ผู้หญิงคนแรกกับเก้าอี้นายกสมาคมการตลาด มุ่งเน้นกระจายชื่อเสียงของสมาคมฯ
พร้อมสานต่อกิจกรรมอันเป็นการยกระดับนักการตลาดไทยสู่ความเป็นสากล
ว่า 20 ปีบนถนนสายการตลาดของเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ หลานสะใภ้ คนเก่งของเทียม
โชควัฒนา ซึ่งในช่วง 4-5 ปีแรกของการทำงาน เธอได้เริ่มสั่งสมประสบการณ์จากลินตาสมาก่อน
จากนั้นเมื่อเธอเข้ามาเป็นสะใภ้ของตระกูลธนสารศิลป์ ซึ่งเป็นอีกสายหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับตระกูลโชควัฒนาในฐานะของน้องชายเจ้าสัวเทียม
เธอจึงต้องเข้ามาทำงานที่สหพัฒนพิบูลตามความต้องการของคุณลุงเทียม ทั้งๆ
ที่ใจเธอไม่อยากเข้ามาทำในตอนแรก ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากให้ใครมองว่าเป็นเด็กเส้น
เพราะเธอมีความเชื่อมั่นในความสามารถของเธอเอง เฉกเช่นหนุ่มสาวไฟแรงทั่วไป
"มีหรือที่ผู้ใหญ่อย่างเจ้าสัวเทียมจะมองไม่เห็นความสามารถนี้ จึงบอกให้เธอเข้ามาช่วยงานที่สหพัฒน์
โดยให้เริ่มต้นเรียนรู้งานทุกอย่างจากเขาเอง แต่มีสิทธิเสมือนพนักงานคนหนึ่งของบริษัท
ต่อมาเขาจึงได้มอบหมายให้เธอรับผิดชอบงานด้านการตลาดของกลุ่มอาหารเป็นหลัก
จากวิสัยทัศน์ที่มองว่า "อนาคต อาหารจะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด"
หรืออีกนัยหนึ่งคือ "ตลาดของธุรกิจอาหารจะสำคัญมากในอนาคต"
"มาช่วยกันดีกว่าจะไปช่วยคนอื่น" เป็นความต้องการของเจ้าสัวเทียมในวันนั้น
และเจ้าสัวเทียมก็ไม่ผิดหวังกับหลานสะใภ้คนนี้ เพราะปัจจุบัน "มาม่า"
หนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารหลักของสหพัฒน์ได้เข้ามาอยู่ในใจของคนไทยทั้งประเทศ
รวมทั้งขยายออกไปสู่ตลาดต่างประเทศด้วย แม้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ยอดขายยังโตกว่า
10% แล้วในช่วง 7-8 เดือน ที่ผ่านมา นอกเหนือจากบะหมี่มาม่าแล้ว ยังมีหลายผลิตภัณฑ์
ที่เพ็ญนภารับผิดชอบอีก ได้แก่ เมียวโจ้, นิสชิน, คิวพี, อสร., นมสดมวกเหล็ก,
ผงซักฟอกเปา, ไวส์, ยาสีฟัน และแปรงสีฟันดีอาร์ที, สบู่, แป้ง, หมากฝรั่งลอตเต้
และ แป้งเย็นไอซ์คูล
"รู้สึกภูมิใจที่ท่านให้เกียรติ ให้ความเชื่อมั่นในตัวเรา ท่านไม่มองว่าเราเป็นผู้หญิง
ท่านให้ความไว้วางใจเราเรียนรู้ จากท่าน ทุกวันนี้ทุกอย่างในตัวเราก็มาจากท่านทั้งนั้น"
เพ็ญนภากล่าวถึงเจ้าสัวเทียม
นอกเหนือจากงานประจำที่สหพัฒน์แล้ว วันนี้เพ็ญนภาได้สวมหมวกอีกใบในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
โดยเธอเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าเธอจะไม่ค่อยมีเวลาเหลือมากนักในแต่ละวันและเธอก็ยินดีสละเวลามาทำงานเพื่อสังคมบ้าง
"งานหลักที่สมาคมฯจะมีการประชุมเดือนละครั้ง นอกจากนั้นก็มีการติดต่อเป็นประจำกับคณะกรรมการท่านอื่นทางโทรศัพท์
โดยจะมีผู้อำนวยการสมาคมที่นั่งเป็นประจำทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานตามเรื่อง
และเราอยู่ในระดับผู้วางนโยบายและจัดกิจกรรม ซึ่งก็คิดว่าเป็นงานที่ไม่หนักมากนักในแง่ของเวลา"
นี่คือเหตุผลที่เธอเข้ามานั่งที่สมาคมการตลาด
สำหรับนโยบายหลักของสมาคมการตลาดในยุคของเพ็ญนภาคือ การประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งในระดับของประเทศและระดับสากล "ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา นโยบายของสมาคมฯ
ทำมาดีอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ฉะนั้นหน้าที่หลักของเราในตอนนี้ก็คือ
การทำให้คนรู้จักสมาคมฯมากขึ้น เพราะนับวันการตลาดก็ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นในการทำธุรกิจ"
