บำรุงราษฎร์ ปิ๊ง หาลูกค้าจากทัวร์ต่างชาติ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ในห้วงความสำเร็จการดำเนินงานของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้น รพ.หลายๆ แห่งมีอัตราการขยายตัวอย่างมากทั้งผลการดำเนินงานจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ ทำให้ต้องขยายธุรกิจออกไปแทบทุก รพ. เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด เพราะธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสูงกว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมประมาณ 2 เท่า ดังนั้น "น้ำขึ้นให้รีบตัก" คือ สุภาษิตที่ผู้บริหาร รพ.เอกชน นำมาใช้เมื่อยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู อย่างไรก็ตามจำนวนเม็ดเงินลงทุนก็สูงขึ้นเงาตามตัว

ปัจจุบันเมื่อเศรษฐกิจตกสะเก็ด ธุรกิจ รพ.เอกชน เริ่มออกอาการไม่ค่อยดี โดยมีตัวแปรที่สำคัญ คือ วิกฤติด้านการเงินเมื่อกลางปี 2540 ทำให้ธุรกิจนี้มีผลประกอบการลดลง การเพิ่มขึ้นของมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระคืน และที่สำคัญความล่มสลายของภาคธุรกิจทั่วไปของชนชั้นกลางที่ถือว่าเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของ รพ.เอกชน

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ที่ถือว่าเป็น รพ.เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมทั้งค่ารักษาก็สูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นเดียวกัน คือ ตัวอย่างชัดเจนของการได้รับบาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจในช่วงนี้ สาเหตุมาจากการขยายตัวในการสร้างอาคารแห่งใหม่ ซึ่งมีขนาด 554 เตียง สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ถึงวันละ 3,000 ราย โดยใช้เงินลงทุนไป 2,800 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทสำหรับปี 2540 มีจำนวนเพียง 196.22 ล้านบาท ลดลงจากปี 2539 ซึ่งมีรายได้รวม 1,305.89 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนลดลง 84.97% นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ทำให้บริษัทฯ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 2,186.11 ล้านบาท และมีภาระจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 143 ล้านบาทเทียบกับปี 2539 ที่มีภาระจ่ายดอกเบี้ยเพียง 59 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้รับผลขาดทุนจากบริษัทฯ ย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปี 2540 ขาดทุนสุทธิ 2,544.77 ล้านบาท ขณะที่ปี 2539 มีกำไรสุทธิ 92.79 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามสัญญาณในทางบวกก็เริ่มกลับเข้ามาแล้ว เมื่อผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2541 บริษัทฯ มีรายได้รวม 977.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วงวดเดียวกัน 56.79% และมีกำไรสุทธิ 333.29 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันปีที่แล้วขาดทุนสุทธิ 65.27 ล้านบาท

"เราเป็น รพ. ขนาดใหญ่จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก แต่โรงพยาบาลขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมาก คาดว่าครึ่งปีแรกผู้ป่วยลดลงประมาณ 20% โดยหันไปใช้บริการใน รพ.รัฐบาล เพิ่มมากขึ้นประมาณ 20-25%" นพ.ชาตรี ดวงเนตร ผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการการแพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าว

ผู้ใช้บริการของ รพ.บำรุงราษฎร์ จัดว่าเป็นอยู่ในระดับขั้นเศรษฐีของประเทศไทย ดังนั้นไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลงบุคคลเหล่านี้ก็ยังมีกำลังเพียงพอที่จะเลือกใช้บริการใน รพ. ที่เหมาะสมกับฐานะตัวเอง และถ้าแยกสัดส่วนผู้ใช้บริการระหว่างคนไทยกับต่างประเทศแล้วประมาณ 76% จะเป็นคนไทย อีกประมาณ 24% เป็นชาวต่างประเทศ และล่าสุดจำนวนผู้ป่วยในของ รพ. บำรุงราษฎร์เพิ่มขึ้นกว่า 7% และผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 21% ถ้าเทียบกับจำนวนผู้ป่วยของ รพ.คู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน

"เราคาดว่าธุรกิจนี้จะซบเซาไปอีกประมาณ 3 ปี ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถ้าฟื้นช้าเราก็พลอยช้าตามไปด้วย"

อย่างไรก็ตาม รพ.บำรุงราษฎร์ไม่นิ่งนอนใจในการพยายามกระตุ้นผลการดำเนินงานของตัวเองให้เพิ่มขึ้น ล่าสุดได้ออกโปรแกรมตรวจสุขภาพพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยภายใต้โปรแกรม "Amazing Healthcare" ซึ่งถือว่าเป็น รพ. แห่งแรกในไทยที่ดำเนินการในลักษณะนี้

"ผลของการลดค่าเงินบาท ทำให้การบริการด้านสาธารณสุขของไทยได้รับความสนใจจากคนไข้ชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก และในขณะนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่เราอยู่ในฐานะที่จะส่งออกการบริการทางด้านสุขภาพ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย" เคอร์ติส เจ. ชโรเดอร์ ผู้อำนวยการด้านบริการ รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าว

โปรแกรมดังกล่าว รพ.บำรุงราษฎร์จะร่วมกับบริษัท ไทยสินเอ็กซเพรส จำกัด ซึ่งทำกิจการทัวร์ในประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น โดยนักท่องเที่ยวจะใช้เวลาคืนแรกในไทยเข้าพัก ณ ห้องพักใน รพ.บำรุงราษฎร์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพในวันรุ่งขึ้น หรือไม่ต้องเข้าพักใน รพ. แต่จะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพในวันถัดมาโดยใช้เวลาประมาณครึ่งวัน การตรวจสุขภาพตามโปรแกรมที่ออกแบบเป็นพิเศษ รวมถึงการตรวจสุขภาพทั่วไป และยังมีอาหารกลางวันและอาหารค่ำทั้งไทยและญี่ปุ่นให้อีกด้วย ซึ่งราคาจะเป็นลักษณะแบบเหมาจ่าย

"คาดว่าลูกค้าชุดแรกจะเข้ามาในเร็วๆ นี้ เราตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะมีลูกค้า 1,000 คน จากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้ามาในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 40,000 คน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายการตรวจสุขภาพในบ้านเราถูกว่าในญี่ปุ่นประมาณ 3 เท่า ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ คาดว่าจะตามมาแน่นอนไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกา" นพ.ชาตรี กล่าว

ชโรเดอร์ กล่าวเสริมว่า การส่งออกบริการด้านสุขภาพ รพ.บำรุงราษฎร์มีแนวความคิดและดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งผู้มาใช้บริการมีทั้ง ลาว พม่า เวียดนาม เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน โดยปีที่ผ่านมาผู้ป่วยจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการใน รพ.บำรุงราษฎร์ ประมาณ 120,000 คน

ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพแล้วปรากฏว่า ในไทยเสียค่าใช้จ่าย 1,750-4,750 บาท , ญี่ปุ่น 3,500-9,500 บาท, สิงคโปร์ 5,250-14,250 บาท, ประเทศในยุโรป 8,750-23,750 บาท และอเมริกา 14,000-38,000 บาท

นี่คือตัวอย่างบางตอนสำหรับทางออกของธุรกิจ รพ.เอกชน ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เพราะถ้าจะรอให้ลูกค้าเข้ามารักษาแล้วยังต้องออกไปหาลูกเข้ามาอีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.