ยกเลิก local content เกมนี้เพื่อใคร?


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลไทยประกาศจะยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2000 เป็นต้นไป ประเด็นนี้มีมุมมองหลากหลาย มร.ฮิซาชิ คูนิฟูสะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน" เอาไว้ดังนี้

ในฐานะที่บริษัทฯ มีการลงทุนจำนวนมหาศาลกับการสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ ตามที่รัฐบาลได้วางนโยบายไว้ การลงทุนดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยด้วย ซึ่งก็ทำให้คนไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ที่มีมาตรฐานโลก และทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา

รัฐบาลได้กำหนดแนวทางสำหรับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินตามแนวทางนั้นทั้งหมด ชิ้นส่วนเหล่านี้คือชิ้นส่วนบังคับใช้ ผู้ผลิตทุกรายต้องทำแบบนี้ และนอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้ลงทุนเพิ่ม ผลิตชิ้นส่วนนอกเหนือไปจากที่รัฐบาลบังคับด้วย (การบังคับใช้ชิ้นส่วน ในประเทศสำหรับรถปิกอัพ บังคับใช้ local content 70% แต่บริษัทมีการใช้ถึง 80%) เพราะฉะนั้น ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศของรัฐบาลไทยเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว และมีผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อมาดูข้อดีเกี่ยวกับการยกเลิกที่รัฐบาลประกาศก็มีอยู่เช่นกัน กล่าวคือ การยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศมีอิสระในการที่จะเลือกใช้ชิ้นส่วน ว่าจะใช้ในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศก็ได้ โดยพิจารณาเรื่องราคาหรือต้นทุนและคุณภาพของชิ้นส่วนนั้นเป็นสำคัญ

แม้ว่าจะมีข้อดีตรงนี้ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คุณภาพของชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยก็อยู่ในมาตรฐานเดียวกับผู้ผลิตรายอื่น และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และยังมีปริมาณการผลิตที่มากพอในแง่ของ economy of scale ซึ่งทำให้สามารถแข่งขันในเรื่องราคากับผู้ผลิตรายอื่นในตลาดโลกได้ด้วย

แต่ปัญหาที่ตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้อได้เปรียบในเรื่องนี้อ่อนด้อยลงทันที เพราะปริมาณการขายในประเทศลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตในปริมาณที่สูง พอที่จะไปแข่งขันในเรื่องราคากับผู้ผลิตในต่างประเทศได้ ซึ่งนี่คือข้อเสียในเรื่องการบังคับการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ปัญหาใหญ่คือผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศนั้น เป็นบริษัทไทยที่มีขนาดตั้งแต่กลางมาจนถึงรายเล็ก พวกนี้จะประสบปัญหามากเมื่อตลาดภายในประเทศหดตัวเหลือเพียงนิดเดียว ไม่สามารถไปแข่งกับต่างประเทศได้ และความหวังของรัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อการส่งออก ก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ผลิต ทางเดียวที่รัฐบาลจะทำได้คือต้องดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้ภาวะต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติดังเดิม ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้จึงจะสามารถทำการผลิตไปแข่งกับตลาดโลกได้ เรื่องคุณภาพไม่เป็นปัญหา แต่การแข่งขันในเรื่องราคาจะเสียเปรียบมาก

นั่นหมายความว่าการยกเลิกข้อบังคับเรื่องการใช้ชิ้นส่วนในประเทศในเวลานี้ ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และไม่ช่วยผู้ผลิตในประเทศในเรื่องการส่งออกสักเท่าใด แม้รัฐบาลจะกำหนดเวลาไปอีก 2 ปีข้างหน้า ก็ไม่แน่ว่าถึงตอนนั้น เศรษฐกิจในประเทศจะกระเตื้องดีขึ้นพอที่ผู้ผลิตในประเทศจะสามารถผลิตสินค้า ในจำนวนมากพอที่จะไปแข่งขันในเรื่องราคากับผู้ผลิตต่างประเทศได้หรือไม่

