SCB Club หรือเป็นแค่ crazy idea


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่มีการกล่าวถึงกัน และเป็นวิธีแก้แบบคลาสสิก คือมีที่ใช้มาหลายสมัยคือเรื่องการสร้างงานและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งตัวอย่างคลาสสิกที่ว่าคือเรื่องราวต่อไปนี้ อันเป็นต้นกำเนิดของ SCB Club ที่ไม่ใช่คลับเพื่อการกินดื่มสรวลเสเฮฮา แต่เป็นเรื่องซีเรียสของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.โอฬาร เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังอย่างอารมณดีในค่ำวันหนึ่ง ที่ตึก SCB Park Plaza ว่า โจทย์ของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ทำอย่างไรที่จะให้คนซื้อของ ทำอย่างไรจึงจะสร้างดีมานด์ขึ้นมาได้

โจทย์นี้มีหลายแนวคิดของบางอย่างต้องใช้สินเชื่อเพื่อผ่อนส่ง การผ่อนส่งก็หายไปเยอะเนื่องจากปิดไฟแนนซ์ต่างๆ ก็เลยมีความคิดขึ้นมาว่าให้ผู้ผลิตสินค้านี่ให้สินเชื่อผ่อนส่งมากขึ้น คนจะได้มีกำลังซื้อเหมือนเดิม นี่ก็เป็นแนวคิดหนึ่ง ที่รัฐบาลก็เพิ่งประกาศว่าจะให้มีการจ่ายค่าผ่อนดาวน์รถยนต์ได้นานมากขึ้น นี่ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง แต่เราต้องถามว่าสินค้าทุกตัวผ่อนส่งหรือไม่ สินค้าผ่อนส่งนั้นเป็นสินค้า hard goods เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น แต่มีสินค้าที่ผ่อนส่งไม่ได้ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

อีกไอเดียหนึ่งคือ ขอให้บริษัทใหญ่ๆ เพิ่มเงินเดือนและโบนัสให้พนักงาน แต่ทำไม่ได้ หากพิมพ์แบงก์เองก็จะเพิ่มให้

มันมีคำตอบอยู่เยอะ แต่คำตอบบางอย่าง พอถามย้อนไปสักขั้นสองขั้น มันก็ถึงทางตัน นี่หมายความว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่มีไอเดียที่จะแก้ปัญหาง่ายๆ นี้แล้วหรือ

เมื่อ 70 ปีก่อนก็มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งเจอปัญหาทำนองนี้ที่ประเทศอังกฤษ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังการผลิตเหลือเฟือ ไม่มีคนซื้อของ คำถามนี้ก็ถูกถามขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปก็ตอบคำถามนี้ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เพราะ supply always create its own demand เพราะฉะนั้นเมื่อมีอุปทานก็ต้องมีอุปสงค์ นั่นคือ เซย์ ลอว์ (Say's law) กฎของอาจารย์เซย์ ที่ว่าอุปทานจะสร้างอุปสงค์ตลอดเวลา

ส่วนอาจารย์ เคนส์ ก็กล่าวว่า ใช่ แต่ว่าในระยะยาวเราจะตายกันหมด

ซึ่งสำหรับกรณีของไทยนั้น ไม่ต้องรอนานหรอก แค่ 2-3 ปีนี้ ถ้าไม่ทำอะไร เราจะตายกันหมด

เคนส์มีคำตอบออกมาคือ general theory of output employment and price นี่เป็นตำราที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องเรียน macro economic บทที่ 2

เคนส์บอกว่า หากคุณรอให้อุปทานสร้างอุปสงค์ขึ้นมานั้น มันรอไม่ได้มันต้องใช้เวลาเป็น 10-20 ปี เศรษฐกิจก็พังก่อน เคนส์ก็บอกว่าในเมื่อเรามีรัฐบาลอยู่ จะเก็บไว้ทำไม เราเอารัฐบาลอังกฤษมาดำเนินการแก้ปัญหา วิธีที่เคนส์ใช้ ยกตัวอย่าง คือ รัฐบาลก็จ้างคนตกงานมาขุดท่อ แล้วก็จ่ายกระดาษแผ่นหนึ่งเรียกว่า bank note เซ็นโดยผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ และ chief cashier พอเขาขุดเสร็จก็จ้างเขามากลบ นี่เป็นตัวอย่างจริงนะครับ

