ยกเครื่องประเทศไทย มาตรการวัดใจนักการเมือง


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ปราชญ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายท่านบอกว่า ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะเหมาะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต สถาบันการเงินรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐ รวมไปถึงหน่วยงานราชการต่างๆ จะหันมาพิจารณาตัวเองและสังคายนาถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต และทำการปรับปรุงโครงสร้างและรากฐานต่างๆ ให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ที่ดุเดือดเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังจะมาถึงนี้

เช่นเดียวกับ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการและระบบเทคโนโลยีชั้นนำ และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา บูซแอลเลนแอนด์แฮมิลตัน (Booz-Allen&Hamilton) จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในการปรับโครงสร้างการทำงาน และในฐานะที่ปรึกษาของ IMF เกี่ยวกับโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย อินโดนีเชีย และเกาหลีใต้ ได้เสนอแนะว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะร้องมีการปฏิรูปตัวเอง เพื่อเสริมสร้างรากฐานให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และสามารถยืนอยู่ได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะภาครัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความล้าหลัง และก้าวไปไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระบบโลก เพราะที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลและระบบราชการหย่อนทั้งประสิทธิผลและประสิทธิภาพ อย่างที่ทราบกันว่า "เช้าชามเย็นชาม" ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทางเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ จะเป็นแรงผลักดันให้ภาครัฐบาลต้องปฏิรูปตัวเอง ซึ่ง โรนัลด์ พี. สไตร๊ด รองประธานอาวุโสและในฐานะหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัท ได้อธิบายผลการวิเคราะห์ของบริษัทว่า การที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลหดตัวลง การว่างงานที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น อุปสงค์ในประเทศลดน้อยลง ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนตกต่ำ ตลอดจนถึงสถาบันการเงินในประเทศอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยภายในที่สัญที่กดดันให้ภาครัฐต้องปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานใหม่ ขณะเดียวกันกระแสการเรียกร้องจากต่างประเทศ ที่ต้องการให้ภาครัฐของไทยมีความโปร่งใสในการทงำาน การให้บริการแก่ประชาชนมีคุณภาพมากขึ้น และมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น ตลอดจนถึงการเปิดกว้างของตลาดทุนและตลาดเงินโลก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความรุนแรงมากขึ้น ก็เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่อิทธิพลพอที่จะผลักดันให้ภาครัฐหันมาพิจารณาปรับปรุงตนเองให้เร็วยิ่งขึ้น

ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทย ข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟที่ตั้งเป็นเงื่อนไขแลกกับการให้เงินกู้ โดยให้รัฐบาลไทยทำการปฏิรูปโครงสร้างระบบการทำงานและบริหาร ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบันนี้ เป็นแรงกดดันที่สำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาระบบราชการและภาครัฐของไทยในอนาคต และบูซแอลเลนได้รับมอบหมายในฐานะที่ปรึกษาของไอเอ็มเอฟ ให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไทยให้ตรงกับเจตนารมณ์ และเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ

"เป้าประสงค์ของการปรับโครงสร้างภาครัฐใหม่ ก็เพื่อปรับปรุงระบบการทำงานให้มีความรับผิดชอบต่อผู้เสียภาษี"

รูปแบบโครงสร้างที่ทางบูซแอลเลนเสนอก็คือ 'High Performance Government' โดยเป็นการวัดจากบริการที่ประชาชนได้รับ หรือ ผลลัพธ์ที่ออกมา (output) จากเดิมที่เน้นนโยบาย หรือ input โดยส่วนสำคัญที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็คือระบบราชการ ซึ่งตามความเห็นของบูซ แอลเลน ได้วางรูปแบบของหน่วยงานราชการต่างๆ ให้อยู่ในลักษณะของ 'องค์กรมหาชนอิสระ' (Executive Agency) ซึ่งจะประกอบด้วย Chief Executive Officer เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ทั้งนี้ก็เพื่อจะกระจายอำนาจที่แต่ก่อนกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลางและรัฐบาลกลาง ลงไปให้หน่วยงานต่างๆ มีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารองค์กรของตนเองอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาลกลางจะต้องคอยสนับสนุน ให้การดำเนินงานขององค์กรมหาชนอิสระดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

"สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องปฏิรูปเป็นอันดับแรกก็คือการปรับปรุงการทำงานของข้าราชการ (the performance of civil servant) ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเขาจะต้องเพิ่ม preductivity เพิ่ม incentive และงบประมาณในการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตของข้าราชการ เพื่อที่จะช่วยให้เขาทำงานได้ดีขึ้น และนั่นก็ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงพอสมควร เพื่อที่จะให้คนประพฤติในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากที่เคยทำในอดีต ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในการปรับปรุงประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และการให้บริการ" สไตร๊ด กล่าวถึงแนวคิดของบูซแอลแลนที่เสนอให้แก่รัฐบาลไทย ปรับโครงสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือในรายละเอียด

ปัจจุบันมี 5 หน่วยงานที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้าง และ 3 ใน 5 นั้น บริษัท บูซแอลเลนรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ได้แก่ กรมสรรพากร, กรมที่ดิน, และสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งส่วนของกรมสรรพากรได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

"เรากำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในหลายหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล และงานนี้เป็นงานที่มอบหมายจากธนาคารโลก อันเป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟที่มีต่อรัฐบาลไทยในการปรับปรุงภาครัฐบาลโดยรวม" สไตร๊ดกล่าวถึงเหตุที่ต้องเข้ามาจับงานแปรรูปภาครัฐไทย

การคอร์รัปชั่น หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบราชการไทยไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผลและอ่อนแอ จนทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็น และยังเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงและมีวิธีการซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีคนไทยต้องแบกรับภาระจ่ายต้นทุนที่เกิดจากปัญหานี้เป็นเงินจำนวนมหาศาล

"ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นตัวแปรที่ทำให้เรามองปัญหาไปในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน หรือรากฐานจริงๆ คือเรามองว่ามันเป็นผล มันต้องมีเหตุ ทีนี้เหตุส่วนหนึ่งที่เราดูแล้วจะมาจากระบบการให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี ซึ่งทำให้เราไม่สามารถนำคนเก่งคนดีเข้ามาในระบบได้ ในจุดนี้เราจึงได้มีการเสนอ executive agency ขึ้นมาคือเริ่มให้หน่วยงานสามารถดำเนินการเอง มี incentive เอง มี performance base incentive มีเรื่องการให้ compensation โดยวัดจาก performance และอื่นๆ ที่จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาทำงานเหมือนเอกชน ทำงานต้องถูกวัดผลงานเหมือนเอกชน ไม่ใช่เช้าชามเย็นชาม ตรงนี้จะทำถ้ามันมีหน่วยงานนี้ขึ้นมาจะทำให้รัฐไม่มีความแตกต่างจากเอกชนในแง่ของการทำงาน มันอยู่ใน competitive edge หมดเลย เพราะฉะนั้นมันก็จะอยู่ในกลไกตลาดที่ว่าคุณทำงานไม่ดี มีปัญหาไม่ได้ตามเป้าก็ต้องออก ถึงจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม ส่วนคนเราก็ต้องเทรน นั่นเป็นบทบาทของ ก.พ.ในการสร้าง HRD (Human Resource Development) ต้องเทรนอีกเยอะ เราเชื่อว่าคนที่ทำงานอยู่ในภาครัฐมีความสามารถเยอะ แต่ไม่มีระบบ incentive ที่ทำให้เขาดึงเอาศักยภาพของเขามาใช้งานมากขึ้น และเขาก็ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน" ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะ Associate ของบูชแอลเลน ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดูแลโครงการของสำนักงาน ก.พ. หลังจากที่โครงการของกรมสรรพากรและกรมที่ดินสำเร็จลุล่วงไปแล้ว กล่าวถึงวิธีที่จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก

ภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศ ซึ่งจากการทำงานและคลุกคลีกับภาครัฐมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ของบูซแอลเลน พบว่าประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องของภาวะผู้นำ เพราะที่ผ่านมาผู้นำของไทยไม่มีเคยมีการกำหนดปัญหาขึ้นก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นจริง และก็มีผู้นำไม่มากนักที่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร นั่นก็หมายความว่าประเทศไทยกำลังขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ตามการวิเคราะห์ของบูช แอลเลน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีผู้นำที่สามารถสร้างสรรค์วิสัยทัศน์ และคุณค่าให้เกิดแก่สังคมโดยรวม ขณะเดียวกันยังต้องสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และสามารถให้รางวัลจูงใจแก่ผู้อื่นได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้นำยังต้องเป็นผู้ที่สร้างวัฎจักร (cycle) ที่ดีให้เกิดขึ้นในระบบ ซึ่งวัฎจักรดังกล่าวจะต้องสามารถกระตุ้นให้คนมีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาขีดความสามารถและปฏิบัติงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะสรรหาบุคคลในระบบการเมืองปัจจุบันที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เข้ามานั่งบริหารประเทศเพื่อฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำประเทศไทยได้

นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของระบบราชการส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าการเข้าแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติจนไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแต่งตั้งบุคคลไม่ตรงกับความสามารถ ดังนั้นแทนที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขกลับกลายเป็นการสะสมปัญหาจนลุกลามเป็นวิกฤตในที่สุด

"ระบบ SES (Senior Executive System) เราตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาการเมืองแทรกแซง ซึ่งเราตั้งขึ้นมาให้กับสำนักงาน ก.พ. โดยเราจะใช้ระบบคณะกรรมการในการเลือกสรรผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารของภาครัฐ แทนที่จะแต่งตั้งโดยตรงจากฝ่ายการเมือง จริงๆ แล้วทาง ก.พ.มีแนวคิดนี้มานานแล้ว เพราะว่าเราได้ศึกษาจากที่อื่นๆ ที่เขามีการทำแบบนี้แล้ว แต่ว่าจะได้ผลหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบรรดานักการเมืองทั้งหลายๆ ดร.สุวิทย์ อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการใช้อำนวจแทรกแซงของนักการเมือง

การปฎิรูปจะสัมฤทธิผลหรือไม่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การนำคอนเซ็ปต์มาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม (Implementation) เพราะผู้ที่จะต้องลงมือทำก็คือนักการเมือง และบรรดาผู้บริหารระดับสูงของรัฐ ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึง การลดทอนอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสมือนหนึ่งหยิกเล็บเจ็บเนื้อ

"ในคอนเซ็ปต์ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่มาก และทำไม่ยาก แต่ปัญหาคือ Buy-IN จะให้นักการเมืองซื้อได้อย่างไร การยอมรับของนักการเมืองในระบบเป็นเรื่องใหญ่ ถ้านักการเมืองซื้อ แล้วผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐซื้อหรือไม่ เท่านั้นเองปัญหามันกลายเป็นเรื่อง implementation ปัญหาบางส่วนเราเสนอไปไม่ยาก แต่การนำไปปฏิบัติมันยากกว่า มันต้องใช้เวลา" ดร.สุวิทย์สรุปถึงอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ของการปฏิรูป

ประเทศไทยจะไปหรืออยู่….. คราวนี้ต้องรอวัดใจบรรดาผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภาไทย ว่าจะทำใจยอมรับบทบาทของฝ่ายบริหารใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน…. ยิ่งในยุคหน้าสิ่งหน้าขวานเงินหายากอย่างนี้ไซร้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.