เผลอๆ มาตรการนี้อาจจะมีผลย้อนกลับมาทำลายตัวเองในที่สุด ซึ่งผู้ที่จะรับเคราะห์ก่อนหน้า แน่นอนว่าย่อมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศขนาดกลาง ที่ไม่รู้ว่าจะฝ่าวิกฤติรอดไปเจอมาตรการนี้ในอีก 2 ปีข้างหน้าได้กี่ราย

เมื่อว่ากันถึงอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว มร.คูนิฟูสะได้ให้ทัศนะต่อถึงมาตรการล่าสุดของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายกระตุ้นอุปสงค์คือ มาตรการเรื่องการลดเงินดาวน์และยืดอายุการผ่อนรถยนต์มากขึ้นนั้น สำหรับผู้ซื้อรถถือเป็นมาตรการที่ดี เพราะทำให้จำนวนเงินที่จะจ่ายในแต่ละเดือนนั้นมีน้อยลง โอกาสที่จะซื้อรถก็มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือระบบสถาบันการเงินของไทยกำลังประสบวิกฤติอย่างหนัก และเผชิญปัญหาหนี้เสียทับถมอย่างมาก สถาบันการเงินจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ในการสกรีนหรือคัดเลือกลูกค้าอย่างเข้มงวด ถ้าอัตราเงินดาวน์ลดลง ระยะเวลาผ่อนชำระมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย

เพราะฉะนั้นบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ สามารถดำเนินตามนโยบายข้อนี้ของรัฐบาลได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนข้ออื่นๆ ตามมาอย่างไร เพื่อให้สามารถดำเนินตามนโยบายข้อนี้ ซึ่งหากสามารถทำได้จริง ผู้ผลิตรถอย่างอีซูซุก็จะยินดีมากในนโยบายข้อนี้

มร.คูนิฟูสะให้ความเห็นต่อไปในเรื่องการแก้ไขภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยว่า สิ่งที่ประเทศไทยประสบในเวลานี้เป็นภาวะวิกฤติชนิดที่เรียกได้ว่า ไม่เคยประสบมาก่อนเลย กล่าวคือระบบสถาบันการเงินล้ม

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ มี concrete action plan อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เริ่มด้วยการแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ เพราะปัญหาของระบบสถาบันการเงินทำให้ประเทศขาดสภาพคล่อง ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่เกิดกับทุกอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูงมาก ซึ่งก็เป็นปัญหาของทุกอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

รัฐบาลควรแก้ปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยสูงโดยด่วน

ตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยนั้น ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งไทยก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พวกเขา ด้วยการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบสถาบันการเงินอย่างเร่งด่วน

ไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการผลิตเพื่อส่งออก เพื่อที่จะเร่งการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ทำอยู่ อย่างไรก็ดี การลดค่าเงินบาทเมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้มีการส่งออกมากอย่างที่คาดหมายกัน เพราะการเพิ่มมูลค่าการส่งออกไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ความสามารถในการส่งออกของแต่ละประเทศนั้น อยู่ที่ระดับคุณภาพของสินค้าของแต่ละประเทศว่าได้มาตรฐานสากลหรือไม่ และมีราคาที่ได้เปรียบราคาในตลาดโลกอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคด้วย ประเทศไทยจำเป็นต้องดูโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย ต้องดูโดยรวมว่าในระยะยาวเราจำเป็นต้องดำเนินมาตรการใด เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร ให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้นในตลาดโลก

สิ่งที่จำเป็นต้องทำให้ชัดเจนในเวลานี้ยังมีเรื่อง ความโปร่งใสทางการเมืองด้วย

มร.คูนิฟูสะกล่าวในฐานะที่เป็นนักธุรกิจต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีความหวังส่วนตัวเล็กน้อยว่า เศรษฐกิจของไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดในปีนี้ (2541) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะนำมาใช้ตั้งแต่นี้ไป ต้นปีหน้าเขาคาดว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2541 และประชาชนคนไทยก็คงจะเริ่มมีความหวังมากขึ้นในการที่จะนำเงินตัวเองออกมาใช้จ่าย ซึ่งเมื่อผู้คนเริ่มนำเงินออกมาใช้จ่ายนั้น สภาพคล่องก็จะดีขึ้นตามมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.