แต่เคนส์บอกว่า ใน process ของการจ้างคนมาขุดและกลบนั้น คนเหล่านี้มีรายได้กลับบ้าน ซึ่งเขาก็จะเอาไปใช้จ่ายซื้อข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีพ เมื่อคนงานนำเงินไปซื้อของ ความต้องการสินค้าเหล่านี้ก็มีเพิ่ม เจ้าของโรงงานก็ต้องไปเรียกคนงานกลับมาทำงานเพื่อผลิตสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น นี่ก็เป็นการจ้างงานรอบที่สอง แล้วก็เวียนเป็นรอบที่สาม สี่ และห้า ประเดี๋ยวเดียว full employment ก็กลับมา

ประธานาธิบดี รูสเวลท์ ก็เจอปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกาประมาณ 10 ปีหลังจากเคนส์แก้ปัญหาให้รัฐบาลอังกฤษ ก็มีแนวแล้ว รูสเวลท์ก็ทำแบบเดียว กันแต่ไม่ได้จ้างขุดแล้วกลบ แต่เอาเงินรัฐบาลไปสร้าง สะพาน Golden Gate สร้าง highways ในอเมริกา ใช้นโยบายเศรษฐกิจ new deal เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมา

แล้วประเทศไทยล่ะ "รัฐบาลทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่า "คุณพ่อไอเอ็มเอฟ" รัฐบาลไปเซ็นสัญญา ฉบับแรกที่เกินดุล 2% แล้วคุณจะเอาเงินที่ไหนไปปล่อย ตอนนี้เก็บภาษีก็ไม่ได้ ก็โอเค เจรจาค่อยๆ เปลี่ยนจากเกินดุลมาขาดดุลได้ รอบแรก -1% แล้วมา -2.50% แล้วก็ -3.50% ก็ต้องใช้ถึง 5 LOIs จึงจะขึ้นมา ประมาณปีหนึ่งพอดี"

ทีนี้ก็ต้องถามว่า การบวกขึ้นไปอีก 1% ของ GDP ที่ได้จาก -2.5% มาเป็น -3.50% นั้น GDP ประเทศไทยกี่สตางค์ ก็ประมาณ 5 ล้านล้านบาท นี่เป็นตัวเลขโดยบังเอิญ ที่เท่ากับ banking system พอดี

ทีนี้ 1% ของ 5 ล้านล้านบาท คือ 50,000 ล้านบาท ปล้ำกันตั้ง 2 เดือนกว่าจะได้อีก 50,000 ล้านบาท ถามว่าในยามปกติของระบบแบงก์ไทยนี่ ปล่อยสินเชื่อกันเดือนละเท่าไหร่

อัตราการขยายตัวสินเชื่อของระบบธนาคาร คือ 20% หรือ 60,000-70,000 ล้านบาท

ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ระบบแบงก์ไทยปล่อยสินเชื่อเดือนละประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท แล้วเทียบกับการที่รัฐบาลไปเอาเงินไอเอ็มเอฟมา 3 เดือน 50,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้กันทั้งปี ไม่ใช่ใช้เดือนเดียว เปรียบ เทียบกับที่แบงก์ไทยปล่อยสินเชื่อเดือนละ 6-7 หมื่นล้านบาท (ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องที่เคยมีอยู่มาก หดตัวลงเพียงใด) ดร.โอฬารกล่าวว่า "การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ไทย เพียงเดือนเดียวมีจำนวนมากกว่าที่รัฐบาลไทยได้รับอนุญาตจาก 'คุณพ่อไอเอ็มเอฟ' จ่ายทั้งปี"

