นักลงทุน มูดี้ส์ และต้มยำกุ้ง

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟาร์อีสเทิร์นอิโคโนมิครีวิวฉบับกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขึ้นปกหน้าอย่างหวือหวาว่า "ฉีกหน้ากากมูดี้ส์" พร้อมกับพาดข่าวรองลงมาว่า ทำไมบริษัทจัดอันดับที่น่าเกรงขามนี้จึงผิดพลาด (ในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย)

สำหรับบ้านเราเองคงจะรู้จักฤทธิ์เดช และอิทธิพลของมูดี้ส์เป็นอย่างดี การลดเครดิตที่มูดี้ส์ให้กับเศรษฐกิจไทย และบรรดาสถาบันการเงินบ้านเราแต่ละครั้งเป็นข่าวออกวิทยุประเทศไทย และทำให้นักข่าวมีเรื่องถามนายกฯ และ ถามรัฐมนตรีคลังได้เรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะไทยเราเท่านั้นที่โดนลดอันดับ แต่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซีย ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย ต่างโดนกันทั่วหน้า ยิ่งในภาวะที่ทั้งไทยและมาเลเซียต่างพยายามจะดึงเงินจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อเสริมสภาพคล่อง การโดนลดอันดับยิ่งทำให้การแก้ปัญหาด้วยการออกพันธบัตรยากยิ่งขึ้น บ้านเราเองตอบสนองต่อการจัดอันดับดังกล่าว เพียงแค่คำพูดของรัฐมนตรีคลังว่าเขาไม่เข้าใจปัญหาของบ้านเรา หรือจะพยายามชี้แจงให้มูดี้ส์เข้าใจ แต่สำหรับมาเลเซียแล้วนายอันวาร์ อิบราฮิม รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังกล่าวสวนกลับไปว่า "แล้วใครเป็นคนจัดอันดับ (ความน่าเชื่อถือ) ให้กับบริษัท (จัดอันดับเหล่านี้)"

นี่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ว่ามีผลอย่างไรต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแถบเอเชีย เฮนรี่ เซ็นเดอร์ ผู้เขียนบทรายงานนี้ย้ำถึงบทบาทของมูดี้ส์ว่า ในช่วงแรกของวิกฤตนักลงทุนต่างพากันโจมตีว่า มูดี้ส์ไม่ยอมเตือนให้ทราบล่วงหน้าถึงวิกฤตที่กำลังรออยู่ ในขณะที่ ณ เวลานี้บริษัทต่างๆ และประเทศในแถบเอเชียต่างพากันโทษว่ามูดี้ส์ซ้ำเติมวิกฤตให้หนักขึ้นด้วยการจัด (ลด) อันดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของประเทศและบริษัท "ถี่และรุนแรง" เกินไป

พูดง่ายๆ ก็คือในสายตาของรัฐบาล มูดี้ส์ขยันทำงานมากเกินไปในภาวะนี้ ผมเองไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่จะอธิบายปัญหา แต่เป็นที่เข้าใจได้ในทางจิตวิทยา ว่าทำไมมูดี้ส์จึงจัดอันดับถี่มาก และค่อนข้างจะออกมาในแง่ลบ เนื่องจากมูดี้ส์ถูกตำหนิจากนักลงทุนว่าตัวเองไม่ทำหน้าที่เตือน สิ่งที่มูดี้ส์พยายามทำในขณะนี้ก็คือการเรียกความน่าเชื่อถือของตัวเองกลับคืนมา โดยการเตือนให้นักลงทุนระวังที่จะกลับเข้ามาลงทุน

เมื่อมูดี้ส์ลดอันดับทำให้นักลงทุนไม่กลับเข้ามา หรือรีรอที่จะกลับมาผลที่ตามมาคือ ไม่มีเงินกลับเข้ามาในระบบเหมือนอย่างที่รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยคาดหวังไว้ (โดยเฉพาะการกลับเข้ามาของเงินจากภายนอก เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกของปัญหา) เมื่อสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น ปัญหาเลวลง ผลลัพธ์คือมูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีก ปัญหาก็คงจะวนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมูดี้ส์เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดอันดับต่ำไปกว่านี้แล้ว หรือไม่รัฐบาลประเทศเหล่านี้สามารถแสวงหาทางออกอื่น นอกเหนือจากการคาดหวังที่ผูกติดอยู่กับการจัดอันดับของมูดี้ส์

