พงศ์พันธ์ พงษ์ศิริบัญญัติ หวังใช้เวทีโลกแก้ปัญหา VAT ทองคำ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

พงศ์พันธ์ พงษ์ศิริบัญญัติ : "สายตาของต่างชาติที่มองประเทศไทย เขายังมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีอนาคตอยู่ เพียงแต่รอให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน หน้าที่ของผมก็คือ พยายามหาหนทางให้ร้านทองต่างๆ อยู่รอดได้"

หลังจากพยายามผลักดันให้รัฐบาลผ่อนปรนลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ของการซื้อขายทองคำมาเป็นเวลานาน  โดยไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จได้ง่าย  ล่าสุดพงศ์พันธ์ พงษ์ศิริบัญญัติ ผู้จัดการประจำประเทศไทยแห่งสมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำโลก ได้ร่วมกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จัดตั้งคณะกรรมาธิการธนาคารผู้ผลิตทองคำแห่งอาเซียน (ASIAN CENTRAL BANK ADVISORY BOARD) ซึ่งเป็นทีมงานที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีสำหรับการถกปัญหาและหาแนวทางแก้ไขของประเทศสมาชิก  โดยสมาพันธ์ทองคำประเทศไทยจะนำปัญหาการจัดเก็บ VAT ทองคำที่ยังคาราคาซังอยู่ เข้าไปถกในเวทีนี้ด้วย ในการประชุมนัดแรกที่จะมีขึ้นประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ที่สิงคโปร์  และงานนี้พงศ์พันธ์ได้ทาบทาม ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จาก TDRI ให้เข้านั่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยในบอร์ดชุดนี้ด้วย

"เราจะผลักดันปัญหา VAT เข้าไปในบอร์ดนี้ด้วย เพื่อเป็นอีกวิธีหนึ่ง หลังจากที่เราทำมาหลายวิธีแล้ว   วิธีนี้อาจจะทำให้อำนาจการต่อรองของเรากับรัฐบาลดีขึ้น  สำหรับ ภาษี VAT ถ้าไม่เก็บเลยจะดีมาก หรือหากต้องเก็บควรเก็บจากค่ากำเหน็จ มิใช่เก็บจากมูลค่าทองคำทั้งหมดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นอัตราที่มากเกินไป นอกจากนั้นบอร์ด นี้ยังมีการพูดคุยกันในเรื่องภาพรวมของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย อาทิ การนำทองคำที่เป็นทุนสำรองของแต่ละประเทศมาออกพันธบัตร เป็นต้น" พงศ์พันธ์ชี้แจง นับเป็นความโชคดีของผู้ประกอบการและผู้บริโภคทองคำ ที่มีองค์กรเข้ามาช่วยผลักดันในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่สินค้าอื่นที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นยังไม่มีใครเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายกิจกรรมของสมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งประเทศไทยทำในปีนี้ และปี'41 นี้สมาพันธ์ฯ มีอายุย่างเข้าปีที่ 8 แล้ว โดยในแต่ละปีทางสมาพันธ์ฯ จะเน้นกิจกรรมที่แตกต่างกันไปภายใต้นโยบายหลักขององค์กร ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นการบริโภคทองคำภายในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมต่อไปนี้

กิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการล็อบบี้เรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทองคำในประเทศ รวมทั้งจัดทำงานวิจัยตลาดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายข้อมูลที่ได้มาไปสู่ผู้ประกอบการที่มีอยู่มากกว่า 7,000 รายทั่วประเทศ ให้รับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค และจัดกิจกรรมแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมนี้ด้วย