นายกสมาคมการตลาดคนใหม่กล่าว
เพ็ญนภาจะอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะไปครบอายุในปี ค.ศ. 2000
ซึ่งพอดีกับการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับสากลคืองาน WORLD
MARKETING CONFERENCE ในปีเดียวกันนี้ยังเป็นวาระของไทย ในการเป็นประธานของสมาพันธ์การตลาดแห่งเอเชียแปซิฟิก
(ASIA PACIFIC MARKETING FEDERATION) อีกด้วย เท่ากับว่าเพ็ญนภาจะเป็นนายกสมาคมการตลาดฯ
คนแรกที่เข้าไปนั่งในตำแหน่งดังกล่าวในฐานะตัวแทนของประเทศไทย
กิจกรรมในระดับเอเชียแปซิฟิกที่สมาคมการตลาดไทยได้เป็นผู้ริเริ่มก็คือ
โครงการ APMF EM AWARD ซึ่งเป็นการประกวดแผนงานการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับเอเชียแปซิฟิกที่มีประเทศที่เข้าร่วมถึง
15 ประเทศ โดยผู้ชนะเลิศโครงการนี้จะได้รับโล่พระราชทานเกียรติยศ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
และผู้ที่ชนะเลิศโครงการนี้เมื่อปี'39 อันเป็นปีแรกของการประกวด APMF EM
AWARD คือ ALBANY PLANTATION FOREST COMPANY OF AUSTRALIA PTY LTD. ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น
ที่ดำเนินธุรกิจในออสเตรเลีย ส่วนตัวแทนของไทยในปีนั้นคือโครงการตลาดสีเขียว
ของบริษัท สีไอซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะเลิศโครงการ EM AWARD จากภายในประเทศไทย
สำหรับการประกวด EM AWARD ในปีที่ 5 นี้ บริษัทที่ประสงค์จะเข้าร่วมประกวด
สามารถส่งแผนงานการตลาดได้ภายในวันที่ 23 พ.ย.นี้ และจะคัดเลือกองค์กรที่ชนะเลิศในเดือนก.พ.
42 เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดในโครงการ APMF EM AWARD ต่อไป
ลักษณะของแผนงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นแผนงานการตลาด หรือแผนงานประชาสัมพันธ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ได้เริ่มปฏิบัติมาแล้วไม่น้อยกว่า
6 เดือน และต้องเป็นแผนงานการตลาดของสินค้าหรือบริการที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์
ของบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐผู้เป็นเจ้าของแผนการตลาดหรือแผนงานประชาสัมพันธ์
ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ครบวงจร โดยแยกเป็น 3 กลุ่มคือ
กลุ่มแผนงานการตลาด สำหรับองค์กรที่มียอดรายได้รวมเกิน 500 ล้านบาทต่อปี
กลุ่มแผนงานการตลาดสำหรับองค์กรที่มียอดรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี และกลุ่มแผนงานประชาสัมพันธ์
โดยผู้ชนะเลิศแผนงานการตลาดจะได้ โล่พระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี พร้อมถ้วยสัญลักษณ์ โครงการ EM AWARD และรางวัลชมเชย 4
รางวัลรับถ้วยสัญลักษณ์โครงการ ส่วนผู้ชนะเลิศแผนงานประชาสัมพันธ์ได้รับโล่จาก
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พร้อมถ้วยสัญลักษณ์โครงการ และรางวัลชมเชย 2 รางวัลรับถ้วยสัญลักษณ์โครงการเช่นกัน
โดยองค์กรที่ชนะเลิศทั้ง 3 ประเภทจะได้รับสิทธิในการพิมพ์สัญลักษณ์ EM
AWARD ลงบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ได้รับรางวัล เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองว่าผลิตภัณฑ์
ดังกล่าวได้ผลิตขึ้นโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และองค์กรที่ชนะเลิศแผนการตลาดจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดในโครงการ
APMF EM AWARD ร่วมกับผู้แข่งขันอีก 15 ประเทศ ในปี'42
"สิ่งใดที่ช่วยสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศได้เราก็จะทำ" เพ็ญนภายืนยัน
