศักดิ์บอกว่า การแปรรูปจะต้องมีกระบวนการ และมาตรฐานที่เป็นสากล
ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การตีมูลค่าทรัพย์สินของ ทศท. ซึ่งมีทรัพย์สิน ที่ดิน
มีสายโทรศัพท์ มีสิทธิในการทำมาหากิน มีสัมปทานสื่อสารต่างๆ ที่ให้กับเอกชนไป
ทั้งหมดนี้จะต้องตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน
แม้ว่าทศท.จะมีที่ปรึกษาทางการเงิน 2-3 รายที่กำลัง ทำในเรื่องนี้อยู่นั้น
ก็ต้องมาดูว่าแต่ละรายใช้มาตรฐานอะไรในการตีมูลค่าของ ทศท.เพราะหากทำกันคนละมาตรฐาน
ก็จะส่งผลถึงมูลค่าหุ้นของ ทศท.ในอนาคตด้วย
ส่วนแผนการแปรรูป ทศท. ที่ ทศท.ให้คูเปอร์แอนด์ไลแบนด์ไปทำไว้นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
ธีระศักดิ์บอกว่า ขั้นต่อไป ทศท.จะต้องทำ "ไฟแนนซ์เชียลโมเดล" เพื่อมาทำเรื่องการตีมูลค่าของ
ทศท.ซึ่งจะมีการออกทีโออาร์ เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงินมาทำในเรื่องนี้โดยเฉพาะในเร็วๆ
นี้
เพราะหลังจากทศท.แปรรูปมาเป็นบริษัทเอกชนแล้ว จะต้องนำหุ้นบางส่วนขายให้กับเอกชนและประชาชนทั่วไป
โดยนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และนี่ก็เป็นงานที่ธีระศักดิ์ถนัดอีกเช่นกัน
ธีระศักดิ์ ยังเป็นกลไกสำคัญของการสร้างโมเดลใหม่ให้กับบอร์ดรัฐวิสาหกิจ
ที่มีมือไฟแนนซ์นั่งประจำอยู่ทุกบอร์ด แทนที่จะมีเฉพาะตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพียงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และตัวแทนทางกฎหมาย
ทีมไฟแนนซ์ทั้งหมดนี้จึงผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วอย่างโชกโชน แต่ละคนก็่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง
หลายคนในนี้ไม่ได้เป็นแค่คนในแวดวงเดียวกันเท่านั้น ทั้งธีระศักดิ์, ลิขิต
หงส์ลดารมภ์ และวิเชษฐ์ บันฑุวงศ์ เคยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบริษัทซีโนบริต
ที่ได้ชื่อว่าปราบพ่อมดการเงินมาแล้ว
ก็ขึ้นอยู่กับว่า สุเทพจะอาศัยประสบการณ์ด้านการเงินจากบุคคลเหล่านี้ ทำประโยชน์ให้กับหน่วยงานของรัฐเหล่านี้ได้เพียงใด