ทำไมทุกคน หรืออย่างน้อยนักลงทุนต่างชาติต่างให้ความเชื่อถือกับอันดับที่มูดี้ส์จัด

ในทางจิตวิทยาสังคม ความน่าเชื่อถือของผู้ให้ข้อมูลขึ้นกับสถานะและวิธีการให้ข้อมูล ยิ่งผู้ให้ข้อมูลมีสถานะที่สูงหรือดีเพียงใด ความน่าเชื่อถือก็ยิ่งสูงขึ้น ส่วนการให้ข้อมูลที่มีลักษณะเป็นวิชาการ หรือมี "ศัพท์แสง" มากๆก็สามารถทำให้ผู้รับเชื่อได้ มูดี้ส์ดูจะมีพร้อมทั้งสองประการ ความเก่าแก่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง (มูดี้ส์ก่อตั้งขึ้นมาเกือบร้อยปี) แต่ยังมีเหตุผลอย่างอื่นๆ อีก มูดี้ส์หรือบริษัทจัดอันดับอื่นๆ จะมี "นักวิเคราะห์" มีการใช้ตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ หรือ "เครื่องมืออื่นๆ ในการวิเคราะห์"

ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ในยุคที่บริษัท หรือนักลงทุนมีเงินเหลือมากพอ และมีการเปิดเสรีของตลาดบริวรรตเงินตรา นักลงทุนอยากปล่อยกู้ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ข้อมูลหรือความน่าเชื่อถือของลูกค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง บริษัทแบบมูดี้ส์จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ความที่ผู้กู้อยากกู้เงิน ทำให้ทุกคนยอมรับสมมุติฐานว่าบริษัทจัดอันดับน่าจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลมากที่สุด หรือน่าเชื่อถือที่สุด เพราะผู้กู้พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วตัวเลขทั้งหลายที่บริษัทยอมเปิดเผย ก็มักจะเป็นตัวเลขที่ "ดูดี" หรือ "ดูไม่น่าเกลียด" ตัวอย่างในบ้านเราก็คงจะเห็นได้ชัดกับ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีทั้งหลาย ที่ถูกพักใบอนุญาตเพราะรับรองตัวเลขงบการเงินที่ถูก "ตกแต่งแล้ว" ของบริษัทเน่าๆ ในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้พฤติกรรมของนักลงทุนเองก็มีส่วนสำคัญ ในหลายครั้งนักลงทุนเองอาจจะไม่มั่นใจ หรือสงสัยกับการจัดอันดับ แต่พฤติกรรมประเภท "ตัวเลมมิ่งส์" ที่บัปเฟตต์วิจารณ์นักลงทุนประเภทไม่ยอมแตกแถวเพราะกลัวจะไม่เหมือนชาวบ้าน (ผู้สนใจอาจหาอ่านได้ในหนังสือ "แกะรอยเซียนหุ้น") ทำให้นักลงทุนยอมที่จะเชื่อตามข้อมูลของบริษัทจัดอันดับเพราะ "คนอื่นๆ เขาเชื่อ" สิ่งที่นักลงทุนกังวลคือ คนอื่นจะตอบสนองอย่างไรกับข่าวดังกล่าว มากกว่าข้อเท็จจริงของข่าวนั้น และตลาดก็จะเป็นไปตามความรู้สึกว่าคนอื่นน่าจะทำแบบนี้

เซ็นเตอร์กล่าวถึงปัจจัยที่เชื่อว่าทำให้มูดี้ส์วิเคราะห์ผิด คือ วิธีการวิเคราะห์ที่ไม่เหมาะสมกับความซับซ้อนของสถานการณ์ปัจจุบัน ปริมาณนักวิเคราะห์ที่น้อยเกินไป และอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน การขาดการวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลที่ได้รับ

สำหรับผมแล้ว ที่จริงปัจจัยที่ทำให้มูดี้ส์วิเคราะห์หรือจัดอันดับผิดพลาดก็คือ คน (ซึ่งไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วน) และคนอีกนั่นแหละที่ทำให้มูดี้ส์วิเคราะห์ถูก (ด้วยพฤติกรรมแบบพากันไป)

ดังนั้นถ้าจะตอบคำถามที่ว่า เราควรให้ความเชื่อถือกับบริษัทจัดอันดับมากน้อยเพียงใดผมเองคิดว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทแบบมูดี้ส์มีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของนักลงทุน ดังนั้นแทนที่จะไปนั่งกังวลว่ามูดี้ส์จะตัดสินเราอย่างไร สิ่งที่น่าคิดมากกว่าก็คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเราแบบใดที่จะไม่ขึ้นต่ออิทธิพลโดยตรงของมูดี้ส์ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ผมคิดว่าการแก้ปัญหาที่ทำอยูในขณะนี้ ร่วมกับวิธีการที่บรรดานักคิดในสังคมไทยหลายท่านที่เสนอแนวทางเศรษฐกิจชุมชน การพึ่งพาตนเอง ควบคู่กันไปโดยไม่หวังเพียงการไหลเข้าของดอลลาร์จากนักลงทุนต่างชาติ น่าจะเป็นทางออกที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.