ปุ๋ยแห่งชาติ ยังต้องเหนื่อยอีกนาน


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

จากความมุ่งหวังของรัฐบาลไทยที่อยากจะเห็นโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีเชิงประกอบในประเทศไทย ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2525 โดยจัดตั้ง บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด ขึ้นมาแต่ช่วงนั้นยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2535 โครงการปุ๋ยแห่งชาติได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกรอบ เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นโดยมี บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 185 ล้านบาท เป็น 650 ล้านบาท และแต่งตั้งให้ ณัฐ จามรมาน เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ

ต่อมาปี 2537 ปุ๋ยแห่งชาติได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,000 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ถือหุ้นใหญ่จำนวน 25% รองลงมาเป็นธนาคารออมสิน 15 % บรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) 15% สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 10% กระทรวงการคลัง 8.11% ขณะที่ PDI ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือเพียง 3.49%

ในปีต่อมา ปุ๋ยแห่งชาติได้ตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเชิงประกอบแบบครบวงจรเป็นแห่งแรกในประเทศ โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุน 10,764 ล้านบาท ซึ่งโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตปุ๋ยได้ 1 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือขนาด 270 เมตรอีกด้วย

"โรงงานแห่งนี้ใช้เงินกู้ประมาณ 6,000 ล้านบาท อีกประมาณ 4,000 ล้านบาทเป็นของผู้ถือหุ้น" ณัฐ กล่าว

จนกระทั่งปี 2539 ปุ๋ยแห่งชาติได้ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์จำนวน 40 ล้านหุ้น มูลค่า 640 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาสร้างโรงงานกรดซัลฟูริก ด้วยกำลังการผลิต 1,400 ตันต่อวัน

ปัจจุบันปุ๋ยแห่งชาติสามารถดำเนินการผลิตได้แล้วแต่ยังไม่เต็มที่ เนื่องจากโรงงานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และผู้รับเหมาก่อสร้างยังไม่สามารถส่งมอบงานให้ทันตามเวลากำหนดได้คือ ภายในวันที่ 28 เมษายน 2540

"ตอนนี้โรงงานเสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% เหลือเพียงเก็บรายละเอียดบางอย่าง แต่จะเร่งให้ผู้รับเหมาส่งงานให้เราได้ภายในปีนี้ ซึ่งจากการที่โรงงานเสร็จล่าช้าทำให้ผลกระทบที่เห็นๆ ตอนนี้ คือ ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยและพนักงานที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น และจากเดิมจุดคุ้มทุนของโรงงานอยู่ที่ 7.5 ปี แต่ปัจจุบันได้ขยายออกไปมากพอสมควร" ณัฐ กล่าวถึงความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้าในการสร้างโรงงาน

ที่สำคัญปุ๋ยแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามกำหนด จากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีแรกจะสามารถผลิตปุ๋ยได้ 80% ของกำลังการผลิต และเพิ่มเป็น 90% และจะครบ 100% ในปี 2542

"จากความล่าช้าทำให้เราผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 40% ของกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนโรงงานกรดซัลฟูริกเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ผลิตได้เพียง 40%"

สาเหตุที่ทำให้ปุ๋ยแห่งชาติไม่สามารถทำงานเต็มที่ เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งเกิดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ระงับการเบิกถอนเงินกู้งวดสุดท้ายจำนวน 530 ล้านบาท

"เกิดขึ้นจากเงื่อนไขสัญญาเงินกู้เรากับผู้ให้กู้ว่าหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ต้องไม่เกิน 2:1 แต่เมื่อหลังปรับค่าเงินบาท D/E ทะลุขึ้นมาถึง 3:3:1 แต่ในปัจจุบันได้เจรจากันแล้วว่าจะให้เบิกเงินได้ก็ต่อเมื่อ D/E อยู่ที่ระดับ 3:1 ซึ่งเราได้พยายามทำอย่างเต็มที่" อีกทั้งแม้ว่าบริษัทได้ทำสัญญา Sponsers' Support Agreement กับธนาคารเพื่อจัดหา Cash Deficiency จำนวน 400 ล้านบาท มาสนับสนุนการเงินของบริษัทในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา Master Security Agreement แต่เมื่อโรงงานยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้บริษัทไม่สามารถเรียกเงินในส่วนดังกล่าวมาใช้ได้ ทำให้บริษัทต้องพยายามเจรจากับบรรดาผู้ให้กู้เพื่อขอเบิกเงินงวดสุดท้าย