"คุณเข้าใจไหม วิธีการของเคนส์ ไอเอ็มเอฟยังไม่มีตัวตนสมัยอังกฤษตกต่ำ ยังไม่เกิด สมัยรูสเวลท์ก็ไม่มี ตอนนั้นไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย เพราะว่าไม่มีไอเอ็มเอฟ และรัฐบาลสามารถพิมพ์เงินจ้างคนงานได้ แต่รัฐบาลไทยเซ็นสัญญาไอเอ็มเอฟไปแล้ว เพราะฉะนั้นทำได้ไม่เกินจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจะให้รัฐบาลนำประเทศออกจากภาวะ recession ปัจจุบันนี่ ซึ่งรัฐบาลไทยก็พยายามทำอยู่ ก็ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่มันไม่เพียงพอ เนื่องจากตัวเลขที่ไอเอ็มเอฟยอมนี่มันน้อยเกินไป" ความเห็นของดร.โอฬาร - อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในการกระตุ้นดีมานด์ในประเทศนั้น มีปัจจัยหลายตัวที่มีบทบาท แต่ในบรรดาปัจจัยเหล่านั้นต่างอยู่ในสภาวะ"ง่อยเปลี้ย" กันไปหมด เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐบาลหรือ Government Spending ก็ใช้ไม่ได้ ด้านการลงทุนของภาคเอกชนหรือ Investment เล่า ใครจะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในสภาวะที่มี excess capacity มากมายเช่นนี้ ตัว I ก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน

ด้านการส่งออกหรือ Export ซึ่งครั้งหนึ่งมีบทบาทแนวหน้าในการสร้างความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย "ตอนแรกที่เราลดค่าเงินบาท นั้น ก็อ้างว่าเพื่อส่งเสริมการส่งออก แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเมื่อเรามี massive devaluation เพื่อนบ้านเราจะไม่ตามหรือ ก็คิดแคบๆ ไม่ได้ link ถึง system เดี๋ยวนี้ มาเลย์ ฟิลิปปินส์ devalue มากกว่าเราอีก ไม่ต้องพูดถึงอินโดนีเซีย เพราะฉะนั้น เราลดค่าเงินบาทลงจริง แต่เพื่อนบ้านคู่แข่งโดยตรงของเราลดมากกว่า เราจะเอา devaluation ไป boost export ได้ไหม"

ความหวังที่จะใช้การส่งออกดันเศรษฐกิจให้หลุดจากเหวนั้น หลังจาก 12 เดือนที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับสภาพความจริงว่าดันไม่ไหว ก็หมดไปอีกตัว การส่งออกก็ใช้ไม่ได้

เหลือตัวสุดท้ายคือ Consumption ซึ่งก็คือคำถามที่ว่าจะทำให้คนใช้จ่ายอุปโภคบริโภคได้อย่างไร นั่นคือโจทย์

อีกวิธีหนึ่งก็คือถามว่า hard goods นี่มันมีระบบอะไรที่ล่มสลายไป คือระบบ hire purchase เพราะว่าปิดไฟแนนซ์ไปอะไรนี่ ระบบนี้ก็หมดไป เพราะว่าแบงก์ก็ถูกห้ามไม่ให้ทำ เดี๋ยวนี้ hire purchase ก็เหลืออยู่ 2 เจ้าคือ SPL หรือสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง กับ GS Capital นี่คือข้อเท็จจริง

"เราพยายามแก้ปัญหาว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จะกระตุ้นการบริโภคอย่างไร แน่นอนสินค้า hard goods นั้น ระบบ hire purchase ก็ช่วย ซึ่งรัฐบาลก็ทำระบบที่ประกาศไว้ ก็คิดว่าจะช่วยได้ ด้าน soft goods ล่ะ ที่เราซื้อของกินมากมาย จะกระตุ้นอย่างไรนี่คือโจทย์ ใครตีประเด็นนี้แตกได้ ก็คือขโมยไอเดียของเคนส์มาจำลองทำ และเมื่อรัฐบาลทำไม่ได้ ก็ต้องเป็นเอกชนทำ" ดร.โอฬารกล่าว

