อาสา สารสิน สัญลักษณ์ของผาแดงฯ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

คุ้นหูคุ้นตากันดีสำหรับบุคคล ชื่อ อาสา สารสิน เพราะเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้ บมจ.ผาแดง อินดัสทรี เกิดขึ้นได้จนกระทั่งสร้างรายได้ให้กับผู้ถือหุ้นและประเทศเป็นจำนวนมาก

อาสา จบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ Dulwich College ประเทศ อังกฤษ และศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ Wilbraham Academy อเมริกา จากนั้นได้รับปริญญาทางการบริหารธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกิ้นส์ และมหาวิทยาลัยบอสตัน ของอเมริกา

ด้วยพื้นฐานของตระกูลที่ผูกพันอยู่กับงานราชการและความมุ่งมั่นของอาสาเองที่ต้องการรับใช้ชาติ ทันทีที่จบการศึกษาจึงได้เข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศในตำแหน่งฝ่ายเลขานุการตรี กรมเศรษฐกิจ จนได้เลื่อนขั้นและเข้ารับราชการในตำแหน่งเลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว จากนั้นไปเป็นเลขานุการเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์

จนกระทั่งปี 2517 ได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และในที่สุดได้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ณ จุดนี้เอง คือจุดหักเหชีวิตของอาสา ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในผาแดงฯ เนื่องจากรัฐบาลไทยกำลังมองหาผู้ร่วมทุนเพื่อก่อตั้งผาแดงฯ ซึ่งบริษัท เวียงมองตาน (Vielle Montagne S.A.) คือเป้าหมาย ของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ดังนั้นงานของอาสา คือ เป็นผู้รับผิดชอบการเจรจากับเวียงมองตาน ในที่สุดปี 2524 งานของอาสาก็ประสบความสำเร็จ โดยเขาเป็นผู้ดูแลสัญญาต่างๆ ของผู้ร่วมทุนทั้งไทยและเบลเยียม

จากนั้นอาสาก็กลับมาเป็นอธิบดีกรมการเมือง เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และตำแหน่งสุดท้ายของการเป็นข้าราชการของอาสา คือ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

1 เมษายน 2531 อาสาได้เข้ามารับงานในผาแดงฯ อย่างเต็มตัวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหลังจากถูกทาบ ทามมาแล้วเมื่อครั้งยังเป็นเอกอัครราชทูตไทยในเบลเยียม และนี่คือองค์กรภาคเอกชนแห่งแรกที่อาสาเข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว และองค์กรอย่างผาแดงฯ ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไรของอาสา แต่กลับมีความคุ้นเคยต่อกันอย่างมาก เพราะอาสาคือคีย์แมนคนหนึ่งที่ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นมากับมือ

บริหารงานได้ไม่นาน อาสาต้องกลับไปรับใช้ชาติอีกครั้ง ในยุคอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี หรือ "อานันท์ 1" ซึ่งได้เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ส่วนงานในผาแดงฯ ในช่วงที่อาสาไม่อยู่ ก็มีประวิทย์ คล่องวัฒนกิจ ทำงานแทนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และหลังจากหมดยุครัฐบาลอานันท์ 1 อาสาได้กลับเข้ามาทำงาน ในผาแดงฯ ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารและประธานผู้บริหารสูงสุด ขณะที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการยังเป็นของประวิทย์

หน้าที่ใหม่ของอาสา คือ ดูแล กำกับและวางนโยบายโครงการขยายกิจการต่างๆ ของบริษัท โดยจะเป็นผู้ติดต่อเจรจากับผู้ร่วมลงทุนต่างประเทศ การดูแลบริหารพนักงานทั้งหมดตลอดจนการประสานงานดูแลทั้งผาแดงฯ และบริษัทในเครือ และเมื่อรัฐบาล "อานันท์ 2" กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง อาสาก็กลับไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและเมื่อหมดยุคอานันท์ เขาก็กลับเข้ามาทำงานในผาแดงฯ ดังเดิม

นอกจากนี้อาสายังได้ดึงโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เข้ามาดูแลในด้านวางแผนและนโยบายต่างๆ ในฐานะรองกรรม การผู้จัดการ ในช่วงนี้ทั้ง อาสา-ประวิทย์-โฆษิต จึงถูกขนานนามว่า 3 ทหารเสือ

อย่างไรก็ตาม 3 ทหารเสือก็ต้องสลายตัวไปเมื่อธุรกิจของผาแดงฯ เริ่มสั่นคลอน!!

ปี 2538 ประวิทย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และได้ธีระชัย เหรียญทรัพย์ดี เข้ามาดำรงตำแหน่ง แทน แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปเมื่อปี 2540

จนวันนี้ผาแดงฯ ก็ยังไร้ผู้บริหารที่จะมานั่งในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ

แต่ก็ได้อาสามานั่งควบ 2 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นงาน ที่หนักพอสมควรสำหรับชายชื่อ อาสา แต่จากอดีตถึงปัจจุบันผลงานที่อาสาสร้างให้กับผาแดงฯ นับว่ามากมายจนแทบจะเรียกได้ว่าผาแดงฯ ขาดแม่ทัพคนนี้ไม่ได้ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือสัญลักษณ์ของผาแดงฯ เพราะการเติบโตทางธุรกิจและการแตกไลน์ของผาแดงฯ จนก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศเกิดจากฝีมือของอาสา!

แม้ว่าองค์กรนี้จะมีผู้บริหารเดินเข้าเดินออกไม่ว่าจะเหตุผลพ้นวาระหรือไปทำธุรกิจส่วนตัวก็ตาม แต่อาสายังยืนหยัดเคียงข้างผาแดงฯ จนถึงทุกวันนี้ เพราะนิสัยโดยส่วนตัว แล้วเขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ และยิ่งมาเจอกับปัญหาด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยิ่งทำให้องค์กรต้องพึ่งผู้นำที่มีประสบการณ์อย่างมากและยังต้องนั่งควบ 2 ตำแหน่ง ทำให้การตัดสินใจในการดำเนินงานของผาแดงฯ ขึ้นอยู่กับเขาเป็นหลัก

คงต้องติดตามต่อไปว่าอาสาจะสามารถนำองค์กรเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียว ที่อาสาเข้ามาทำงานว่าจะกู้ชื่อกลับมาให้โด่งดังรุ่งเรืองเช่นอดีตได้หรือไม่!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.