ปราโมทย์ สันติวัฒนา ไม่สนเศรษฐกิจ มุ่งพัฒนาน้ำมันรำข้าว "คิง" ไม่หยุด


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ปราโมทย์ สันติวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดน้ำมันรำข้าว "คิง" : "น้ำมันรำข้าวใช้วัตถุดิบจากรำข้าวที่ได้จากอุตสาหกรรมการสีข้าว หากเราไม่พัฒนาต่อก็เท่ากับเป็นการตัดตอนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมข้าวไทย"

พิษเศรษฐกิจส่งผลให้ยอดขายน้ำมันรำข้าวคิงไม่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง  2 ปีที่ผ่านมา แต่จากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น ประกอบกับ "คิง" เป็นน้ำมันพืชที่ผลิตจากรำข้าว 100% ที่ได้มาจากการสีข้าว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เท่ากับเป็นการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย ทำให้ปราโมทย์ สันติวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด กล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "จะยังคงมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อการบริโภค เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ที่มีความต้องการสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นไปยังน้ำมันที่ผลิตจากรำข้าว 100%"

น้ำมันรำข้าวจัดว่าเป็นน้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เนื่องจากประกอบด้วยสารอาหารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (UNSATURATED FATTY ACID) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการรักษาคอเรสเตอรอล ที่เป็นผลดีต่อร่างกายที่ช่วยในการซ่อมแซมผนังหลอดเลือดไม่ให้เปราะง่าย รวมทั้งช่วยกำจัดคอเรสเตอรอลที่เป็นผลเสียต่อร่างกาย

สารโอรีซานอล (ORYZANOL) เป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย และช่วยบำบัดอาการของระบบประสาทที่ผิดปกติได้ และวิตามิน E ชนิดที่มีคุณสมบัติทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ลดการเผาผลาญของร่างกาย ชะลอความแก่ และที่สำคัญมีคุณสมบัติ เป็นสารกันหืน (ANTIOXIDANT) ตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดกลิ่นหืนในน้ำมันรำข้าว โดยไม่ต้องเติมสารกันหืนสังเคราะห์อื่น

จากองค์ประกอบทางสารอาหารที่สำคัญของน้ำมันที่สกัดจากรำข้าว ทำให้ผู้บริหารของบริษัทน้ำมันบริโภคไทย ตัดสินใจลงทุนพัฒนาการการกลั่นน้ำมันให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เริ่มต้นที่การพัฒนาในส่วนของการเก็บวัตถุดิบซึ่งถือเป็นหัวใจของการกลั่นน้ำมัน เนื่องจากเดิมรำข้าวสดจะมีอายุการเก็บที่สั้นมากประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หลังจากที่มีการพัฒนาแล้วสามารถยืดอายุของรำข้าวสดได้นานถึง 10-20 วัน

"คุณภาพของรำข้าวสดจะเสื่อมตามเวลา โดยส่วนมากแล้วเราจะเก็บวัตถุดิบรอบบริเวณโรงงานไม่ไกลเกิน 150-200 ก.ม. เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการขนส่ง" ปราโมทย์ชี้แจง

เมื่อได้วัตถุดิบที่มีความคงที่มากขึ้น ทางบริษัทฯ จึงเริ่มพัฒนาในส่วนของโรงกลั่นน้ำมัน โดยได้นำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรจากประเทศเยอรมนีมาประยุกต์ใช้ ให้สอดคล้องกับระบบการกลั่นน้ำมันรำข้าวที่ไม่มีแม่แบบที่ตายตัว ซึ่งกว่าบริษัทฯ จะพัฒนาส่วนนี้ได้ก็กินเวลานานถึง 4-5 ปี จนปัจจุบันสามารถควบคุมมาตรฐานคุณภาพสินค้าได้ในระดับที่น่าพอใจแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบริษัทฯ จะมีมาตรฐานการกลั่นน้ำมันที่ได้คุณภาพแล้ว แต่ปัจจุบันน้ำมันรำข้าวดิบที่ผ่านการสกัดจากโรงงานสกัดของบริษัทฯ เองยังมีในปริมาณน้อยมาก โดยส่วนหนึ่งยังต้องซื้อน้ำมันดิบจากระบบเข้ามากลั่นอยู่ เนื่องจากทางบริษัทยังไม่ได้มีการพัฒนาในส่วนของโรงสกัดน้ำมัน เพราะเป็นส่วนที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และเศรษฐกิจก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจำนวนมาก แต่บริษัทฯ ก็ไม่ได้ละความพยายาม โดยกำหนดว่าภายใน 2 ปีที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวนี้ เป็นช่วงเวลาของการเก็บข้อมูลทำการวิจัยในการพัฒนาโรงสกัดน้ำมันนี้