ดร.โอฬารอ้างว่าเมื่อก่อนนี้แบงก์ไม่มีทุนที่จะปล่อยสินเชื่อ แต่ตอนนี้แบงก์พร้อมจะปล่อยแล้ว แต่ตัวลูกค้าเองไม่มั่นใจว่าจะขายของได้ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นไก่กับไข่แล้ว ทางออกที่จะแก้ปัญหาได้คือ คำว่าเอกชนคือ 2 พวก คือแบงก์พาณิชย์และลูกค้าธุรกิจ (เป็นธุรกิจใดก็ได้) ทำอย่างไรจะให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจได้ โอเค การปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน ให้กลับคืนไปสู่สภาพที่มีทุนพอที่จะปล่อยเงินกู้ตามปกติ อันนี้เป็น necessary แต่ไม่เป็น sufficient condition เพราะว่ามันต้อง 2 มือจึงจะตบดัง ดังนั้นต้องมีผู้กู้ ผู้กู้ก็บอกว่าอยากจ้างคน อยากผลิตเพิ่ม ถ้ามีคนซื้อ ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะให้แบงก์ ซึ่งยินดีปล่อยกู้เงินทุนหมุนเวียนหรือ working capital และธุรกิจยินดีที่จะรับเงินกู้ไปผลิตสินค้าเพิ่ม โดยการจ้างคน และให้มีคนมาซื้อของเหล่านี้

ประเด็นสำคัญคือ "ต้องทำให้แน่ใจว่าคนที่ได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้นนี้ เมื่อได้รายได้นี้ ต้องกลับมาซื้อของของผู้ผลิตที่ผลิตเพิ่มขึ้น นี่เป็นปมนิดเดียว ถ้าใครตีตรงนี้แตกสามารถตอบคำถามนี้ได้"

"ใครมีระบบอะไรอย่างไรที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า เงินที่จ้างคนงานเพิ่มขึ้นใหม่ทั้งหมดนี่ จะกลับมาซื้อของของบริษัทที่ผลิตและจ้างคนงานเหล่านี้"

มันอาจจะมีปัญหาว่าลูกจ้างที่ถูกจ้างเพิ่มเข้ามานี้ อาจจะไม่ซื้อสินค้าของบริษัทก็เป็นได้ ในเมื่อ 1 ต่อ 1 มันไม่ทำงานได้ตามที่ต้องการ เราอาจจะจัดตั้งมาสัก 100 ราย ที่ผลิตของหลากหลายชนิด ผลิตรถยนต์ ทีวี มอเตอร์ไซค์ ข้าวถุง เสื้อ กาแฟ โรงพยาบาล โรงหนัง น้ำมัน ทุกอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็เอามาในส่วนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในแต่ละประเภท หากมีการไปหาผู้ผลิตรายใหญ่มาร่วมวงกัน 300-400 ราย และร่วมมือกันที่จะกู้เงินจากแบงก์ แล้วเอาเงินนี้ไปจ้างคนมาผลิตของเพิ่มขึ้น และทำให้มั่นใจว่าเงินที่ตกสู่มือคนงานของ 300-400 บริษัทนี่กลับมาซื้อของในกลุ่ม ระบบก็จะเริ่มทำงานได้ใช่ไหม

ทีนี้ก็ต้องถามว่าเงิน 10,000 บาทของเงินเดือนที่ได้รับนั้น จะซื้อของหมดไหม ก็คงจะไม่ เพราะรัฐบาลขอภาษีไป 10% ที่เหลือ 90% อาจจะใช้ไม่หมด ก็อาจจะมี saving บ้าง อาจเป็น 10% ก็เหลือ 80% ซึ่งก็กลับมาซื้อของใช้เหล่านี้