"ในปีแรกของการก่อตั้งสมาพันธ์ฯ ได้เน้นการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ประจวบกับเป็นช่วงที่โกลด์มาสเตอร์เข้ามาในตลาดพอดี เราก็ช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากนั้นก็ตามมาด้วยพรีม่าโกลด์ ฮั่วเซ่งเฮง เป็นต้น นั่นคือยุคแรกที่ตลาดทองเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องของการโฆษณา" พงศ์พันธ์เล่า จากนั้นในปีถัดๆ มากิจกรรมจะเน้นทางด้านการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผลิต เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์ลดค่าเงินบาทแล้ว ปริมาณการซื้อขายทองคำในประเทศ ไทยลดลงมากกว่า 80% และเพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ผลิตทองคำรูปพรรณของไทยเร่งพัฒนาฝีมือในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ทางสมาพันธ์ฯ จึงได้จัดสัมมนาเทคโนโลยีการผลิตทองคำในหัวข้อ "แนวทางการพัฒนารูปแบบทองรูปพรรณในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ" เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ มาบรรยายในหัวข้อต่างๆ รวมทั้งให้คำแนะนำเทคนิคใหม่ๆ ในการผลิตทองน้ำหนักเบาที่มีคุณภาพสูง อาทิ วิธีการปั๊มขึ้นรูป (STAMPING) วิธีทำเครื่องทองกะรัตชนิดกลวง (HOLLOW JEWELLERY) และเทคนิคการขึ้นรูปผิวด้วยไฟฟ้า (ELECTROFORMING) เป็นต้น

"ตั้งแต่หลังลดค่าเงินบาท ตลาดทองได้รับผลกระทบหนัก ยอดขายหายไปประมาณ 80-90% ร้านทองมีแต่การรับซื้อคืน แทบจะไม่มีการขายออก ฉะนั้นเราต้องช่วยหาทางออกให้เขา อาทิ ให้ข้อมูลตลาดส่งออก ขณะเดียวกันเราก็ไม่ทิ้งตลาดในประเทศ การจัดสัมมนาครั้งนี้เรา จึงได้นำเอาบทเรียนของบริษัทหลายบริษัทในประเทศอิตาลีที่ครั้งหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เคยประสบกับวิกฤตเช่นนี้มาก่อนและเขาก็สามารถผ่านเหตุการณ์นั้น จนกลายเป็นผู้นำตลาดทองคำโลกได้ และทางออกที่เราสรุปเสนอให้แก่ผู้ผลิตทองคำในไทยก็คือ การผลิตสินค้าที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมแต่น้ำหนักเบาลงและราคาถูกลง เพื่อจูงใจให้เกิดแรงซื้อมากขึ้น" พงศ์พันธ์กล่าว

นอกจากนั้น ในปีนี้สมาพันธ์ฯ ของไทยได้ส่งตัวแทนผู้ประกอบการทองคำ 3 รายคือ บริษัท พรีม่าโกลด์ จำกัด, บริษัท บ้านช่างทอง จำกัด และบริษัท แฮง ออน จำกัด เข้าประกวดในงานสุดยอดแผนการตลาดสำหรับผู้ค้าทองคำในเอเชีย "WGC AWARD FOR ASIA GOLD MARKETING EXCELLENCE 1998" ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกที่นครเซียงไฮ้ และมีรางวัลให้ส่งเข้าประกวดสูงถึง 10 ประเภท

โดยคณะกรรมการจะพิจารณารางวัล จากรายงานแผนงานการตลาดของแต่ละบริษัทในภูมิภาคเอเชีย ที่เริ่มดำเนินการในระหว่างเดือน มิ.ย.39 - ส.ค. 41 และรายงานสรุป แผนการตลาด 1 ฉบับสามารถส่งเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลได้สูงสุด 3 ประเภท ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาในแง่ของความสมเหตุสมผลในการวางกลยุทธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และผลการดำเนินงานตามแผนนั้นๆ ประกอบกับผู้เข้าประกวดสามารถส่งสื่อนำเสนอผลงาน เช่น วิดีโอ ภาพข่าว ผลการวิจัยตลาด เข้าร่วมการพิจารณาได้ด้วย

"สายตาของต่างชาติที่มองประเทศไทย เขายังมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมีอนาคตอยู่ เพียงแต่รอให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน หน้าที่ของผมก็คือ พยายามหาหนทางให้ร้านทองต่างๆ อยู่รอดได้" พงศ์พันธ์กล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.