และกล่าว ถึงวัตถุประสงค์ของรางวัลการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ EM AWARD
นี้ ว่าเป็นการกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
นับตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการไปจนถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งกระตุ้นให้มีการดำเนินกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ ที่มีจุดมุ่งหมายและส่งผลดีต่อสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ
รวมถึงกิจ กรรมที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีส่วนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ในเดือนนี้ ทางสมาคมฯได้จัดกิจกรรมพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมา
สำหรับบรรดานักการตลาดทั้งหลายที่ต้องการหาทางออกในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ด้วยการจัดงานสัมมนาการตลาดในภาวะวิกฤต
ในหัวข้อ "MARKETING STATEGIC RE-DIRECTION FOR CRISIS SURVIVAL AND
PROFIT GROWTH" โดยเชิญศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาดจาก
สหรัฐอเมริกามาเป็นวิทยากรในงานนี้ตลอด 8 ชม. (15.00-22.00 น.) ของวันที่
13 ต.ค.นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
"เรามองว่า ในฐานะสมาคมจะช่วยอะไรได้บ้างในภาวะเช่นนี้ เราก็พยายามจะทำ
สัมมนาครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่สมาคมช่วยได้ในทางอ้อม เพราะทุกคนคงอยากรู้ว่า
เราควรจะทำการตลาดในยุคนี้กันอย่างไร" เพ็ญนภากล่าว และเสนอแนวทางในการทำการตลาดในปัจจุบันว่า
"การทำการตลาดตอนนี้ ทุกอย่างต้องประหยัดและคุ้มค่า นักการตลาดต้องเป็นนักการเงินด้วย
จะใช้จ่ายอย่างเดียวโดยไม่ดูว่าเงินจะเข้ามาทางไหนบ้างในภาวะเช่นนี้ไม่ได้แล้ว
เพราะอย่าลืมว่า เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องแล้ว ไม่ได้กระทบเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น
แต่ผู้บริโภคก็โดนด้วย ดังนั้นเราต้องช่วยกัน ทุกคนต้องประหยัด ด้วยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง
แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่เป็นการลดคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค"
นั่นคือ กิจกรรมหลักๆ ที่เธอต้องรับผิดชอบในปีนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นอีกที่เธอให้ความ
สำคัญคือ การจัดสัมมนาอบรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการส่งนักการตลาดไทยเข้าสอบใบประกาศ
CPM (CERTIFICATE PROFESSIONAL MARKETING) ที่สิงคโปร์ ซึ่งนักการตลาดคนใดที่ผ่านใบประกาศนี้แสดงว่าเป็นนักการตลาดในระดับสากล
เป็นการยกระดับนักการตลาดของไทยให้เทียบเท่าระดับสากลอีกทางหนึ่ง
ทั้งงานหลักและงานจรเหล่านี้ ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินชีวิตส่วนตัวของเธอเลย
ซ้ำขณะนี้เธอยังอยู่ในระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยโนวา สหรัฐอเมริกาด้วย
"โชคดีที่ลูกเรียนอยู่ต่างประเทศ เราจึงไม่ต้องกังวลมากนัก ฉะนั้นเวลาหลังเลิกงานคือเวลาสำหรับการอ่านหนังสือ
ทำวิทยานิพนธ์ และเราเองก็ไม่ใช่คนที่หมกมุ่นกับงานมากชนิดที่ต้องหอบงานกลับมาทำที่บ้าน
เราไม่เคยทำ เราจึงไม่เครียดมาก" ว่าที่ดร.สาวเล่า และหญิงผู้นี้มีปรัชญาในการทำงานที่เธอยึดปฏิบัติมาตลอด
นับจากการได้เรียนรู้มาจากเจ้าสัวเทียมคือ
"เวลาทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีที่สุด ต้องตั้งใจและจริงจังกับการทำงาน
คนเราผิดได้ แต่อย่าผิดซ้ำๆ และที่สำคัญคือต้องเป็นคนใจกว้าง"