เรื่องนี้ก็ต้องทำ quantitative research กันบ้าง หากไม่เคยวิจัยพฤติกรรมการบริโภคของคน การออมทรัพย์ของคน ก็คงทำอะไรไม่ได้ หากว่าเคยวิจัย ตัวเลขนี้คือโดยประมาณซึ่งใกล้เคียงของจริง ดังนั้นก็เพียงแต่ให้มั่นใจว่ารายได้และการจ้างงานและผลผลิตที่สร้างขึ้นมานั้น มันเข้าสู่ในมือคนงานเป็นหลัก และคนงานเหล่านี้กลับมาซื้อของที่ผลิตออกมาจากโรงงานเหล่านี้

ความจริงวิธีการนี้รัสเซียใช้มานานแล้ว แต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว เพราะมันไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ภายในเงื่อนไขปกติ (under normal conditions)

แต่ในกรณีของไทย "เราจะทำทุกอย่าง แต่ประเด็นคือต้องให้มั่นใจว่าคนงานในโรงงาน 100 โรงนี้กลับไปซื้อของใน 100 โรงงานนี้"

ดร.โอฬารยอมรับว่า "เขามีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว เราไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาใหม่ เราก๊อบปี้สิ่งที่เขาปฏิบัติกัน นี่คือต้นตอของ SCB Club"

เขาเผยแนวทางปฏิบัติว่า "กลไกที่จะให้มาซื้อกันเองนี่ก็โดยการออกคูปอง สินเชื่อที่เราให้ผู้ผลิตนั้นให้เป็นคูปอง ผู้ผลิตก็เอาคูปองมาจ่ายค่าจ้างแรงงาน คนงานได้คูปองก็เอามาซื้อของ แต่ไม่ใช่โรงงานตัวเอง แต่เป็นโรงงานที่อยู่ในกลุ่มนี้ ในลักษณะช่วยกันไปกันมา เรื่องวงเงินนั้นผมกำลังทำอยู่ มีดอกเตอร์จาก MIT กำลังตั้งโปรแกรมอันนี้อยู่ คำนวณง่ายนิดเดียวว่าเดือนแรกจะลองผลิตเท่าไหร่ อำนาจซื้อจะเป็นเท่าไหร่ ต้องใช้การวิจัยนิดหน่อย"

ในการทำคลับนี้ ดร.โอฬารเน้นว่า "ผมจะเอาเฉพาะลูกค้าผม มีทั้ง high-end product และ medium-end product ด้วย"

"การจัดตั้งคลับนี้ จะทำไปสัก 2-3 เดือน ประ-เดี๋ยว market machanism มันก็ทำงานได้เอง เราก็ทำของเราไป ไม่สงวนลิขสิทธิ์ อยากให้ทุกคนทำ"

ในการทำคลับนี้ขึ้นมา จะช่วยเรื่องการบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของธนาคารด้วย ดร.โอฬารอธิบายว่า "สินค้าคงคลังหรือ inventory ของลูกค้าจะลดลง จะทำให้ NPL ลดลง เพราะว่าเมื่อเขามีกำไรจากการค้าขายใหม่นี่ แน่นอนเขาต้องจ่ายดอก เบี้ยเงินกู้ที่ใช้เป็นทุนหมุนเวียนผมก่อน แต่ว่าเมื่อทำไปๆ ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นทุกเดือนๆ ถึงจุดหนึ่ง เกือบจะถึง full capacity นี่เขาจะมีกำไรมาคืนดอกเบี้ยเก่า และนี่เป็นการลด NPL"

เขายอมรับว่า "นี่ก็เท่ากับเป็นการช่วยลูกค้าเราก่อน และช่วยตัวเอง และช่วยประเทศไม่ให้เจ๊ง จุดมุ่งหมายของคลับนี้คือ new employment และ new output"

ดร.โอฬารพูดอย่างซีเรียสว่า "ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อสนุกๆ หากทุกแบงก์ หรือทุกบริษัทตกลงใจที่จะทำพรุ่งนี้ มันก็เวิร์คทันที แต่ทุกคนก็ยังกลัว เราต้องการแสดงว่ามีกลุ่มหนึ่งที่ไม่กลัว และทำแล้วได้ผล"

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า SCB Club ฤาจะเป็นเพียง crazy idea !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.