ทีเอถอยดีกว่า


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การรวมกิจการระหว่างไอบีซี และยูทีวี สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มซีพีที่มีต่อธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งตรงกันข้ามกับชินวัตรที่ลดบทบาทในธุรกิจนี้ลงไปอย่างชัดเจน

เพราะจากการรวมกิจการในครั้งนั้น ส่งผลให้ทีเอช บริษัทในเครือบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทีเอ)ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทอินเตอร์เนชั่น แนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (ไอบีซี) ซึ่งเป็นบริษัท หลักในการดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวี ในขณะที่ชินวัตรกลาย เป็นผู้ถือหุ้นอันดับรองลงมา อำนาจการบริหารก็ตกอยู่กับผู้บริหารเดิมของฝั่งยูทีวี และ MIH

การรวมกิจการในครั้งนั้นจึงเท่ากับว่า ซีพีตบเกียร์ เดินหน้าอย่างเต็มตัวกับธุรกิจเคเบิลทีวี

แต่ถัดมาเพียงไม่กี่เดือน เกียร์ที่เคยเดินหน้าก็เริ่ม ลดลงมาและยังต้องลดมาเป็นเกียร์ถอยหลัง เพื่อมาตั้งหลักใหม่ เมื่อต้องมาเจอศึกหนักกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้หนี้เงินกู้ต่างประเทศที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งเวลานี้ทีเอมีหนี้เงินกู้ต่างประเทศอยู่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหนี้ระยะสั้น 50% ที่เหลือเป็นหนี้ระยะยาว

ขณะที่รายได้จากโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายก็ยังทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เลขหมายที่มีอยู่ก็ยังขายไม่หมด หนำซ้ำบริการเสริมพีซีที ที่ทีเอหมายมั่นปั้นมือว่าจะมาช่วยฉุดยอดขายโทรศัพท์พื้นฐาน และรายได้จากโทรศัพท์ก็เกิดมีปัญหาทางเทคนิค และปัญหาในเรื่องการหาเงินมาจ่ายค่าอุปกรณ์ให้กับซัปพลายเออร์ จนต้องเลื่อนการให้บริการ และการเก็บเงินจากลูกค้าที่ใช้ไปแล้ว ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริการกลุ่ม เจริญโภคภัณฑ์ จึงต้องหันมาหาทางออกยึดนโยบายเฉือนอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ด้วยการขายกิจการอื่นๆ ออกไป ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อนำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ และมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อประคับประคองธุรกิจด้านการเกษตรและโทรศัพท์พื้นฐาน อันเป็นสองธุรกิจหลักที่ธนินท์ประกาศแล้วว่าจะยังคงมุ่งมั่นต่อไป

ไม้เว้นแม้แต่ธุรกิจเคเบิลทีวี ที่แม้ว่าจนถึงวันนี้ซีพีจะยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ หลังจากลงทุนไปมากมายแล้วก็ตาม และหลังรวมกิจการจะทำให้สถานการณ์ธุรกิจเคเบิลทีวีดีขึ้น แต่ในภาวะเช่นนี้ซีพีก็มีทางเลือกไม่มากนัก

หลังจากเพิ่มทุนจดทะเบียนของไอบีซี 150 ล้านหุ้นเพื่อนำเงินมาใช้ดำเนินธุรกิจ ปรากฏว่าทีเอชไม่เพิ่มทุนตาม ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของทีเอชในไอบีซีลดลงจาก 49.46% เหลืออยู่ 35.96%

"เราต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมา เพราะต้อง การนำเงินส่วนที่จะใช้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนี้ไปช่วยเหลือบริษัทแม่ (ทีเอ) ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นความสำคัญของธุรกิจนี้" สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไอบีซีเคเบิล ทีวี กล่าว

แต่จริงๆ แล้ว ทีเอชไม่เพียงไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเท่านั้นแต่ยังต้องการขายหุ้นจากที่ถืออยู่ 35.96% ให้เหลือไว้เพียงแค่ 15% เท่านั้น