บริษัทฯ มีโรงงานสกัดน้ำมันอยู่ที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งอยู่ในแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศไทย ทำให้สามารถรับรำข้าวที่ใหม่สดและมีคุณภาพดี เพื่อนำมาสกัดและผลิตเป็นน้ำมันรำข้าวคิง โดยบริษัทสามารถสกัดน้ำมันรำข้าวดิบได้ 400 ตันต่อวัน และสามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันรำข้าวได้ 60 ตันต่อวัน ทั้งที่โรงกลั่นใหม่ที่มีการพัฒนาแล้วสามารถผลิตได้มากกว่าเดิมถึง 1 เท่าตัว

"เรามองว่าน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และวัตถุดิบที่นำมาใช้ได้มาจากข้าว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย ฉะนั้นหากเราไม่พัฒนาต่อ ก็เท่ากับเป็นการตัดตอนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมข้าวไทย" ผู้บริหารหนุ่มกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ปราโมทย์ยังเผยถึงแผนการตลาดที่มุ่งเน้นการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ประมาณ 6-7% ของน้ำมันรวม โดยยึดกลุ่มลูกค้าเก่าเป็นหลัก และยังคงปฏิบัติกับลูกค้าหลักเหมือนเดิม เช่น ไม่ลดจำนวนของที่จำหน่ายลง และคงให้เครดิตกับลูกค้ารายเดิมอยู่ แม้จะมีปัญหาในเรื่องของวงเงินบ้าง เพราะปัจจุบันต้นทุนสินค้าราคาสูงขึ้น และบริษัทต้องยอมแบกภาระเรื่องดอกเบี้ยบางส่วน แต่สิ่งที่ปราโมทย์คิดคือ เขาคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีการทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

"ปัจจุบันเศรษฐกิจขาดแคลนปริมาณเงิน สาเหตุใหญ่มาจากการซื้อขายเงินสด ไม่มีการซื้อขายเครดิตกันดังเดิม เพราะไม่มีใครเชื่อใจใคร ซื้อขายเงินสดได้เงินมารอบเดียวก็ใช้รอบเดียว จากเดิมที่เคยหมุนได้ 3-4 รอบฉะนั้น ถ้ามองในแง่ความอยู่รอดของเรากับลูกค้า ถ้าเราประคองกันให้ดีโอกาสรอดทั้ง 2 ฝ่ายก็มีมาก แต่ถ้าต่างคนต่างเอาตัวรอด ทุกคนดึงเงินสดออกทีละนิดทีละหน่อย ในที่สุดระบบก็จะพัง" ปราโมทย์กล่าวอย่างเชื่อมั่นในระบบเครดิตอยู่

นอกจากนั้น ปราโมทย์ยังวิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจไทยในฐานะศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์จากรั้วเหลืองแดงรุ่น 14 ตุลา'16 ด้วยว่า "ผมคิดว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ก็คงประมาณปี 2543 เราต้องพยายามประคับประคองบริษัทให้อยู่รอดในภาวะต่อจากนี้ไปให้ได้" ซึ่งเขาบอกว่า บริษัทน้ำมันบริโภคไทยได้มีการปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ก่อนที่มีการลดค่าเงินบาท โดยมีนโยบายไม่รับพนักงานเพิ่ม และมีปรับลดบ้างในบางแผนก อาทิ แผนกบรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่เคยผลิตเองก็เปลี่ยนเป็นสั่งซื้อมาแทน และโอนย้ายพนักงานบางส่วนไปยังแผนกอื่น หรือแผนกขนส่ง บริษัทก็มีนโยบายลดจำนวนพนักงานขับรถส่งของของบริษัทลง โดยให้เงื่อนไขให้แปรสภาพเป็นเถ้าแก่เอง โดยบริษัทจะตัดรถให้พนักงาน 1 คันและให้พนักงานบรรทุกสินค้าในราคาต้นทุนของบริษัทไปขาย ส่วนรายได้ที่ได้มาก็ตัดเป็นค่าลดผ่อนส่งไป วิธีนี้เท่ากับเป็นการลดภาระของบริษัท และยังสร้างงานให้พนักงานมีงานทำต่อไปอีกด้วย ซึ่งบัดนี้สัดส่วนพนักงานของบริษัทลดลงประมาณ 20-30% แล้ว ใครจะยืมวิธีนี้ไปใช้บ้าง ปราโมทย์ ก็ไม่ได้สงวนสิทธิแต่อย่างใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.