นอกจากนี้ปุ๋ยแห่งชาติยังมีความต้องการวงเงิน L/C, T/R และ L/G สำหรับนำมาซื้อวัตถุดิบผลิตปุ๋ย เพื่อให้ทันกับการส่งมอบปุ๋ยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 7 หมื่นตัน ซึ่งหากไม่สามารถทำตามสัญญานี้อาจจะส่งผลต่อการดำเนินการของบริษัทในอนาคต

"ช่วงนี้เราก็พยายามเจรจาเพื่อให้เปิดวงเงินเพิ่ม อีกทั้งยังได้ทำการเพิ่มทุนจาก 4,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท และได้เงินเข้ามา 500 ล้านบาท สาเหตุที่ได้เท่านี้ เพราะขายต่ำกว่าราคาพาร์" ณัฐ กล่าว

สำหรับเงินกู้ระยะยาวที่บริษัทได้กู้มาเพื่อสร้างโรงงานจำนวน 6,125 ล้านบาท ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ต้องชำระคืน ขณะนี้บริษัทได้ทำการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอเลื่อนการชำระหนี้งวดแรกออกไป "มั่นใจว่าเรากับเจ้าหนี้จะตกลงกันได้"

ทางด้านผลประกอบการของปุ๋ยแห่งชาติในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่าสร้างความไม่พอใจต่อบรรดาผู้ถือหุ้นพอสมควร โดยในปี 2540 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 2,063.75 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปนำเข้า 2,024.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 307.27 ล้านบาท และมีรายได้อื่นอีก 39.49 ล้านบาท

ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 2,305.50 ล้านบาท ประกอบด้วยต้นทุนขาย 1,929.91 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 320.86 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย 54.74 ล้านบาท และจากการประกาศใช้ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราแบบลอยตัว ทำให้บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 5,547.99 ล้านบาท (เกิดขึ้นจริงจำนวน 187.06 ล้านบาท) ส่งผลให้ปี 2540 บริษัทขาดทุนสุทธิถึง 5,789.74 ล้านบาท

จากผลกระทบที่ไม่คาดคิดดังกล่าวทำให้ในปี 2541 ปุ๋ยแห่งชาติต้องปรับกลยุทธ์เกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการตลาด เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้ต้องหันไปพึ่งตลาดต่างประเทศมากขึ้น

"ปี 2539 ความต้องการปุ๋ยบ้านเราอยู่ที่ระดับประมาณ 4 ล้านตัน แต่ปีที่แล้วลดลงเหลือเพียงประมาณ 3 ล้านตัน และคาดว่าปีนี้จะลดลงไปอีกประมาณ 30% ทำให้ต้องหาตลาดในต่างประเทศ โดยเล็งไปยังจีน มาเลเซีย เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา และศรีลังกา และจะส่งออกได้ประมาณปีละ 2 แสนตัน" ณัฐ กล่าวถึงแผนการตลาดในปี 2541

จากการปรับแผนดังกล่าว ณัฐ มั่นใจว่าจะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 25% ภายในปี 2542 จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10% เท่านั้น ส่วนแผนการลงทุนในขณะนี้ปุ๋ยแห่งชาติคงจะต้องชะลอออกไป "สถานการณ์เช่นนี้คงต้องเอาตัวรอดในระยะสั้นก่อน รอให้เศรษฐกิจฟื้นแล้วค่อยว่ากันใหม่"

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปุ๋ยแห่งชาติ ไม่ต้องบอกเลยว่าผู้บริหารหนักใจมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ จากนี้ไปคงจะต้องเหนื่อยต่อไปอีกหลายปีกว่าบริษัทจะเข้าที่เข้าทาง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.