ในช่วงที่ไอบีซี ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับสถาบันลงทุนต่างประเทศ จำนวน 90 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท PARI-BAS เป็นผู้จัดจำหน่ายให้นั้น ในช่วงนั้นเองทีเอชก็ได้ยื่นเสนอขายหุ้นของตัวเองจำนวน 160 ล้านหุ้น จากที่มีอยู่ประมาณ 260 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศพร้อมกันด้วย แต่ปรากฏว่า หุ้นในส่วนของทีเอชยังไม่มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจซื้อ เพราะต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนมากกว่าที่จะซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิม เพราะหากซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมก็เท่ากับว่าเงินไม่ได้เข้าบริษัท แต่จะเข้ากระเป๋าของผู้ถือหุ้นแทน

"สาเหตุที่ทีเอชอยากขายหุ้นในไอบีซีออกไป เพราะต้องการเงินสดมาใช้จ่ายเพื่อลดภาระของทีเอที่มีหนี้อีกมาก หากได้ราคาที่เหมาะสมเราก็จะขายออกไป และเหลือไว้แค่ 15% เท่านั้น ซึ่งทำให้ไม่ต้องเอามาแสดงผลทางบัญชีของไอบีซีไปรวมกับทีเอด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร ไอบีซี เคเบิลทีวี ก็มีแนวคิดที่อยากให้นักลงทุนต่างชาติมาถือหุ้นในไอบีซีเพิ่มขึ้น โดยได้เข้าไปเจรจากับกระทรวง พาณิชย์เพื่อเพิ่มเพดานการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น

"เมืองไทยในวันนี้เราต้องเปิดมากขึ้น ต้องใจกว้าง เพราะเราเองก็ไม่มีทางเลือก ไม่อย่างนั้นเงินตราต่างประเทศจะไม่ไหลเข้ามา เราต้องทำเพื่อความอยู่รอด เพราะอย่างอเมริกาก็ไม่สนใจว่าใครจะมาซื้อตึก เพียงแต่ให้มีเงินมาลงทุน" สุภกิตสะท้อนแนวคิด

เพราะทางเลือกของทีเอชก็มีไม่มากนัก การขายหุ้นให้กับนักลงทุนชาวไทยนั้นเป็นสิ่งที่ทีเอชไม่สามารถหวังได้เลย มีเพียงนักลงทุนต่างประเทศเท่านั้น ที่ยังพอมีหนทางอยู่ริบหรี่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับราคาหุ้น

จะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากไอบีซี จะมีบริษัทมัลติช้อยส์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด (MIH) เป็นบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 26.11% แล้วนั้น ในการขายหุ้นเพิ่มทุนล่าสุดก็เป็นการขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ 23% ทำให้เพดานของผู้ถือหุ้นต่างประเทศของไอบีซีเต็มพิกัดแล้ว

แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง เพราะบริษัทต่างชาติสามารถใช้วิธีตั้งบริษัทกองทุนขึ้นในไทยเพื่อซื้อหุ้นของทีเอชได้

แต่เป็นเพราะราคาหุ้นของไอบีซีในตลาดหลักทรัพย์ เหลืออยู่เพียงแค่สิบกว่าบาทเท่านั้น

แม้ว่าทุกวันนี้ธนินท์จะยังคงเชื่อมั่นกับธุรกิจมัลติมีเดีย ที่มีบรอดคาสติ้งเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้สายไฟเบอร์ออพติกที่ทีเอลงทุนไปอย่างมากมายแล้วสามารถเข้าถึงลูกค้าระดับ MASS และเป็นจุดก่อกำเนิดบริการอื่นๆ ในโลกอนาคต ที่เป็นโลกของ ดิจิตอลก็ตาม

แต่ธนินท์ก็จำเป็นต้องเลือกที่จะเดินตามฝันหรือเพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอด!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.